ปภ.เตือน23จว.ทั่วไทย
รับมือพายุฤดูร้อนถล่ม
เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำป่า
เฝ้าระวังถึง17เม.ย.
ปภ.แจ้งเตือน 23 จังหวัด ภาค“เหนือ -กลาง-ใต้” พายุฤดูร้อนถล่มถึง 17 เมษายน ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วมขัง และดินถล่ม กำชับทุก จว.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ 24 ชม.
เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางยังมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ซึ่งมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ระหว่างวันที่ 15 -17 เมษายน ดังนี้
ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และ ตาก ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี สระบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
นายภาสกรกล่าวต่อว่า กอปภ.ก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือปริมาณฝนที่ตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและมีฝนตกติดต่อนาน สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง กรณีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามเล่นน้ำเด็ดขาด แจ้งเตือนการเดินเรือ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือเด็ดขาด นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (อีอาร์ที) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุทันที
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีอากาศร้อนโดยทั่วไปในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคพื้นที่ของภาคเหนือ โดยยังมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันสูง 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
กรมอุตุฯยังพยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยวันที่ 16 เมษายนว่า ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ลมกระโชกแรงบริเวณจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัยและตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 บริเวณจ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี กรุงเทพ ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก อากาศร้อน มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจ.สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ทะเลคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 บริเวณจ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และนราธิวาส ทะเลคลื่นสูง 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ส่วนมากบริเวณจ.ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ทะเลมีคลื่นสูง 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี