4วันอันตรายสงกรานต์’68ดุ
ดับ138เจ็บทะลุ1พัน
กทม.ตายสะสมสูงสุด
เมาขับสะสม3.2พันคดี
ศปถ.ย้ำมาตรการคุมเข้ม
ปชช.ทยอยแห่กลับกทม.
4 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 2568 อุบัติเหตุสะสมพุ่ง 1 พันครั้ง ยอดเสียชีวิต 138 ศพ บาดเจ็บ 1,002 คน กทม.เสียชีวิตสะสมมากที่สุด ลำปางแชมป์บาดเจ็บสะสม ส่วน 24 จังหวัดไร้ตาย ศปถ.กำชับคุมเข้มเดินทางกลับเข้าเมืองกรุง-เขตเศรษฐกิจ ส่วนคดีเมาแล้วขับสะสมทะลุ 3.2 พันคดี กรมคุมประพฤติ เดินหน้าแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยง นำผู้ถูกคุมฯ ติดตามพฤติกรรมการขับขี่ ผ่านกล้อง CCTV มุ่งลดอุบัติเหตุทางถนน ขณะที่ประชาชนทยอยเดินทางกลับ กทม.หนีรถติด ด้านทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 ผู้คนทยอยเดินทางกลับ ส่วนที่ บขส.โคราชแน่นขนัด
เมื่อเวลา10.30 น.วันที่ 15 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุม และประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.)ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 14 เม.ย.2568 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศปถ.ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 249 คน ผู้เสียชีวิต 34 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.40 ดื่มแล้วขับ 24.90 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 14.52 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.20 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.89 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.91ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.05 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.69
สระแก้วเสียชีวิตประจำวันสูงสุด
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 -18.00 น. ร้อยละ 22.41 เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 19.50 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 16.60 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.14 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,760 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,047 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สระแก้ว (6 ราย)
ยอดเจ็บสะสมแตะ1พัน/ดับ138
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11เม.ย. – 14เม.ย.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,000 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,002 คน ผู้เสียชีวิต รวม 138 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 24 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (36 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (40 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย)
นายสุรศักดิ์กล่าวอีกว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการลดตัวเลขเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุด ศปถ.จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผล
ศปถ.สั่งกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง
สำหรับวันนี้ ศปถ. ขอให้จังหวัดกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงโดยใช้ด่านชุมชนและด่านครอบครัวในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำผิดกฎหมายจราจรอย่างการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร รวมถึงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำหน่ายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนดและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในกรณีที่ตรวจพบเด็กและเยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองให้มารับตัวเด็กและเยาวชน รวมถึงยานพาหนะกลับไป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการกวดขันและดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด
ดูแลปชช.-นักท่องเที่ยวให้ปลอดภัย
ขอให้จังหวัดกำกับดูแลการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัย และขอให้เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนในการเดินทางกลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครและเขตเศรษฐกิจ คาดว่าประชาชนจะเริ่มทยอยเดินทางตั้งแต่วันนี้ และให้ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดรถโดยสารสาธารณะให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน กำชับผู้ประกอบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งประเภทประจำทางและไม่ประจำทาง ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพรถโดยสารและอุปกรณ์นิรภัยให้มีความพร้อมใช้งานก่อนออกให้บริการทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสุขภาพร่างกายของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม อันเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการหลับใน
เตรียมยานพาหนะให้พร้อมใช้งาน
ด้าน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า วันที่ 15 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย และเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนบางส่วนอาจจะยังอยู่เล่นน้ำสงกรานต์ เฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทย และบางส่วนอาจเริ่มทยอยเดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้ขับขี่เตรียมความพร้อมของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน วางแผนการเดินทางโดยเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสม และตรวจสอบข้อมูลสภาพการจราจร รวมถึงเส้นทางเลี่ยงและทางลัดล่วงหน้า
ย้ำผู้ขับขี่พักผ่อนให้เพียงพอ
พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ขับขี่พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง และควรหยุดพักการขับขี่ทุก 4 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง และจากข้อมูลการพยากรณ์อากาศในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า บางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจเกิดฟ้าผ่าในบางพื้นที่ จึงขอให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ขับขี่อย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง
เมาขับสะสมพุ่ง3.2พันคดี
พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ติดตามมาตรการคุมเข้มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ต่าง ๆ นำผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิด พ.ร.บ. จราจรทางบก (ขับรถในขณะเมาสุรา ขับเสพ ขับรถประมาท และขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด) สนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร่วมสังเกตพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกล้องวงจรปิด (CCTV) แบบเรียลไทม์ ร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติ ขับเคลื่อนมาตรการเชิงป้องกัน มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ขับขี่ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน จากการดำเนินมาตรการควบคุมเข้มข้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (14 เม.ย.2568) ศาลมีคำสั่งคุมความประพฤติ 1,718 คดี ดังนี้ 1.ขับรถขณะเมาสุรา 1,674 คดี (ร้อยละ 97.44) ติด EM 15 ราย 2.ขับรถประมาท – คดี (ร้อยละ 0.00) 3.ขับซิ่ง 1 คดี (ร้อยละ 0.06) 4. ขับเสพ 43 คดี (ร้อยละ 2.50) ติด EM 1 ราย
โดยยอดคดีสะสมช่วงควบคุมเข้มข้น 11-14 เมษายน 2568 รวม 3,297 คดี ติดอุปกรณ์ EM รวม 25 ราย ซึ่งจังหวัดที่มีคดีเมาขับสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 295 คดี นนทบุรี 242 คดี และสมุทรปราการ 226 คดี ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่การคุมความประพฤติวันที่ 4 ของปี 2567 พบว่า มีคดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 2,106 คดี และ ปี 2568 มีจำนวน 1,674 คดี ลดลง 432 คดี
บขส.คาดเดินทางวันละแสนคน
นายชัชวาล พรอมรธรรม กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ข้อมูลการเดินรถเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.2568) มีผู้โดยสารเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เที่ยวไป จำนวน 33,170 คน เที่ยวกลับ จำนวน 56,362 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 89,532 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส. และรถร่วมฯ) เที่ยวไป จำนวน 2,789 เที่ยว เที่ยวกลับ จำนวน 3,107 เที่ยว รวมทั้งสิ้น จำนวน 5,896 เที่ยว ส่วนเที่ยวกลับเข้ากรุงเทพฯ วันที่ 15 –17 เม.ย.2568 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยวันละ 100,000 คน ใช้รถโดยสาร (รถ บขส. และรถร่วมฯ) ประมาณวันละ 4,800 เที่ยว ทั้งนี้ได้กำชับให้นายสถานีเดินรถทั่วประเทศ เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางในเที่ยวกลับเข้ากรุงเทพฯ จัดรถโดยสารและพนักงานขับรถให้เพียงพอพร้อมบริการประชาชน โดยเน้นย้ำ พนักงานขับรถของ บขส. และรถร่วมฯ ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้บริการผู้โดยสารเดินทางถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย
ประสานความร่วมมือส่งผู้โดยสาร
สำหรับการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ รถโดยสารของ บขส. ที่จะเข้าส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ทุกคัน จะจอดส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประตู 3 ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีแดง รถเมล์ รถแท็กซี่ได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดจุดจอดรถเมล์ ขสมก. บริการรับ–ส่ง ประชาชนภายในสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 จำนวน 15 เส้นทาง และ ขสมก. ได้จัดรถ Shuttle Bus บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2, สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต และ MRT สวนจตุจักร ช่วงเวลา 04.00 – 22.00 น. และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ นำรถมารับผู้โดยสาร ณ จุดบริการแท็กซี่ ที่กำหนด เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และเป็นระเบียบ
ตรวจความพร้อมรถ-คนขับเข้ม
ในด้านความปลอดภัย บขส. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถก่อนเดินทางทุกคันทุกคน ตาม Checklist และ จุด Checking Point ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน ตรวจสารเสพติด และตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์ ใช้ความเร็วรถโดยสารไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ จัดพนักงานขับรถ 2 คน ในเส้นทางสายยาวที่ใช้เวลาเดินทางเกิน 4 ชั่วโมง เป็นต้น และยังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาด้วย
ปชช.ทยอยกลับ กทม.หนีรถติด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร บริเวณทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ถนนกาญจนาภิเษก) ฝั่งขาเข้า เริ่มมีประชาชนทยอยเดินทางกลับเข้ามาเป็นระยะๆ หลังจากที่ได้กลับไปฉลองเทศกาลสงกรานต์ตามภูมิลำเนา ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยบางส่วนที่ทำงานในบริษัทเอกชน จะต้องกลับเข้าทำงานในวันที่ 16 เมษายนนี้ ขณะที่ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ ยังมีเวลาที่พักผ่อนอีก 1 วัน ก่อนที่จะกลับมาทำงานให้บริการประชาชนในวันที่ 17 เมษายน
ขณะที่ นครราชสีมา บรรยากาศการเดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯหลังช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ว่า โดยเมื่อช่วงสายที่ผ่านมาที่สถานีขนส่วนครราชสีมา แห่งที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา บรรยากาศการเดินทางของประชาชนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2 ตั้งแต่เช้าสายมีพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ของ จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงทยอยเดินทางไปซื้อตั๋วรถทัวร์โดยสารสายนครราชสีมา-กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆกันอย่างคึกคัก โดยหลายคนมีการหอบหิ้วกระเป๋าสัมภาระ อุ้มลูก จูงหลาน และลากกระเป๋า มีการนำเบียงอาหารติดตัวไปด้วย อาทิ ข้าวเหนียวไก่ย่าง ข้าวสาร ข้าวเหนียว พริกแห้ง ปลาแดดเดียว หมู เนื้อแดดดเดียว ปลาร้าสุก ปลาร้าบอง เป็นต้น
บขส.โคราชแน่นขนัด
โดยเฉพาะจุดขายตั๋วรถปรับอากาศชั้น 1 สายนครราชสีมา-กรุงเทพฯที่จะเดินทางไปยังกรุงเทพฯมีพี่น้องประชาชนมายืนรอต่อคิวซื้อตัวแน่นกันหลายบริษัท นอกจากจากจะเดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯแล้วยังมีประชาชนบางส่วนที่เดินทางกลับไปทำงานยังปริมณฑล และภาคตะวันออกหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี ,จันทบุรี และระยอง ซึ่งพี่น้องประชาชนบางส่วนที่เลือกเดินทางในวันนี้บอกเหมือนกันว่า กลัวไม่มีตั๋ว จึงต้องรีบเดินทางกลับล่วงหน้า 1 วัน ประกอบกับจะได้ไปเล่นสงกรานต์ที่กรุงเทพฯ วันสุดท้าย และก็เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดและเลือกที่จะกลับไปพักผ่อน 1 วันในวันที่ 16 เม.ย. ก่อนที่ในวันที่ 17 เม.ย. นั้นจะเป็นวันที่เริ่มทำงานวันแรกหลังจากหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ทั้งนี้ ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมามีการจัดรถสำรองเอาไว้เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันเดินทางกลับไปทำงานยังกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดภาคตะวันออกมีการสำรองเที่ยวรถไว้กว่ า50% จากปกติ 80 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นอีก 40-60 เที่ยวต่อวัน หรือสำรองไว้เป็นประมาณ 120 เที่ยวต่อวัน
ขณะที่การจรจรบนถนนมิตรภาพบริเวณถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา นั้นเริ่มมีประชาชนทยอยเดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯหลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะตรงบริเวณทางขึ้นทางด่วน M6 ถนนเลี่ยงเมืองนั้นเริ่มมีประชาชนทยอยมาใช้บริการกันบ้างแล้ว ขณะที่การจราจรบนถนนมิตรภาพขาเข้ากรุงเทพฯที่อำเภอปากช่องนั้นช่วงเช้าการจราจรยังคงเบาบาง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี