กทม.เริ่มสร้าง ‘ทางเดินลอยฟ้าราชวิถี’ เชื่อมย่านนวัตกรรมการแพทย์เพื่อคนกรุงเทพฯ ลงนามสัญญาเม.ย.68 ใช้เวลา 1ปี
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการทางเดินลอยฟ้าย่านราชวิถี ว่า โครงการดังกล่าวอยู่ในนโยบาย “เมืองเดินได้เดินดี” ที่ผู้ว่าฯกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ความสำคัญ ทางเท้าที่ดี จะช่วยเรื่องสุขภาพที่ดีของคนด้วย เพิ่มความปลอดภัยทางเท้า และสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ถนนราชวิถี เป็นย่านสำคัญด้านสาธารณสุข มีทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอด และหน่วยงานอื่นจำนวนมาก เพิ่มความสะดวกให้ทั้งบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่และผู้ที่เดินทางมาใช้บริการสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคตฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่เนื่องจากทางเดินปัจจุบันกว้าง 1-3 เมตร มีจุดตัดบริเวณอาคารจำนวนมาก ไม่สะดวกต่อผู้เดิน กทม.โดยสำนักการโยธา จึงเห็นความสำคัญของทางเดินลอยฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสัญจรทางเท้ามากขึ้น โครงการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือมากกว่า 12 หน่วยงาน โดยเฉพาะการเอื้อพื้นที่ในการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า ปัจจุบัน กทม.ได้งบประมาณและประมูลงานแล้ว จะลงนามสัญญาต้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะใช้เวลาผลักดันโครงการ 1 ปี
รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการออกแบบโครงการนี้ว่า แนวคิดโครงการนี้ริเริ่มโดยคนในพื้นที่ และได้บรรจุใน 'แผนกรุงเทพฯ 250' หรือโครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมือง ในวาระครบรอบ 250 ปี ของกรุงเทพฯ ในปี 2575 สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. เพื่อพัฒนาย่านให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางทางการแพทย์ และทางเดินลอยฟ้า เป็นเรื่องดีที่ได้รับการสานต่อโดยผู้ว่าฯกทม.ในปัจจุบัน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1.อำนวยความสะดวกกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ตาบอด 2.เป็นย่านนวัตกรรมโยธีราชวิถี หมายความว่า มีการแลกเปลี่ยนของนวัตกร ดังนั้น ทางเดินลอยฟ้า สามารถเชื่อมต่อหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 12 หน่วยงานในย่านนี้ได้อย่างสะดวก 3.รองรับด้านวิกฤต เช่น น้ำท่วม ประท้วง เพื่อให้การแพทย์เดินหน้าต่อได้ 4.ช่วยฟื้นฟูย่านในมิติอื่น ๆ และ 5.ส่งเสริมสุขภาพสาธารณะ
นอกจากนี้ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังเป็นศูนย์กลางการเดินทาง กิจกรรม และพาณิชยกรรม มีผู้คนในบริเวณประมาณวันละ 1 ล้านคน เฉพาะถนนราชวิถีมีผู้คนประมาณวันละ 1.2 แสนคน มีรถประมาณวันละ 3 แสนคัน มีที่จอดประมาณ 1 หมื่นที่ ตลอดถนนมีทางเข้าออกอาคาร 19 จุด ทำให้รถติด ไม่สะดวกต่อผู้เดินเท้า ผู้ใช้ย่านดังกล่าวร้อยละ 50 เป็นนักศึกษาผู้ทำงาน ร้อยละ 60 ใช้ขนส่งสาธารณะ จากการสอบถามความเห็น 1,236 ชุด ปัญหาที่สะท้อนมากที่สุดคือเรื่องฝุ่น มลพิษ ซึ่งขัดแย้งกับย่านนวัตกรรมการแพทย์ รวมถึงเรื่องแดดร้อน ทางเท้าแคบ และความปลอดภัยบนถนน จึงอยากให้มีทางเดินเชื่อมต่อสะดวกสบาย ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีร่มเงา ป้ายบอกทาง และที่นั่งพัก จึงเป็นที่มาในการออกแบบทางเดินลอยฟ้าจากรถไฟฟ้าสถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ ตรงไปเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า รพ.รามาฯ ตลอดจน รพ.ราชวิถี มูลนิธิคนตาบอด เพราะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ในระยะที่ 2 จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนออกแบบที่จอดรถ แหล่งการค้า เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะด้านอื่น พัฒนาซอยต่าง ๆ ครอบคลุมมิติอื่น ๆ ด้วย
สำหรับทางเดินลอยฟ้าดังกล่าว มีเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงถนนพระราม 6 เขตทางฝั่งทิศใต้โรงพยาบาลราชวิถี เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - โรงพยาบาลราชวิถี - สถาบันโรคผิวหนัง - สถาบันสุขภาพเด็กฯ - คณะสาธารณสุขศาสตร์ - โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล - องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก - มูลนิธิช่วยคนตาบอด - โรงพยาบาลรามาธิบดี - สิ้นสุดที่รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีราชวิถี จุดประสงค์ของโครงการ เพื่อความปลอดภัยของคนเดินเท้า ลดการเจอมลพิษ สะดวกรวดเร็ว สนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ และเชื่อมกลุ่มอาคารสถาบันและโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มโอกาสแบ่งปันทรัพยากร รวมถึง มีทางเดินกว้างขึ้นและปลอดภัย มีหลังคากันแดดกันฝน
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี