5 วันผ่านสงกรานต์ยังดุ! ดับแล้ว171ราย เกิดอุบัติเหตุ 1,216 ครั้ง บาดเจ็บระนาว 1,208 คน ‘กทม.-พัทลุง-ลำปาง’ ยึดแชมป์สูญเสียสะสม ขณะที่ ‘21จังหวัด’ ตายเป็นศูนย์ ด้าน ‘ศปถ.’ กำชับปรับแผนรับเดินทางกลับเข้าสู่โหมดทำงาน
วันที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมลดลงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดยังคงเป็นการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะขับขี่ยานพาหนะโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการดื่มแล้วขับอย่างเข้มข้นทั้งในช่วงเทศกาลและตลอดทั้งปี เพื่อป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้มากที่สุด ในวันนี้เป็นวันหยุดชดเชยช่วงเทศกาลสงกรานต์วันสุดท้าย ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นค่อนข้างมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำจุด ตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ ตลอดจนอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยของประชาชน ตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวในสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้เกิดความเรียบร้อย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้าให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมในการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร
ด้านนายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 16 เมษายน 2568 เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยประชาชนเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 ขณะที่มีการเดินทางโดยระบบรางและทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 และได้เพิ่มจำนวนเที่ยวการเดินทางทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางราง และทางอากาศ ควบคู่ไปกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนตลอดการเดินทาง โดยการตั้งจุดเช็ค Point ทั่วประเทศ โดยดำเนินการตรวจสอบยานพาหนะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือ และตรวจสอบผู้ขับขี่และพนักงานให้บริการ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่กินยาที่มีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการหลับใน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน
“ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดเน้นย้ำหน่วยงานในสังกัดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะให้สามารถรองรับการเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครของประชาชนอย่างเพียงพอ รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารอย่างเข้มงวด รวมถึงการติดตามการเดินรถด้วยระบบ GPS Tracking และกล้องเลเซอร์ หากพบผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสาร และการรณรงค์งดการกระทำที่ไม่เหมาะสมบนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย ” นายชาครีย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าว
นายชาครีย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 15เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันที่5ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ เกิดอุบัติเหตุ 214 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 209 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.92 ดื่มแล้วขับ 31.31 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 20.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.32 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 87.38 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.45 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.18 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 14.95
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 -21.00 น. ร้อยละ 22.90 เวลา 15.01 – 18.00 น. ร้อยละ 20.56 และเวลา 00.01 – 03.00 น. ร้อยละ 13.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.34
จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,764 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,039 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (10 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก (3 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11 – 15เม.ย.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,216 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,208 คน ผู้เสียชีวิต รวม 171 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (47 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย)
ขณะที่นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่เมืองใหญ่ จึงขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนดูแลสภาพร่างกายของตนเองให้มีความพร้อมในการขับขี่ และตรวจเช็คสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก 1 - 2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่าง ๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ทุกคนเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ จะมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน ทำให้สภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี