สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค เข้ายื่นหนังสือ'นฤมล'คัดค้านการนำเข้าโคเนื้อจากสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านกลุ่มมวลชนจากสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 60 กลุ่มจากทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันหน้ากระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เพื่อที่จะเข้ายื่นหนังสือต่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการคัดค้านนโยบายการเปิดการการนำเข้าเนื้อโค และเครื่องในโคจากสหรัฐอเมริกา หลังการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
โดยนายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย สมาชิกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไม่เคยสร้างปัญหาในด้านการส่งออกกับสหรัฐอเมริกา และที่ต้องคัดค้านการนำเข้าเนื้อโคจากอเมริกาเนื่องจากเนื้อโคจากสหรัฐอเมริกา มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งขัดกับกฏหมายของประเทศไทย และจะส่งผลถึงความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย อีกทั้งที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงโคยังได้ช่วยเหลือ และอุดหนุนสินค้าเกษตรอื่นๆ ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะเปิดนำเข้าเนื้อโค และเครื่องในโคจากสหรัฐฯ เพื่อต่อรองในมาตรการด้านภาษี ลดการขาดดุลด้านการค้า มองว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 1.4 ล้าน ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.8 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาราคาโคตกต่ำจากการแข่งขันในตลาดจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์อยู่แล้ว สมาคมฯ จึงต้องการให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อ และเครื่องในโคจากสหรัฐฯ เพราะจะซ้ำเติมเกษตรกรในการผลิตเนื้อเกรดพรีเมียม
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หนึ่งในแผนที่จะใช้เจรจา เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ คือการนำเข้าเนื้อวัว และเครื่องในวัวจากสหรัฐฯ ยืนยันเป็นเพียงแนวคิดในการนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน และขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดปริมาณว่าจะเปิดให้มีการนำเข้ามากน้อยแค่ไหน เป็นเพียงข้อเสนอของผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการอยู่มาก
นอกจากนี้ ทางฟากฝั่งของผู้ผลิตอาหารสัตว์ นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทย มีปริมาณการผลิต 21 ล้านตันต่อปี แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตราว 1.1% ต่อปีเท่านั้น เพราะข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ไม่มากพอ โดยสามารถผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกได้เพียง 2% จากผลผลิตอาหารสัตว์ทั่วโลก 1,200 ล้านตัน หากรัฐบาลมีแผนการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเครื่องในสัตว์ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ก็จะส่งผลดี อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อการส่งออก มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
สำหรับการมาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโควันนี้เพื่อเป็นการยืนยันถึงผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ จากมาตรการนำเข้าเนื้อโคและเครื่องใน ไม่ใช่วัตถุดิบที่น่าจะนำมาผลิตอาหารสัตว์ ขณะที่การเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ทางกลุ่มสมาคมสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโค จะเข้ายื่นหนังสือต่อ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในวันที่ 22 เม.ย.2568 จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้ทบทวนมาตรการนำเข้าเนื้อโคดังกล่าวด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี