เวทีสัมมนา “Decoding Thailand’s AI Future Strategy for Competitive Edge” โดย สวทช. ร่วมกับ Techsauce ในการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC2025) ไม่ได้เป็นเพียงการอัปเดตเทรนด์ AI ทั่วไป แต่เปรียบเสมือนการ “เปิดอกคุย” ครั้งสำคัญของผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และภาคธุรกิจชั้นนำ ถึงทิศทางอนาคต AI ของไทย ท่ามกลางคำถามใหญ่ว่า แผน AI แห่งชาติที่วางไว้ก่อนยุค ChatGPT จะไปต่ออย่างไร และไทยจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันยุคใหม่ที่ AI เขย่าทุกวงการได้อย่างไร
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. ได้ริเริ่มขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งวางรากฐานไว้ก่อนยุค Generative AI จะเฟื่องฟู แต่การมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT ได้พลิกเกม ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งการปรับแผน AI ชาติให้ทันโลก การรับมือภาวะขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง การหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการกำกับดูแล รวมถึงโจทย์ใหญ่เรื่องสร้างหรือซื้อเทคโนโลยี เมื่อการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบระยะยาว
“สวทช. ไม่ได้มอง AI ในมิติของ GenAI เท่านั้น แต่ครอบคลุมการวิจัยและประยุกต์ใช้ AI ในหลากหลายสาขาตามความเชี่ยวชาญของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้ สวทช. ทั้งไบโอเทค, เอ็มเทค, นาโนเทค เอ็นเทค และเนคเทค โดย สวทช. มุ่งเน้นเป็นตัวกลางสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านงานวิจัยและทรัพยากร ส่งเสริมการเปิดเผยเทคโนโลยีให้มากขึ้น สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างคลังข้อมูล เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนนำไปต่อยอด” ดร.ชัย ระบุ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เสนอแนะว่า แผน AI ไทยควรเปลี่ยนจากการมุ่งสร้างปัจจัยพื้นฐาน ไปสู่การตั้งต้นจาก “โจทย์จริง” หรือปัญหาเร่งด่วนของประเทศ โดยเน้นการนำ AI ที่มีอยู่และราคาเข้าถึงได้มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับทักษะและต่อยอดจุดแข็งของประเทศ เช่น การแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาในสิ่งที่จำเป็นและไม่มีใครทำแทนได้ การพัฒนา LLM ภาษาไทยที่มีคุณภาพ การสร้างคลังข้อมูลภาษาไทย การทำให้ AI เข้าใจบริบทความเป็นไทย เป็นต้น
ด้าน ดร.พชร อารยะการกุล ซีอีโอ บลูบิค กรุ๊ป เผยอินไซต์จากประสบการณ์ตรง 3 อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ AI ยังไม่เวิร์กเต็มที่ ประเด็นแรก ดร.พชร เปรียบ AI เป็น ‘สมอง’ การลงทุนด้าน AI โดยไม่พัฒนาองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ควบคู่เหมือนคาดหวังให้สมองทำงานโดยไม่มีแขนขา ดังนั้น การลงทุนใช้ AI ระบบนิเวศเทคโนโลยีโดยรวมต้องพร้อม ทั้งแอปพลิเคชัน โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของข้อมูล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ประเด็นต่อมา คือ การขาด Process ที่ใช่ ด้วยการนำ AI มาปรับใช้ในองค์กรจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำงาน และออกแบบกระบวนการดูแล AI ให้เหมาะสม เพื่อให้โมเดล AI ยังคงประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์องค์กร และท้ายสุด ‘คน’ ยังเป็นคีย์แมน แม้ AI เก่งขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพาทักษะและการกำกับดูแลโดยมนุษย์
ด้าน AIS โดย วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ Head of Nationwide Operations and Support Business Unit ได้แชร์ Blueprint for Success ของการทำ AI Transformation ในสเกลใหญ่ จากวิสัยทัศน์ของ AIS ‘Cognitive Tech-co’ สู่การสร้าง Autonomous Network ที่ไม่ได้ทำแค่ตั้งไข่ แต่ทำอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล มีการประเมิน ตั้งเป้า พัฒนา และวัดผลชัดเจน ที่สำคัญคือการทำ Talent Transformation ควบคู่กันไป เพื่อลดความกังวลและสร้างสกิลใหม่ให้พนักงาน จนเกิดเป็น Use Case ที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจได้จริง ตั้งแต่ Predictive Maintenance, Self-Optimizing Network, การจัดการพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำ AI มาสร้าง Impact ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผลกระทบต่อคนและแรงงานจาก AI เป็นอีกประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Vialink มองว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค AGI หรือ AI ที่เก่งเทียบเท่ามนุษย์ได้เร็วกว่าที่คิด ซึ่งจะปฏิวัติโลกการทำงานในฐานะ “ทุนทางปัญญา” และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถาม คือ ไทยจะทำอย่างไรให้ AI เข้ามา ‘ส่งเสริม’ มากกว่า ‘ทดแทน’ คน
คำตอบอยู่ที่การพัฒนาทักษะใหม่ที่ AI ทำแทนไม่ได้ หรือ ‘Y-Shaped Skills’ ที่ผสมผสานความเข้าใจ AI (AI Literacy) เข้ากับ ทักษะซอฟต์สกิล เช่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการคน และ ทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่ง AI ยังทำแทนไม่ได้ ข้อเสนอสำหรับประเทศไทยจึงเน้นไปที่ การลงทุนในมนุษย์แบบนอกกรอบ พัฒนาคนให้กว้างกว่าแค่การศึกษาแบบเดิม โดยเน้นปัจจัยพื้นฐานอื่นที่สำคัญ เช่น สุขภาพ โอกาสทางสังคม เพื่อสร้างคนให้เก่งและพร้อมปรับตัวทันยุค AI รวมถึงการทำให้ตลาดแรงงานยืดหยุ่น เอื้อต่อการปรับตัวและเรียนรู้ตลอดชีวิต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี