"กรมคุมประพฤติ"สรุป 7 วัน "สงกรานต์"เมา-เสพขับ 6,405 คดี ลดลงจากปีที่แล้ว 12.63% "กรุงเทพฯ"ครองแชมป์ ขณะที่"สกลนคร"สั่งติด EM สูงสุด
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสรุปยอดคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้นสงกรานต์ 2568 โดยมีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,177 คดี แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 1,095 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 12 ราย ขับรถประมาท 3 คดี และคดีขับเสพ 79 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวน 3 ราย
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า ยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 11 - 17 เมษายน 2568) มีจำนวนทั้งสิ้น 6,405 คดี ลดลงจากปี 2567 (7,388 คดี) คิดเป็น 12.63% แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.27 ขับรถประมาท 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 และขับเสพ 297 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.64
โดยจังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 406 คดี , จ.สมุทรปราการ จำนวน 351 คดี และ จ.เชียงใหม่ จำนวน 302 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี พ.ศ.2567 มีจำนวน 7,131 คดี กับ ปี พ.ศ.2568 จำนวน 6,100 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 1,031 คดี คิดเป็นร้อยละ 14.46
ขณะที่ในส่วนของการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ กำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้นมีจำนวน 15 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 52 ราย ซึ่งจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จ.สกลนคร
ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ เฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center - EMCC) พร้อมกำชับสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศประสานเครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครคุมประพฤติ ลงพื้นที่ในการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวในตอนท้ายว่า ช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มข้น สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้น 307 จุด โดยมีอาสาสมัครคุมประพฤติ ผู้ถูกคุมความประพฤติ ภาคีเครือข่าย และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 6,311 คน สำหรับมาตรการทางกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล รวมทั้งพาทัวร์ห้องดับจิต เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและตระหนักถึงความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยกรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นกรมคุมประพฤติจะรายงานกลับไปยังศาล เพื่อนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษมาบังคับใช้ต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี