ปิดฉาก 7 วันอันตราย‘สงกรานต์’ ดับสังเวยบนท้องถนน 253 ราย เกิดอุบัติเหตุรวม 1,538 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,495 คน ‘กทม.-พัทลุง’แชมป์สูญเสียสะสม ขณะที่‘6จังหวัด’ยอดสูญเสียเป็นศูนย์ เผยสถิติลดลงกว่าปี67 เกือบ 1 ใน 4 ด้าน‘มท.1’ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมมือแข็งขัน
18 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน (11 – 17 เม.ย. 68) ของเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 พบว่า จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ในช่วงควบคุมเข้มข้น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในทุกระดับ
สำหรับปีนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้นำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 และมาตรการเชิงรุกไปใช้ดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็น การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ การกระตุ้นให้ประชาชนเคารพกฎจราจร การเพิ่มความเข้มงวดด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ การคืนพื้นผิวจราจร การเปิดให้ใช้เส้นทางหลวงสายพิเศษต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาปริมาณการสัญจรบนถนนสายหลัก การเพิ่มตั๋วโดยสารรถสาธารณะรถไฟและเครื่องบิน เพื่อลดปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล
นอกจากนี้ รวมถึงการตั้งจุดตรวจ และชุดเคลื่อนที่เร็วของตำรวจ จุดบริการประชาชน และ ด่านชุมชน ทั่วประเทศ โดยในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินการด่านชุมชน จากการตั้งด่าน ณ ที่ตั้ง เป็นชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อลงไปเคาะประตูบ้าน และตรวจตราที่จุดจัดงานสงกรานต์ จุด zoning เล่นน้ำ และจุดที่มีการจัดงานประเพณี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการดำเนินการเชิงรุกที่ช่วยป้องปรามผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงและส่งผลช่วยให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง
นายอนุทิน กล่าวว่า ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับประชาชนอย่างเข้มข้นตลอดช่วง 7 วันที่ผ่านมา แม้ตอนนี้จะสิ้นสุดการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 แล้ว แต่ขอให้ทุกภาคส่วนและจังหวัดดำเนินการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้พี่น้องประชาชนต่อเนื่อง โดยถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ วิเคราะห์ข้อมูลในทุกมิติ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการการดำเนินงานที่สามารถแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และร่วมมือกันบูรณาการการทำงานเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างใกล้ชิดและจริงจัง
ทั้งนี้ โดยใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดและการไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจ รวมไปถึงความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 17เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ เกิดอุบัติเหตุ 147 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 145 คน ผู้เสียชีวิต 22 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 43.54 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.53 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.65
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.11 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 89.80 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.22 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.25 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 14.29
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 -21.00 น. ร้อยละ 18.37 เวลา 09.01 – 12.00 น. ร้อยละ 17.69 และเวลา 15.01 – 18.00 น. ร้อยละ 15.65 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 17.96 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,945 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (3 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17เม.ย.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,538 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,495 คน ผู้เสียชีวิต รวม 253 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก พิจิตร ภูเก็ต ระนอง สตูล และสิงห์บุรี จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (61 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (19 ราย)
ด้านนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ พ.ศ. 2568 พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดคือการขับรถเร็ว รองลงมาเป็นการดื่มแล้วขับ โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด ศปถ. ขอให้ทุกภาคส่วนถอดบทเรียนและหาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เหมาะสม แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ลดการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ ลดพฤติกรรมการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับให้ได้ โดย ศปถ. ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และให้ความรู้หลักการใช้พาหนะอย่างปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ การขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง และการจัดทำประกันภัย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 12 คน ต่อแสนประชากรได้จริง
ขณะที่น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สรุปจำนวนอุบัติเหตุทางถนนสะสมใน ช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17 เม.ย. 68) เทียบกับปี 67 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,538 ครั้ง (ลดลง 506 ครั้ง) คิดเป็น ร้อยละ 24.76 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ พัทลุง 63 ครั้ง ลำปาง 52 ครั้ง และนราธิวาส 49 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,495 คน (ลดลง 565 คน) คิดเป็น ร้อยละ 27.43 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก พิจิตร ภูเก็ต ระนอง สตูล และสิงห์บุรี จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ พัทลุง 61 คน ลำปาง 58 คน และนราธิวาส 53 คน ผู้เสียชีวิต รวม 253 ราย (ลดลง 34 ราย) คิดเป็นร้อยละ 11.85 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 19 ราย พิษณุโลก สระแก้ว และเชียงราย 10 ราย และนครราชสีมา 9 ราย
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 41.68 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.86 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.38 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 63.33 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 19.34 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 18.88 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.34 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.17 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเวลา 15.00-18.00 น. ร้อยละ 20.68เวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 20.16
ส่วนช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด 20-29 ปี ร้อยละ 19.16 ทั้งนี้ ในห้วง 7 วันอันตรายมีผู้ถูกเข้ากระบวนการคุมประพฤติตามกฎหมาย จำนวน 6,405 คดี โดยพบว่าเป็นความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี ซึ่งจังหวัดที่มีสถิติขับรถขณะเมาสุราสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 406 คดี สมุทรปราการ 351 คดี และเชียงใหม่ 302 คดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี