ปิดฉาก 7 วันอันตราย “สงกรานต์” สรุปยอดดับ 253 ศพ เกิดอุบัติเหตุ 1,538 ครั้ง บาดเจ็บ 1,495 คน ส่วน “กทม.-พัทลุง” แชมป์สูญเสียสะสม ขณะที่ 6 จังหวัด ยอดตายเป็นศูนย์ เผยสถิติลดลงจากปีก่อนเกือบ 1 ใน 4
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน (11–17 เมษายน 2568) ของเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 พบว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ในช่วงควบคุมเข้มข้น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในทุกระดับ
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 17 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ เกิดอุบัติเหตุ 147 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 145 คน ผู้เสียชีวิต 22 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 43.54 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.53 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.65 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จักรยานยนต์ ร้อยละ 84.11 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 89.80 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.22 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.25 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 14.29
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 18.37 เวลา 09.01–12.00 น. ร้อยละ 17.69 และเวลา 15.01–18.00 น. ร้อยละ 15.65 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 17.96 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,945 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (11 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (3 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11–17 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,538 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,495 คน ผู้เสียชีวิต รวม 253 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก พิจิตร ภูเก็ต ระนอง สตูล และสิงห์บุรี จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (61 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กทม. (19 ราย)
ด้านนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์ พ.ศ.2568 พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด คือการขับรถเร็ว รองลงมา เป็นการดื่มแล้วขับ โดยมีจักรยานยนต์ เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ศปถ.ขอให้ทุกภาคส่วนถอดบทเรียนและหาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เหมาะสม แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ลดการเกิดอุบัติเหตุในจักรยานยนต์ ลดพฤติกรรมการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับให้ได้
ศปถ.ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และให้ความรู้หลักการใช้พาหนะอย่างปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ การขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง และการจัดทำประกันภัย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 12 คนต่อแสนประชากรได้จริง
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สรุปจำนวนอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11–17 เมษายน 2568) เทียบกับปี 2567 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,538 ครั้ง (ลดลง 506 ครั้ง) คิดเป็น ร้อยละ 24.76 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ พัทลุง 63 ครั้ง ลำปาง 52 ครั้ง และนราธิวาส 49 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,495 คน (ลดลง 565 คน) คิดเป็นร้อยละ 27.43 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก พิจิตร ภูเก็ต ระนอง สตูล และสิงห์บุรี จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ พัทลุง 61 คน ลำปาง 58 คน และนราธิวาส 53 คน ผู้เสียชีวิต รวม 253 ราย (ลดลง 34 ราย) คิดเป็นร้อยละ 11.85 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ กทม.19 ราย พิษณุโลก สระแก้ว และเชียงราย 10 ราย และนครราชสีมา 9 ราย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 41.68 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.86 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.38 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 63.33 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 19.34 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 18.88 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จักรยานยนต์ ร้อยละ 83.34 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.17 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเวลา 15.00-18.00 น. ร้อยละ 20.68เวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 20.16
วันเดียวกัน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงสรุปยอดคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้นสงกรานต์ 2568 โดยมีสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ทั้งสิ้น 1,177 คดี แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 1,095 คดี ติดอุปกรณ์ EM รวม 12 ราย ขับรถประมาท 3 คดี และคดีขับเสพ 79 คดี ติดอุปกรณ์ EM รวม 3 ราย
โดยยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 11–17 เมษายน 2568) มีทั้งสิ้น 6,405 คดี ลดลงจากปี 2567 (7,388 คดี) คิดเป็น 12.63% แบ่งเป็นขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.27 ขับรถประมาท 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 และขับเสพ 297 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.64 โดยจังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กทม.406 คดี สมุทรปราการ 351 คดี และเชียงใหม่ 302 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วัน ที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 มีจำนวน 7,131 คดี กับปี 2568 จำนวน 6,100 คดี พบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 1,031 คดี คิดเป็นร้อยละ 14.46 ขณะที่การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM ตามคำสั่งศาล ในวันสุดท้ายของการควบคุมเข้มข้นมี 15 ราย ทำให้ยอดสะสม 7 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 52 ราย ซึ่งจังหวัดที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ EM สูงสุด ได้แก่ จ.สกลนคร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี