สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์รัฐสภา โวยถูกทุจริตเงิน 14 ล้านบาท ขณะที่ กรรมการฯประกาศเลิกจ้างจนท.การเงิน และแจ้งความเอาผิด แต่สมาชิกยังข้องใจ-ไม่เชื่อทำคนเดียว จี้ให้‘หน่วยงานภายนอก’ร่วมสอบทำให้กระจ่าง
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาจำกัด ออกประกาศ เรื่อง การกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จำกัด ต่อกรณีที่พบการทุจรติในสหกรณ์ อาจทำให้สมาชิกสงสัยและไม่สบายใจ จึงขอชี้แจงสมาชิกดังนี้
สหกรณ์ได้พบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า เจ้าหน้าที่สหกรณ์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินมีพฤติกรรมทุจริตในหน้าที่ ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการ ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อสอบสวน หาหลักฐานการกระทำผิด และมีข้อเท็จจริงพบว่าเจ้าหน้าที่การเงินทำทุจริตจริง คณะกรรมการ จึงมีมติให้เลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชย และแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางโพ เพื่อดำเนินคดี ซึ่งคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสถานะการเงินของสหกรณ์รวมถึงไม่กระทบเงินในบัญชีเงินฝากและทุนเรือนหุ้นของสมาชิกแต่อย่างใด และขอให้สมาชิกเชื่อมั่นในคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ ว่าจะรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกและสหกรณ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ลงชื่อ น.ส.สิตาวีร์ ธีรวิรุฬห์ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จำกัด”
ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวพบว่ามีการวิจารณ์ถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นในโอเพ่นแชท สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์รัฐสภา โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการทุจริตเป็นเงินจำนวนมากถึง 14 ล้านบาท เป็นไปได้ยากที่จะมีคนเพียงคนเดียวทำโดยลำพัง เพราะระบบของสหกรณ์ทั่วไป โดยเฉพาะสหกรณ์ใหญ่ระดับรัฐสภา มักมีโครงสร้างตรวจสอบและถ่วงดุลกันอยู่พอสมควร เช่น
1. การทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงิน ต้องมีลายเซ็นร่วม โดยทั่วไป ต้องมีอย่างน้อย 2 คน เช่น เจ้าหน้าที่กับผู้จัดการ หรือ เจ้าหน้าที่กับคณะกรรมการ จึงจะเบิกเงินหรืออนุมัติรายการได้ 2. ต้องผ่านการตรวจสอบบัญชีและการอนุมัติหลายขั้น เช่น ต้องมีการทำเอกสารเบิกจ่าย หรือ มีคนตรวจสอบยอดเงิน หรือ มีคนลงนามอนุมัติ
3. ถ้ามีเพียงคนเดียวที่เข้าถึงเงินได้ แสดงว่าระบบควบคุมภายในอ่อนแอมาก และในกรณีนี้ ก็มักจะมี ผู้มีตำแหน่งสูงกว่า เพิกเฉย ปล่อยปละ หรือ อาจรู้เห็นเป็นใจ 4. ระยะเวลาที่ใช้ในการทุจริตมักไม่ใช่ช่วงสั้นๆ ถ้าเป็นการทุจริตสะสม เช่น เดือนละ 1แสนบาท หรือ 2แสนบาท ไปเรื่อย ๆ นานเป็นปี แปลว่า “มีคนรู้แต่ไม่พูด หรือแกล้งไม่เห็น” ก็เป็นไปได้มาก
นอกจากนั้นยังมีสมาชิกสหกรณ์ได้ระบุว่า“น้องที่ทำไป ต้องยอมรับและสารภาพมาให้หมด ว่าทำคนเดียวหรือทำร่วมกับใคร สหกรณ์ของเราจะได้ใส สะอาด หาทางอุดช่องโหว่ที่มี กรณีนี้ท่านประธานกรรมการสหกรณ์ปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่งกรรมการชุดเก่า การตรวจสอบความโปร่งใสต้องชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นด้วย”
และยังมีข้อความที่แสดงความเห็นด้วยว่า “ถ้าตรวจสอบว่า มีผู้มีอำนาจลงนาม คณะกรรมการเก่า หรือผู้ตรวจสอบ บกพร่อง ในการรับรองบัญชี ที่เงินหายมาหลายปี จะเกิดข้อครหาด้วยหรือไม่เพราะในปี2567 ตรวจสอบ รับรอง ไม่พบความผิดปกติ ผู้รับรองตรวจสอบประเมิน ดีมาก ดีเยี่ยม ขณะที่ปี2568 พบทุจริตเงินเบื้องต้น 14 ล้านบาท หาย โดยเจ้าหน้าที่คนเดียว ทำมาหลายปี ถือว่าย้อนแย้ง เพราะว่าถูกรับรองกันมา โดยไม่ตรวจสอบเงินว่าตรงกันไหม แบบนี้การรับรองบัญชีปี 2568 จะเชื่อมั่นได้ยังไงว่าข้อมูลจริง”
นอกจากนั้นแล้วแหล่งข่าวจากสหกรณ์ออมทรัพย์รัฐสภา บอกด้วยว่าการตรวจสอบที่เบื้องต้นพบการทุจริตและคณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้างบุคคลเพียงรายเดียวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นใจการรตรวจสอบได้ เพราะอาจจะเป็นการตัดตอนให้เจ้าหน้าที่รับผิดเพียงคนเดียว และให้ผู้ใหญ่ที่คาดว่าอาจทำผิดร่วมลอยตัวไม่ต้องรับผิด ดังนั้นจึงอยากให้มีการตรวจสอบอีกครั้งจากหน่วยงานภายนอกที่ไม่ใช่คณะกรรมการของสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสที่แท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในเว็ปไซต์ของสหกรณ์ออมทรัพย์รัฐสภาได้เผยแพร่รายงานประจำปีของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา จำกัด ปี2567 โดยระบุว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้ดำเนินการมาสู่ปีที่ 49 ปัจจุบันสินทรัพย์ของสหกรณ์เติบโตต่อเนื่อง มีสินทรัพย์ 2,513.50 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 205.96 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 102.76 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 7.8ล้านบาท สหกรณ์มีความมุ่งมั่นให้สมาชิกมีความมั่นคงทางการเงิน สนับสนุนการออม ให้ผลตอบแทนการลงทุนกับสมาชิกอย่างเหมาะสม และในคณะกรรมการชุดที่49นั้นมีนายสัณห์ชัย สินธุวงษ์ เป็นประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการฝ่ายรัฐสภาจำกัดและยังเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ฯและมีกรรมการรวม 15 คน
ขณะที่ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ มี 9คน มี น.ส.วรัลชญาน์ เจริญทัศนาวิชญ์ เป็นผู้จัดการ และพบชื่อน.ส.กัญญารัตน์ ตะพัง เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน น.ส.ดวงกมล แดงกัน เป็นเจ้าหน้าที่บัญชี น.ส.วรณฤดี แก่นสุข เป็นเจ้าหน้าที่จัดทำบัญชีสหกรณ์ ส่วนคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เป็นชุดที่ 50โดยมี น.ส.สิตาวีร์ เป็นประธานกรรมการ และมีนายสัณห์ชัย เป็นที่ปรึกษา ขณะที่เจ้าหน้าที่สหกรณ์นั้น พบว่าเป็นชุดเดิม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี