อย่างที่หลายคนทราบดีว่า “จิ้งหรีด” เป็นแมลงที่ได้รับความสนใจในหลายมิติ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง จนเกิดกระแสนิยมการบริโภคโปรตีนจากแมลงในทวีปยุโรปและอเมริกา ยกให้เป็นอาหารใหม่ หรือ Novel Food อาหารแห่งอนาคต ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลงจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดนี้คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตนมทางเลือก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น
ในด้านเศรษฐกิจไทย จิ้งหรีดสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในชนบทที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในไทยมีมากกว่า 20,000 ราย และมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่เกษตรกรกลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี 2541 แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศได้ กลับเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคกลาง และอื่น ๆ
ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนของหน่วยบริการและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
โดยผลจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวมถึง 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่ ดังนั้นในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ของการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ สิ่งที่ดำเนินการในส่วนต้นน้ำคือ “การพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อทำให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่
เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ และออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม ที่ผ่านมาทีมวิจัย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร 11 กลุ่ม จำนวน 124 คน ได้ทำงานร่วมกันโดยยึดหลักการ “พาทำ และทำกัน” เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ใช่เพียงการทำโรงเรือนที่ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practices) แต่ต้องช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพในการผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น
โดยการใช้สูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่นี้สามารถลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก 71.99 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด เหลือเพียง 61.06 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด แต่ที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนก็คือ การทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้ โดยในส่วนนี้เป็นการถอดความรู้ประสบการณ์ เทคนิค และภูมิปัญญาในการเลี้ยงจิ้งหรีดของพี่น้องเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม
นำจุดเด่นของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เพื่อสร้างเป็น “องค์ความรู้ร่วม” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ พร้อมกันนั้นทีมวิจัยยังเข้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นทั้งพี่เลี้ยงและโค้ชให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีทักษะในบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบ Local Enterprise หรือรูปแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล รวมถึงความพยายามในการสร้างหรือพัฒนา “ผู้รวบรวมในพื้นที่” ที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม
“การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นการทำธุรกิจ แต่มองว่าเป็นวิถีชีวิตที่คล้ายๆ กับการทำนา เราจึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองเรื่องการทำธุรกิจให้เขารู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือการลงทุนทำธุรกิจ เมื่อได้เงินมาก็ต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว เขายังต้องสามารถจัดการธุรกิจของตนเองได้ด้วย
สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมายต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของตลาด และศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงความสนใจหรือคุณค่าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น” ดร.อนุวรรตน์ กล่าว
ดร.อนุวรรตน์ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่” ที่นอกจากจะสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังรวมถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ที่รับมา
ส่วนในระยะต่อไปทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ระดับ โดยมีทั้งกลุ่มที่ “ตั้งไข่ได้” “เติบโตได้” และ “ปล่อยมือได้” ซึ่งในกลุ่มที่ปล่อยมือได้คือเขาสามารถหล่อเลี้ยงตนเอง วางแผนธุรกิจ วางแผนตลาด และยังเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายได้ด้วย
ทางด้าน นายภูดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจากภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากผู้ผลิตสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้ ด้วยเทคนิคและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วันเท่านั้น
นางอรวรรณ วอทอง หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ในด้านจิ้งหรีดปลดหนี้แก้จน ในประเภทรางวัลดีเด่น เมื่อปี 2567 กล่าวว่า เดิมกลุ่มของเราเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาล และขายพ่อค้าคนกลาง แต่ก็โดนกดราคา เพราะการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐาน
จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธ.ก.ส. โดยได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำแผนธุรกิจ มาทำโรงเรือนจิ้งหรีด และเป็นพี่เลี้ยงพาเราเรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน พัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง ทำให้เราสามารถผลิตจิ้งหรีดคุณภาพและมีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนกระทั่งปลดหนี้ได้ในปีนี้ และสามารถจัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการนี้จะหนุนเสริมให้กลุ่มสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นได้แล้ว ทั้งยังสามารถวางแผนธุรกิจ บันทึกรายรับ-รายจ่าย และวางแผนการผลิตได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาที่กลุ่มของตนและเครือข่ายเผชิญคือ “ราคาและตลาดที่ไม่คงที่” สิ่งที่กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดในตลาดระดับภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันได้ หากแบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งตัวเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็สามารถกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นทั้งอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้อย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ที่ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เป็นจิ้งหรีดตัว แต่เราก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐานด้วยเช่นกัน” นางอรวรรณ กล่าว
หน่วยบริการและจัดการทุนวิจัย
ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี