นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าว “การพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง” เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมาว่า การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ยึดหลักการโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีที่เหมาะสม มีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ที่ผ่านมาจากตัวเลขผู้ป่วยที่เลือกการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ในจำนวนนี้พบว่ามีส่วนหนึ่งเป็นการเลือกการบำบัดทดแทนไตที่เป็นวิธีไม่เหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อโรค การใช้ชีวิต และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
“ดังนั้นที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. จึงเห็นชอบการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพของนโยบายล้างไต ตามนโยบาย PD First หรือการล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก โดยเป็นแนวทางเพื่อการดูแลผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการบำบัดด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม นอกจากแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแล้ว ยังมีการตรวจสอบการบำบัดที่เหมาะกับผู้ป่วย ที่ยึดสภาวะของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” นายสมศักดิ์ กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตนั้น นอกจากพิจารณาจากปัจจัยทางการแพทย์แล้ว ยังต้องพิจารณาจากปัจจัยทางสังคม ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในกระบวนการนี้คือการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ จากเดิมที่แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งในหลายกรณีการฟอกเลือดก็ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงแต่เลือกใช้การฟอกเลือด ทำให้ต้องหอบหิ้วผู้ป่วยมาฟอกเลือดที่โรงพยาบาล แทนที่จะดีแต่กลับเป็นผลเสียมากกว่า
หรือในทางกลับกัน ถ้าบ้านอยู่ใกล้หน่วยไตเทียม แม้จะสามารถล้างไตทางช่องท้องได้ แต่แพทย์ก็อาจพิจารณาแนะนำให้ใช้วิธีฟอกเลือดดีกว่า ดังนั้น โดยหลักการแล้วจึงต้องพิจารณาจากความเหมาะสม แพทย์และคนไข้ตกลงกันว่าอะไรเหมาะกับผู้ป่วยที่สุด ซึ่งจากที่ผ่านมาเราพบว่ามีหลายกรณีที่การฟอกเลือดกลับสร้างความลำบากให้ผู้ป่วย จึงขอให้ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เกิดกระบวนการพูดคุยกับคนไข้ก่อนโดยทีมแพทย์ โดยขณะนี้นโยบาย สปสช. คือต้องการให้มีการล้างไตทางช่องท้องมากขึ้น เพราะขณะนี้บุคลากรที่เกี่ยวกับการฟอกเลือดเริ่มมีไม่เพียงพอ
“ปกติหมอ 1 คนจะดูคนไข้ฟอกเลือดได้ 2-3 คน ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องหมอ 1 คนอาจจะดูแลคนไข้ได้ 100 คน ฉะนั้นต้องยอมรับว่าการขาดแคลนบุคลากรด้านการฟอกเลือด ทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพ และผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร จึงเป็นที่มาของนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ อย่างไรก็ดี ย้ำว่า ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนต้องเริ่มจากการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อายุรแพทย์โรคไตจะทราบอยู่แล้วว่าการบำบัดทดแทนไตแบบไหนเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย แต่โดยทั่วไปหากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็ทำได้ 2 วิธี แต่แม้จะเลือกได้ทั้ง 2 วิธี ก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เช่น ถ้าบ้านอยู่ไกลจากโรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง การล้างไตทางช่องท้องจะเหมาะสมมากกว่า เพราะ สปสช. ส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน มาโรงพยาบาลแค่ 2-3 เดือนครั้ง
“การที่มีผู้ป่วยฟอกเลือดมากขึ้นแต่บุคลากรมีไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถขยายศูนย์ไตเทียมไปได้ทุกที่ บุคลากรก็มีภาระเยอะมากกระทบกับคุณภาพการให้บริการ จากข้อมูลพบว่าหลังจากมีนโยบายก่อนหน้านี้ออกมา ทำให้จำนวนผู้ป่วยไตเลือกการฟอกเลือดเพิ่มขึ้น จำนวนการเสียชีวิตมากขึ้นและเสียชีวิตเร็วขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปก็เหมือนไปเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จึงเป็นที่มาของการปรับแนวทางการใหม่ในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี