‘ดีเอสไอ’หิ้วฝากขัง‘ชวนหลิง จาง’กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สร้าง‘ตึกสตง.’ถล่ม เปิดพฤติการณ์ 3 กรรมการบริษัทคนไทยเป็น‘นอมินี’ถือหุ้นแทน ทั้งที่เป็นแค่พนักงานยกของ-คนขับรถ
21 เมษายน 2568 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำตัวนายชวนหลิง จาง อายุ 42 ปี ชาวจีน ผู้ต้องหาคดีเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการหรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 มายื่นคำร้องฝากขังผัดแรก
คำร้องฝากขัง สรุปว่า สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่พังถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
จากการสอบสวน พบว่า บริษัทที่ทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวคือกิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ในนาม ITD-CREC โดยบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท จำนวน 1 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยร้อยละ 51 และสัญชาติจีนร้อยละ 49 มีจำนวนผู้ถือหุ้นจำนวน 4 รายได้แก่
1.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอจิเนียริ่ง คัมปะนี สัญชาติจีนจำนวน 490,000 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 49 มูลค่า 49 ล้านบาท
2.นายโสภณ จำนวน 407,997 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 40.7997 มูลค่า 40,799,700 บาท และปรากฏว่าถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นอีก 4 บริษัท
3.นายประจวบ จำนวน 102,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10.20 มูลค่า 10,200,000 บาท และปรากฏว่าถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นอีก 7 บริษัท
4.นายมานัส จำนวน 3 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 0.003 มูลค่า 300 บาท แล้วปรากฏว่าถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นอีก 10 บริษัท
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีนายชวนหลิง จาง สัญชาติจีน และนายโสภณ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล
เมื่อสืบสวนขยายผลกรรมการที่มีสัญชาติไทยทั้ง 3 คน พบว่า นายโสภณ อายุ 66 ปี ประวัติเคยทำงานที่บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด และได้ลาออก เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 และไม่ปรากฏประวัติการทำงานที่บริษัทใดอีก
ส่วนนายประจวบ อายุ 53 ปี และนายมานัส อายุ 62 ปี มีประวัติการทำงานที่บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด โดยนายประจวบได้ลาออกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 ส่วนนายมานัส ลาออกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558
บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด ตั้งอยู่ที่ตั้งเดียวกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทอื่นอีก 8 บริษัท โดยทั้ง 8 บริษัท มีกรรมการสัญชาติไทยของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นกรรมการ
จากการสอบสวนพบว่านายโสภณ , นายประจวบ และนายมานัส ทั้ง 3 คนเป็นลูกจ้างของบริษัทที่คนจีนเป็นเจ้าของ โดยที่ทั้ง 3 คนเป็นเพียงคนงานยกสินค้าและขับรถ ไม่เชื่อว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการใด เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างและมีรายได้น้อย
พนักงานสอบสวนดีเอสไอ พยายามติดตามตัวกรรมการสัญชาติไทยทั้ง 3 คน เพื่อมาสอบสวนกรณีอาคารตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างได้ถล่มลงมา โดยศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนติดตามตัวกลุ่มผู้ต้องหาหลังเกิดเหตุตึกถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยหลังเกิดเหตุ ไม่สามารถติดต่อนายโสภณ , นายประจวบ และนายมานัสได้
ส่วนกรณี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีนายชวนหลิง จาง ผู้ต้องหาในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ได้ทำธุรกิจต้องห้ามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บัญชี 3 ข้อ 10
ด้วยเหตุนี้การที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มี นายโสภณ , นายประจวบและนายมานัส ลูกจ้างชาวไทย 3 คนเข้ามาจดทะเบียนอำพรางเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 51 เพื่อให้บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบอาชีพต้องห้ามตามกฎหมาย โดยการเข้าประมูลงานก่อสร้างอาคารตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ด้วยวิธีการประกวดราคาผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) และได้ทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนกระทั่งอาคารได้ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
จากพฤติกรรมข้างต้นการกระทำของนายชวนหลิง จาง ผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน เป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการหรือต้องได้รับอนุญาตก่อนและเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 37 และมาตรา 41
ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 18.50 น. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ร่วมกันจับกุมตัวนายชวนหลิน จาง ได้ที่โรงแรมย่านถนนรัชดาภิเษก ผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอจึงควบคุมตัวมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อสอบสวนแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานอีก 20 ปาก รอผลการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและอยู่ระหว่างรอพยานเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอศาลฝากขังผู้ต้องหานี้มีกำหนด 12 วันตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน - 2 พฤษภาคม นี้
ในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
โดยคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ประกอบกับมีหนังสือจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ในราชอาณาจักรไทย ยืนยันผู้ต้องหาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้
ต่อมาทนายความของนายชวนหลิง จาง ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี