ดอดมอบตัวDSI
3คนไทยนอมินี บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ
แฉพฤติกรรมถึงกับอึ้ง
อดีตคนขับรถ-ยกของ
ฝากขัง‘ชวนหลิง จาง’
ให้การปฏิเสธทุกข้อหา
ดีเอสไอหิ้ว “ชวนหลิง จาง” กก.บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่รับสร้างตึกสตง.ฝากขังผัดแรก ปัดให้ข้อมูลด้านลงทุน เผยคำฟ้องระบุกก.บริษัทในเครือ มีคนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นแทน 3 ราย เปิดพฤติการณ์เป็นแค่พนักงานยกของ-คนขับรถ ขณะที่ 3 กก.คนไทยดอดเข้ามอบตัว DSI ด้านโฆษกดีเอสไอระบุเร่งขยายผลเช็คเส้นทางเงิน 2 พันล้านบาท หาต้นตอ หลังต้นตอระบุเป็นเงินกู้ยืมทำธุรกิจ ชี้พบความเชื่อมต่อกับนาย ตงเซี่ย เร่งขยายผล
เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ห้องสำนักงานรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ราชการฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ (ปพ.) และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคุมตัวนายชวนหลิง จาง (Mr.Chuanling Zhang) สัญชาติจีน กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ไปขอศาลอาญารัชดาภิเษกฝากขังผัดแรก
DSIคุมตัวชวนหลินจางฝากขัง
ทั้งนี้ ระหว่างเจ้าหน้าที่ดีเอสไอนำตัวนายชวนหลิง จาง ไปขึ้นรถ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามนายจางถึงบริษัท ไชน่าเรลเวย์ฯ เรื่องที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ถล่ม รวมถึงการใช้ 3 คนไทยเป็นนอมินีตั้งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯหรือไม่ และรู้จักนายบินลิง วู หรือไม่ แต่นายจาง ไม่ตอบคำถามใดๆ
ศาลอนุมัติฝากขัง-ทนายยื่นประกัน
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ นำตัวนายชวน หลิง จาง อายุ 42 ปี ชาวจีน ผู้ต้องหา คดีเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการหรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตามพ.ร.บ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 มายื่นคำร้องฝากขังผัดแรก โดยนคำร้องฝากขังสรุปว่า จากเหตุการณ์ก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.ถล่มทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก สอบสวนพบบริษัทที่ก่อสร้างคือ กิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ในนาม ITD-CREC โดยบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้น 4 รายได้แก่
1. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอจิเนียริ่ง คัมปะนี สัญชาติจีนจำนวน 490,000 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 49 มูลค่า 49 ล้านบาท 2. นายโสภณ มีชัย จำนวน 407,997 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 40.7997 มูลค่า 40,799,700 บาท และปรากฏว่าถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นอีก 4 บริษัท 3. นายประจวบ ศิริเขตร 102,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10.20 มูลค่า 10,200,000 บาท และปรากฏว่าถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นอีก 7 บริษัท 4. นายมานัส ศรีอนันท์ 3 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 0.003 มูลค่า 300 บาท แล้วปรากฏว่าถือหุ้นในนิติบุคคลอื่นอีก 10 บริษัท โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯมีนายชวนหลิน จาง สัญชาติจีนและกรรมการสัญชาติไทย 3 คนคือ
นายโสภณ นายประจวบและนายมานัส ทั้ง 3 คนเป็นลูกจ้างบริษัทที่คนจีนเป็นเจ้าของ ทั้ง 3 คนเป็นเพียงคนงานยกสินค้าและขับรถ ไม่เชื่อว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างและมีรายได้น้อย
ส่วนกรณี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีนายชวนหลิง จาง ผู้ต้องหาในคดีนี้ เป็นกรรมการบริษัท ได้ทำธุรกิจต้องห้ามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชี 3 ข้อ 10 ด้วยเหตุนี้การที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีนายโสภณ, นายประจวบและนายมานัส ลูกจ้างชาวไทย 3 คนเข้ามาจดทะเบียนอำพรางเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 51 เพื่อให้บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เป็นบริษัทสัญชาติไทย วัตถุประสงค์เพื่อประกอบอาชีพต้องห้ามตามกฎหมาย โดยเข้าประมูลงานก่อสร้างอาคารตึก สตง.ด้วยวิธีประกวดราคา ผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) และได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 กระทั่งอาคารได้ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
จากพฤติกรรมข้างต้นการกระทำของนายชวนหลิง จาง ผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน เป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการหรือต้องได้รับอนุญาตก่อนและเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 จ้าหน้าที่ดีเอสไอควบคุมตัวมาสอบสวนแต่ยังไม่เสร็จ ต้องสอบพยานอีก 20 ปาก รอผลตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ตรวจสอบธุรกรรมการเงิน และอยู่ระหว่างรอพยานเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอศาลฝากขังผู้ต้องหานี้มีกำหนด 12 วันตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน - 2 พฤษภาคม โดยคดีนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ประกอบกับมีหนังสือจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในราชอาณาจักรไทย ยืนยันผู้ต้องหาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจของจีน พนักงานสอบสวนดีเอสไอจึงไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้
ต่อมาทนายความของนายชวน หลิงจาง ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
“ชวนหลิงจาง”ให้การปฎิเสธ
ต่อมาพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และโฆษก ดีเอสไอให้สัมภาษณ์ว่า จากการสอบปากคำ นายชวนหลิง จาง ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจของจีนที่ถูกส่งมาลงทุนในไทยในนามรัฐบาลจีน ถือหุ้นในบริษัทฯสัดส่วน 49% ส่วนที่คนไทยถือหุ้นนั้นไม่ทราบรายละเอียด แต่ยอมรับว่ารู้จักกรรมการคนไทยทั้ง 3 รายคือ นายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ นายโสภณ มีชัย รวมทั้งยอมรับเรื่องเงินที่มาจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดและไม่ได้ให้การถึงการจ้างคนไทยเป็นนอมินี ส่วนประเด็นนายตง เซี่ยนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผล ขอสงวนรายละเอียดในสำนวนไว้ก่อน แต่จากการสอบปากคำพบมีจุดเชื่อมต่อที่เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขยายผลพอสมควร
เร่งสอบเส้นเงิน2พันล.ของกกคนไทย
พ.ต.ต.วรณันกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ดีเอสไอพบเรื่องเงิน 2,000 ล้านบาทในส่วนกรรมการในบริษัทไชน่าเรล เวย์ฯนั้น สอบสวนทราบว่าตัวเงินเป็นของคนไทยที่กู้ยืมเงินเพื่อใช้ทำธุรกิจ เป็นเรื่องสำคัญที่ดีเอสไอต้องไปขยายผลว่าแหล่งเงินจริงมาจากไหน เป็นของใคร เพราะดีเอสไอตรวจสอบสถานะของคนไทยทั้ง 3 รายที่เป็นกรรมการในบริษัทฯพบว่าทั้งหมดไม่ได้มีสถานะพอที่จะไปดำเนินธุรกิจ หรือมีวิชาชีพหรือเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว ทำให้เราต้องเร่งหาที่มาของเงิน 2,000 ล้านบาท ต้องตรวจสอบรายการเดินบัญชี
เร่งขยายผลจ่อหมายจับเพิ่ม
พ.ต.ต.วรณันกล่าวอีกว่า การติดตามจับกุมกรรมการคนไทยทั้ง 3 รายนั้น ดีเอสไอมีเบาะแสที่เชื่อว่าทั้งหมดยังอยู่ในไทย พร้อมบอกว่าจริงๆแล้ว ดีเอสไอเพียงต้องการให้ทั้ง 3 รายเข้าให้ข้อมูลว่าทำหน้าที่อะไรในบริษัท เพื่อต่อภาพทั้งหมดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อไม่มีใครมาแสดงตัว จึงนำไปสู่การขออำนาจศาลออกหมายจับ สำหรับกรณีว่าตั้งแต่เกิดเหตุตึกถล่ม 3 คนไทยที่เป็นกรรมการในบริษัทไชน่าเรลเวย์ฯไม่ได้หลบหนี แต่มีผู้ให้ที่พักพิงจะมีความผิดหรือไม่ พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า เรื่องเกิดขึ้นก่อนมีหมายจับศาล ก็ยังไม่เข้าข่ายการช่วยเหลือผู้ต้องหา ส่วนจะออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติมหรือไม่ ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผล เพราะจากการสอบปากคำนายจางต้องไปค้นเพิ่ม
สั่งกิจการร่วมค้าทำผังองค์กร
ส่วนจะเปิดตู้คอนเทนเนอร์ 24 ตู้ที่อายัด ที่พบในไซต์งานก่อสร้างตึก สตง.(แห่งใหม่) เมื่อใดนั้น พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ตอนนี้เร่งให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอและกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี และกิจการร่วมค้า PKW ทำแผนผังองค์กร เพราะเวลาตรวจสอบเอกสาร ต้องมีคนทำหน้าที่หลักตรวจเอกสาร และวันที่ 30 เมษายน หน่วยงานแรกคือ กิจการร่วมค้าที่เป็นผู้ก่อสร้างจะส่งแผนผังองค์กรมาให้ดีเอสไอและจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาช่วย เพราะมีความรู้เอกสารพวกนี้
กรณีนายบินลิง วู จะอยู่เบื้องหลังหรือไม่ พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในสำนวน อยู่ระหว่างตรวจสอบ ส่วนนายตง เซี่ย ซึ่งมีรายงานว่าเป็นกรรมการคนแรกของบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯจะเกี่ยวข้องเรื่องนี้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผลเช่นกัน
3กก.คนไทยมอบตัวDSI-ทนายยันไม่ใช่นอมินี
ต่อมาร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดี ดีเอสไอเผยว่า ล่าสุดนายประจวบ ศิริเขตต์ กรรมการผู้ถือหุ้น 10.20% หรือ 12,000 หุ้น ในบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ นายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.7997% นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 0.0003% สามคนไทยที่มีชื่อถูกออกหมายจับคดีนอมินีบ.ไชน่าเรลเวย์ฯเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอแล้ว ที่กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ราชการ อาคารบี
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยว่า หลังกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯทั้ง 3 คน ติดต่อขอเข้ามอบตัวแล้ว นายปฎิภาณ วนัสบดี ทนายความของนายมานัส ศรีอนันท์ เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยให้ข้อมูลสั้นๆกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเป็นทนายความให้นายมานัส ได้นำเอกสารชี้แจงมาพบพนักงานสอบสวน เบื้องต้นทราบว่าวันนี้มาทั้ง 3 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ยืนยันว่าทั้ง 3 รายไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหา
เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าวันนี้นำหลักทรัพย์ประกันตัว รวมถึงจะใช้ข้อมูลหักล้างอย่างไรเมื่อข้อมูลของดีเอสไอชี้ว่าทั้ง 3 รายถือหุ้นอำพราง นายปฎิภาณไม่ตอบคำถามเดินเข้าห้องสอบสวนทันที
กมธ.ติดตามงบสว.ถกเกณฑ์เยียวยาดินไหว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ติดตามการบริหารงบประมาณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยนายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะประธานกมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานครเข้าชี้แจง ความคืบหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และอาคารบ้านเรือนที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น
โดยนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ชี้แจงว่า มีผู้แจ้งความประสงค์เข้าขอเงินช่วยเหลือกรณีอาคารหรือทรัพย์สินเสียหาย เพื่อขอเงินชดเชยผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fobdue ((ทราฟฟี ฟองดู)) ประมาณ 30,000 คน โดยกรุงเทพฯจะสำรวจความเสียหาย ก่อนทำเรื่องเบิกจ่ายมาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ที่ได้รับงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้เวลายื่นคำร้องและสำรวจภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่ 27 เมษายน ก่อนส่งเรื่องให้ปภ.จัดสรรเงินช่วยเหลือเยียวยาให้เสร็จภายใน 60 วันคือวันที่ 27 มิถุนายน
ยื่นขอเยียวยา3.2หมื่น-กทม.โอด30วันไม่ทัน
ขณะที่นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพฯชี้แจงว่า มีผู้ยื่นคำร้อง 32,279 คน ข้อมูลถึงวันที่ 19เมษายน หากกำหนดกรอบ 30 วันไม่น่าจะทัน ขณะนี้ตรวจสอบอาคารและรับรองแล้วประมาณ 878 ราย ซึ่งการตรวจสอบไม่ง่าย ต้องใช้เวลานัดหมาย เมื่อรับรองแล้วจะส่งให้ปภ.อนุมัติจ่ายไปเรื่อยๆ คาดว่า จะจัดส่งเอกสารให้ ปภ. รอบแรกวันที่ 28 เมษายน ไม่รอจ่ายครั้งเดียวทั้งหมด โดยโอนเงินให้กทม.ก่อนโอนให้ประชาชนผ่านบัญชี นอกจากนี้ ได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาและผังเมืองและสภาวิศวกรให้ส่งบุคลากรสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพฯ
ปธ.ออกโรงแจงแทนหน่วยงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กมธ.ฯพยายามสอบถามหลักเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้อาคารบ้านพัก หลังมีข่าวว่าบางรายได้ 70 - 300 บาท ซึ่งไม่พอค่าเอกสารที่ต้องปริ้นท์เป็นภาพสีไปยื่นเรื่องด้วยซ้ำ แต่นายอลงกต ประธานที่ประชุมไม่ยอมให้หน่วยงานชี้แจง แต่ชี้แจงด้วยตนเองว่า การจ่ายเงิน จะยึดตามหลักเกณฑ์ใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินพ.ศ. 2563 (กระทรวงการคลัง) ข้อ 5.1 ด้านการดำรงชีพ5.1.5 ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน49,500 บาท หากการชดเชยเยียวยาทุกกรณีผู้ยื่นคำร้องขอชดเชยไม่พอใจ และไม่ยอมรับการชดเชยที่กำหนดไว้ ผู้ยื่นคำร้องสามารถอุทธรณ์ได้ ถ้ายังไม่พอใจยื่นร้องได้ตามกระบวนการปกครอง การชดเชยทุกกรณีเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ พร้อมยืนยันกทม.ทำตามระเบียบ ไม่ได้ทำโดยพลการ
สว.เล็งชงปรับเกณฑ์เพิ่มเงินเยียวยา
นายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า จากการหารือวุฒิสภาจะมีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย สภาวิศวกร ขอความช่วยเหลือส่งวิศวกรมาช่วยตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากบุคลากรกรุงเทพมหานครมีไม่พอ แต่คาดว่ากระบวนการยังไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก ต้องใช้เวลา ความละเอียดอ่อน ต้องทำประชาพิจารณ์ และการตรวจสอบของวิศวกรทั้งหมด
นายอลงกตกล่าวต่อว่า ที่ประชุมกมธ.สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีมีข่าวผู้ได้รับผลกระทบได้รับการประเมินราคาเยียวยาอยู่ที่ 70-300 บาท ซึ่งค่อนข้างต่ำ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยึดระเบียบกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดราคาความเสียหายไว้ จะคล้ายกรณีเพลิงไหม้ หรือพายุฤดูร้อน และน้ำท่วม ทำให้บ้านเรือนเสียหาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบ โดยจ่ายเยียวยาได้สูงสุด 49,500 บาทต่อหลัง ต่อให้บ้านราคา 10 ล้านบาท ตามระเบียบก็ให้วงเงินมาเพียงเท่านี้ ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ต้องปรับระเบียบหรือไม่ ต้องไปแก้ระเบียบกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นกรณีพิเศษเหมือนเหตุน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา ต้องใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พบว่ามีความเสียหายเกินกว่าระเบียบที่กำหนดไว้ เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย
“สว. มีข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเสียหายมากเกินกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้ ต้องเยียวยามากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งบทบาทของสว.มีหน้าที่ตรวจสอบและแก้กฎหมาย จะใช้บทบาทตรงนี้เสนอปรับวงเงินมากกว่าปัจจุบัน และในระเบียบเดิมจะตีเป็นการเหมาจ่ายจะรวมค่าแรงด้วย แต่ที่เป็นห่วงคือค่าวัสดุ อุปกรณ์ อาจไม่สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน ก็จะส่งข้อสังเกตดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”นายอลงกตกล่าว
ใครไม่พอใจเงินเยียวยาร้องมาที่สว.ได้
และว่า ตอนนี้ต้องเชื่อวิศวกรที่เป็นผู้ประเมิน แต่หากประชาชนไม่พอใจราคาประเมินก็ยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการได้ ถ้าอุทธรณ์แล้วยังไม่พอใจ สามารถส่งเรื่องมาที่สว. ยืนยันว่าผู้เสียหายที่ยื่นเรื่องมาจะได้รับการเยียวยาทุกคน แต่อาจมีล่าช้าบ้าง แต่ชัวร์ ตั้งเป้ากระบวนการเสร็จภายใน 90 วัน จบภายใน 27 มิถุนายน โดยเฉพาะต่างจังหวัดน่าจะจบ แต่กรุงเทพมหานคร อาจล่าช้าเนื่องจากวิศวกรไม่พอ
เจอเพิ่มอีก4ร่างสมบูรณ์-ชิ้นเนื้อ6ชิ้น
ส่วนความคืบหน้าการรื้อถอนซากอาคาร สตง.ถล่ม และค้นหาผู้สูญหายใต้ซากตึก นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.)แถลงความคืบหน้าว่า เมื่อวันที่ (20 เมษายน เจ้าหน้าที่ค้นพบร่างที่สมบูรณ์ 4 ร่าง บริเวณโซน C1 ลึกลงไป 2-3 เมตร เป็นกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ที่ชั้น 19 ของอาคาร มีอยู่ 2 ร่างที่ระบุเพศได้ เป็นเพศชาย อีก 2 ร่างยังไม่สามารถระบุเพศได้ และมี 2 ร่างที่มีทรัพย์สินสามารถระบุตัวตน โดยนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลคนหายของบริษัทฯ และยังมีการพบชิ้นส่วนอวัยวะอีก 6 ชิ้น จึงส่งชิ้นส่วนอวัยวะให้นิติเวช รพ.ตำรวจพิสูจน์อัตลักษณ์รวมทั้งสิ้น 207 ชิ้น
สำหรับความสูงของซากอาคารในโซน A และ D เมื่อวันที่ 20 เมษายน มีความสูง 11.51 เมตร วันนี้ลดความสูงเหลือเพียง 10.52 เมตร ส่วนโซน B และ C จากความสูง 9.81 เมตร ปัจจุบันเหลือ 9.36 เมตร นอกจากนี้ ยังมีทีมตัดเหล็กด้วยแก๊สจากทหารบก 3 ชุด ทหารเรืออีก 3 ชุด ทำงานตั้งแต่เที่ยงคืนถึง 07.00 น. ผลัดเปลี่ยนกำลังกัน ปัญหาอุปสรรคขณะนี้คือ การล้าของเครื่องจักรจากการใช้งานหนัก
อัพเดตยอดตาย47-ติดค้าง47-เจ็บ9
นายสุริยะชัยกล่าวต่อว่า แผนปฎิบัติการวันนี้คือ เปิดพื้นที่โซน B ให้ทะลุถึงโซน C ส่วนโซน A และ D จะลดความสูงของซากอาคาร ขณะนี้เหลือเวลา 10 วันถึงสิ้นเดือน หากลดความสูงได้วันละ 1 เมตรจากความสูงอยู่ประมาณ 9 เมตร ก็จะดำเนินการเข้าถึงชั้น 1 ของอาคารภายในสิ้นเดือนเมษายน จากนั้นจะปรับแผนทำงาน เนื่องจากเป็นส่วนชั้นใต้ดินแล้ว ไม่สามารถทำงานจากด้านข้างเหมือนชั้นปกติได้ จึงเตรียมและประเมินการดำเนินงานไว้แล้ว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน เวลา 18.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 47 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 47 ราย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี