7 ชุมชนลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม ด้าน"พระอาจารย์มหานิคม"เผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เครือข่ายข้อมูลอุทกภัยแม่น้ำกก (ค.อ.ก) จัดเวทีความร่วมมือเตือนภัยน้ำกกหลากท่วมปี 2568 โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ. เป็นประธาน โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานในพื้นที่แม่น้ำกก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปภ.จังหวัดเชียงราย อุทกวิทยาเชียงราย นักวิจัย ผู้นำชุมท้องที่ท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน
นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโส พชภ.กล่าวว่า ชุมชนได้ร่วมกันวางระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำในฤดูฝน โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ซึ่งมี 7 ชุมชนเป้าหมาย ประกอบด้วย บ้านแก่งทรายมูล บ้านร่มไทย บ้านใหม่หมอกจ๋าม บ้านผาใต้ ต.ท่าตอน อ.แม่อาจ จ.เชียงใหม่ บ้านจะคือ ต.ห้วยชมพู โรงเรียนบ้านผาขวางบ้านแคววัวดำ ต.แม่ยาว บ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ และเอกชน เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำกกแก่เครือข่ายและสาธารณะ
นายทาเคโอะ โตโยต้า อาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเชียงราย กล่าวว่า จากการลงเก็บข้อมูลกว่า 20 ชุมชนริมแม่น้ำกกตั้งแต่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถึง บ้านโป่งนาคำ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 28 กม. พบว่าเดิมทีชาวบ้านไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วมสูง แม้มีการแจ้งเตือนจากคนทางต้นน้ำ และที่สำคัญไม่รู้ว่าจะมาเป็นปริมาณเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ ทางเครือข่ายฯ จึงได้ดำเนินการติดตั้งเสาวัดระดับน้ำ มาตรวัดระดับน้ำ และสอนการใช้มือถือบันทึกภาพเข้าระบบให้สื่อสารด้วยภาพเข้าใจง่าย
“หากสื่อสารเตือนภัยได้จากต้นน้ำถึงพื้นที่ชุมชน เราจะมีเวลาเตรียมตัวได้ประมาณ 8 ชั่วโมง การตั้งเสาวัดระดับน้ำคาดว่าจะเสร็จในเดือนนี้ ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักอุทกวิทยา โดยติดตั้งในที่ชุมชนสามารถเข้าถึงโดยง่าย คาดว่าอีก 2-3 เดือนน่าจะเสร็จ โดยพยายามใช้เครือข่าวชุมชนทำที่จะสามารถทำได้เร็วกว่าการดำเนินการจากคำสั่งรัฐบาลที่ต้องมีขั้นตอน และถือเป็นการคิกออฟระบบเตือนภัยที่ภาคีเครือข่ายร่วมกันทำ” นายโตโยต้ากล่าว
นายอธิพัชร์ โฉมแดง ผู้อำนวยการส่วนอุกทกวิทยาที่2เชียงราย กล่าวว่า ได้รับการประสานให้ทำพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำกกในพื้นที่ 7 ชุมชน ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และได้ทำสถานีมาตรวัดระดับน้ำที่จะรายงานทุก 15 นาทีในทุกวัน น้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้สถานีเสียหายและอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงโดยมีการติดตั้งเพิ่มอีก 1 แห่งคือ สะพานบ้านใหม่ ใกล้กับ สภ.เมืองเชียงราย
ขณะที่พระอาจารย์มหามหานิคม มหาภิกขมฺโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในลำน้ำกกตลอดทั้งสายมีเขื่อนเพียงแห่งเดียวคือฝายเชียงราย ส่วนในเมียนมาไม่มีเขื่อน ต้นน้ำกกอยู่ที่บ้านกกหรือเมืองกก ตอนใต้ของรัฐฉาน ถัดมาคือเมืองสาด และเมืองยอน ที่อยู่ติด ต.ท่าตอน ของไทย การทำเหมืองแร่ เมืองยอน เมืองสาด ที่มีเหมืองทองคำมาก การทำลายป่า ทำลายหน้าดิน เจาะแร่ออกมา การทำเหมืองทองคำต้องใช้น้ำมาก ทำให้น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาเป็นน้ำโคลนที่ไหลเชี่ยวเพราะป่าถูกทำลาย เปิดหน้าดิน ต่างจากอดีตที่น้ำจะใสและค่อย ๆ เอ่อท่วม สามารถขนของหนีได้ทัน ไม่เสียหายมากเหมือนการท่วมของปีที่แล้ว
“ชุมชนและเครือข่ายแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่เป็นเตรียมตัวเตือนภัยเพื่อการตั้งรับและบรรเทาความเสียหาย แต่รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การทำเหมืองทองต้องหยุด ถ้าไม่หยุดก็ต้องทำให้ดีและไม่สร้างปัญหา สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐไปเจรจา ปัญหานี้เป็นปัญหาระยะยาว มีหลายปัญหาร่วมกัน เป็นความมั่นคงของชีวิต ต้องมีทุกฝ่ายร่วมกัน ทั้งฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล สื่อมวลชน ชาวบ้าน ประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าระดับประเทศแก้ไม่ได้ก็ต้องเป็นระดับอาเซียน ภูมิภาค หรือระดับนานาชาติร่วมกันแก้ไข” พระอาจารย์มหานิคมฯ กล่าว
นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้า ปภ.จ.เชียงราย กล่าวว่า การทำงานของภาคราชการในการแก้ไขแต่ละอย่างต้องใช้งบประมาณ และมีขั้นตอน เห็นว่าการร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนริมน้ำกก การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนของ 7 ชุมชน ที่มี 7 สถานี จะสามารถช่วยลดความสูญเสีย และเสียหายได้
“ขณะนี้งบประมาณในการขุดรอกลำน้ำกกยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณ ไม่แน่ใจว่าจะทำทันไหมก่อนฤดูฝนในปีนี้ ดังนั้นหากรอหน่วยงานราชการอย่างเดียว ไม่มีทางทัน กว่าจะคิดคำนวณปริมาณน้ำก็ใช้เวลา การรายงานด้วยสายตาจากภาพถ่ายปัจจุบันของชาวบ้านจะเร็ว” หัวหน้า ปภ. เชียงราย กล่าว
นายครรชิต กล่าวว่า ในปี 2567 น้ำท่วมเชียงราย 4 รอบ ในหลายพื้นที่ ไม่เฉพาะน้ำกกและน้ำสาย แต่พื้นที่ลุ่มน้ำอิง น้ำงาว น้ำหงาว ด้วย เพราะฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนสะสมมาก ดินอิ่มน้ำ และมีพายุยางิเข้ามาหลังจากนั้นทำให้น้ำท่วมหนักในเขตเมืองเชียงราย ในส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำกก น้ำผ่านฝายเชียงรายประมาณ 1,200 - 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่น้ำมาเกือบ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่เหลือไหลบ่าสองฝั่งลำน้ำ
ด้าน ผศ. อังกูร ว่องตระกูล ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงรายกล่าวว่า ขณะนี้ทางทีมได้รับทุนวิจัยระยะเวลาการจัดทำโครงการ 2 ปี ทำระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม (Flood Map)ในเขตเมืองเชียงราย เริ่มศึกษามาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาโดยได้เริ่มเก็บข้อมูล ทั้งได้ประสานกับท้องถิ่น ต.แม่ยาว และทีมของเครือข่าย ค.อ.ก. และ สทนช. ที่ได้เก็บบันทึกน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา และร่วมมือกับ อุทกวิทยาในการรายงานระดับน้ำและการเตือนภัยผ่านแอพพลิเคชั่น ที่คาดว่าภายในปีหน้าจะสามารถแจ้งเตือนภัยได้ ในที่ประชุมผู้ร่วมเวทีได้แลกเปลี่ยนและเสนอความเห็นว่าน่าจะมีการทำตลอดลำน้ำตั้งแต่บ้านท่าตอนถึงบ้านสบกก เพื่อให้เห็นภาพรวม รวมถึงสถานการณ์แม่น้ำกกตอนบนในเมียนมาจากสื่อโซเชียลของเมียนมาที่มีการรายงานต่อเนื่องและประสานข้อมูลกัน ซึ่งแม่น้ำกกในเมียนมายาวกว่า 300 กม. ใกล้เคียงกับที่อยู่ในไทย ที่จะทำให้สามารถตั้งรับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
“การตั้งข้อสังเกตการรายงานการเตือนภัยในการอ่านค่าระดับน้ำที่ต้องฝึกและวางแผนการรายงาน รวมถึงการรายงานในเวลากลางคืนเมื่อมีเหตุเสี่ยงต้องมีส่วนร่วมจากหลายระดับในการทำงาน ทั้งการร่วมให้ข้อมูล การร่วมตัดสินใจ และการให้คำแนะนำ การเรียนรู้เพื่อส่งต่อข้อมูล” นายอังกูร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี