’ผู้ว่าฯ ชัชชาติ‘ ฝาก ‘ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพฯ’ มีความสุขกับงาน สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ให้ประโยชน์ชาวกรุง.. กทม.สานต่อรุ่น 2 เสริมทัพเครือข่าย หลากสายงานร่วมสื่อสารภารกิจ
“ทูตสื่อสารเมืองฯ เป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวแทนกรุงเทพมหานครสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วน เพราะเรามีงานหลายหน้า ต้องสื่อสาร 2 ทาง ทั้งสื่อสารข้อมูล และรับฟังจากประชาชนด้วย ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ไม่ลืมหัวใจว่าเราต้องทำงานด้วยความสนุก และมีความสุขกับงาน เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีชีวิตชีวา สร้างประโยชน์ให้แก่ชาวกรุงเทพฯ ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในพิธีแต่งตั้งทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2
กรุงเทพมหานครยุคนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและความตั้งใจที่จะเป็น “ตัวแทนขององค์กร” ในการสื่อสารนโยบาย ภารกิจ และผลงานของ กทม. ไปสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ได้คัดเลือก “ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร” รุ่นแรกเมื่อปี 2566 ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงนำเสนอเรื่องราวดีๆ และหลากหลายแง่มุมของกรุงเทพมหานครสู่สาธารณชนต่อเนื่องมา ในปีนี้ต่อยอดและขยายผลโครงการ คัดเลือกทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 จากทุกเพศ วัย และ หลากหลายสายงาน ทำพิธีแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 พร้อมเริ่มปฏิบัติภารกิจจากนี้ไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีแต่งตั้งทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 พร้อมมอบโอวาทเป็นขวัญกำลังใจแก่ทูตสื่อสารรุ่นใหม่ ณ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) โดยกล่าวว่า
“ที่ผ่านมา กทม. มีปัญหาเรื่องการสื่อสารไม่น้อยเพราะเราตั้งหน้าทำงานแต่อาจไม่ได้สื่อสารให้ประชาชนรับรู้ในสิ่งที่ทำ ทั้งยังไม่ได้ฟังเสียงประชาชนมากพอว่าเขาต้องการอะไร แต่ระยะหลังประชาชนเข้าใจเรามากขึ้น เริ่มเห็นว่าเราทำอะไร เห็นว่าปัญหาเมืองได้รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ซึ่งโครงการทูตสื่อสารช่วยทำหน้าที่ได้ดีในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน.. ทั้งนี้ มี 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทูตสื่อสารเมืองฯ ต้องมี คือ 1.ต้องรู้จริง มีความเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ทั้งนโยบาย วิสัยทัศน์ และภารกิจของกทม. เพื่อที่จะสื่อสารได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ชัดเจน 2.ต้องเข้าใจผู้ฟัง ไม่ต่างจากการส่งสัญญาณวิทยุ หากผู้ฟังเป็น FM เราปล่อยคลื่น AM ก็ไม่มีทางถึงคนฟัง ต้องเข้าใจและเลือกสื่อที่จะส่งสารให้เหมาะกับผู้ฟัง ต้องอัปเดตตัวเองให้ทันกับกลุ่มคนฟังด้วย และ 3.จำไว้ว่าในยุคดิจิทัลไม่มีอะไรหายไป เมื่อเราเผยแพร่อะไรลงในโลกออนไลน์สิ่งนั้นจะเป็น Digital Footprint หากเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ถูกต้อง สิ่งนั้นจะตามหลอกหลอนเราไปชั่วชีวิต ดั้งนั้นจงคิดก่อนจะสื่อสารออกไป หากเป็นหน่วยงานควรมีทีมช่วยตรวจสอบกลั่นกรองเนื้อหาก่อน“
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ริเริ่มโครงการ “ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร” เมื่อปี 2566 คัดเลือกรุ่นแรกจำนวน 33 คน จากหลากสายงาน โดยเชื่อว่าคนที่จะทำหน้าที่สื่อสารได้ดี ชัดเจน คือผู้ปฏิบัติงานนั้นๆ ซึ่ง กทม.มีงานหลายเรื่อง หลายด้านมากที่จะสื่อสารไปถึงคนกรุงเทพฯ จากการติดตามรุ่น 1 ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯได้ฉับไวทันท่วงที หลายเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ก็ได้รู้ และช่วยไขข้อข้องใจได้ในสิ่งที่ประชาชนสงสัย กล่าวได้ว่าทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพฯ ได้ช่วยเสริมสร้างช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง ระหว่าง กทม.และประชาชน ทำให้เกิดการรับรู้ที่ดีและเข้าใจในนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ของ กทม. มากยิ่งขึ้น.. โครงการฯ ปี 2 จะสานต่อทูตสื่อสารเป็น “ฟันเฟืองสำคัญ” เชื่อมโยงระหว่าง กทม. กับคนกรุงเทพฯ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองได้อย่างแท้จริง
สำหรับโครงการฯ ปีนี้ ได้เปิดรับสมัครทูตสื่อสารฯ รุ่นที่ 2 ระหว่าง 8 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2568 มีผู้สมัครเข้าร่วม 137 คน ผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นทั้งการพิจารณาคลิปวิดีโอแนะนำตัว การสัมภาษณ์ แสดงความสามารถและทัศนคติ จนได้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 40 คน ที่มีความหลากหลายในสายงาน อาทิ แพทย์ พยาบาล เทศกิจ ครู นักสังคมสงเคราะห์ นักสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ภาคสนามด้านความสะอาดและความปลอดภัย ซึ่งทุกคนล้วนมีศักยภาพในการสื่อสารและมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น “กระบอกเสียงของ กทม.” อย่างเต็มที่ ก่อนเข้ารับการแต่งตั้ง “ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 ” ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตร "SMART Character : สื่อสารจากใจ…ถึงใจ คนกรุงเทพฯ" เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาบุคลิกภาพ การเล่าเรื่องอย่างมีพลัง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการสร้างทักษะทางอารมณ์ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเข้าถึงและมีประสิทธิภาพ
นายก้องภพ ศิรวัฒนะเมธานนท์ เจ้าพนักงานเทศกิจปฏิบัติการ สำนักงานเขตภาษีเจริญ ตัวแทนทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 2 กล่าวว่า เข้ามาทำหน้าที่ทูตสื่อสาร กทม. ด้วยความตั้งใจจากสายงานเทศกิจที่ทำอยู่มีเรื่องของกฎหมายหลายอย่างที่เกี่ยวกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง และการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งยังมีหลายเรื่องที่ประชาชนไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปมีความผิด หรือทำให้กรุงเทพมหานครเกิดปัญหาเดือดร้อน โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่นี้ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ด้วยการทำคอนเทนต์ผ่านแอปพลิเคชัน และในระหว่างการลงพื้นที่ ว่า กทม.กำลังทำอะไร นโยบายเร่งด่วนที่ทำ 9 ดี 9 ด้าน โดยเฉพาะในแง่กฎหมาย เช่น เรื่องการขับขี่บนทางเท้าที่เป็นปัญหาใหญ่ทุกวันนี้ ทำให้ประชาชนรู้ว่ามีโทษอย่างไร เราไม่ได้ต้องการให้มาเสียค่าปรับ แต่ต้องการให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข
นายณรงค์ฤทธิ์ กุระกนก ครู โรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ สำนักงานเขตมีนบุรี หนึ่งในทูตสื่อสารเมืองฯ รุ่น 2 (LGBTQ+) กล่าวในฐานะตัวแทนของคุณครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กนักเรียน ว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้ความสำคัญนโยบายด้านการศึกษา เล็งเห็นและส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมเด็กที่มีความต้องการศึกษาพิเศษ ในโรงเรียนสังกัดกทม. ตนเป็นครูที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าเด็กที่มีความต้องการศึกษาพิเศษเป็นอย่างไร ปัญหาทุกวันนี้เด็กมีสมาธิสั้น ทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีได้ใช้โซเชียลมิเดียอย่างไรโดยไม่ให้ถูกครอบงำ ทูตสื่อสารฯ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ลึก ครบถ้วน และตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารนโยบายการศึกษาของกทม. โดยใช้ช่องทางโซเชียลมิเดียที่ปัจจุบันมีมากมาย อย่างน้อย 1 วัน ต่อ 1 คอนเทนต์
… โครงการนี้ กทม.ทำมารุ่น 2 สร้าง ’ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพฯ‘ แล้วเกือบ 100 คน และคงจะทำต่อไปเรื่อยๆ ทุก 2 ปี เพิ่มเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกสายงาน เพื่อจะสื่อสารไปถึงคนกรุงเทพฯ ทุกกลุ่ม.. ถามว่าพอไหมกับภารกิจของกทม. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ฝากถึงข้าราชการคนกทม. ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นทูตสื่อสาร ทุกคนในองค์กรก็สามารถช่วยกันสื่อสารเรื่องต่างไปให้กับประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ทูตสื่อสารก็สำคัญ ต้องขยายต่อไป …
037
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี