“รมว.นฤมล”เรียกถกคณะ กก.ควบคุมยาง สร้างความเข้าใจ ภาคเอกชน-เกษตรกรไทย ร่วมแก้ราคายางตก พร้อมออกประกาศเขตควบคุมยาง ต่อสู้กับยางเถื่อน รักษาผลประโยชน์และตอบโจทย์การส่งออกยางพารา
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์ยางพาราและ ผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาต่ออุตสาหกรรมยางไทย พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในปี 2567 มีการส่งออกยางพาราจำนวน 3.96 ล้านตัน โดยส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์มากที่สุด จำนวน 1.76 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการศึกษามาตรการการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้ง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมสำหรับการรับมือกับมาตรการดังกล่าว และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรให้น้อยที่สุด
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การหารือแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องยางพารา และเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจและเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ยางพาราไทย พบว่า ประเทศไทยของเราเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของโลก จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนครั้งนี้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาต่ออุตสาหกรรมยางไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและทบทวนแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจน และแก้ไขปัญหาด้านราคายาง เพื่อคลายความกังวลใจของพี่น้องเกษตรกร โดยยึดมั่นตามแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ที่ยึดมั่นการถวายงานและสานต่อของพระราชา รวมกับการดูแลเกษตรกรของพระราชาให้ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรการภาษีดังกล่าวออกมาแล้วท้ายที่สุดต้องมีคนจ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา หรือผู้ส่งออก ผู้รับซื้อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ควรต้องเป็นพี่น้องเกษตรกรคนไทยที่เป็นคนจ่ายอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง เขตควบคุมการขนย้ายยางพารา พ.ศ. .... ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ 1.อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2.อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 3.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4.อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และ 5.อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้มีความมั่นคง และป้องปรามการลักลอบนำยางเข้าราชอาณาจักร อีกทั้ง มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดมาตรฐานยางและวิธีการมัดยางและการบรรจุหีบห่อยางเพื่อการส่งออก พ.ศ. .... เพื่อสร้างความชัดเจนในมาตรฐานการส่งออกของผู้ประกอบการและเกษตรกรในอนาคต
“เรารับรู้ถึงความทุกข์ของเกษตรกร จึงต้องให้ความเป็นธรรมว่า จะทำอย่างไรให้ราคายางพาราอยู่ในจุดที่เหมาะสม กระทรวงเกษตรฯในฐานะภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลเกษตรกร ถือว่าอยู่ตรงกลางระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกรไทย การประชุมครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าเกษตรกรจะอยู่ได้ ก็ต้องทำให้ภาคเอกชนอยู่ได้ด้วยเช่นกัน และก็จำเป็นต้องทำงานร่วมกันทั้งสามฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลตลาด ราคา และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งจากนี้จะมีการนัดเพื่อพูดคุยกันนอกรอบ และนำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมครั้งหน้า ซึ่งทางภาคเอกชนก็เข้าใจในภารกิจของกระทรวงเกษตรฯเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่ก็ขอให้เราสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราด้วย” ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราทุกท่าน กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรเสมอเพื่อรักษาผลประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมอย่างสูงสุด และพร้อมรับฟังและแก้ไขในทุกปัญหาความเดือดร้อนอย่างจริงจัง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี