ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (ศนอ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าสมุนไพร “ใบเตย” โดยการวิจัยและพัฒนาเป็น “สารสกัด” นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเสริมสุขภาพในระบบกระดูกและข้อ สำหรับสังคมก่อนและสูงวัย มุ่งเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค พร้อมเสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วยผลงานมาตรฐานสากล
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศนอ.ดำเนิน “โครงการพัฒนาสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่สำหรับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ฟังก์ชัน เพื่อเสริมสุขภาพในระบบกระดูกและข้อ สำหรับสังคมก่อนและสูงวัย” ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ต้นแบบสารสกัดใบเตยจากการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม” ที่มีประสิทธิภาพในระดับห้องปฏิบัติการต่อภาวะโรคเก๊าต์
“ใบเตย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus amaryllifolius มีสารเคมีธรรมชาติอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟลาโวนอยด์ สารจำพวกฟีนอล น้ำมันหอมระเหยไฟทอล และสควาลีน ซึ่งเป็นสารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ในหลายๆ ด้าน และจากผลการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบเตยหอมต่อการลดกรดยูริกในเลือด พบว่า
เมื่อหนูทดลองได้รับสารสกัดจากใบเตยหอมที่ปริมาณ 500, 1000 และ 2000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวหนู เป็นระยะเวลานาน 14 วัน มีระดับกรดยูริกลดลง การขับทิ้งทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และมีไขมันในตับลดลง มีความปลอดภัยทั้งการทดสอบแบบเฉียบพลัน และแบบกึ่งเรื้อรัง พบว่า มีค่า LD50 มากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวสัตว์ และมีเกณฑ์จําแนกความปลอดภัยตามระบบการจัดกลุ่มสารเคมี และการติดฉลากของวัสดุทดสอบตามหลักเกณฑ์ของ GHS ที่ระดับ 5 (Category 5) หรือ Unclassified ผ่านการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบผงใบเตยเริ่มต้นที่ 30 กิโลกรัม ได้ร้อยละผลผลิตเท่ากับ 8.73 หรือ 2.62 กิโลกรัม มีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 2AP (2-Acetyl-1-Pyrroline) อยู่ในช่วง 2.79-7.49 mg/kg โดยผ่านมาตรฐานการผลิตอาหารทั้งด้านจุลินทรีย์และโลหะหนัก
นอกจากการพัฒนาต้นแบบสารสกัดใบเตยดังกล่าวแล้ว วว. ยังได้ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากสารสกัด โดยพัฒนาเป็น “ต้นแบบผลิตภัณฑ์กัมมี่เยลลี่เสริมสารสกัดจากใบเตย” และยังได้เสริมน้ำมันงาดำสกัดเย็นซึ่งมีประสิทธิภาพที่ดีต่อระบบข้อในผลิตภัณฑ์และลดปริมาณน้ำตาลลงจากสูตรปกติด้วย จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สะดวกต่อการพกพา และสามารถรับประทานได้ในระหว่างวัน เคี้ยวเพลิน ช่วยผ่อนคลาย
“การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสารสกัดใบเตย เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นรูปธรรมของ วว. ตามกรอบการดำเนินงานขององค์กรในกลยุทธ์ที่ 1 S : Science Technology and Innovation ที่มุ่งเร่งสร้างผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพี่อตอบโจทย์ประเทศ ในขอบข่ายอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้านเกษตรและอาหาร รวมทั้งสุขภาพและการแพทย์ โดย วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการต่อไป” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี