สภากทม. เตรียมตราข้อบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร และนายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สก. เขตห้วยขวาง รับหนังสือจาก สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ย้ำจุดยืนและข้อเรียกร้อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ก่อนการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2568 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา
นายสุนทร สุขชา ตัวแทนของสมาคมฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับคนพิการ ดังนั้นข้อบัญญัติฉบับนี้จึงถือเป็นการประกันสิทธิและคุณภาพชีวิตของคนพิการในระดับท้องถิ่น ที่สำคัญกรุงเทพมหานครแม้จะมีนโยบายจากคณะผู้บริหาร แต่ยังขาดกฎหมายรองรับ หากมีข้อบัญญัติอย่างเป็นทางการ จะช่วยให้การดำเนินการของทุกคณะผู้บริหารมีความยั่งยืนและต่อเนื่อง
ด้านนางสาวนิพิษชา สุวรรณปราการ ตัวแทนของสมาคมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่มีข้อบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างชัดเจน ดังนั้นการตราข้อบัญญัตินี้จะทำให้เกิดกลไกในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกมิติ และการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และสมาคมฯ ได้ร่วมกันผลักดันมาตั้งแต่ต้นจนถึงกระบวนการยื่นข้อบัญญัตินี้ ขอขอบคุณ นายสุรจิตต์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร และ นายประพฤทธ์ สก. เขตห้วยขวาง ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น
นายสุรจิตต์ ได้กล่าวขอบคุณตัวแทนสมาคมฯ ที่มาร่วมหารือ และมีส่วนร่วมในการผลักดันร่างข้อบัญญัตินี้ว่า เหตุผลที่จำเป็นต้องมีข้อบัญญัติดังกล่าว เพราะกรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษ การดูแลคุณภาพชีวิตของคนพิการจึงต้องมีเครื่องมือทางกฎหมายรองรับ โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างยิ่ง ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กรุงเทพมหานครจะมีข้อบัญญัติเฉพาะด้านคนพิการ
นายประพฤทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมได้เสนอญัตติเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษายกร่างข้อบัญญัติดังกล่าว แต่เนื่องจากเกรงว่าอาจไม่ทันในวาระของสภาชุดนี้ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2569 จึงได้ขอถอนญัตตินี้ และประธานสภาฯ มีดำริให้เร่งดำเนินการ โดยให้สมาชิกสภาฯ เสนอร่างข้อบัญญัติฯ ซึ่งมีสมาชิกสภาฯ รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แล้วส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้คำรับรอง เพื่อพิจารณานำเข้าสู่สภาฯ โดยเร็ว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ระบุว่ากรุงเทพมหานครมีคนพิการรวมทั้งสิ้น 105,302 คน โดยมีถึง 49% ที่มีการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา และเพียง 7% ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี อีกทั้งในจำนวนวัยแรงงาน 41,716 คน พบว่ามีผู้พิการมากถึง 60.89% ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ
037
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี