ผลตรวจสารปนเปื้อนในปลาแม่น้ำกก พบไม่เกินมาตรฐาน แต่ประชาชนไม่กล้าซื้อปลา สภาองค์กรชุมชนชี้ยังไม่เห็นสัญญาณการแก้ปัญหาจากรัฐบาล หลายองค์กรร่วมจัดกิจกรรม “ธาราไร้พรมแดน: เสียงจากแม่น้ำกกและชุมชน”สะท้อนเสียงเงียบจากผู้ได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าลงพื้นที่สำรวจแผลงขายปลาที่เชียงแสนน้อย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่ามีปริมาณปลาน้อยลง และคนไม่มาซื้อปลากินแล้ว ทั้งที่แผงขายปลานำปลาจากแหล่งอื่นซึ่งไม่ใช่ปลาแม่น้ำกกมาขายแต่ประชาชนก็ไม่กล้าซื้อ ส่วนกรณีที่มีภาพข่าวปลาตัวหนึ่งมีตุ่มหรือก้อนเนื้อ สีของตุ่มมีสีแดงอมม่วง สอดคล้องกับลักษณะที่สามารถพบได้ในโรคลิมโฟซิสติส เกิดจากการเชื้อไวรัสในกลุ่ม Iridoviridae สกุล Lymphocystivirus ส่วนปัจจัยกระตุ้น เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความเครียด การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิกาศ ทำให้ปลาอ่อนแอและง่ายต่อการติดเชื้อ จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัส โดยเวลาที่พบปลาติดเชื้อตัวนี้เป็นช่วงกลางปีที่แล้ว ก่อนจะมีดินโคลนในน้ำกก จึงเป็นไปได้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุจากสารปนเปื้อนสารหนู อย่างไรก็ตามต้องตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจห้องปฏิบัติการ
“ขอให้ชาวบ้านที่พบปลาที่มีลักษณะติดเชื้อได้ประสานมายังประมงจังหวัดเชียงราย โทรแจ้งที่หมายเลข 0819549639, 0631974526” ประมงจังหวัดเชียงราย กล่าว
นายณัฐรัฐกล่าวว่า ปริมาณสารหนูในตัวปลาที่บริโภคต้องมีมากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะมีอันตรายต่อร่างกาย และสารที่จะอยู่ในตัวปลาได้จะใช้เวลาในการสะสม ซึ่งเจ้าหน้าที่ประมงได้สำรวจเกษตรกรที่สูบน้ำจากน้ำกกเข้าไปที่บ่อปลาในพื้นที่ โดยเก็บตัวอย่างน้ำ ไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารปนเปื้อนคาดว่าสัปดาห์จะเริ่มแจ้งผลการตรวจได้
ประมงจังหวัดกล่าวว่า ล่าสุดแจ้งว่า จากการเก็บตัวอย่างปลาจากชาวประมงในแม่น้ำกก จุดใต้ฝายเชียงราย ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารโลหะหนักในเนื้อปลา Central Lab บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ตรวจวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา และได้รับแจ้งผลการวิเคราะห์โลหะหนักในปลาตัวอย่างเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 พบว่าค่าสารหนู (As) ปริมาณ น้อยกว่า 0.13 mg/kg (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 2 mg/kg) ปรอท (Hg) 0.090 mg/kg (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.5 mg/kg) และไม่พบ แคดเมียม(Cd) และ ตะกั่ว (Pd) ดังนั้นจึงไม่เกินค่ามาตรฐานสารตกค้างของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ 414) และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
นายวิรัตน์ พรมสอน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จ.เชียงราย กล่าวว่าแม่น้ำกกเป็นสายเลือดของเกษตรกรในเชียงราย โดยเศรษฐกิจของประชาชนและเศรษฐกิจเชียงรายพึ่งพาอยู่กับแม่น้ำกก ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นเพราะการขุ่นข้นและปนเปื้อนสารโลหะหนักในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกช็อค และภายหลังจากเกิดเรื่องแล้ว เรายังไม่เห็นสัญญาณจากภาครัฐ ว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งอาจจะมีอะไรที่เขาไม่อยากพูดหรือพูดไม่ได้ เพราะเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
“เกษตรกรรมริมแม่น้ำกก ปลูกพืชกันหลายชนิด เช่น การปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ บางพื้นที่ก็ปลูกข้าวโพด พืชบางชนิดก็ยังเป็นผลผลิตส่งออก เมื่อลำน้ำเป็นพิษก็ลำบากไปหมด เราอยากขอให้สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเชียงรายอย่างน้อย 4 แห่ง ช่วยออกมาตรวจและทำข้อมูลหรืองานวิจัยให้คนเชียงรายได้รู้ข้อมูลและปัญหา”นายวิรัตน์ กล่าว
ดร.จักรกริช ฉิมนอก อาจารย์โปรแกรมศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม เครือข่ายหลายองค์กรร่วมกันจัดกิจกรรม บทสนทนา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2568 “ธาราไร้พรมแดน: เสียงจากแม่น้ำกกและชุมชน” Conversation#02/2025 - Voices Without Borders The Kok River and Her Communities” ณ ลานกิจกรรมสะพานริมกก-เวียงเหนือรวมใจ ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย
ดร.จักรกริชกล่าว การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะมีศิลปะแสดงสด (Performance Art) และเวทีเสวนาชุมชน ที่มุ่งเน้นสื่อสาร ความไม่เป็นธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนท้องถิ่นในลุ่มน้ำกกต้องเผชิญ จากมลพิษการทำเหมืองแร่ต้นน้ำซึ่งไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนถึงความเปราะบางของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน และความไร้เสียงของชุมชนที่อยู่แนวหน้าของวิกฤตธรรมชาติที่พวกเขาไม่ได้ก่อ
“เราจะเน้นการตั้งคำถามว่า ใครได้รับผลกระทบ? และ ใครมีสิทธิในการตัดสินใจ? กลุ่มชาวบ้านและชุมชนริมแม่น้ำกกเป็นผู้แบกรับภาระจากการตัดสินใจของรัฐและ อุตสาหกรรมที่อยู่ห่างไกล งานศิลปะแสดงสดมีเป้าหมาย กระตุ้นความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนผ่านศิลปะ กลายเป็นสื่อกลางของการเจรจาใหม่สื่อสารถึงความเงียบของผู้ไร้เสียง ทำหน้าที่เป็นเวทีทางเลือก ที่เปิดพื้นที่ผ่านการเล่าเรื่องของแม่น้ำกกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับสิทธิของแม่น้ำ และ การเจรจาระหว่างรัฐกับธรรมชาติ ข้ามเขตแดนรัฐและแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (Transboundary Environmental Governance)”ดร.จักกริช กล่าว
วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 3/2568 ว่า ที่ประชุม ศปช. อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้ว 2 ส่วน รวมเป็นเงิน 385.454 ล้านบาท นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือกรณีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งได้รับงบประมาณไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท สำหรับการดูดโคลนทรายในแม่น้ำ ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่า 100 ล้านบาท
นายภูมิธรรม ยอมรับว่า มีเป้าหมายให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูแล้วเสร็จก่อนฤดูฝน เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบข้อกังวลเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่อาจปนเปื้อนมากับดินโคลน จึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตรวจสอบและศึกษาว่ามีปริมาณมากจนเป็นอันตรายหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำในแม่น้ำสายหลักที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค เช่น แม่น้ำปิงและแม่น้ำโขง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี