สตง.แจง 8 ข้อปมสัญญาจ้างปรับแก้ไข “ปล่องลิฟต์” ลดความหนาลง 5 ซม. หลังถูกวิจารณ์เป็นจุดสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาคาร อาจเป็นสาเหตุทำให้ถล่มตอนแผ่นดินไหว ยันผู้คุมงานตรวจเข้มทำตามมาตรฐานยึดระเบียบก.ม.ราชการ ด้านกทม.เผยคืบหน้ารื้อซากตึกสตง.อีก 2 เมตรถึงโซนบันไดหนีไฟ ยอดดับล่าสุด 56 ติดค้าง 38 ราย
เมื่อวันที่ 24เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกเอกสารชี้แจงขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift)บางจุดและการแก้ไขสัญญาระบุว่าตามที่ปรากฏข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ของอาคารสตง.แห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอาคารและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมานั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ขอชี้แจงว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัมอาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไชน่า เรลเวย์นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) และผู้รับจ้างควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด)
ซึ่งกรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522สตง. จึงดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ดังนี้ 1.ผู้รับจ้างก่อสร้างมีหน้าที่โดยตรงตามสัญญาที่ต้องก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญารวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญา (แบบรูปและรายการละเอียด ฯลฯ) โดยผู้รับจ้างก่อสร้างรับรองว่า ได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจแบบรูปและรายการละเอียด ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน จึงสอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน 2.ผู้รับจ้างควบคุมงานในฐานะตัวแทนสตง.มีหนังสือ (Request For Infornation: RF) เพื่อสอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างออกแบบ ซึ่งทั้งผู้รับจ้างออกแบบและผู้รับจ้างควบคุมงานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามสัญญาจ้าง
3. ผู้รับจ้างออกแบบให้ความเห็นตามหนังสือ (RF) โดยกำหนดรายละเอียดการปรับแก้ผนังปล่องลิฟท์ (CORE LIFT) จากความหนา 0.30 ม. เป็น 0.25 เมตร บริเวณด้านทางเดินและเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักการทางวิศวกรรม พร้อมจัดทำรายการคำนวณและลงนามรับรอง เพื่อให้ความกว้างช่องทางเดินถูกต้องตามกฎหมายกำหนด (กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) และสอดคล้องกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน แล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน 4.ผู้รับจ้างควบคุมงานแจ้งรายละเอียดการปรับแก้ของผู้รับจ้างออกแบบเพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างดำเนินการจัดทำแบบขยายสำหรับการก่อสร้างตามความความเห็นของผู้รับจ้างออกแบบ โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบความถูกต้องและส่งให้ผู้รับจ้างออกแบบพิจารณาและรับรองความถูกต้องของแบบที่จัดทำแล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน ทั้งนี้ ผู้รับจ้างควบคุมงานโดยวุฒิวิศวกรได้ตรวจสอบและลงนามรับรองอีกครั้งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดชื่อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 165 วรรคสอง กรณีดังกล่าว ผู้รับจ้างก่อสร้างได้เสนอราคารายการงานที่เปลี่ยนแปลงโดยมีราคาลดลงเป็นเงิน 515,195.36 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนอขอแก้ไขวงเงินในสัญญาจ้างตามจำนวนเงินดังกล่าว โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา
5.ผู้รับจ้างควบคุมงานรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้นเสนอมายังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น 6.คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ว่าจ้างเพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา ตามพรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 มาตรา 97 และมาตรา 100 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ165 7.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการโดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ข้อ 20 (1) 8 คู่สัญญาลงนามการแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยนำแบบรูปและรายการละเอียดที่แก้ไขเพื่อเป็นเอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาผังขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการแก้ไขสัญญา) ตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ปรากฏตามเอกสารแนบ
ที่รัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเกี่ยวกับการก่อสร้างตึกสตง.ถล่มว่า เชิญหน่วยงานมาตรวจสอบเกี่ยวกับนอมินีจีนถือครองหุ้นบริษัทก่อสร้างอาคารสตง.ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.), สถาบันเหล็กและสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดีเอสไอยืนยันเชื่อได้ว่า เป็นการถือหุ้นโดยนอมินี เมื่อมีการสวมสิทธิ์นอมินีตั้งแต่จดจัดตั้งบริษัทแล้ว ยังทำผิดกฎหมายอื่นร่วมด้วย เช่นวิศวกรโครงการก็ถูกสวมสิทธิ์ ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบบริษัทและอาคารอื่นที่เข้าข่ายนอมินีจีนด้วย ไม่อยากให้กรณีอาคารสตง. เป็นเพียงตึกเดียวที่ถูกตรวจสอบ เพราะปัจจุบันน่าจะมีหลายบริษัทที่นอมินีจีนก่อสร้าง
นายสิทธิพลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีสถิติบริษัทไทยที่จดจัดตั้งโดยนอมินีจีนเพิ่มมากขึ้น อย่างปีที่แล้วมี 300 บริษัท แต่หากย้อนหลังไป 5 ปีมี 500-600 บริษัท โดยเป็นเงื่อนไขเดียวกันคือใช้คนไทยถือหุ้น 51% ดังนั้นรัฐบาลควรตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาอื่นอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าจะตรวจสอบพบได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจยังไม่เห็นความผิดปกติ เพราะเข้าข่ายจดจัดตั้งบริษัทได้ ก็จะใช้สัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยเพียง 51% แต่ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาเฉพาะภาคธุรกิจการรับเหมาก่อสร้าง ยังครอบคลุมภาคการเกษตร การศึกษาที่ขายวุฒิวิศวกรหรือใช้วีซ่านักเรียนมาทำงาน ดังนั้น ต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา เชื่อแก้ไขได้ทันที อย่างไรก็ตาม กฎหมายปัจจุบันครอบคลุมปัญหาแล้ว จากการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย 51% แต่ขาดการประสานของหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดจัดตั้งบริษัท แต่ไม่มีอำนาจสืบสาวเส้นเงิน ซึ่งเป็นอำนาจดีเอสไอ แต่จะต้องก่ออาชญากรรมก่อน
ด้านนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) แถลงความคืบหน้าการรื้อถอนซากอาคาร สตง.และการค้นหาผู้ติดค้างว่า ขณะนี้ความสูงของซากอาคารในโซน A และ D อยู่ที่ 9.25 เมตร ส่วนโซน B และ C ยอดซากอาคารที่สูงที่สุดอยู่ที่ 7.41 เมตร ในภาพรวมความเฉลี่ยลดลงมาเหลือ 7.88 เมตร ประมาณการอยู่ที่ชั้น 6 หากขุดลงได้อีก 2 เมตร จะอยู่ในจุดที่ทีมนานาชาติสแกนไว้ว่าเป็นโซนบันไดหนีไฟที่คาดว่าจะพบผู้ติดค้างอยู่บริเวณนั้น จากนี้การค้นหาจะเร็วขึ้น เนื่องจากความลาดชันของพื้นที่ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับการตัดเหล็ก ขนย้ายซากจะทำงานสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลดยอดความสูงได้วันละ 1 เมตรหรือมากกว่า คาดการณ์เสร็จทันสิ้นเดือนเมษายน ส่วนเครื่องจักรที่ใช้ตอนนี้มีชำรุดบ้าง จำเป็นต้องซ่อมไปทำงานไป เพื่อให้งานต่อเนื่อง ส่วนการพบร่างผู้สูญหาย เมื่อวันที่ 23 เมษายน พบ 1 ร่าง และเป็นชิ้นส่วนอยู่ประมาณ 5เคสทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 24 เมษายน เวลา 10.00 น. ผู้ประสบภัย 103 ราย เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ติดค้าง 38 ราย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี