"DSI"เผยคืบหน้า"คดีนอมินี"ตึก สตง.ถล่ม พบเอกสารแก้ไขแบบก่อสร้างตึกทั้งหมด 9 ครั้ง เผยครั้งที่ 4 และ 6 ขอแก้ไขโครงสร้าง-ปล่องลิฟต์ แย้มออกหมายเรียกพยาน 40 วิศวกรสอบปากคำ เริ่ม 28 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ที่ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดีพิเศษที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม
โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า สำหรับคดีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ได้มีผู้มาร้องขอให้ดีเอสไอสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอสอบสวนอยู่ 4 เรื่อง โดยรับไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว 3 เรื่อง คือ 1.ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือนอมินี 2.เรื่องฮั้วประมูล และ 3.เรื่องใบกำกับภาษีปลอมของบริษัทจำหน่ายเหล็ก ขณะที่เรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (เหล็กตกมาตรฐาน) และเรื่องฝุ่นแดงจากโรงงาน อยู่ระหว่างการสืบสวน ดังนั้น ในคดีพิเศษที่ 32/2568 กรณี คดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ดีเอสไอได้สอบสวนและขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องแล้ว 5 หมายจับ คือ 3 กรรมการคนไทยของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่ นายประจวบ (สงวนนามสกุล) นายมานัส (สงวนนามสกุล) นายโสภณ (สงวนนามสกุล) และกรรมการคนจีน คือ นายชวนหลิง จาง ส่วนนิติบุคคล คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ ในเรื่องการฮั้วประมูลนั้น ดีเอสไอก็ดูเรื่องของการเสนอราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องรายละเอียด
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า ผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การอย่างไรก็ได้ และคำพูดของเขา เราไม่สามารถใช้ยืนยันอะไรได้มากนัก เรามีหน้าที่รวบรวมหลักฐานอื่น แต่เขาพูดอะไรเราก็รับฟังได้ แต่ถ้าจะต้องดำเนินคดี ขยายผล เราก็ไม่อาจรับฟังเพียงคำให้การของผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียว
ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ กล่าวว่า ทั้งหมดที่ดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนขยายผล จนจับกุมผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว 4 ราย และ 1 นิติบุคคล ล้วนมีความเกี่ยวพันกันเป็นทอดๆ จากเรื่องความผิดการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะขยายไปต่อในเรื่องฮั้วประมูลได้ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้นเมื่อ 4 ผู้ต้องหาได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว ดีเอสไอก็เหลือเวลาเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในส่วนของคดีนอมินี ส่วนหลังจากนั้นจะได้นำผลมาดูต่อเนื่องในส่วนของคดีฮั้วประมูล ทั้งนี้ ภายใน 30 วันจะมีผู้ต้องหาเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่มี แต่เราต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา นับจากวันจับกุมผู้ต้องหาคนแรก หากนับจากตรงนี้ก็มีเวลาประมาณ 3 ผัด หรือประมาณ 30 วันโดยประมาณ และภายหลังจากที่ศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวทั้ง 4 ราย จากนี้จะมีบางรายที่ต้องชี้แจงเป็นเอกสารเพื่อแก้ข้อกล่าวหาภายใน 30 วัน หรือจะเดินทางมาด้วยตัวเองก็ได้ คือ นายประจวบ นายมานัส และนายโสภณ โดยจะต้องชี้แจงเรื่องที่ไม่ได้ตอบในชั้นสอบสวน ได้แก่ เป็นการถือหุ้นแทนใคร เอาเงินที่ใดมาลงทุน เป็นต้น แต่ถ้าหากไม่ส่งคำชี้แจงก็ถือว่าเป็นการสละสิทธิ์ ส่วนนายชวนหลิง จาง ได้ให้การไว้ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว แต่นายจาง ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกบริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บอกเพียงว่าเกี่ยวข้องกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เท่านั้น ส่วนกรณีของนายบินลิง วู ตอนนี้เรายังคงดำเนินการสอบสวน โดยไล่ดูกลุ่มบริษัทที่ใกล้ชิดกับเขา ที่มีการใช้ 3 คนไทยไปเป็นกรรมการถือหุ้นเหมือนกัน
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวต่อว่า กรณีที่นายจาง มีการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจจากจีนมาลงทุนในไทยนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีตัวแทนมาพบดีเอสไอแล้ว มีการนำหนังสือรับรองมายืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาห กิจของบริษัทโดยที่รัฐถือหุ้น เพื่อมาลงทุนในไทยจริง และยังให้การปฏิเสธเรื่องนอมินี โดยบอกว่ามันคือการที่เขามาลงทุนร่วมกับคนไทย
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า กรณีของบริษัท ไชน่าฯ ที่ได้ประมูลงานโครงการรัฐไปจำนวนมาก และหลายโครงการยังไม่ได้ดำเนินการนั้น จะต้องมีการประสานรัฐบาลยกเลิกสัญญาหรือไม่ เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา หรือสร้างอาคารพักอาศัยต่างๆ นั้น ตนขอเรียนว่าบริษัทได้โครงการรัฐไปทั้งหมด 27 สัญญา แต่ยังไม่ได้มีการประสานเช่นนั้น เพราะต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนว่ามีการใช้กลอุบายมาอำพรางตัวเองว่าเป็นคนต่างด้าวหรือไม่ ก็หากชัดเจน เราก็จะได้ประสานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลที่มีทางตัวแทนของ สตง.เข้ามาชี้แจงกับดีเอสไอนั้น เบื้องต้นมีการประสานขอข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สตง.ก็ได้มีการทยอยส่งมาแล้ว โดยเราจะดูเรื่องการได้มาซึ่งสัญญาของรัฐ รวมถึงการแก้ไขแบบแปลนด้วย
ส่วนกรณีของ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่เข้าพบดีเอสไอก่อนหน้านี้ เนื่องจากถูกปลอมลายเซ็นและแอบอ้างชื่อควบคุมงานก่อสร้างนั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า เราได้สอบถามนายสมเกียรติ 3 ครั้ง โดยให้เขาเข้ามาดูเอกสาร ที่เราไปตรวจค้นได้จากบริษัทผู้ควบคุมงาน ซึ่งได้มีการชี้ว่าเอกสารใดที่ไม่ใช่ของเจ้าตัว แล้วก็ได้ดูเอกสารที่มีการแก้ไข และได้ชี้ว่าส่วนใดไม่ใช่ของเขาบ้าง ซึ่งเราจะได้รวบรวมส่งสถาบันนิติวิทย์ โดยเอกสารที่เราได้ตรวจสอบมี 16 รายการ และอยู่ในแบบแปลน 3 - 4 รายการ ที่เขาชี้ในเอกสารจากทั้งหมด 12 ลัง แต่ขอดูแค่ 2 ลัง ส่วนว่าใครเป็นผู้ปลอมลายเซ็นและแอบอ้างชื่อนายสมเกียรตินั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ สำหรับบรรดา 51 วิศวกรที่พบว่าอาจเกี่ยวข้องกับการถูกแอบอ้างว่าควบคุมงานตึก สตง.นั้น เราได้ออกหมายเรียกพยานไปแล้ว 40 ราย โดยจะเริ่มสอบสวนปากคำพยานวันที่ 28 เม.ย.นี้ เพื่อถามเรื่องมีการควบคุมงานทิพย์หรือไม่ และตนยังไม่ขอระบุว่าเป็นวิศวกรที่อยู่ในบริษัทหรือกิจการร่วมค้าใด
ส่วนกรณีของ นายพิมล เจริญยิ่ง วิศวกร อายุ 85 ปี ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า วานซืนที่ผ่านมา สน.บางซื่อ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ร่วมกันสอบปากคำนายพิมลเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการทำงานร่วมกัน แต่สอบคนละสำนวนกัน ซึ่งเจ้าตัวได้ให้การคร่าวๆ ไว้แล้วว่าเป็นเพียงที่ปรึกษาของบริษัท
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ตึก สตง.ตามเอกสารพบว่ามีการแก้ไขแบบทั้งหมด 9 ครั้ง แต่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจะอยู่ในการแก้ไขแบบครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 6 ซึ่งเราจะไปลงรายละเอียดต่อไปว่ามีประเด็นใดบ้าง ส่วนการแก้ไขแบบที่มีปัญหาจริงๆ คือ การขอแก้ไขครั้งที่ 4 และครั้งที่ 6 ซึ่งมันมีการแก้ไขเรื่องโครงสร้าง เป็นปัญหาเรื่องปล่องลิฟต์ ตามที่เป็นข่าว
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เผยว่า สำหรับการลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ เราได้ประสานการปฏิบัติกับพนักงานสอบสวนตำรวจและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรุงเทพมหานคร เพราะหลังจากตึกถล่ม ในช่วง 10 วันแรกจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ แต่พอได้เข้าพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องแล้ว เราก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานในบริเวณตึกถล่ม เพื่อประกอบการพิจารณาตามประเด็นสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.เรื่องเหล็กที่ใช้ก่อสร้างมีการตกมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ดีเอสไอ และ สมอ.ได้ร่วมกันเข้าเก็บตัวอย่างเหล็ก ซึ่งการเก็บตัวอย่างมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เป็นเหล็กที่อยู่ในโครงสร้าง ที่มีการพังทลายแล้ว กับ 2) เป็นเหล็กชนิดเดียวกันที่อยู่ในไซต์งานแต่ยังไม่ถูกใช้งาน เพื่อนำไปเปรียบเทียบตรวจทั้งสองส่วน ตามวิธีการทางเทคนิคของ สมอ.เพื่อจะได้นำไปตรวจสอบว่าหากเป็นกรณีเหล็กตกมาตรฐานแล้วถูกใช้ก่อสร้าง ทาง สมอ. จะได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษมายังดีเอสไอต่อไป ทั้งนี้ เรื่องที่ 2 คือ เรื่องปูนซีเมนต์ โดยส่วนสำคัญที่สุดคือกรมโยธาธิการฯ ซึ่งทำหน้าที่ตอบเชิงวิศว กรรมว่าตึกถล่มเพราะเหตุอะไร แล้วเกี่ยวข้องกับวัสดุหรือไม่ ทั้งนี้ เรายังคงมีการส่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปร่วมเก็บตัวอย่างทั้งหมดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งตรวจพิสูจน์แล้วนำมาประกอบการทำงานกับทางกรมโยธาธิการฯ เพื่อตรวจเรื่องการถล่มทางวิศวกรรม
พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า ส่วนตัวเลขตัวอย่างเหล็กเส้นและคอนกรีตที่ได้เก็บจากตัวอาคารทั้ง 4 โซน (ZONE : A B C D) ดังนี้ ตัวเหล็กมีการเก็บทั้งหมด 240 ตัวอย่าง ส่วนคอนกรีตบริเวณโซน บี ซี และดี ได้มีการเก็บปูนเป็นก้อนไปแล้ว 59 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 299 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 24 เม.ย.68) ทั้งนี้ พื้นที่ที่จัดเก็บคอนกรีตไม่ได้เลย คือ บริเวณโซนเอ เพราะเป็นพื้นที่ถล่มค่อนข้างเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ทำงาน ทำให้บริเวณนั้นเสื่อมสภาพไปพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ทำ
พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า สำหรับเรื่องการตรวจสอบปูนนั้น หน่วยงานที่จัดเก็บ คือ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และกรมโยธาฯ ซึ่งปูน บางส่วนมันใช้พิสูจน์เรื่องอาคารพังถล่มได้ โดยใช้หลักทางวิศวกรรม และใช้สนับสนุนสำนวนของตำรวจได้ ว่าตึกพังเพราะเหตุจากประมาทหรือไม่ หรือเกิดจากการก่อสร้างไม่ถูกต้องหรือไม่ หรือวัสดุที่ใช้มีผลต่อการถล่มหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นการเก็บตัวอย่างปูนตามหลักกรมโยธาธิการฯ เก็บทั้งเสา ทั้งพื้น เป็นต้น
พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า ส่วนกรณีบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นร่วมกับกระทรวงอุตสาห กรรมนั้น เรื่องบริษัทนี้ มีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่ามีเหล็กของบริษัทนี้ถูกนำมาใช้กับตึก สตง.ทราบว่า สมอ.ที่เข้าไปเก็บหลักฐาน หากพบความผิดจะได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษมายังดีเอสไอให้ดำเนินการ ส่วนที่สอง คือ เรื่องเหล็กที่คณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าตรวจค้นโรงงานแล้วพบเหล็กอาจตกมาตรฐาน ซึ่งทราบว่ากำลังทำรายงาน หากมีเกณฑ์เข้าเป็นคดีพิเศษ ก็อาจกล่าวโทษมายังดีเอสไอ รับดำเนินการต่อได้ ส่วนเรื่องที่ดีเอสไอรับสืบสวนไว้แล้วนั้น คือ เรื่องฝุ่นแดงประมาณเกือบ 50,000 ตัน ที่เป็นผลผลิตจากการผลิตเหล็ก ว่าเป็นการผลิตถูกต้องหรือไม่ โดยมีการทำหนังสือมาถึงอธิบดีดีเอสไอแล้ว เพื่อขอความร่วมมือสืบสวนกับกรมโรงงานอุตสาห กรรม และอธิบดีฯ ได้อนุมัติการสืบสวนเรื่องฝุ่นแดงแล้ว มีการตั้งคณะทำงานสืบสวนโดยมีตนเองเป็นหัวหน้าคณะฯ โดยจะได้นัดหมายกระทรวงอุตสาหกรรมหารือร่วมกันต่อไป
ด้าน นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม ระบุว่า สำหรับจำนวนผู้ต้องหาในคดีมอมินีจะมีเพิ่มเติมหรือไม่ เราต้องให้เวลาพวกเขาในการให้ปากคำ หรือให้เขาได้หาพยานหลักฐานมาแสดงตามที่ได้อ้างไว้ จึงเชื่อว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 วัน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี