กระทรวงแรงงานจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต “ตึก สตง.” ถล่ม แล้วกว่า 38 ล้านบาท ด้านผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาด 28 เมษายนนี้ ลดทอนความสูงตึกพังถล่มถึงชั้น 1 เร่งเปิดพื้นที่ชั้นใต้ดิน คาดเป็นจุดที่อาจพบผู้ติดค้างเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ดำเนินการชดเชยเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ขณะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน มีผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียชีวิตทั่วประเทศกว่า 50 ราย เฉพาะตึก สตง.กว่า 40ราย โดยได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 38 ล้านบาท สำหรับลูกจ้างที่ประสบอันตรายขณะปฏิบัติงาน จากเหตุอาคารถล่มจะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ 1.กรณีบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท หากบาดเจ็บรุนแรงจ่ายให้สูงสุดไม่เกินหนึ่งล้านบาท ในกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลภาคเอกชน แต่หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือเข้ารักษาในสถานพยาบาลเอกชนแล้วรักษาต่อในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษา จ่ายค่ารักษาเท่าที่จริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา ส่วนค่าทดแทนรายเดือน กรณีที่ต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จ่ายไม่เกินหนึ่งปี ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000บาทต่อเดือน 2. กรณีสูญเสียอวัยวะ/สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท/เดือน จ่ายได้ไม่เกิน 120 เดือน 3.กรณีทุพพลภาพจ่ายค่าทดแทนรายเดือน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต 4.กรณีตายหรือสูญหาย จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ให้กับผู้มีสิทธิเป็นระยะเวลา 10 ปี ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท เงินบำเหน็จกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
สำหรับลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ และ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพตามอัตรา ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 160,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน24,000บาท รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ค่ารักษาพยาบาลฯ และผู้ประสบภัยยังจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ รวมถึงเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ ตามสิทธิทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยความคืบหน้าการรื้อถอนซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง.ว่า เมื่อวาน(26 เม.ย.) เจ้าหน้าที่พบผู้เสียชีวิต 1ร่าง ในโซนD อยู่บริเวณชั้น5 หรือ6 และพบชิ้นส่วนอีก 5เคส ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนิติเวชยืนยันว่าจะเป็นร่างสมบูรณ์1ร่างได้หรือไม่ ส่วนการขนย้ายซากคอนกรีตและเหล็กเส้นออกจากพื้นที่ ขณะนี้สามารถดำเนินการได้ คงเหลือความสูงประมาณ 2.57 เมตร ก็จะถึงพื้นชั้นที่ 1 ซึ่งการทำงานในขณะนี้มีอุปสรรคคือ พื้นคอนกรีตด้านล่างที่มีความสมบูรณ์ ทำให้ต้องใช้กำลังจากเครื่องจักรในการตัดเหล็กที่ผสานอยู่ในแผ่นปูนมากขึ้น โดยการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่จะใช้รถแบ็กโฮหัวเจาะกระแทกเข้ามาดำเนินการ และวันพรุ่งนี้ (28 เม.ย.) จะเพิ่มจำนวนรถชนิดนี้เข้ามาเพิ่มเติมอีก 2 คัน ขณะเดียวกันจะมีการเปลี่ยนรถที่ใช้ในลักษณะหัวตักมาเป็นหัวเจาะกระแทกแทน ส่วนการตัดเหล็ก เจ้าหน้าที่จะเพิ่มกำลังคนในการดำเนินการควบคู่ไปด้วย โดยกำลังทหารจะเข้าดำเนินการตัดเหล็กที่บริเวณโซนB วันที่ 28เมษายนนี้ จะครบรอบ1เดือน ที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ และหากสามารถทำได้ตามแผนนี้เชื่อว่าในวันพรุ่งนี้จะสามารถลดทอนความสูงของสร้างอาคารลงมาถึงชั้น 1 ได้สำเร็จ โดยเมื่อ (26 เม.ย.) เจ้าหน้าที่สามารถเปิดพื้นที่ด้านหน้าของโซน A และ B ได้ และหลังจากนี้จะมีการเร่งเปิดพื้นที่โซน C ให้เป็นรูปตัวยู เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านข้างได้ควบคู่กัน
สำหรับการทำงานเมื่อวานที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบหลุมโดยรอบโครงสร้างอาคารที่พังถล่ม เจ้าหน้าที่จึงนำรถแบ็กโฮมาขุดหลุม ส่วนโพรงที่พบขณะนี้พบเป็นโพรงที่เชื่อมระหว่างอาคารจอดรถกับตัวอาคารที่พังถล่มลงมา ไม่ใช่โพรงชั้นใต้ดิน โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาหลังได้เข้าไปสังเกตการณ์ร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่าซากอาคารส่วนใหญ่ถล่มลงมากองรวมกันบริเวณชั้นใต้ดิน ตรงกลางของซากอาคารลงมาจากชั้น 1 ซึ่งขณะนี้พบมีความสูงกว่า 4 เมตร โดยจุดนี้คาดว่าจะเป็นจุดที่อาจจะพบร่างผู้ติดค้างเพิ่มเติม ยอมรับว่า การเปิดการจราจรด้านหน้าจุดเกิดเหตุค่อนข้างส่งผลกระทบต่อการทำงาน แต่เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับวิธีโดยการเพิ่มรอบการขนย้ายซากอาคารในช่วงเวลากลางคืนแทน ขณะที่ยอดรวมผู้ประสบภัย ล่าสุดพบมีผู้เสียชีวิต 62 คน สูญหาย 32 คน บาดเจ็บ 9 คน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี