28 เม.ย. 2568 ช่องยูทูบ WATCHDOG CHANNEL เผยแพร่คลิปวีดีโอ “หมอแห่ลาออก ผ่าวิกฤติสุขภาพไทย” โดยเป็นการสนทนาระหว่าง รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กับ นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. ชุดปัจจุบัน ในประเด็นความเหนื่อยล้าขอบุคลากรทางการแพทย์จากภาระงานที่หนัก จำนวนคนไข้ล้นโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้หลายคนตัดสินใจลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนหรือไปทำอาชีพอื่น โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ที่ จ.บึงกาฬ แพทย์ฝึกงานที่เมื่อใช้ทุนครบแล้วก็ตัดสินใจลาออกกันยกชุด
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนำมาสู่การประชุมกันภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ประกอบด้วย 1.กำหนดพื้นที่พิเศษ - เพิ่มสิทธิประโยชน์ 2.เพิ่มแพทย์ – เพิ่มพูนทักษะ 3.ขอแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง 4.เสริมบริการด้วยดิจิทัล – เทเลเมดิซีน 5.กำหนดตำแหน่งราชการให้แพทย์ภาคเอกชนและแพทย์จากต่างประเทศ 6.เพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ และ 7.ส่งเสริมสวัสดิการบ้านพักและการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 7 ข้อ ก็มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมาก – น้อยแตกต่างกัน
ทั้งนี้ ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มต้นมาจากประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค และต่อมายังเลิกเก็บเงิน 30 บาท เปลี่ยนเป็นรักษาฟรี บวกกับการรณรงค์ว่าเป็นอะไรขอให้ไปโรงพยาบาล หนักไปกว่านั้นคือไปขอยามาเก็บไว้ที่บ้านบ้างหรือไปนำไปขายบ้าง ซึ่งหลายคนบอกจริงๆ แล้วเรื่องการรักษาพยาบาลต้องเก็บเงิน แต่เมื่อพัฒนาการทางการเมืองมาเป็นแบบประชาชน ผลคือเริ่มจากเก็บจำนวนน้อยๆ อย่าง 30 บาท และหลังจากนั้นคือไม่เก็บเลย
อย่างไรก็ตาม การไปโรงพยาบาลไม่ใช่ของฟรีไปเสียทั้งหมด เพราะต้องเสียค่าเดินทาง ต้องเสียเวลารอพบแพทย์ ยิ่งระบบเป็นแบบในปัจจุบันยิ่งต้องรอนาน ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่า 1.ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าโรคบางโรคสามารถพักฟื้นได้เองไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล 2.ต้องมีระบบร่วมจ่าย เบื้องต้นให้ผูกไว้กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1 วัน ทำให้คนยับยั้งชั่งใจในการไปโรงพยาบาล โดยหากค่าใช้จ่ายเกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 1 วันดังกล่าว ส่วนที่เหลือจึงเป็นหน้าที่บริหารจัดการของโรงพยาบาล แต่หากค่าใช้จ่ายสูงมากๆ คนไข้อาจต้องร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง
3.โรงพยาบาลตั้งกองทุนเปิดรับบริจาคช่วยเหลือผู้ยากไร้ เพราะต้องยอมรับว่า สำหรับคนที่ไม่มีแม้แต่เงินเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น 300 บาท ก็คือไม่มีจริงๆ โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ตรวจสอบ 4.ให้สิทธิพิเศษคนดูแลรักษาสุขภาพ ใครป่วยเพราะมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เป็นมะเร็งปอดเพราะสูบบุหรี่ ดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะแล้วไปเกิดอุบัติเหตุ ก็ต้องร่วมจ่าย ก็น่าจะช่วยประคับประคองระบบสาธารณสุขได้ อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองแนวคิดแบบนี้ทำไม่ง่าย แต่หากไม่ทำก็สุ่มเสี่ยงที่ระบบจะล่มได้เช่นกัน
ชมคลิปเต็มได้ที่นี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี