สนค.รวมพลคนทำงานด้านสุขภาพ 0yfประชุม “ก้าวข้ามวิกฤติ นโยบายควบคุมโรคสู่การปฏิบัติจริง” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ นำข้อมูลไปพัฒนาเชิงนโยบาย เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคต
วันที่ 29 เม.ย.68 ถึงแม้ว่าประเทศไทย จะก้าวผ่านสถานการณ์ความรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า อุบัติการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นปัญหาในการบริหารจัดการระบบด้านบุคลากรไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบุคลากรเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงฝ่ายห้องปฏิบัติการ
สำนักงานพัฒนานโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ (สนค.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ได้จัดประชุมวิชาการ “ก้าวข้ามวิกฤติ : นโยบายควบคุมโรคสู่การปฏิบัติจริง” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ จากหน่วยงานที่ทำงานควบคุมโรคระดับปฏิบัติการ ผู้บริหาร ในหน่วยงานสาธารณสุข ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาเชิงนโยบาย เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคต
นพ.โสภณ เอื่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมรับมือในกรณีเกิดการระบาดของโรคว่า สธ.ได้มีการเตรียมพร้อม ทั้งกำลังคน ที่มีทักษะ โดยมีการอบรม ฝึกซ้อมการระดม ทรัพยากรในกรณีต่าง ๆ รวมถึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี การสื่อสาร ให้มีเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกในการทำงาน พัฒนาฐานข้อมูลกำลังคน เพื่อให้สามารถระดมกำลังคนได้ ในกรณีที่ต้องการเพิ่มเข้ามาในระบบ และให้บริการได้มากขึ้นในขณะที่มีกำลังคนเท่าเดิม
ด้าน ดร.นพ.ฑิณกร โนรี หัวหน้าโครงการ “การวางแผนความต้องการกำลังคนและการบริหารจัดการทีมงานกำลังคนด้านสุขภาพด้านการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อในการรองรับสถานการณ์การระบาดโควิค-19” กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงและรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดแนวคิดนวัตกรรมการแก้ปัญหาของบุคลากรในแต่ละพื้นที่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินและสามารถจัดการให้มีอัตรากำลังคนเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน พร้อมกับให้การดูแลบริการสุขภาพตามปกติได้ด้วย เช่น ให้บุคลากรทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น ดึงกำลังคนจากพื้นที่อื่นที่มีการระบาดน้อยกว่าเข้ามาช่วยงาน รวมทั้งเกิดการจ้างงานเป็นการชั่วคราว
“มีการจัดระบบทำงานเป็นทีม และทำงานทดแทนกัน ทั้งยังขยายขอบเขตงานไปสู่กำลังคนที่ไม่ได้รับการอบรม และมีการระดมกำลังจากภาคชุมชน ได้แก่ อสม. ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีต่างๆ นอกเหนือจากภาคีที่ทำงานด้านสุขภาพ เพื่อเพิ่มกำลังคน สร้างแรงจูงใจทั้งด้านค่าตอบแทน การเสี่ยงภัย การทำงานนอกเวลา และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย” ดร.นพ.ฑิณกร กล่าว
ดร.นพ.ฑิณกร กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนความต้องการและแผนบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในการควบคุมโรคระบาดของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนานโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ หรือ สนค. ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 มีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัย รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูล และขับเคลื่อนนโยบายกำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เกิดการกระจายตัวอย่างเท่าเทียม ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี