เปิดคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริต ฯยกฟ้อง ทนง พิทยะ อดีต ปธ.การบินไทย กับพวก พ้นผิดคดีสินบน โรลส์-รอยซ์ ศาลชี้ กระทำตามอำนาจหน้าที่ มีมติโดยชอบ ไม่ได้โน้มน้าว บอร์ดบริหาร และการบินไทยไม่เสียหาย
วันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ย่านตลิ่งชัน ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ทุจริตต่อหน้าที่หมายเลขดำ อท 152/2567 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ และนายกวีพันธ์ เรืองผกา อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1- 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8
โจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลยทั้งสองสรุปว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งที่ตนเป็นประธานกรรมการบริษัทฯ เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง ครอบงำ การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจัดการหรือฝ่ายบริหารอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ ในการพิจารณาการเพิ่ม ลดจำนวนเครื่องบิน การจัดหาเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องบิน ตลอดจนการจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์โดยมุ่งหมายให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) เพียง A340-600 กับ B777-200ER ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ยี่ห้อโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ทั้งที่บริษัทเคยประสบปัญหาค่าซ่อมเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และเครื่องยนต์ TRENT มีแหล่งซ่อมน้อยมาก
การกระทำของจำเลยที่ 1- 2 ซึ่งมีหน้าที่ทำ จัดการ เกี่ยวกับจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) TRENT 892 สำหรับเครื่องบินดังกล่าว รวมทั้งเครื่องยนต์สำรอง-อะไหล่โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) TRENT 892 สำหรับโบอิ้ง รวมทั้งเครื่องยนต์สำรอง-อะไหล่โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) TRENT 500 สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 รวม 7 เครื่อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลพิ้คราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้สองฝ่ายที่นำสืบแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลย 1,ฝอละ2กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์อ้างว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม2547 จำเลยที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการบริษัทฯ (DH) ได้แต่งตั้งตนเองและจำเลยที่ 2 ในคณะกรรมการต่าง ๆ เข้าไปมีหน้าที่และอำนาจในขั้นตอนการจัดทำ พิจารณา เห็นชอบ และอนุมัติแผนวิสาหกิจของบริษัท การวินไทย ปี 2548/49- 2552/53 และโครงการจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ อุปกรณ์ อะไหล่ บริภัณฑ์ ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ต้องจัดหาพร้อมกันกับการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจดังกล่าว อันเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ตามกฎหมาย โดยในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทการบินไทยฯ ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 จำเลยที่ 1 ได้อาศัยโอกาสที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย ฯและเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการดังกล่าว ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เสนอความเห็นในที่ประชุมมีลักษณะก้าวก่าย แทรกแซง ครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจัดการหรือฝ่ายบริหารนั้น
ศาลเห็นว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทการบินไทย ฯมีหน้าที่เร่งรัดในการการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวขอบริษัท การบินไทยฯ เช่น การเพิ่ม ลด จำนวนเครื่องบิน การจัดหาเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องบิน รวมทั้งการลงทุนอื่น ๆ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ จะเห็นได้ว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ แต่ละคนที่ได้รับแต่งตั้งล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทยฯ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งสิ้น จำเลยที่ 1 เป็นที่ปรึกษาฯ ย่อมมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อที่ประชุม
ทั้งนี้ทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1-2 ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เสนอข้อมูลหรือโน้มน้าว หรือชี้นำ หรือบีบบังคับคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวฯ ในการพิจารณาเพิ่ม ลดจำนวนเครื่องบิน ตลอดจนการจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ หรือบีบบังคับอนุกรรมการคนใดให้มีมติหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ เชื่อว่าการลงมติของคณะ อนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ ดังกล่าวเป็นการลงมติไปตามความรู้ ความคิดที่เป็นอิสระของกรรมการแต่ละคน มิได้อยู่ภายใต้การครอบงำหรือชี้นำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทย ครั้งที่ 8/2547 จำเลยที่ 2ในฐานะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ เป็นผู้ชี้แจงข้อมูลในที่ประชุม วาระที่ 3.2ในการขออนุมัติแผนเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาว มีการนำเสนอการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) เพียงเครื่องบิน B777-200ER และเครื่องบิน A340-600 เท่านั้น และจำเลยที่ 1-2 ร่วมกันอาศัยโอกาสที่มีอำนาจในตำแหน่งและมีหน้าที่ในที่ประชุมดังกล่าว มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาวปี 2547/48- 2552/53 แผนการเงินและแผนการลงทุน โดยเห็นชอบให้บริษัทการบินไทยฯ ดำเนินการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 14 ลำ และลงนามในสัญญา (M.O.U.) เพื่อสั่งซื้อเครื่องบิน A380จำนวน 6 ลำ เครื่องบิน A340-500จำนวน 1 ลำ เครื่องบิน A340-600จำนวน 1 ลำ จากบริษัท แอร์บัส (Airbus)นั้น
ศาลเห็นว่า การจัดซื้อเครื่องบินรวมทั้งเครื่องยนต์สำรองและอะไหล่ในคดีนี้ เป็นการจัดซื้ออันสืบเนื่องจากบริษัทการบินไทยฯ ดำเนินการตามแผนวิสาหกิจ และโครงการจัดหาเครื่องบินเดิมจำนวน 15 ลำ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบแล้ว แต่บริษัทการบินไทยฯไม่สามารถรับมอบเครื่องบิน แบบ B747-400จำนวน 7ลำของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ทำให้ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตในปี 2546/47-2547/48ได้ บริษัทการบินไทยฯ จึงจัดทำแผนกลยุทธ์ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายเส้นทางบินเชิงกลยุทธ์ทั้งเส้นทางข้ามทวีปและภูมิภาค การรับมอบฝูงบินระยะยาวต่อเนื่องจากแผนเดิม ได้ความจากบันทึกถ้อยคำที่นางแสงเงิน ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผน (DV) ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ว่าที่ประชุมที่มีมติเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาเส้นทางบินและฝูงบิน แผนการเงิน และแผนการลงทุนของบริษัทการบินไทยฯ ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอและให้ดำเนินการเปรียบเทียบแบบเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลางที่มีอยู่ในตลาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวฯ หรือฝ่ายบริหารฯ ดำเนินการเปรียบเทียบเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลางที่มีอยู่ในตลาดขณะนั้น คือ เครื่องบินแอร์บัส แบน A340-600 และเครื่องบินโบอิ้ง แบบ B777-200ER โดยฝ่ายวางแผนเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในการประชุมครั้งดังกล่าวพบว่าข้อมูลด้านเทคนิค ระบุว่า B777-200ER ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ TRENT - 892และ MTOW 294.4ตัน สอดคล้องกับรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ ครั้งที่ 8/2547 เรื่อง แผนเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาว ว่าที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเส้นทางบินและฝูงบินระยะยาวปี 2547/48- 2552/53เห็นชอบแผนการเงินและแผนการลงทุนและเห็นชอบให้บริษัทฯ ดำเนินการจัดหาเครื่องบิน A380จำนวน 6 ลำ เครื่องบิน A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบิน A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ วงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท และดำเนินงานตามแผนการเงิน และแผนเงินกู้
โดยในส่วนของเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) จำนวน 6 ลำ ที่เหมาะสมกับเส้นทางบินและมีน้ำหนักบรรทุกที่เป็นรายได้ (Payload) ในปัจจุบันมี 2 แบบ จากการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของเครื่องบิน B777-200ER กับ A340-600เครื่องบิน B777-200ER จะมีผลการดำเนินงานดีกว่า A340-600 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องบินทั้งสองแบบแล้วจากผลการดำเนินงานและข้อมูลต่างๆ ทางเทคนิค เครื่องบิน B777-200ER จะเป็นแบบที่มีความเหมาะสมการใช้งานที่ดีกว่า
ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติให้บริษัท การบินไทยฯ ลงนาม Memorandum of Understanding (M.O.U.) กับบริษัทแอร์บัส และลงนาม Letter of Intent (L.O.I.) กับบริษัทโบอิ้ง (Boeing) และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการเจรจา และพิจารณาร่างสัญญา Supplemental Agreement (SA-8) โดยพบว่าเครื่องบิน B777-200ER ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการในแผนจะต้องมี MTOW 650,000 ปอนด์ และติดตั้งด้วยเครื่องยนต์ TRENT-892 โดยจะเห็นได้ว่าเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลง MTOW เครื่องบิน B777-200ER จาก 580,000 ปอนด์ เป็น 650,000 ปอนด์ และการยกระดับ (Upgrade) เครื่องยนต์ Rolls-Royce จาก TRENT-884 เป็น TRENT - 892 เป็นการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงให้สอดคล้องกับแผนวิสาหกิจที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการวางแผนวิสาหกิจฯ และคณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1- 2 ร่วมกันกระทำเพื่อให้มีการเพิ่มน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด (MTOW) ของเครื่องบิน และยกระดับ (Upgrade) เครื่องยนต์ จากเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ (Spare Engine) โดยไม่ได้นำเสนอขออนุมัติเปลี่ยนแปลงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 อีกทั้งจำเลยที่ 1 ได้ใช้อำนาจสั่งการให้นายกนก ซึ่งเป็นผู้จดรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2547 ให้แก้ไขรุ่นของเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ที่จะสั่งซื้อจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) จากเดิม TRENT-884เป็น TRENT-892โดยมีเจตนาเพื่อให้บริษัทโบอิ้ง (Boeing) ได้รับประโยชน์ในการเข้าทำสัญญาขายเครื่องบิน และทำให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้รับประโยชน์ในการเข้าทำสัญญาขายเครื่องยนต์กับบริษัทการบินไทยฯ ซึ่งมีราคาสูงขึ้นนั้น ก็เป็นการกล่าวหาไปตามความเชื่อของโจทก์เองโดยไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนให้มีน้ำหนักรับฟังได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาเอกสารสรุปรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ ที่นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ฯเป็นผู้ทำขึ้นในวันเดียวกับที่มีการประชุมเพื่อเสนอเลขานุการบริษัทการบินไทย ฯ
ได้สรุปว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ตอบรับ Memorandum of Agreement ของบริษัท Rolls-Royce เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT -500และ TRENT - 892 และให้ชำระเงินมัดจำจำนวน 1 เเสนเหรียญสหรัฐฯต่อเครื่องยนต์อะไหล่ โดยเงินมัดจำดังกล่าวบริษัทฯสามารถเรียกคืนได้ในกรณีที่แผนวิสาหกิจ ของบริษัท การบินไทยฯไม่ได้รับอนุมัติจากครม.และมีมติให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ร่วมกับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี (DE) ลงนามใน MOA ดังกล่าวได้และชมเชยน.ท. ศุภชัย กรรมการผู้จัดการฝ่ายช่าง (DT) ที่สามารถเจรจาต่อรองราคาเครื่องยนต์อะไหล่ที่บริษัทฯ จะสั่งซื้อจากบริษัท Rolls-Royce ดังกล่าวจากเดิมราคารวมทั้งสิ้นประมาณ 102ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงเหลือประมาณ 87.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้บริษัท การยินไทยฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเบิกความตอบศาลถามว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทยฯถือว่าเป็นการประชุมระดับสูง มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพูดจาโน้มน้าวชี้นำหรือบังคับให้กรรมการคนอื่นให้มีความเห็นไปตามความคิดเห็นของประธานได้ กรรมการแต่ละคนมีอิสระในการลงมติและในการแสดงความคิดเห็น ทั้งกรรมการทุกคนเห็นด้วยกับโครงการการจัดหาเครื่องบินตามแผนรัฐวิสาหกิจของบริษัทการบินไทยไม่มีผู้ใดคัดค้าน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 10/2547 ที่ประชุมมีการรับรองรายงานการประชุม ไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่ารายงานการประชุมครั้งที่ 9/2547ไม่ถูกต้อง
เชื่อว่าในการประชุมกรรมการบริษัทการบินไทยฯ ครั้งที่ 9/2547 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้บริษัทการบินไทยฯ ตอบรับ MOU ของบริษัท โรสซ์-รอยซ์ Rolls-Royce เพื่อสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT - 892
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ากระบวนการจัดหาจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง และเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์สำหรับเครื่องบินดังกล่าว รวมทั้งเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ โรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องบินแอร์บัสเป็นไปโดยชอบตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ไม่มีการแก้ไขเครื่องยนต์อะไหล่จาก TRENT - 884เป็น TRENT - 892 ดังที่โจทก์ฟ้อง
เมื่อข้อเท็จริงฟังได้ว่าการกระทำต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการบริษัท การบินไทยฯ ประธานกรรมการกำกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ประธานกรรมการวางแผนวิสาหกิจของบริษัท การบินไทย ฯ และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทยฯ มิใช่กระทำเพราะเหตุที่ตนมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ของบริษัทการบินไทยฯ โดยตรง
สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ที่ได้มอบอำนาจโดยชอบให้ลงนามร่วมกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ใน Memorandum of Agreement ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเส้นทางบินและฝูงบินของบริษัทการบินไทย ฯและเป็นการดำเนินการไปตามมติของคณะกรรมการบริษัทฯ และอยู่ภายในวงเงินที่คณะกรรมการบริษัท การบินไทยฯ ได้พิจารณาอนุมัติมาตั้งแต่ต้น ทั้งข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1- 2 กระทำการไปโดยทุจริตอย่างไร อีกทั้งไม่ปรากฏว่าการสั่งซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ TRENT - 892 เป็นเหตุให้บริษัทการบินไทยฯ ได้รับความเสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าบริษัทการบินไทยฯ ได้รับความเสียหาย
การกระทำของจำเลยที่ 1- 2 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯมาตรา 8 พยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-2 เป็นการร่วมกันมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่บริษัทการบินไทย ฯตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี