“วราวุธ” สั่ง ศบปภ. กระทรวง พม. เร่งอัพเดต แผนที่ความเสี่ยงภัย-พิกัดคนกลุ่มเปราะบาง พื้นที่เชียงราย หลังน้ำโคลนทะลักเข้าแม่สายอีก จ่อถก 7 พ.ค.นี้
วันที่ 30 เมษายน 2568 จากกรณีเกิดเหตุน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อตลาดสายลมจอยซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าชื่อดังชายแดนแม่สาย และยังสร้างความวิตกกังวลต่อพี่น้องประชาชน เนื่องจากเพิ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้สั่งการให้ ศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) กระทรวง พม. ประสานงานกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เชียงราย ประสานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวง พม. สำรวจพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งข้อมูลประชาชนกลุ่มเปราะบาง พร้อมที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และเพื่อ พมจ. เชียงราย จะได้ประสานกับทาง ปภ. เชียงรายในการเคลื่อนย้าย เมื่อเกิดการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที
“ผมได้ให้ ศบปภ. กระทรวง พม. ตรวจสอบว่า แผนที่ความเสี่ยงภัย หรือ Risk Map ของกระทรวง พม. เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ตอนนี้มีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหนสำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงราย และได้ขอให้เจ้าหน้าที่ พม. ออกพื้นที่ดูแลพี่น้องกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกัน ที่สำคัญ ขอให้เจ้าหน้าที่ พม. ของเราปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น พร้อมกับได้ย้ำเตือนขอให้แนะนำพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางให้จัดเตรียม กระเป๋าที่ใส่สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือ Go Bag เพื่อเตรียมความพร้อม หากต้องอพยพฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ได้รับรายงานจากทาง ศบปภ. ระบุว่าทางศูนย์เทคโนฯ ได้ประสานกับ พมจ. เชียงราย เรื่องแผนที่ภัยพิบัติกับกลุ่มเปราะบางในเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้ฝ่ายเลขานุการ ศบปภ. ดำเนินการปรับมาตรฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอยู่ระหว่างทำข้อมูลเชิงลึกให้มากขึ้น เช่นการเทียบเข้ากับข้อมูลทางเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ยหรือความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ การเตรียมการเข้าช่วยเหลือขณะเกิดเหตุ และภายหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะแนวทางการสร้างอาชีพ การเยียวยาฟื้นฟู ทั้งสภาพจิตใจ สภาวะแวดล้อม และที่อยู่อาศัยของกลุ่มเปราะบางผู้ประสบภัย ทั้งนี้หากช่วยกันป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน คือการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข รัฐบาลไทยและเมียนมาต้องเร่งประสานงานกันเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำโดยเร็วที่สุด ซึ่งภาพเหตุการณ์น้ำและโคลนทะลักมาที่อำเภอแม่สายนั้นเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นชัดเจนแล้ว“ นายวราวุธ กล่าว
ด้านนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน ศบปภ. กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้จาก ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ระบุว่าน้ำท่วม อ.แม่สายครั้งนี้ ทั้งที่ฝนตกเพียง 60 มม. เหตุจากต้นน้ำในเมียนมาเสียหาย จึงเกิดดินถล่มเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีป่าคอยช่วยถ่วงน้ำ , ดินตะกอนใต้ท้องแม่น้ำสูงขึ้น 30% เนื่องจากดินถล่มเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน และเป็นเหตุที่ไม่คาดคิดว่าจะมีน้ำหลากมา ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้รื้อบิ๊กแบ็คออก ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมเมืองอีก อย่างไรก็ตาม จะมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือกันในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ประจำเดือนพฤษภาคม 2568 ในวันพุธที่ 7 พฤษภาคมนี้ ด้วย
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี