“ปานมณี ”หัวเราะ “ก๊ากคำโต”อย่างยั้งไว้ไม่อยู่เมื่อได้ยินว่า “คนสูงวัยติดการพนันเพิ่มขึ้นเพราะความเหงาและเพราะเรามีเงิน ผิดกับที่เราเคยได้ยินมาแต่ก่อนว่าผู้สูงวัยจะคอยห้ามปรามเด็กๆ ไม่ให้เล่นการพนัน”
ที่อดหัวเราะก๊ากไม่ได้เพราะคิดว่า “เจ้าความเหงา” และ “ความเป็นคนมีเงิน” นี่มันก็สร้างสิ่งร้ายๆ ให้กับชีวิตอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกันนะ โดยเฉพาะในเรื่องของความมีเงิน
เดี๋ยวนี้ทุกคนต่างแสวงหา ที่จะนำพาให้เงินเข้ามาหาตัวเพื่อเพิ่มความสุข และสร้างความสะดวกสบายให้แก่ชีวิต เพราะฉะนั้นแม้จะ อายุเข้าสู่วัยชรา หรือ 60 ปี ขึ้นไป ก็ยังไม่ยอมหยุดนิ่ง ต่างขวนขวายที่จะแสวงหารายได้ให้เพิ่มขึ้น
แต่ครั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วกลับมาถูกเงินทำอันตราย ลากทูลู่ทูกัง เข้าสู่แวดวงการพนันเสียนี่
ทำไมมันถึงเป็นไปได้เยี่ยงนี้
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันปี 2561 ว่า โดยสรุปแล้วผู้สูงวัยจะมีเวลาว่างมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความเหงา หรือบางทีครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วย ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเอง และอาจมีเงินเก็บเงินอะไรทั้งหลาย เลยมีวิธีแก้ความเหงา โดยการเข้ามาเล่นการพนัน
พร้อมทั้งยกตัวเลขข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทยเป็นประจำทุก 2 ปี โดยปี 2560 สำรวจจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-12 ต.ค.2560 รวม 7,008 ตัวอย่าง พบว่าภาพรวม ปี 2560 คนไทยเล่นพนันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 54.6 หรือเกือบ 29 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2558 ในจำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่หรือเริ่มเล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาถึง 6 แสนกว่าคน ที่น่ากังวล พบว่ากลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุมีการเล่นพนันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2558 และเมื่อประเมินว่ามีการติดการพนันหรือไม่ ในส่วนของผู้สูงอายุพบว่า มีมากถึง 6.89 แสนคน ขณะที่การพนันที่เป็นปัญหาคือ เกิดผลกระทบมากเกินกว่า 7 ข้อ ในผู้สูงอายุมีมากราว 3.8 หมื่นคน แต่เป็นการพนันที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพบมากถึง 2 แสนกว่าคน
สอดคล้องกับผลการศึกษาสถานการณ์การพนันในกลุ่มผู้สูงอายุและผลกระทบ โดย ผศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ซึ่งพบว่า ผู้สูงอายุมีมุมมองที่เห็นด้วยต่อการพนัน เนื่องจากมองว่า 1.เป็นการใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุ 2.เล่นแล้วทำให้รู้สึกตื่นเต้น 3.เป็นการเสี่ยงโชค 4.ทำให้มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น 5.ช่วยคลายเหงา และ 6.เป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย
แหม....เหตุผลทั้ง 6 ประเด็นที่ผู้สูงวัย มองเห็นสิ่งดีงามในการเล่นการพนันกระทรวงวัฒนธรรม เห็นทีว่าจะไม่เข้าทลายไม่ให้เหลือซากคงไม่ได้เสียแล้วมิฉะนั้นอีกสิบปียี่สิบปี ผีพนันคงเข้าสิงสู่ผู้สูงวัยมากขึ้น อย่างน่าวิตก
ผศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์ ได้ขยายความให้เราฟังต่อไปอีกว่า ในการสำรวจพบว่า การเล่นพนันของผู้สูงอายุในรอบปี 2559 พบว่า เล่นพนันโดยการเล่นไพ่สูงเป็นอันดับ 1 ตามด้วยสลากกินแบ่งรัฐบาล และหวยใต้ดิน ส่วนจำนวนเงินที่ใช้เล่นพนันพบว่า การพนันไก่ชนใช้เงินในการเล่นพนันสูงสุดถึง 10,000 บาทต่อการเล่น1 ครั้ง การเล่นการพนันของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.7 จะเล่นในชุมชน ร้อยละ 21.9 เล่นในจังหวัดที่ตัวเองอาศัยอยู่ ขณะที่การประเมินว่าตนเองติดพนันหรือไม่พบว่าร้อยละ 12.1 ประเมินว่าตนเองติดพนัน ร้อยละ 75.8 เชื่อว่าตนเองไม่ติดการพนัน
ศ.ดร.สุภาวดี กล่าวว่า ผลกระทบจากการเล่นพนันของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดความเครียด ร้อยละ 44.9 หงุดหงิดง่าย ร้อยละ 17.2 และร่างกายอ่อนแอ ร้อยละ 16.4 ส่วนแหล่งข้อมูลข่าวสารประกอบการเล่นพนันของผู้สูงอายุนั้น มากที่สุดคือพระหรือหมอดูร้อยละ 54.7 วิทยุหรือโทรทัศน์ ร้อยละ 22.3 หนังสือวิเคราะห์คาดการณ์พนันต่างๆร้อยละ 21.5 ทำนายจากฝัน ร้อยละ 19.5
และแล้ว ผศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์ ก็บอกถึง มาตรการสกัดกั้นการพนันในผู้สูงอายุ ให้ทราบว่าจากกลุ่มสำรวจ พบว่า ร้อยละ 76.2 ต้องการให้เกิดการตั้งกลุ่มและชมรมผู้สูงอายุสำหรับกิจกรรมนันทนาการพักผ่อน จิตอาสาหรืออื่นๆ ร้อยละ 69.1 ครอบครัวร่วมกันดูแลและให้กำลังใจ ร้อยละ 50.8 คือการสร้างอาชีพวัยเกษียณ ร้อยละ 45.3 เจ้าหน้าที่ต้องกวดขันเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลเชิงลึก พบว่ามูลเหตุสำคัญที่ทำให้การพนันเพิ่มมากขึ้น คือ การพนันมีบทบาทเป็นทั้งกิจกรรมยามว่างของผู้สูงอายุ และเป็นการเสี่ยงโชคในวิถีชีวิตของสังคมไทย อันเนื่องมาจากการว่างงานของผู้สูงอายุ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรจัดประกวดออกแบบกีฬาในลักษณะเป็นทีมให้มีลักษณะตื่นเต้น ท้าทาย เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยกีฬาควรใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อการเล่นในแต่ละครั้ง เพื่อทดแทนกิจกรรมการใช้เวลาว่างในการเล่นพนันของผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างทีมวิทยากรที่ผู้สูงอายุมีความเชี่ยวชาญจากวิชาชีพเดิมก่อนเกษียณอายุทำงาน ให้ทำประโยชน์ในลักษณะจิตอาสาแก่ชุมชนหรือสังคม ก็จะช่วยได้
คำพังเพยไทยกล่าวว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” งานนี้เห็นดีว่ากว่าจะสำเร็จลุล่วงสงสัยหืดขึ้นคอไปตามๆ กัน
โดย ปานมณี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี