ความหมายของคำว่า “บวช” ในสมัยพุทธกาล หมายถึง “งดเว้น” ที่จะทำให้ ตัวเอง ตกต่ำลงไปอีก ดังนั้น ใครก็ตามที่บวชแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น นั่นย่อมหมายถึง คุณยังไม่บรรลุถึงการบวช
พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เล่าถึงครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ให้ทราบว่า ในตอนนั้น เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ “งดเว้น” หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยมีมาออกไปจนหมด ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อพระองค์ตัดสินใจที่จะออกบวช พระองค์มีเพียงสามชีวิตเท่านั้นที่ตามมาด้วยคือ นายฉันนะ ม้ากัณฐกะ และตัวพระองค์เอง
โดยศักยภาพของ เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อจะออกบวช หากพระองค์ต้องการทำให้ใหญ่โต เอิกเกริก อย่างไรก็ได้ แต่พระองค์ได้ “งดเว้น” ทำให้การบวชครั้งนั้นไม่มีการลงทุน ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง ซึ่งผิดกับการบวชในปัจจุบันที่พยายามจะสร้างความเอิกเกริก สร้างความใหญ่โต บางรายเลยเถิดจนสร้างความเสียหายให้แก่งานบวชอย่างน่าเสียดาย คำว่า บวช ที่หมายถึง การงดเว้นที่จะไม่ทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปอีก จึงผิดวัตถุประสงค์ไปอย่างสิ้นเชิง จนมีเสียงออกมาจากสังคมหลายแห่งว่า พุทธศาสนากำลังจะเสื่อมลง
ในเรื่องที่ว่า พุทธศาสนากำลังเสื่อมหรือ? พระปัญญานันทมุนี ยืนยันให้ทราบว่า อยากให้มาดูระเบียบการบวชนาคที่แท้จริงที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ว่าควรทำอย่างไร เพื่อจะได้เห็นว่าศาสนาไม่ได้เสื่อม ไม่ได้หมดหวังอย่างที่หลายคนคิด แต่ยังมีหวังเพื่อที่จะแก้ไขให้งานบวชเป็นงานที่บริสุทธิ์ ปราศจากน้ำเมา อยากให้ทุกท่านช่วยกัน รักษาการบวชเอาไว้ให้เป็นวิถีที่ดีงาม รักษาศาสนา ชีวิตของท่าน ลูกหลานของท่าน ให้เจริญด้วยความดีตลอดไป เจริญพร...
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์และเสวนาในหัวข้อ “บุญไม่เปื้อนบาป ถอดน้ำเมาจากงานบุญ” ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี ทำให้ได้ข้อคิดอะไรหลายอย่างจากงานนี้
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้เปิดเผยตัวเลขจากการสำรวจ สถานการณ์ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดและงานบุญประเพณี โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่วันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2562 ในกทม. พบว่า ประชาชนร้อยละ 73 เห็นด้วยว่าไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญงานบวช ร้อยละ 80.6 มองว่างานบุญงานบวช สามารถบรรลุเป้าหมายของงานได้โดยไม่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในทางกลับกันพบว่า ประชาชนร้อยละ 34.8 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบวช ร้อยละ 41.5 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานทอดกฐิน จึงสามารถสรุปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่แม้ไม่เห็นด้วยกับการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญงานบวช แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะดื่มและมองว่าการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นของฟรีที่เมื่อไปร่วมงานแล้วใส่ซองควรได้ดื่มกินเลี้ยงฉลอง ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงของงานบุญงานบวชก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญในการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่เช่นกัน
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวชผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงการจะทำอย่างไรให้ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ที่จริงแล้ว ตามกฎหมายอาญาระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตวัดและโรงเรียน รวมถึงห้ามจ่ายในบริเวณพื้นที่ ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เพียงตนเองเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับผู้อื่นหรือเรียกได้ว่าเป็นผลกระทบจาก “เหล้ามือสอง” คืออาการมึนเมาที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการทะเลาะวิวาทกับคนในครอบครัวและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเมาแล้วขับก็ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่หากสามารถเปลี่ยนนิสัยให้คนในบ้านลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ก็จะสามารถขยายผลไปยังชุมชนและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง
การอนุรักษ์ประเพณีไทยถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีวัฒนธรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่วัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ ควรเป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กและเยาวชน ที่อาจจะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต ดังนั้นการแยกอบายมุขต่างๆ ออกจากพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังและเต็มใจ เพื่อไม่ให้ตัวเองตกต่ำลงไปกว่านี้
โดย ปานมณี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี