ภาษาไทยวันนี้ “ปานมณี” ขอเสนอคำว่า “อ้วนลงพุง” ซึ่งหมายถึงภาวะที่มีไขมันสะสมในช่องท้องจำนวนมาก โดยสังเกตได้จากหน้าท้องที่ยื่นออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งในภาวะแบบนี้ แม้คุณจะไม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่พุงของคุณก็สามารถยื่นออกมาได้โดยไม่ลำบากยากเย็นหากคุณไม่ระมัดระวัง
ภาวะอ้วนลงพุง คุณอย่ามองว่า มันดูกลมน่ารักน่าชังนะคะ เพราะในด้านของเรื่องสุขภาพ อาการอ้วนลงพุง สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย อาทิ ไขมันพอกตับ ไขมันในช่องท้อง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เกิดนิ่วในถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร เป็นต้นปัจจุบันประเทศไทยมีคนอ้วนถึง 17 ล้านคน มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 4 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคอ้วนนอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และบุคลิกภาพแล้ว ยังส่งผลโดยตรงถึงสุขภาพร่างกายดังที่กล่าวมาแล้ว
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการลดพุง ลดโรค เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นตัวการก่อภาวะอ้วนลงพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดกิจกรรม “ชวนกันมา “เปลี่ยน” ต่อยอดภารกิจ“ลดพุง ลดโรค”” ที่ขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่น พร้อมมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรแก่ 17 หน่วยงานต้นแบบ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำสร้างเสริมสุขภาวะลดพุง ลดโรค
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร
คุณเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากการกินอาหารไม่ครบโภชนาการ ติดรสหวานมัน เค็มจัด และไม่ขยับร่างกาย จึงเชิญชวนให้คนทุกวัยปรับพฤติกรรมการกินอาหารอย่างเหมาะสมด้วยหลัก 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน คาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน และเคลื่อนไหวให้ครบ 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยศูนย์เรียนรู้ฯทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ซึ่งปีที่ผ่านมาออกสัญจรกว่า 20 จังหวัดและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิภาคถึง 8 แห่ง รวมถึงผลิตชุดกระเป๋าสื่อนิทรรศการยืมคืนเพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้เผยแพร่ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิภาค โดยศูนย์เรียนรู้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานประกอบการที่เห็นความสำคัญของการลดพุงลดโรคเข้าอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำทั้งหมด 1,268 คน จาก 858 หน่วยงาน และเกิดเป็น 17 หน่วยงานที่นำองค์ความรู้กลับไปต่อยอดด้วยความตระหนักถึงสุขภาวะของบุคลากรอย่างยั่งยืน จนเกิดเป็นแผนการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา สร้างเจ้าหน้าที่เป็นต้นแบบลดพุง ลดโรค โรงเรียนประถมนนทรี กทม. แก้ปัญหาเด็กไม่กินผักด้วยการปลูกผัก บริษัท ไทย ไดโซ แอโรโซล จำกัดจังหวัดชลบุรี ใช้หลัก 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกายและอารมณ์) สร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานให้พนักงาน เป็นต้น
คุณจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการชำนาญการ เล่าถึงการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในหน่วยงานว่า ในปี 2557 มีพนักงานอ้วนลงพุงกว่าร้อยละ 50 จึงให้พนักงานทั้ง 370 คนใช้ KPI สุขภาพรายบุคคลตามเกณฑ์ที่ตั้ง โดยเน้นค่า BMI และรอบเอวที่เหมาะสม เช่น นาย ก.มีรอบเอว 90 เซนติเมตร หากลดได้ 1 เซนติเมตรจะได้คะแนนบวกไปเรื่อยๆ จึงทำให้ทุกคนมีกำลังใจ ลดความกดดัน และอยากทำต่อไปเรื่อยๆ คณะแกนนำส่งเสริมการปรับพฤติกรรมด้วยตนเอง ให้ความรู้การดูแลสุขภาพด้วยหลัก 3 อ. (อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย)จัดกิจกรรมออกกำลังกายทุกสัปดาห์ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วย 12 ท่าบริหารแบบไทยๆ สลับกับการแกว่งแขนของ สสส. จนทำให้ปัจจุบันลดจำนวนพนักงานที่มีภาวะอ้วนลงพุงเหลือเพียงร้อยละ 12.3 เกิดบุคคลต้นแบบ เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์กร และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
จิรัฐิติกาล ดวงสา
คุณคมคาย พฤกษากรครูชำนาญการ โรงเรียนวัดพระนอนหนองผึ้ง จ.เชียงใหม่เล่าว่า ปกติโรงเรียนจัดกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายให้เหมาะสมตามน้ำหนักและส่วนสูงมาโดยตลอดแต่ยังมีจำนวนนักเรียนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ถึงร้อยละ 13.68 เมื่อได้เข้าอบรมเมนู 2:1:1กับศูนย์เรียนรู้ฯ จึงกลับไปตั้งโจทย์ว่าเด็กชอบกินขนม จึงต้องคิดค้นขนมที่มาจากธรรมชาติ ปลอดภัย ให้พลังงานน้อย ทำง่าย ใช้ต้นทุนต่ำและมีในท้องถิ่น ทำให้นึกถึงแปลงมะละกอในสวนเกษตรที่โรงเรียน เกิดเป็นนวัตกรรมแป้งมะละกอลดพุงโดยให้นักเรียนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต ตั้งแต่การอบแป้ง บดปั่นแป้ง จนเป็นแป้งพร้อมปรุงอาหาร สามารถทำเป็นขนมต่างๆ เช่นทองม้วน เครป ซึ่งหลังจากนี้จะขยายสู่การผลิตเมนูขนมเบรกอ่อนหวานต่อไป
คนทุกวัยสามารถมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้หากรู้จักการเตรียมตัวดูแลตั้งแต่ต้น เพราะผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพต้องใช้ระยะเวลาเช่นเดียวกับการละเลยสุขภาพทำให้บางคนกว่าจะรู้ว่ามีไขมันที่พุงเพิ่มขึ้นมา 3 นิ้ว ก็ผ่านมาหลายปีเสียแล้ว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี