สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานแถลงข่าว “การก่อตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์” เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในการสร้างสังคมสุขภาวะ พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “มิติด้านสื่อเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมสุขภาวะ” เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์และเสริมสร้างสังคมสุขภาวะที่ดี ทำให้เราได้พบว่า ละคร สามารถเป็นสื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างอเนกอนันต์
“ละคร” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผลสำรวจพบว่า 78% ของเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเลียนแบบละคร ซึ่งเป็นปฐมเหตุที่สะท้อนอะไรหลายอย่างออกมากระทบต่อสังคมได้
“ศิลปะการละครถือเป็นศิลปะอันดับหนึ่งที่มนุษย์มี เพราะเป็นการนำศิลปะทุกแขนง ทุกภาคส่วนมาร่วมกันประมวลออกมาเป็นละคร” นายยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนเจ้าของบทละคร กรงกรรมให้ความเห็น
“ละครโทรทัศน์เป็นพาณิชยศิลป์ ศิลปะที่มีอยู่ในละครมีความดีความงามมีความสุนทรีมีความคิดที่ดีใส่เข้าไปในละคร” อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ กล่าว
คุณจั๊กจั่น-อคัมย์สิริ สุวรรณศุข นักแสดงระดับแนวหน้าคนหนึ่งกล่าวถึงละครว่า “ละครจะสนุกจะต้องมีบทละครที่ดี ซึ่งจะทำให้นักแสดงสนุกไปด้วย และเมื่อทุกอย่างดีคนดูก็จะชื่นชอบและติดตามเพราะลุ้นไปกับแต่ละเนื้อหาที่นำเสนอตนมองว่า ละครไทยแตกต่างจากละครต่างประเทศ เพราะผู้เขียนบทมักจะแคร์ความรู้สึกของผู้ชม โดยเฉพาะการอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และจะไม่เขียนบทละครที่เป็นเรื่องขัดแย้งกับความเชื่อของคนไทย”
สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสุขภาพให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิตสังคม และปัญญา ดังนั้นจึงมองว่า การที่สื่อด้านการละครเข้ามามีส่วนร่วมจะช่วยพัฒนาได้ในทุกมิติให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจึงเป็นเรื่องดีที่สอดคล้องกันอย่างกลมกลืน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า“สื่อ” เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยดี แต่สื่อสร้างสรรค์จะมีนิยามที่เพิ่มเติมเพื่อขยายความเข้าใจคือ เนื้อหาที่ถูกต้อง ตรงตามศีลธรรม จริยธรรม และมุ่งปรับทัศนคติให้ถูกครรลองคลองธรรม สร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ รวมไปถึงการปรับวิถีชีวิตให้เข้าที่เข้าทาง ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ซึ่งมีการระบุนิยามฉบับเต็มเอาไว้ในพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กับการปฏิบัติจริงอาจแตกต่างกัน เพราะการผลิตสื่อจะต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายฝ่าย และการคำนึงถึงผู้ชมเพื่อให้ได้รับผลกระทบที่ดีและเติบโตต่อเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อที่ดีต่อไป
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สื่อมีอิทธิพลมากในการเติมเต็ม สามารถชักจูง ชักนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งบทบาทของสื่อโดยเฉพาะละครหลายเรื่องมีประโยชน์ต่อสังคมมาก เช่น บุพเพสันนิวาส วัยแสบสาแหรกขาด ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ฯลฯ ถือว่าเป็นตัวอย่างละครที่ดีที่ทำให้สังคมเด็กรุ่นใหม่เกิดการตื่นตัวและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้เอง การก่อตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์จึงเป็นนิมิตหมายอันดีงามของการสร้างสรรค์สื่อให้แก่สังคมไทย
อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งสมาคม ว่า เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกัน ประสานงานกับหน่วยงานราชการและเอกชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำละคร โดยเฉพาะการพัฒนาบทละครด้วยการสนับสนุนทางด้านข้อมูล รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพผู้เขียนบทของประเทศนอกจากนี้ สมาคมยังได้ร่วมงานกับ สสส.ในการจัดกิจกรรม เช่น การอบรมพัฒนาสื่อ พัฒนาเยาวชนที่จะเติบโตมาเป็นผู้เขียนบท รวมไปถึงการพัฒนานักเขียนบทด้วยละครโทรทัศน์สู่การสื่อสารสุขภาวะอีกด้วย
คุณยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนเจ้าของบทละคร “กรงกรรม” เสริมต่อให้ฟังว่า ละคร นอกจากหน้าที่การให้ความบันเทิง ดูแล้วมีความสุขยังมีอิทธิพลต่อสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะละครเป็นสื่อฟรีที่ทำให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเนื้อหาที่ทำให้ผู้ผลิตละครมุ่งผลิตให้น่าสนใจมากที่สุด เพราะละครแต่ละเรื่องมีคุณค่าที่กระทบใจคนดูแตกต่างกันไปการสอนคนดูด้วยการไม่ยัดเยียดผ่านการดำเนินเนื้อเรื่องให้คนดูคิดตามและตั้งคำถามระหว่างตัวเองกับสังคม ซึ่งบทบาทหน้าที่ของละครคือการทำให้คนดูเกิดวุฒิปัญญา ที่เกิดจากการตั้งคำถาม ค้นหาความหมายของชีวิต เป็นต้น
คุณนิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ผู้ผลิตละครเรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาด” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการผลิตละครที่สะท้อนปัญหาสังคมว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เขียนบทที่เกี่ยวกับปัญหาของเด็กและเยาวชนจึงสนใจจะร่วมผลิต จึงออกมาเป็นละครเรื่องวัยแสบสาแหรกขาดที่สะท้อนปัญหาของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน โดยตนตั้งใจว่าอยากจะผลิตละครแนวนี้ต่อเพราะอยากให้ผู้ชมเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง ซึ่งประเด็นต่อไปที่อยากจะนำเสนอคือ ปัญหาของแฟนคลับหรือการเป็นติ่งศิลปิน ที่เด็กและเยาวชนมักทุ่มเทให้กับศิลปินมากเกินไปทั้งที่ไม่รู้จักนิสัยที่แท้จริงของบุคคลนั้นๆ จึงอยากให้เด็กและเยาวชนแยกแยะทำความเข้าใจ เพราะถือเป็นปัญหาเรื่องของความไม่เป็นตัวของตัวเอง
การผลิตละครให้ดีต้องเริ่มจากบทละครที่สร้างสรรค์และสามารถสะท้อนข้อคิดให้กับผู้ชม รวมไปถึงการดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครอย่างน่าสนใจ ดังนั้นการเกิดขึ้นของ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จึงน่าจะเป็นอีกความหวังหนึ่งในการชักนำสังคมให้เกิดการพัฒนาในทุกๆด้านของสังคมไทย
โดย ปานมณี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี