กมธ.ผุดศาลวินัยการคลัง
สนอง‘ป๋าเปรม’
เชือดฉ้อราษฎร์บังหลวง
แค่ส่อผิดพักงาน-คืนเงิน
ปปช.-คตง.-ปชช.ฟ้องได้
30องค์กรค้านยุบ‘กสม.’
จากกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ครบรอบ 60ปี โดยเสนอแนะให้จัดตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นมาจัดการคนโกงชาตินั้น
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีบทบัญญัติตามข้อเสนอของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เห็นว่า ควรมีศาลฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อนำคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นไปพิจารณาโดยรวดเร็ว ซึ่งกำหนดให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด
ตั้งศาลวินัยการคลังฯปราบโกง
โดยขั้นตอนการไต่สวนนั้นหากพบว่า มีพฤติกรรมที่ส่อว่ามีการกระทำที่ทุจริต ศาลสามารถสั่งให้ยุติการกระทำได้ หรือหากพบว่าการกระทำนั้นสร้างความเสียหายให้กับเงิน หรือทรัพย์สินแผ่นดิน สามารถสั่งให้บุคคลนั้นคืนเงิน หรือทรัพย์สินต่อแผ่นดินได้ ซึ่งกระบวนการแตกต่างจากการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่หากพบว่า มีการกระทำที่เป็นความผิดและเรื่องเข้าสู่ศาลฏีกา แผนกคดีอาญาของนักการเมือง ซึ่งใช้วิธีพิจารณาของคดีอาญา การสอบสวนนั้นต้องตรวจสอบให้สิ้นความสงสัยก่อนที่จะพิพากษาความผิด ดังนั้นที่ผ่านมาอัยการจะไม่สั่งฟ้องบุคคลใดได้ง่ายๆ หรือศาลจะไม่ตัดสินหรือพิพากษาจำเลยได้โดยง่าย เพราะกระบวนการไต่สวนต้องสืบจนสิ้นความสงสัยก่อนที่จะพิพากษาได้
‘ปปช.-คตง.-ปชช.’ฟ้องโดยตรง
“ในศาลแผนกคดีวินัยฯนั้น ให้สิทธิคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ฟ้องคดีไปยังศาลดังกล่าวนั้นได้โดยตรง ขณะที่ประชาชนในฐานะวิญญูชนที่เห็นว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นในงบประมาณหรือทรัพย์สินแผ่นดินก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลวินัยฯได้โดยตรง ศาลดังกล่าวมีอำนาจไต่สวน หรือสั่งระงับการกระทำที่สร้างความเสียหายนั้นได้ รวมถึงพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ด้วย เพียงแค่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจะถือเป็นการอุดช่องว่างของการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับทุจริตที่ผ่านมาได้ เว้นแต่ผู้ดำเนินนโยบายนั้น สามารถพิสูจน์ตนเองว่า นโยบายที่ได้ดำเนินการนั้น ไม่ทราบมาก่อนว่า จะสร้างความเสียหาย”นายบวรศักดิ์ กล่าว
สปช.กำชับใช้กฎหมายเป็นธรรม
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช.คนที่1 เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสปช.เรื่อง “จะทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม”ทั้งนี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.อภิปรายว่า ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีปัญหา มีการวิ่งเต้นโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง ตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหานั้น รัฐต้องกวดขันให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการต้องเป็นธรรม หากเจ้าหน้าที่ทำผิดต้องถูกลงโทษ 2เท่า
แฉ’เงิน-อำนาจ’ตัวการครอบงำ
นายวันชัย สอนศิริ สปช.อภิปรายว่า ในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้สรุปถึงการบังคับใช้กฎหมายว่า ต้องมีความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และไม่ถูกครอบงำ ซึ่งมี 2เรื่องทำให้เกิดปัญหา คือ เงินและอำนาจ ทำให้การทำงานของข้าราชการไม่มีอิสระ มีการแทรกแซงครอบงำ ซึ่งหลักการของข้าราชการไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมือง จะทำงานเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรี โดยยึดหลักคุณธรรม แต่ความเป็นจริงเงินเข้าคุมทั้ง 2องค์กร จนทำให้ใช้กฎหมายไม่เคร่งครัดและไม่เป็นธรรม
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวางนานกว่า 2ชม.ก่อนมีมติเห็นชอบส่งความเห็นดังกล่าวให้ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและความเป็นธรรมและกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ด้วยคะแนน 221เสียง งดออกเสียง 5เสียง จากนั้นประธานสั่งปิดประชุมในเวลา 14.00น.
สนช.แขวนแก้ไขร่างกม.แพ่ง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พรบ.ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา โดยมีข้อสรุปให้แขวนการพิจารณาเพื่อให้รัฐบาลไปตกลงในรายละเอียดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาลยุติธรรมและสภาทนายความ หากตกลงกันเรียบร้อยคาดว่า วิปสนช.จะนำกลับมาพิจารณาใหม่ในสัปดาห์หน้า จากเดิมกำหนดเข้าสู้ที่ประชุมวันที่ 5กุมภาพันธ์ เนื่องจากที่ประชุมวิปสนช.ยังมีการถกเถียงข้อดีข้อเสียในหลักการและเหตุผล ที่ต่อไปคดีแพ่งจะพิจารณาจบใน 2ศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จากเดิมต้องพิจารณา 3ศาล จนถึงศาลฎีกา
ภาคปชช.ค้านรวมผู้ตรวจฯ-กสม.
ด้านเครือข่ายภาคประชาชน 30องค์กร อาทิ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือถึง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพื่อขอให้ทบทวนการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากเห็นว่า เจตนารมณ์ การก่อตั้งรวมถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบร้องเรียนแตกต่างกัน โดย นายบวรศักดิ์ ได้รับเรื่องไว้พิจารณาต่อไป
ผู้ตรวจฯเต็มใจพร้อมควบรวม
วันเดียวกัน ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำโดย นายศรีราชา วงศารยางกูรและพล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดินและนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมแถลงถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯมีมติควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและกสม.เป็นองค์กรใหม่ชื่อ“คณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน”
โดย นายศรีราชา กล่าวว่า หากควบรวม 2องค์กร อยากให้กมธ.ยกร่างฯสร้างความชัดเจนในการทำงาน เพื่อลดข้อครหาเรื่องทำงานซ้ำซ้อน ส่วนจำนวนขององค์อำนาจที่จะให้มี 11คนนั้น เห็นว่ามากเกินไปหรือไม่ เพราะอาจเกิดปัญหามากคนมากความ คิดว่ามีเพียง 5คนน่าจะเหมาะสม ส่วนกระบวนการสรรหาอยากให้คำนึงถึงการทำให้กรรมการเมื่อเข้ามาแล้วทำหน้าที่หลอมรวมกันได้ รวมทั้งเรื่องสถานะบุคลากรที่ปัจจุบันกสม.เป็นข้าราชการ แต่ผู้ตรวจการฯจะเป็นพนักงาน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้วต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
แนะกมธ.รอฟังความเห็นก่อน
“หากรวมกันในส่วนกรรมการของทั้ง 2องค์กรคงไม่มีปัญหา เพราะกสม.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระในวันที่ 25มิถุนายนนี้ ส่วนผมจะครบวาระในช่วงที่รัฐธรรมนูญอาจใกล้ใช้บังคับ แต่ที่เป็นห่วงคือ เรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นอยากให้กมธ.ยกร่างฯฟังเสียงประชาชนและเสียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยชั้นยกร่างกฎหมายประกอบควรให้ผู้แทนของ 2องค์กรเข้าร่วม ไม่ใช่ทำกันเหมือนนั่งเทียน เพราะโครงสร้างอาจจะละหลวมได้”นายศรีราชา กล่าว
ระวังการแบ่ง’อำนาจ-หน้าที่’
ด้าน พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า หากควบรวมเราไม่ติดใจ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขลดช่องว่างในข้อกฎหมาย เมื่อควบรวมแล้วต้องไปดูว่า การทำหน้าที่ในแต่ละเรื่องมีที่มาที่ไปอย่างไรและฝากให้กมธ.ยกร่างฯเขียนโครงสร้างอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้เกิดความยืดเยื้อ หรือยาวจนเกินไป เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมบ้านเมืองเกิดเปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้
“บิ๊กตู่”ทวงการบ้านแม่น้ำ5สาย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 5สาย ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี ในวันที่ 4กุมภาพันธ์ ว่า จะหารือความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานของแม่น้ำ 5สายและมาจัดระเบียบกำหนดตามโรดแมปที่วางไว้ เพราะหากไม่เป็นตามแผนก็เดินต่อไม่ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร อีกทั้งจะพูดถึงรายละเอียดของ กมธ.ยกร่างฯเพื่อหารือกันว่า มีความคืบหน้าอย่างไร เพราะหากถึงเวลาต้องเสนอมายัง ครม.และคสช.อาจติดปัญหากันหมด ซึ่งเมษายน กมธ.ยกร่างฯจะเสนอร่างฯแรกเข้ามาให้และเดือนสิงหาคมก็จะดำเนินการต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี