วันพุธ ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558, 18.59 น.
25 มี.ค. 58 เมื่อเวลา 15.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา และคณะร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติบรูไนฯ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและภริยา เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ณ พระราชวังอิสตานา นุรุล อิมาน ก่อนจะร่วมหารือข้อราชการ
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยดังนี้ การเยือนบรูไนฯอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสานต่อผลจากการที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชาธิบดีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ณ นครปูซานให้มีผลเป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะร่วมมือกับบรูไนฯ ทั้งในกรอบทวิภาคีและในระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่ทรงมีพระราชดำรัสเชิญเยือนบรูไนฯ และทรงมีพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีอาวุโสสูงสุด และมีพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการพัฒนาบรูไนฯ ตามวิสัยทัศน์ 2035 (Wawasan 2035) โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอพระราชทานพระราชานุญาตกราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามพระราชประสงค์ในโอกาสแรก
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณรัฐบาล บรูไน ฯ ที่เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยและให้การสนับสนุนประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด
นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความประทับใจนโยบายการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจตามวิสัยทัศน์ 2035 ของบรูไนฯ โดยต้องการพัฒนาภาคเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และกล่าวขอบคุณประชาชนบรูไน ฯ ที่นิยมบริโภคและนำเข้าข้าวไทย ซึ่งวันนี้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยและบรูไนฯจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร โดยเสนอให้หน่วยงานของทั้งสองฝ่ายหารือกันโดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการพัฒนาความร่วมมือด้านฮาลาล ซึ่งไทยชื่นชมความคิดริเริ่มของบรูไนฯในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายใต้สินค้า Brunei Halal และการจัดตั้งศูนย์ Bio Innovation Corridor (BIC) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
ทั้งนี้ไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าไปทำประมงในเขตทำการประมงสำหรับเรือประมงต่างชาติ (เขต 4 ในระยะ 45-200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง) ในรูปแบบ Joint Venture ตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดโดยรัฐบาลบรูไนฯ
ในโอกาสนี้ บรูไนแสดงความสนใจในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยไทยพร้อมที่จะเสนอข้อมูลและรายละเอียดในโอกาสแรก เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน
สำหรับความร่วมมือด้านอื่นๆ นั้น ไทยพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านการฝึกหลักสูตรด้านการทหารและความมั่นคงและการแลกเปลี่ยนนายทหารในหลักสูตรต่างๆ ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพบรูไนฯ ด้วย
ไทยและบรูไนฯเห็นพ้องให้มีการเจรจาความตกลงและร่างบันทึกความเข้าใจ ทั้งด้านแรงงาน การต่อต่นการค้ามนุษย์ และวัฒนธรรม ให้แล้วเสร็จในโอกาสแรก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณบรูไนที่สนับสนุนการทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีนของไทย และมีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-จีน ตลอดจนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอาเซียนในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามและนายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย – บรูไน ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา ในเวลา 20.15 น.
ในโอกาสนี้ รองศาสตรจารย์นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี ได้ พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มสตรีชั้นนำจากภาคส่วนต่างๆ ของบรูไน ฯ ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายและการพัฒนาสังตมตามวิสัยทัศน์ WAWASAN 2035 ของสมเด็จพระราขาธิบดี ฯ โดยเป็นแผนพัฒนาระยะยาวของบรูไน ฯ ที่มีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1 การมีประชากรที่มีการศึกษาและมีฝีมือระดับสูง 2 การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 3 เศรษฐกิจที่มีพลวัตรและความยั่งยืน
โดยนายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ จะเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติบรูไน บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม โดยเที่ยวบินพิเศษที่ RTAF 227 ถึงประเทศไทยในเวลา 10.25 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2558