24 ต.ค.61 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม.ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการอิสระ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งหน่วยงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
4. ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม การบริหารและการจัดการศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา การเร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาวิชาชีพครู โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา 54 และมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา
1.1 กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถานศึกษาของรัฐที่มีความเป็นอิสระต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานศึกษาของเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด
1.2 กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถโดยต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งจัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่
1.3 กำหนดให้สถานศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีแต่ละสถานศึกษามีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลกิจการและการประกันคุณภาพของสถานศึกษา
1.4 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพของการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปจัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพและดำเนินการด้านประกันคุณภาพของสถานศึกษาของตน รวมทั้งต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอก
1.5 กำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยให้จัดตั้งตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด
1.6 กำหนดให้สถานศึกษาในระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลักสูตรสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กับสถานศึกษาทุกแห่ง และหลักสูตรเพิ่มเติมของสถานศึกษาที่จัดทำขึ้นเอง โดยต้องมีความเหมาะสมกับศักยภาพและความถนัดของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน และสังคม
2. การปฏิรูปครู
2.1 กำหนดให้รัฐมีโครงการระยะยาวในการผลิตและพัฒนาครู มีวัตถุประสงค์ในการคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สนับสนุนทุนการศึกษา และคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครูเพื่อให้ผู้รับทุนเข้าศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของประเทศ
2.2 ให้ ศธ. จัดให้มีระบบและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาสมรรถนะและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดย ศธ. จะดำเนินการดังกล่าวเอง หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หรือจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินการดังกล่าว
2.3 กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสม รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะ และมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก หรือการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล
3. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
3.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านงบประมาณ การจัดอัตรากำลังคน และการพัฒนากฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการใน ศธ. ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.3 กำหนดให้การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติต้องพิจารณาถึงปัจจัยด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนานาประเทศ สถานการณ์และผลการสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยหากในกรณีที่สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติได้ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติย่อมสามารถแก้ไขเพิ่มเติมแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
2.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. โครงสร้างการบริหาร
1.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ประสานงาน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอื่นใดที่เกี่ยวข้องในระดับชาติถึงระดับชุมชน เสนอหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีและพัฒนาฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
1.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย รายได้ของสำนักงาน อาทิ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เป็นต้น ให้รายได้ที่สำนักงานได้รับจากการดำเนินงาน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ
2. กำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ (1) ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา (2) ช่วงแรกเกิด ถึงก่อนอายุสามปีบริบูรณ์ หรือช่วงวัยเด็กเล็ก (3) ช่วงอายุสามปีบริบูรณ์ ถึงก่อนอายุหกปีบริบูรณ์ หรือ ช่วงเด็กก่อนวัยเรียน หรือช่วงวัยอนุบาล (4) ช่วงอายุหกปีบริบูรณ์ ถึงก่อนอายุแปดปีบริบูรณ์ หรือ ช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัยประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงปีที่สอง
3. กำหนดวัตถุประสงค์ของการให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้ โดยให้อยู่รอดปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองจากการล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใด ให้มีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและปัญญาที่ดีสมวัย สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพและความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ มีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
4. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีสวัสดิการแก่หญิงมีครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
5. กำหนดหน้าที่ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีบริการและสวัสดิการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านสังคมอย่างมีคุณภาพแก่เด็กปฐมวัย หญิงมีครรภ์ และบุคคลในครอบครัวของเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เว้นแต่หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด จัดให้มีการพัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วงรอยต่อระหว่างระดับอนุบาลกับระดับประถมศึกษาอย่างต่อเนื่องและราบรื่น จัดให้มีการคัดกรองเพื่อค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา หรือเด็กปฐมวัยที่ไม่มีผู้ดูแลหรือเด็กด้อยโอกาสอย่างทันท่วงที รวมทั้งการให้ความรู้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแก่ครอบครัวเด็กปฐมวัย
6. กำหนดให้การรับเด็กปฐมวัยเพื่อเข้ารับการพัฒนาในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติโดยวิธีการสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
7. กำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานในปีที่สามของวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานโดยคณะกรรมการประเมินซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี
3.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. .... ของกระทรวงยุติธรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยาม “การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล และในชั้นการบังคับคดี
2. กำหนดให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยหน่วยงานของรัฐและไม่เป็นการต้องห้ามหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการไกล่เกลี่ยอยู่แล้วจะดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การไกล่เกลี่ยโดยอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 การไกล่เกลี่ยโดยสำนักงานอัยการสูงสุดตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นพนักงานอัยการ พ.ศ. 2555
3. กำหนดห้ามมิให้ผู้ไกล่เกลี่ยกระทำการหรือจัดให้กระทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำการโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท
4. กำหนดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถกระทำการไกล่เกลี่ยได้ ส่วนข้อพิพาททางแพ่งที่สามารถไกล่เกลี่ยได้มี 4 ประการ ดังนี้ (1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินซึ่งมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ (2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก (3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
5. กำหนดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา โดยแยกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ (1) ความผิดอันยอมความได้ (2) ความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (3) ความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนด ในพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ เมื่อคู่กรณีทำข้อตกลงระงับข้อพิพาททางอาญากันแล้ว ให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเฉพาะคู่กรณีซึ่งทำข้อตกลงดังกล่าว
6. กำหนดให้ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลแล้ว ให้หน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแจ้งให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี ทราบ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล อาจรอการสอบสวน การสั่งคดี การพิจารณาคดี หรือการพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี ไว้ก่อนจนกว่าจะรู้ผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
7. กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยกำหนดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งข้อพิพาทที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ดำเนินการได้ ประกอบด้วย (1) ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (2) ข้อพิพาททางแพ่งอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (3) ข้อพิพาททางอาญาตามมาตรา 34
8. กำหนดบทกำหนดโทษผู้ไกล่เกลี่ยผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิ้นปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งสำนักงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อไป
4. ให้สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทบาทของคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เพิ่มมากขึ้นให้เป็นองค์กรบริหารและผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดยุทธศาสตร์การกระจายหน้าที่และอำนาจฯ และนโยบายการกระจายหน้าที่และอำนาจฯ รวมถึงเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ อาทิ มาตรการแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบูรณาการภารกิจฯ การจัดสรรเงินงบประมาณที่จัดสรรเพิ่มขึ้นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดจนมีหน้าที่ประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด
2. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ยกระดับจากกองภายใต้ สปน.) โดยเป็นสำนักงานเลขานุการของ ก.ก.ถ. และรับผิดชอบในงานเลขานุการและกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. กำหนดหลักการการกระจายหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การถ่ายโอนภารกิจ การจัดสรรภาษีอากร และการถ่ายโอนและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดตั้งองค์การมหาชนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะหรือขยายบริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์ของประชาชน โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ก.ก.ถ. และให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
4. กำหนดหลักการในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เพื่อดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้
5. กำหนดกลไกและขั้นตอนการกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้มียุทธศาสตร์การกระจายหน้าที่และอำนาจ และการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6. กำหนดให้มีเป้าหมายการจัดบริการสาธารณะและการติดตามประเมินผลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่หน่วยงานของรัฐเคยให้บริการแก่ประชาชน และกำหนดให้มีการประเมินผลความพึงพอใจของประชาชนและให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
7. กำหนดให้มีการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และการพิจารณารายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากการจัดเก็บเองมากขึ้น
8. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร รวมทั้งการจัดสรรสัดส่วนภาษีและอากรที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ได้ต่อไป จนกว่ากฎหมายว่าด้วยรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ
5.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพื่อยกเลิกมาตรา 14 และมาตรา 41)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกมาตรา 14 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2537 เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการคืนเสรีภาพแก่ผู้ส่งสินค้าทางเรือ ในการเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้โดยความสมัครใจ
6.เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการทหาร พ.ศ. 2553 โดยกำหนดสาขาวิชาชีพเฉพาะ เพิ่มเติม จำนวน 6 สาขาวิชาชีพ คือ (1) สาขากายอุปกรณ์ (2) สาขาจิตวิทยาคลินิก
(3) สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก (4) สาขาสังคมสงเคราะห์ (5) สาขาเวชศาสตร์การสื่อความหมาย และ
(6) สาขากิจกรรมบำบัด
7.เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแบบหีบน้ำมันแยกโดยต้องใช้ปาล์มทะลายและปาล์มลูกร่วงที่เกิดจากการตัดปาล์มและขนส่งปาล์มเป็นวัตถุดิบเท่านั้น และต้องสกัดน้ำมันปาล์มให้มีคุณภาพ โดยใช้วัตถุดิบข้างต้น จำนวน 1,000 กิโลกรัม ต้องสกัดน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 18 กิโลกรัม และกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแบบหีบน้ำมันรวมโดยต้องใช้วัตถุดิบเป็นผลปาล์ม จำนวน 100 กิโลกรัม และต้องสกัดน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 30 กิโลกรัม เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มที่มีคุณภาพสูง
2. กำหนดข้อยกเว้นคุณภาพของน้ำมันปาล์มที่สกัด กรณีเกิดภัยธรรมชาติ และภัยธรรมชาติดังกล่าวทำให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มสกัดน้ำมันได้คุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 1.
3. กำหนดให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในท้องที่ที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มตั้งอยู่และประสบภัยธรรมชาติ ออกประกาศกำหนดคุณภาพของน้ำมันปาล์มที่สกัดได้ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ โดยต้องระบุระยะเวลาการใช้บังคับหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในประกาศด้วย
4. กำหนดให้โรงงานประกอบกิจการสกัดน้ำมันปาล์มแบบหีบน้ำมันแยก และหีบน้ำมันรวมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนวันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
8.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. ของกระทรวงกลาโหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …. ของกระทรวงกลาโหม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัย พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีป้องกันประเทศ บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ
9.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้เสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขบทนิยาม “ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ เพื่อให้กระชับและชัดเจนยิ่งขึ้น
2. กำหนดให้ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินและเพิ่มเติมให้ไม้ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นไม้หวงห้าม เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 กันยายน 2561 ส่วนไม้ในป่าชนิดใดจะกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดนั้น ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
3. ยกเลิกการกำหนดยกเว้นค่าภาคหลวงสำหรับการทำไม้ในที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินของตนได้
4. กำหนดเพิ่มกระบวนการในการรับรองไม้เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันแหล่งที่มาของไม้ โดยใช้วิธีการแจ้งเพื่อขอออกหนังสือรับรองไม้และกำหนดให้เป็นภาคสมัครใจ
5. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ไม้ 18 ชนิดที่ขึ้นในป่าให้ยังคงเป็นไม้หวงห้าม
เศรษฐกิจ-สังคม
10.เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (โครงการบ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 1)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้
1. อนุมัติการจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (โครงการบ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 1) จำนวน 1 โครงการ รวม 192 หน่วย วงเงินลงทุนรวม 417.139 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการในส่วนของการจัดหาและการค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศ ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.)
2. ให้ พม. รับความเห็นของ กค. (หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0818.2/7852 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2561) กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ (หนังสือสำนักงบประมาณ ที่ นร 0723/14509 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561) และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (หนังสือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด่วนมาก ที่ นร 1101/3629 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2561) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (โครงการเคหะกตัญญู คลองหลวง 1) มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
พื้นที่ดำเนินโครงการ : ที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 39.59 ไร่
จำนวนหน่วย : 192 หน่วย
รูปแบบโครงการ : บ้านแฝดชั้นเดียว ขนาด 38 ตารางวา จำนวน 36 หน่วย, บ้านแฝด 2 ชั้น ขนาด 39 ตารางวา จำนวน 68 หน่วย, บ้านแฝด 2 ชั้น ขนาด 42 ตารางวา จำนวน 48 หน่วย
ราคาขายเบื้องต้น : 2.330 – 3.210 ล้านบาท
วงเงินลงทุนรวม 417.139 ล้านบาท
ระยะเวลาดำเนินโครงการ : เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2561 และจะแล้วเสร็จในปี 2563
11.เรื่อง การเชื่อมโยงข้อมูลภาพใบหน้าบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางของกรมการปกครองด้วยระบบคอมพิวเตอร์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้
1. อนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางยินยอมให้สำนักงาน กกต. เชื่อมโยงข้อมูลในทะเบียนอื่น (ภาพใบหน้า) นอกจากทะเบียนตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน กกต. และเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งนี้ จะไม่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจหรือนอกเหนือภารกิจ/วัตถุประสงค์ที่ร้องขอ โดยให้สำนักงาน กกต. รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. ให้สำนักงาน กกต. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรการคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลภาพใบหน้าบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางของกรมการปกครอง รวมทั้งระบบการตรวจสอบหรือการป้องกันการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้นอกเหนือภารกิจหรือการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลให้ชัดเจนด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน กกต. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยินยอมให้สำนักงาน กกต. เชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนอื่น (ภาพใบหน้าจากบัตรประจำตัวประชาชน) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน กกต. เพื่อใช้ตรวจสอบและยืนยันความมีตัวตนของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือประกอบการพิจารณาสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยจะไม่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจหรือนอกเหนือภารกิจ/วัตถุประสงค์ที่ร้องขอ ซึ่งในปัจจุบันสำนักงาน กกต. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางในราชการระหว่างกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ข้อมูลที่ปรากฏภายในทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย หรือทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย แต่ไม่รวมถึงข้อมูลภาพใบหน้าบุคคล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบให้สำนักงาน กกต. เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ข้อมูลภาพใบหน้าบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางของกรมการปกครองแล้ว
12.เรื่อง ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. .... (กำหนดให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ราคาเริ่มต้น 16 บาท ราคาสูงสุด 42 บาท) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 มีนาคม 2559 แล้วรายงานผลการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย
ทั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 แล้ว โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยินดีที่จะคงอัตราค่าโดยสารเดิมในโครงการรถไฟฟ้า จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งในการคงอัตราค่าโดยสารตลอดระยะเวลาดังกล่าว เป็นการสนับสนุนในรูปแบบของ Promotion แก่ผู้โดยสาร โดยไม่ต้องให้รัฐบาลชดเชยแต่ประการใด และจะใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ซึ่งมีอัตราราคาเริ่มต้นที่ 16 บาท ราคาสูงสุด 42 บาท เท่ากับอัตราค่าโดยสารที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ยกเว้นสถานีที่ 5 สถานีที่ 8 และสถานีที่ 11 จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันสถานีละ 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป โดยจะต้องมีการประกาศต่อสาธารณะก่อนใช้บังคับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน (ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561) ซึ่งคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบกับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างข้อบังคับ
เป็นต้นไป
กำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. 2559
ลำโพง ผ่านสถานีรถไฟฟ้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จนถึงสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ
รถไฟฟ้าบางซื่อ ถึงสถานีรถไฟฟ้าท่าพระ และช่วงที่สองเริ่มตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ถึงสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
อัตราค่าโดยสาร (บาท) |
|
|
|
|
1 บาท) |
|
|
1 บาท) |
|
|
1 บาท) |
|
เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า หรือเพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
13.เรื่อง ขออนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และทบทวนการชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา อัตราเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด ครอบคลุมเกษตรกรผู้เอาประกันภัยประมาณ 150,000 ราย รวมวงเงินไม่เกิน 130 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ ดังนี้
1.1 ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามขั้นตอนต่อไป
1.2 เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้ขอเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปีการผลิต 2561/62
2. ทบทวนการชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในประเด็นดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากร้อยละ 3.01 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน เป็นอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี เกษตรกรผู้กู้รับภาระร้อยละ 0.01 ต่อปี รัฐบาลชดเชยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน วงเงินงบประมาณ 79.8 ล้านบาท ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 อนุมัติให้แล้ว จำนวน 60 ล้านบาท โดยอนุมัติจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 19.8 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กับ ธ.ก.ส.
3. มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาระดับอำเภอ ทำหน้าที่ตรวจสอบเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และให้คณะกรรมการดังกล่าวดำเนินการรับรองความเสียหายของเกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในเขตการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและจัดส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยให้แก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมีรายละเอียดโครงการสรุปได้ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
1. วัตถุประสงค์ |
เพื่อใช้ระบบประกันภัยในการดูแลความเสี่ยงภัยธรรมชาติ รูปแบบเดียวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี และคุ้มครองต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา |
2. พื้นที่เป้าหมาย |
2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด (ภาคเหนือ จำนวน 15 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 15 จังหวัด ภาคกลาง จำนวน 2 จังหวัด และภาคตะวันออก จำนวน 1 จังหวัด) ครอบคลุมเกษตรกรผู้เอาประกันภัยประมาณ 150,000 ราย
|
3. เงื่อนไขการรับประกันภัย |
3.1 ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคลที่ระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และ/หรือในใบรับรองการประกันภัยนี้ ทั้งนี้ จะต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเท่านั้น และที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร 3.2 รูปแบบการเอาประกันภัย คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย 3.3 อัตราเบี้ยประกันภัย จำนวน 65 บาท/ไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) |
4. วงเงินคุ้มครอง |
4.1 หมวดความคุ้มครองที่ 1 ได้รับวงเงินคุ้มครอง จำนวน 1,500 บาท/ไร่ จากความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ หรือภัยจากช้างป่า ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ในระยะเวลาเอาประกันภัย 4.2 หมวดความคุ้มครองที่ 2 ได้รับวงเงินคุ้มครอง จำนวน 750 บาท/ไร่ จากความเสียหายจากศัตรูพืชหรือโรคพืชระบาด ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในระยะเวลาเอาประกันภัย |
5. การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล |
รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกราย ในพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ งบประมาณรวม 130 ล้านบาท |
6. ระยะเวลาเอาประกันภัย |
ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ถึงวันสุดท้ายที่ต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561/62 ยังคงยืนต้นอยู่ใน แปลงเพาะปลูกก่อนการเก็บเกี่ยว (วันเพาะปลูกไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2562) |
7. การจ่ายค่าสินไหมทดแทน |
ผู้รับประกันภัยจะพิจารณาจ่ายสินไหมทดแทนจากแบบรายงานข้อมูล ความเสียหายจริงเพื่อรับค่าสินไหมทดแทน (กษ 02 เพื่อการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) กับทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร |
ต่างประเทศ
14.เรื่อง การประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ. 2018 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ. 2018 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) รวมถึงร่างข้อสงวนต่อกรรมสารสุดท้ายซึ่งได้แก้ไขตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ให้ความเห็น และมอบหมายให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะพิจารณาใช้ดุลยพินิจ ตามสถานการณ์ตามความเหมาะสมในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป (จะมีการประชุม ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 16 พฤศจิกายน 2561)
2. มอบอำนาจให้แก่หัวหน้าคณะและรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการอภิปราย ลงมติ และลงนามในกรรมสารสุดท้ายของการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มปี ค.ศ. 2018 ของ ITU
3. มอบหมายให้ กต. ออกหนังสือแต่งตั้งผู้แทน (Credentials) โดยมอบอำนาจตามข้อ 2 ให้แก่หัวหน้าคณะและรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
สาระสำคัญของเรื่อง ดศ. แจ้งว่า สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้เชิญประเทศสมาชิกพิจารณาแต่งตั้งคณะผู้แทนเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ. 2018 (Plenipotentiary Conference 2018 : PP-18) ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 16 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นทุก 4 ปี มีคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิก 193 ประเทศเข้าร่วม โดยการเข้าร่วมการประชุม PP-18 นี้ จะเป็นโอกาสในการแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ITU ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 เป็นที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ ITU ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ต่อเนื่องถึง 9 สมัย อีกทั้งที่ผ่านมาได้แสดงบทบาทในเวทีการประชุมต่างๆ และได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมระดับนานาชาติของ ITU หลายครั้ง
ทั้งนี้ ในการประชุม PP- 18 จะมีการเลือกตั้งตำแหน่งผู้บริหารของ ITU สำหรับวาระปี ค.ศ. 2018 – 2022 ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ ITU ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ 4 ปี โดยประเทศไทยก็ได้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารในส่วนของภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย (ภูมิภาค อี) และได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 รวม 9 สมัย สำหรับในครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งดังกล่าวอีก 1 สมัย โดยให้ กต. ดำเนินการขอคะแนนเสียง/แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีก 1 สมัย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของ ITU รวมทั้งการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนา และวางแผนด้านโทรคมนาคมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านโทรคมนาคมของภูมิภาคด้วยบทบาทที่แข็งขันของประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศต่อไป
15.เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐรวันดา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐรวันดา ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ ดศ. ดำเนินการได้โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมายให้เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว
[โดยจะมีการลงนามในการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มปี ค.ศ. 2018 (Plenipotentiary Conference 2018 : PP - 18) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2561]
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการพัฒนาด้านโทรคมนาคมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และเทคโนโลยีดิจิทัลของสองประเทศ เช่น พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม ICT และเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบรนด์และพัฒนาการบริการ ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลและระบบนิเวศดิจิทัล เป็นต้น
ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการขยายความร่วมมือด้านการลงทุน พัฒนาด้านเทคนิค ขยายตลาด และพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปในอนาคต
16.เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 13
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 13
2. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเดินทางเข้าร่วมประชุมฯ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างท่าทีไทยฯ เพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำสมัยที่ 13 ระหว่างวันที่ 21-29 ตุลาคม 2561 ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีสาระสำคัญ เช่น (1) ฝ่ายไทยจะสนับสนุนและ ให้ความร่วมมือในการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดร่วมกับประชาคมโลก (2) ฝ่ายไทยขอให้ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำขับเคลื่อนการดำเนินงานการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำไปสู่การปฏิบัติ โดยอาศัยกลไกความริเริ่มระดับภูมิภาคที่มีอยู่ และ (3) ฝ่ายไทยเห็นควรสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือ Rapid assessment of wetland ecosystem service (RAWES) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินการให้บริการทางนิเวศของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำโดยความสมัครใจ เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบร่างท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 13 ดังกล่าวแล้ว
2. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 13 ประกอบด้วย
1) หน่วยงานภายใน ทส. จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช (2) กรมป่าไม้ (3) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (4) กรมทรัพยากรน้ำ และ (5) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
2) หน่วยงานภายนอก ทส. จำนวน 1 หน่วยงาน คือ กรมองค์การระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยข้างต้นแล้ว และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเดินทางเข้าร่วมประชุมดังกล่าว
17.เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ พม.ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อหลัก “การคุ้มครองทางสังคมเพื่อสตรีและเด็กหญิง เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน 2025” สรุปได้ดังนี้
1. ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีและเด็กหญิงในภูมิภาคอาเซียน ตามที่ระบุในวิสัยทัศน์อาเซียน 2025, แผนงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 2025, ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025, ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและขจัดความรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคอาเซียน 2013 และปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย 2017
2. ยกย่อง กระบวนการในการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ ของแผนปฏิบัติการภูมิภาคว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (RPA EVAW) และแผนปฏิบัติการภูมิภาคว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก และความพยายามต่อเนื่องในการบูรณาการประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศเข้าสู่เสาหลักทั้งสามเสาของอาเซียน
3. ตระหนักถึงการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีและเด็กหญิง มาตรการในการคุ้มครองทางสังคม มีความสำคัญ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้สตรีและเด็กหญิงมีสิทธิเสรีภาพ ตระหนักถึงศักยภาพของตน เลือกเส้นทางชีวิต และสามารถยืนหยัดและยืดหยุ่นท่ามกลางความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
4. ยอมรับ การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศทั้งหลักการ กระบวนการและการปฏิบัติด้วยการข้ามภาคส่วน ซึ่งต้องมีความพยายามร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การคุ้มครองทางสังคม การศึกษา การขจัดความยากจน การเสริมพลังทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5. สนับสนุน รัฐสมาชิก เพื่อร่วมมือกันเพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าและประโยชน์ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการบูรณาการมิติหญิงชายในสามเสาหลักของอาเซียน ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และประชาชนมีส่วนร่วมในอาเซียน
6. ส่งเสริม การนำประเด็นหญิงชายเข้าไปในทุกภาคส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมและความต้องการของสตรีและเด็กหญิงในการออกแบบและดำเนินการด้านนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของสตรีและเด็กหญิง
7. กระตุ้น รัฐสมาชิก และสามเสาหลักให้ผนึกกำลังและสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐสมาชิกและหุ้นส่วนภายนอกเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิงทุกรูปแบบ
8. สนับสนุนอย่างแข็งขัน ต่อการมีส่วนร่วมของผู้ชายและเด็กชายในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในพฤติกรรมและบรรทัดฐานทางเพศ ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นของการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อความเสมอภาค
9. ให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ACW 2016 – 2020 และรับประกันว่าการมีส่วนร่วมและความหลากหลายของสตรีและเด็กหญิงของอาเซียนได้รับการบรรจุในแผนปฏิบัติการ ACW 2021 – 2025 ฉบับต่อไป
10. สร้างความเข้มแข็งให้กับพันธสัญญา เพื่อย้ำถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศการบูรณาการความเสมอภาคระหว่างเพศในความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม และตระหนักถึงวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Ministerial Meeting on Women) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามระหว่างวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2561 จะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรี ครั้งที่ 3 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2561
18.เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาแห่งอัสตานาในการประชุมระดับโลกด้านการสาธารณสุขมูลฐานสำหรับการประชุม Second International Conference on Primary Health Care Towards Universal Health Coverage and the Sustainable Development Goals
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาแห่งอัสตานาของการประชุมระดับโลกด้านการสาธารณสุขมูลฐาน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ฉบับดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ สธ. สามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ ฉบับดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาแห่งอัสตานาในการประชุมระดับโลกด้านการสาธารณสุขมูลฐานฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในพันธสัญญาปฏิญญาอัลมา อตา (Alma-Ata) ซึ่งได้มีการจัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 และเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2573 โดยสรุป ดังนี้
1. ภาครัฐและภาคสังคม จะต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริม และคุ้มครองสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนให้ดีขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคลตลอดจนระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง
2. การสาธารณสุขมูลฐานและการบริการด้านสุขภาพ จะต้องมีคุณภาพสูง มีความปลอดภัย มีความครอบคลุม มีการบูรณาการ สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย และราคาเหมาะสมสำหรับประชาชนทุกคน พร้อมด้วยการบริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีทักษะความชำนาญ มีความกระตือรือร้น
3. ชาวบ้านและชุมชนจะต้องมีพลังและร่วมกันในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีและเป็นผู้นำด้านสุขภาพรอบด้าน
4. ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะต้องประกาศตนในการเข้าร่วมส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพทั้งต่อนโยบายสุขภาพระดับชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ ได้แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขมูลฐาน การจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ราคาเหมาะสม และให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของคน การสร้างความยั่งยืนด้านสาธารณสุขมูลฐานแก่ประชาชน การเสริมสร้างพลังอำนาจของชาวบ้านและชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมของนโยบายด้านสุขภาพของภาครัฐ ตลอดจนการผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนับสนุนนโยบายของชาติในการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน โดยภายหลังจากที่ปฏิญญาฉบับนี้ไดรับการรับรองร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงในทันทีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของทุกคน
โดยที่ร่างปฏิญญาแห่งอัสตานาในการประชุมระดับโลกด้านการสาธารณสุขมูลฐานจะมีการรับรองในการประชุม Second International Conference on Primary Health Care Towards Universal Health Coverage and the Sustainable Development Goals ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2561 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน
19.เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 15 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างถ้อยแถลงร่วมฯ นี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน. และคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 เป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การดำเนินงานและความสำเร็จของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการบรรลุเป้าหมายตามแผน APAEC พ.ศ. 2559 – 2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2563 ซึ่งให้ความสำคัญในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานในอาเซียน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงาน รวมถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้ครอบคลุมกว้างขวางในภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวม นอกจากนั้นยังส่งเสริมการพัฒนาแนวทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและนโยบายที่แข็งแกร่งเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงานในอนาคตของภูมิภาค การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด รวมถึงโครงการซื้อขายไฟฟ้าระดับพหุภาคีภายใต้โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง ลาว ไทย และมาเลเซีย และผลักดันโครงการบูรณาการฯ ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าฟ้าเพิ่มขึ้น และได้มีการแสดงความยินดีกับการลงนาม บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียน และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (Memorandum of Understanding (MOU) between the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the International Renewable Energy Agency (IRENA)
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 ครั้งที่ 15 เป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การให้ความสำคัญของความร่วมมือด้านพลังงานและการบูรณาการตลาดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและการพัฒนานโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน รวมถึงการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้าใจสาธารณะในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 เป็นถ้อยแถลงร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การให้ความสำคัญของการดำเนินความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งสามารถเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจความมั่นคงด้านพลังงานและระบบนิเวศที่ยั่งยืนของภูมิภาค การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นสำหรับภาคขนส่งและภาคอื่น ๆ การส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง อาทิ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) การใช้เทคโนโลยีการปล่อยมลพิษต่ำ อาทิ การใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสำหรับภาคคมนาคม และการเน้นย้ำบทบาทสำคัญของก๊าซธรรมชาติในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
แต่งตั้ง
20.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) กลุ่มงานพัฒนางานส่งเสริมป้องกัน สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) กลุ่มงานการแพทย์ กลุ่มบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
21.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
22.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. นางกิ่งกาญจน์ บุญประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ
23.เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้ นายสนิท อักษรแก้ว พ้นจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว แทน นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการเดิมที่ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
24.เรื่อง แต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง นายสมพงษ์ ปรีเปรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ผู้ว่าการ กฟภ.) และการกำหนดอัตราค่าตอบแทนตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ (ตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561) สำหรับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่น รวมทั้งเงื่อนไขการจ้าง และการประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ลาออกจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย
25.เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้ นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561
26.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมวิชาการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมประมง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายปราโมทย์ ยาใจ รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมพัฒนาที่ดิน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
27.เรื่อง การแต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แทนรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นที่ขอลาออก ดังนี้
1. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธานกรรมการ แทนนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ที่ขอลาออก
2. นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการอื่น แทนนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ที่ขอลาออก
3. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นกรรมการอื่น แทนนายสุรจิตต์ อินทรชิต ที่ขอลาออก
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี