2 ธ.ค.61 สภาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) จัดงานเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมให้ความเห็นว่าจะปฏิรูปการศึกษาของไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศร่วมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างไร
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาไทยที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ต่างไปจากเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่ประเทศไทยได้ออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ขณะนั้นมีปัญหาเด็กเครียด เรียนแล้วไม่มีความสุข จึงเกิดแนวคิดอยากให้เด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนบ้างเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทฤษฎีบวกปฏิบัติ แต่ปัจจุบันทุกอย่างยังคงเดิม
ซึ่งสาเหตุอย่างหนึ่งมาจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอายุการทำงานสั้นมาก เช่น 20 ปีที่ผ่านมามีรัฐมนตรีถึง 21 คน ไม่สามารถวางนโยบายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้าราชการประจำก็ต้องรอดูท่าทีของผู้มาเป็นรัฐมนตรีแต่ละท่านว่าจะทำอะไรอย่างไร ทั้งที่การศึกษาโดยเฉพาะปฐมวัยก็เหมือนการวางอิฐก้อนแรก ถ้าโครงสร้างดีการจะต่อเติมอะไรก็ไม่น่าห่วง
“สิ่งที่จะเสนอคือเราทำให้กระทรวงศึกษาธิการปลอดการเมืองได้หรือไม่ ไม่ว่าการเมืองการจะเปลี่ยนอย่างไรจะไม่กระทบต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นั่นหมายความว่าเราจะมีรัฐมนตรีศึกษาธิการที่เป็นคนกลางได้หรือไม่ ซึ่งรูปแบบการสรรหาต้องมาว่ากันอีกทีแต่ขอให้เป็นกระทรวงปลอดการเมือง ถ้าทุกคนเห็นความสำคัญตรงนี้ ยกกระทรวงศึกษาธิการออกมาจากเค้กที่จะแบ่งกัน เราก็จะได้นโยบายที่ต่อเนื่อง” น.ส.กัญจนา กล่าว
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากที่เคยสอบถามนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการซึ่งอยู่ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับทราบเช่นกันว่าเรื่องของเวลาการทำงานเป็นปัญหามาก อย่างไรก็ตามตนมองว่าการพัฒนาการศึกษาไทยควรเกิดจากผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากระดับพื้นที่เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งตนและทีมงานพรรคเคยทำการทดลอง ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พิษณุโลก แล้วพบว่าได้ผลดี
“เรามาคิดกันว่าสอนอย่างไรให้เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ แน่นอนไม่ได้สอนแบบที่เรียนกันในปัจจุบัน ต้องยอมรับครูภาษาอังกฤษในไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ก็ได้ข้อสรุปคือเด็กต้องได้เรียนที่จะสื่อสารพุดคุยไม่ใช่แค่สอบได้ ซึ่งถ้าจะได้ตามนั้นครูต้องพูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนั้นต้องเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ มีเวลาเพียงพอและอาจต้องเปลี่ยนวิธีการสอบ เราลองเอาครูฟิลิปปินส์มาสอน ให้เด็กอนุบาล 1 เรียนภาคบ่ายเป็นภาษาอังกฤษ เวลาผ่านไปเด็กรุ่นแรกตอนนี้อยู่ชั้น ป.3 และเด็กทั้งโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ค่อนช้างดี” นายกรณ์ ระบุ
เช่นเดียวกับ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตัวแทนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ยกตัวอย่างโรงเรียนในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีการทดลองนำฝรั่งเข้าไปสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ก็พบว่าเด็กในโรงเรียนใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ฉะนั้นต้องกระจายอำนาจด้านการจัดการศึกษา เพราะที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจมากเกินไป นอกจากนี้อยากเชิญทุกพรรคทำอย่างเดียวกันคือเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไม่ควรเป็นโควตาทางการเมือง
“การมาแบ่งว่าคนของพรรคเราทำอะไรมากน้อยแค่ไหนแล้วควรได้อะไรไปตอบแทนในการที่ไปช่วยงานพรรค โดยที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องศึกษาธิการเลย อย่างนี้ไม่เอาแล้ว ต่อไปนี้เรื่องศึกษาธิการเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะต้องคิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้กระทรวงนี้อยู่ใต้อิทธิพลของการเมืองจนเกินไป ลองคิดแบบธนาคารแห่งประเทศไทยดูไหม ไม่ต้องเป็นกระทรวงยังได้เลย เป็นอิสระแต่อยู่ใต้กำกับของรัฐบาล ภายใต้นโยบายรัฐบาลพอสมควร ถ้าเป็นกระทรวงแบบทุกวันนี้มันก็ออกมาได้ไม่ดีกว่านี้เท่าไร” นายเอนก กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจทางการศึกษาเช่นกัน โดยยกยกตัวอย่างที่บ้านสามขา จ.ลำปาง ซึ่งอาชีพหลักของประชาชนคือการทำนาและเก็บเห็ดป่า ที่นั่นครูและผู้ปกครองเด็กๆ ในชุมชน หารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ มีอาชีพที่มั่นคงในชุมชนโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปหางานทำในเมืองแล้วทิ้งคนชราให้อยู่กับบ้านอย่างที่ผ่านมา
“เด็กมีการวิจัยว่าเห็ดป่าจะทำอย่างไรให้รายได้เพียงพอกับแต่ละครอบครัว ไม่ใช่ครอบครัวนั้นได้มากครอบครัวนี้ได้น้อย แล้วทำอย่างไรจะเก็บได้นาน เด็กใช้มือถือสมาร์ทโฟนเก็บความชิ้นและอุณหภูมิ เอาค่าดินมาตรวจ เอากระทรวงต่างๆ มาช่วย อย่างนี้มันคือสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องตัดเสื้อโหล หลักสูตรไม่จำเป็นต้องให้เด็กทุกคนทุกโรงเรียนทุกพื้นที่ต้องเรียนเหมือนกัน” ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็น
ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มองว่าการศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เกี่ยวข้องกันหลายกระทรวง เช่น กระทรวงแรงงาน จากกระแสความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี (Disruption) แรงงานจำนวนมากมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ คำถามคือแล้วเราจะทำให้แรงงานในปัจจุบันพัฒนาตนเองให้มีทักษะของโลกยุคใหม่ (Re – Skill) ได้อย่างไร
“ถ้าจะยกระดับคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ ผมมีอยู่ 4 คำ 1.ความต่อเนื่อง (Continuty) นี่เป็นกับดักที่เราเป็นอยู่ที่เราขับเคลื่อนการศึกษาไปไม่ได้ 2.ความมุ่งมั่น (Commitment) ซึ่งเราไม่เคยมี 3.ความร่วมมือ (Collaboration) การศึกษาไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการ และ 4.ความเชื่อมโยง (Coherence) เชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว” นายสุวิทย์ กล่าว
อีกด้านหนึ่ง นายพะโยม ชิณวงศ์ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าเมื่อพูดถึงการศึกษามักจะเน้นกันแต่การศึกษาในระบบตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ดังนั้นตนอยากจะให้นึกถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย เช่น ผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ รวมถึงเกษตรกร ซึ่งจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงโอกาส
“ขณะนี้เรามีนวัตกรรมเกิดขึ้นในโรงเรียนในชุมชนในสังคมมากมาย แต่จะทำอย่างไรที่จะเอานวัตกรรมเหล่านั้นมาสร้างความต่อเนื่อง เอามาแชร์กัน ผมเสนอว่าเราน่าจะมีสถาบันหรือศูนย์อะไรสักอย่างที่เกิดการแบ่งปัน เรื่องนี้ทางพรรคให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย” ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย กล่าว
ส่วน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ ให้ความเห็นว่า แม้จะมีการใส่เนื้อหาสมัยใหม่ ใส่เรื่องเทคโนโลยีเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจไม่ดีขึ้นกว่าเดิมตราบใดที่ไม่มีการแก้ไขวัฒนธรรมการเรียนการสอน โดยในห้องเรียนจะต้องไม่มีคนคนเดียวที่ผูกขาดความรู้อีกต่อไป ซึ่งจริงๆ หลายห้องเรียนหรือหลายโรงเรียนในไทยก็มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดเครือข่าย นำครูหรือโรงเรียนต้นแบบเหล่านั้นไปขยายผล
ซึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิ้ล (Google) เคยศึกษาระบบการทำงานเป็นทีมของพนักงานในบริษัทรวม 180 ทีม พบว่าในบรรดาทีมที่มีผลงานดีจะมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือความปลอดภัยในทางความรู้สึกและความคิด ดังนั้นหากเราอยากได้เด็กที่คิดวิเคราะห์ได้ เด็กที่แก้ปัญหาเป็น เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ หากไม่มีพื้นที่ปลอดภัยย่อมไม่อาจทำให้สิ่งที่คาดหวังนี้เกิดขึ้นได้จริง
“เคยเจอบุรพกิจที่เขียนมาตั้งแต่ปี 2444 เขาเขียนว่าหน้าที่ของนักเรียนคือการเชื่อฟังครูดุจดั่งทหารผู้น้อยเชื่อฟังทหารผู้ใหญ่ นี่คือปี 2444 ดังนั้นวัฒนธรรมแบบนี้ต้องเปลี่ยนแปลง จะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน ห้องเรียนสำคัญมาก เราต้องมองก่อนว่าห้องเรียนหรือภาพจำลองของสังคมนี้ คุณอยากเห็นสังคมแบบไหนคุณก็สร้างห้องเรียนแบบนั้น” น.ส.กุลธิดา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี