“สมชัย”เดินหน้าแฉปมระดมทุน“พปชร.”ต่อ เผยมี 4 กรณีเข้าข่ายใช้ตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรให้ซื้อโต๊ะจีน บี้ กกต. ทำงานเชิงรุก ขู่หากเพิกเฉย เจอ ม.157
23 ธ.ค.61 ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีการจัดงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากมีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานร่วมซื้อโต๊ะจีนภายในงาน ว่า ในมาตรา 73 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การจัดงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ มีข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้อง 4 รายการ ดังนี้
กรณีแรก เป็นโต๊ะจีนในนาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ มีจำนวน 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท ต้องตรวจสอบว่าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเรี่ยไรหรือไม่ หรือหากตัวรัฐมนตรีเป็นผู้บริจาคเอง ตามกฎหมายระบุว่าจะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้น อีก 2 ล้านบาทเป็นเงินที่ได้มาจากไหน ต้องมีการตรวจสอบ
กรณีที่สอง เป็นโต๊ะจีนของนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค จำนวน 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท กรณีนี้ตรวจสอบไม่ยาก เพราะหากนายอุตตมเป็นผู้บริจาคเองก็จบ แต่หากเงิน 3 ล้านบาทไปเรี่ยไรจากคนอื่นก็จะผิดในฐานะใช้ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ไปเรี่ยไรเงิน
“ส่วนกรณีนายณพพงศ์ ธีระวร หรือ ดร.เอก ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และ รมว.อุตสาหกรรม มีความลึกลับซับซ้อน เพราะมีการบริจาคจำนวนเงินที่สูงมากที่สุด มีการระบุว่าจองโต๊ะถึง 24 โต๊ะ 72 ล้านบาท หาก ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาของ 2 รัฐมนตรีจริง และจ่ายเงินของตนเองจริง จะได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นภาระที่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากการเรี่ยไรหรือไม่ แต่ในทางนิตินัยกลับพบว่า ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาจากการแต่งตั้งพิเศษของรัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถือเป็นที่รับรู้ของสังคมเพราะมีการให้เครดิตตัวเองบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเป็นที่ปรึกษา ทั้งที่ความจริง ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง ซึ่งมาตรา 73 ไม่ครอบคลุมถึง จึงไม่เข้าข่ายข้าราชการการเมือง เอาผิดไม่ได้” นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตนอยากชี้ให้สังคมเห็นว่า มีการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่หาเงินเข้าพรรค ดังนั้นคนที่เป็นรัฐมนตรีคนที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ดร.เอก ต้องรู้จักละอาย และรับผิดชอบในเรื่องนี้ และกรรมการบริหารพรรคในฐานะที่เป็นองค์รวมของกิจกรรมนี้ ต้องไปตรวจสอบว่ามีใครชักชวน ให้มาร่วมบริจาคหรือไม่
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนรายการที่ 4 คือ กรรมการบริหารพรรค 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท ซึ่งมี 7 คน ใน 26 คน ที่เป็นข้าราชการการเมือง จึงต้องไปตรวจสอบว่าทั้ง 7 คนนี้ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปชักชวนเรี่ยไรหรือไม่ ตนถือว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งต้องดูตามกฎหมายว่าจะพาดพิงถึงกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ซึ่งในมาตราที่ 27 กำหนดโทษไว้ชัดว่า ใครทำผิดมาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
นายสมชัย ระบุว่า เรื่องนี้จึงต้องเดินหน้าต่อ และทั้ง 10 คน ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความผิด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และท้าทาย กกต. ว่าจะจัดการอย่างไร เพราะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง แม้จะมีผู้บริหารของ กกต.บางคน พูดว่าระหว่างที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะทำอะไรก็ได้นั้น ขอให้กลับไปดูกฎหมายใหม่ เพราะในกฎหมาย กกต.มาตรา22 วรรครองสุดท้าย ระบุไว้ชัดเจนว่า ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะดำเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดที่อาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม มาตรานี้เป็นไม้เด็ดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจ กกต.ไว้
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีการจัดระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่เข้าข่ายถูกยุบพรรค เพราะกฎหมายมุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่ถ้าตัวบุคคลมีความผิดก็ถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี พร้อมขอให้ กกต.อย่าทำงานเชิงรับ แต่ต้องติดต่อกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอดูรายชื่อแขกที่ร่วมงานทั้งหมด แผนผังจากออแกไนซ์ และต้องขอดูกล้องวงจรปิดภายในงานว่ามีใครบ้าง และข้อมูลจากสื่อที่ลงข่าว ว่าได้แผนผังมาอย่างไร
“จะให้เวลา กกต.ในการรวบรวมข้อมูล 1 สัปดาห์ ถ้ายังไม่คิดทำอะไร อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา 157 เพราะสังคมอยากเห็นการทำงานเชิงรุกของ กกต. เพื่อให้เห็นว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่นอนรอว่าเมื่อไรจะครบ 60 วัน ที่พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดมาให้ เพราะประเด็นนี้เป็นที่สงสัยของสังคม มีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการการเมืองไปทำให้เกิดประโยชน์และความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง กกต.จะนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่เช่นนั้น กกต. จะเสื่อมศรัทธาไปมากกว่านี้” นายสมชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี