เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง “หัวคะแนน” หรือภาษาทางการคือ “ผู้ช่วยหาเสียง” จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โดยเฉพาะ สส. แบบแบ่งเขต พบปะประชาชนเพื่อรณรงค์ให้ออกไปเลือกผู้สมัครนั้น “หัวคะแนนมักมีพื้นเพมาจากการเป็นผู้นำชุมชนหรือผู้กว้างขวางที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นรู้จักคุ้นเคยกันดี” ซึ่งมีทั้งผู้ที่มาช่วยหาเสียงเพราะรู้สึกนับถือตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นญาติสนิทมิตรสหาย ไปจนถึงเป็นทีมงานที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจ้างมาช่วยงานช่วงหาเสียง
บทความ “หัวคะแนน (Election Canvasser; Election Campaigner)” ซึ่งเขียนโดย ถวิลวดี บุรีกุล เผยแพร่ในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ยกตัวอย่างการทำงานของหัวคะแนนด้วยวิธีที่ถูกกฎหมาย อาทิ แจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ พูดเชิญชวนในงานกิจกรรมต่างๆ หรือเข้าพบปะประชาชนตามบ้านหรืองานประเพณี หัวคะแนนอาจทำงานเป็นเครือข่ายและมีการวางแผนดำเนินการต่อเนื่องไปในลำดับถัดๆ ไปให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป้าหมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับคะแนนเพียงพอที่จะทำให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนได้รับเลือกตั้งแน่นอน
ขณะที่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ซึ่งจะใช้ในการเลือกตั้ง สส. วันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 2562 กำหนดกรอบการทำหน้าที่ของหัวคะแนนหรือผู้ช่วยหาเสียงไว้ดังนี้ ข้อ 14 ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง
รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดรวบรวมเอกสารที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งมานั้นรายงานต่อคณะกรรมการทราบด้วย ทั้งนี้หากพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่น ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นเอกสารต่อเลขาธิการ กกต.
การหาเสียงเลือกตั้งของผู้ช่วยหาเสียง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจัดหา เสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง และให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในกรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทน ผู้ช่วยหาเสียง จะดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้มิได้
กรณีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองดำเนินการแจ้ง ไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนั้น, ข้อ 15 ให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผู้ช่วยหาเสียงในเขตเลือกตั้งจำนวนไม่เกิน 20 คนต่อเขตเลือกตั้งให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง,
ข้อ 16 ในกรณีบุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามหมวดนี้ เข้าช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งเหตุการณ์นั้น ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่แจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดแจ้งให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองดำเนินการชี้แจงภายในระยะเวลาห้าวันนับแต่วันที่มีการแจ้ง
นอกจากนี้ยังมี “ข้อ 18 (1) ผู้ช่วยหาเสียงที่มีเป็นเจ้าของกิจการ หรือมีอาชีพเป็นสื่อมวลชน ศิลปิน ดารา ฯลฯ ห้ามใช้ความสามารถของตนไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเด็ดขาด” ยกเว้นแต่ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเองที่เดิมมีอาชีพข้างต้นมาก่อน สามารถใช้ทักษะที่มีติดตัวอยู่นั้นหาเสียงให้กับตนเองได้ แต่การหาเสียงนั้นก็ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี