22 เม.ย. 62 ย้อนอดีตสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น
สำหรับโครงการถนน และทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือที่เรียกว่า “โฮปเวลล์” เกิดขึ้นเมื่อปี 2533
ในอดีตการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ตามสัญญาผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง และผลการประมูลครั้งนั้น บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของฮ่องกง เป็นผู้ชนะการประมูล
การได้บริษัท โฮปเวลล์ มาเป็นผู้ก่อสร้างนี้เหมือนจะเป็นผลดี เมื่อผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด โดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2534 – 5 ธันวาคม 2542 โดย แบ่งเป็น 5 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ปรากฏว่า การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ประกอบกับมีปัญหาหลายเรื่อง
ต่อมาเกิดรัฐประหารโดยคณะ รสช . ในปี 2534 มีรัฐบาลของ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมด ก่อนประกาศล้มโครงการไปในที่สุด
ในยุคต่อมา รัฐบาล นายชวน หลีกภัย จะผลักดันโครงการต่อ แต่สุดท้าย ก็ยกเลิกสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 มกราคม 2541 ทำให้ต่อมา บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญา จนกลายเป็นคดีความยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
ล่าสุดวันนี้ (22 เม.ย. ) ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษา ศาลปกครองชั้นต้น ให้บังคับคดีโฮปเวลล์ ตาม คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่ายค่าโง่ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
อย่างไรก็ตามคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง
เนื่องจากศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนดห้าปี คือ ในวันที่ 30 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในกรณีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้
การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และการที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังกล่าว
เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ผลคำพิพากษากลับครบ29ปีในครานี้..!!!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ด่วน! ศาลสูงสุดสั่ง‘คมนาคม’คืนเงิน12,000ล้านคดี‘โฮปเวลล์’
- เปิดคำพิพากษาศาล! ค่าโง่'โฮปเวลล์'1.2หมื่นล้าน ปิดฉากคดียืดเยื้อ15ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี