24 เม.ย.62 เวลา 09.00 น.ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2518 ให้การจ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลโดยตรงและที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของส่วนราชการดังต่อไปนี้ กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
1.1 ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ
1.2 ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ
1.3 ค่าตอบแทนในการปฏิบัติราชการที่ไม่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
1.4 ค่าใช้จ่ายอื่นที่กระทรวงการคลังเสนอโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2. กำหนดบทเฉพาะกาลกรณีที่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือประกาศที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือเงินประเภทอื่น ๆ ที่ใช้บังคับก่อนวันที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการตราพระราชกฤษฎีกาต่อไป
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้แก้ไขร่างมาตรา 6 (3) เป็น “ให้องค์การสวนสัตว์กู้ยืมเงิน ซึ่งถ้าเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน” ตามมติที่ประชุมที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้จัดตั้งองค์การสวนสัตว์ เรียกโดยย่อว่า “อสส.” มีวัตถุประสงค์ในการจัดดำเนินการ ส่งเสริม รวบรวมสัตว์นานาชนิดไว้ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ การศึกษา การวิจัย และอำนวยบริการแก่ประชาชนในระดับมาตรฐานสากล มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ และสามารถกู้ยืมเงิน ซึ่งถ้าเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน (ตามมติสรุปผลการประชุมของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุฯ) เห็นว่า ควรให้แก้ไขเป็น “ให้ อสส. กู้ยืมเงิน ซึ่งถ้าเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน”)
2. กำหนดให้ อสส. มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่นตามความเหมาะสมและจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้ และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “THE ZOOLOGICAL PARK ORGANIZATION” เรียกโดยย่อว่า “ZPO” และจะให้มีตราเครื่องหมายของ อสส. ตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
3. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 6 คน แต่ไม่เกิน 10 คน เป็นผู้บริหารกิจการองค์การและให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
4. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดเงินผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับประธานกรรมการ กรรมการ และผู้อำนวยการ โดยประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการและพนักงาน อาจได้รับเงินบำเหน็จ หรือเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
5. กำหนดให้รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ ให้นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เงินลงทุนหรือเงินร่วมทุนเพื่อกิจการของ อสส.และเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในองค์การ เงินบำเหน็จและรางวัล ในกรณีมีกำไรเบื้องต้น แก่กรรมการและพนักงาน เงินสะสมไว้เป็นเงินสำรอง ตลอดจนเงินทุนตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายและ อสส.ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐบาลพึงจ่ายเงินให้แก่ อสส. เท่าจำนวนที่จำเป็น (ในประเด็นนี้กระทรวงการคลัง (กค.) ชี้แจงว่า รายได้ที่ อสส. ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของ อสส. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้น เป็นหลักการเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 จึงเห็นชอบด้วย)
6. กำหนดให้พนักงานและลูกจ้างของ อสส. ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 ที่มีอยู่ก่อนวันที่จะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ขึ้นใหม่ ให้ผู้นั้นเป็นพนักงานและลูกจ้างขององค์การต่อไป และผู้ใดดำรงตำแหน่งขั้น หรือระดับใดตามที่ระบุไว้ก่อนวันที่จะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ขึ้นใหม่ ให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่ง ขั้น หรือระดับนั้นต่อไป
7. กำหนดให้ถ่ายโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (สพค.) ในส่วนของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปเป็นของ อสส. ทส.
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระจกฉนวนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระจกฉนวนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระจกฉนวนต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1231 – 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5068 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระจกฉนวน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และการมอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และการมอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และการมอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการ พ.ศ.2553 โดยเพิ่มสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยราชการที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวได้ ซึ่งสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 อันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ชำระเงินที่ใช้บัตรเดบิตของตนเอง ทุกประเภทที่ออกในประเทศไทยและมีการใช้จ่ายในประเทศไทย (ไม่รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) หรือวิธีการอิเล็กทรอนิกส์อื่น ในการซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมถึงสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ซึ่งสามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าและบริการได้ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ได้ชำระ และจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 โดยจะจ่ายเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน ผ่านระบบพร้อมเพย์ อันเป็นการสนับสนุนการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e – Payment Master Plan) และนโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินกลางของประเทศไทย โดยส่งเสริมการชำระเงินด้วยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2561 และวันที่ 2 มกราคม 2562
2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2561 และวันที่ 2 มกราคม 2562 นั้น จะทำให้มีการส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด และเพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากเงินชดเชยดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่เป็นเงินชดเชยที่ผู้มีเงินได้ได้รับเนื่องจากการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักรจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากได้สิ้นสุดระยะเวลาในการซื้อสินค้าหรือบริการแล้ว ประกอบกับจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ชำระเงินภายในปี 2562 ซึ่งผู้ได้รับเงินชดเชยจะต้องรับทราบเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวก่อนถึงกำหนดเวลาในการยื่นชำระภาษี
3. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่าการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการเป็นการส่งเสริมมาตรการของรัฐ ในการสนับสนุนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และลดการใช้เงินสด ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลการชำระเงินซื้อสินค้าและบริการ และข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีของผู้ที่ได้รับเงินชดเชย แต่อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวคาดว่าจะมีภาษีสูญเสียในปี 2563 ประมาณ 4 ล้านบาท
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้เงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินด้วยบัตรเดบิต หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้มีการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้นให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินชดเชยดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งพันบาท
6. เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการแต่งตั้งและการให้ออกจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการแต่งตั้งและการให้ออกจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. เร่งดำเนินการเสนอกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในกำหนดระยะเวลา
กค. รายงานว่า
1. ด้วยพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 โดยมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน ซึ่งประธานกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือด้านอื่นอันจะเป็นประโยชน์แก่การจัดประชารัฐสวัสดิการ และมาตรา 4 วรรคสาม บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (4) และการให้พ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 7 (3) ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกอบมาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การออกระเบียบหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ครบกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันในวันที่ 1 มิถุนายน 2562)
2. กระทรวงการคลังได้ดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการแต่งตั้งและการให้ออกจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจ ฐานรากและสังคม พ.ศ. …. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 จึงได้เสนอร่างระเบียบฯ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดบทนิยาม “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” หมายความว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง และ “ประธานกรรมการ” หมายความว่าประธานกรรมการในคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
2. กำหนดให้สำนักงานจัดทำประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือด้านอื่นอันจะเป็นประโยชน์แก่การจัดประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเข้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งทำการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไป โดยประกาศรับสมัครดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม อำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วันและเวลาทำการรับสมัคร และสถานที่รับสมัคร
3. กำหนดให้เมื่อครบกำหนดระยะเวลาประกาศรับสมัครแล้ว ให้สำนักงานดำเนินการรวบรวมรายชื่อและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร รวมทั้งเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว พร้อมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อประธานกรรมการเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
4. กำหนดให้ประธานกรรมการให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
5. กำหนดให้ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และจำเป็นต้องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สำนักงานดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบนี้โดยอนุโลม
7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ตั้งและวันเปิดทำการศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. …. (กำหนดวันเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ตั้งและวันเปิดทำการศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. …. (กำหนดวันเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562) ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้มีศาลแพ่งตลิ่งชันและศาลอาญาตลิ่งชัน ตั้งอยู่ ณ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้มีศาลแพ่งพระโขนงและศาลอาญาพระโขนง ตั้งอยู่ ณ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ให้มีศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรี ตั้งอยู่ ณ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยให้ศาลทั้ง 6 ศาล เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว ให้แก่คนต่างด้าวซึ่งมีสัญชาติของประเทศที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามข้อ 6 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ. 2545 สำหรับกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องกับกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2562
9. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงการสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ
กำหนดกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปถือปฏิบัติในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ดังนี้
1. ให้กิจการดังต่อไปนี้เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของท่าอากาศยานตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ
ปี 2562
1.1 ครัวการบิน (Catering Services)
1.2 คลังสินค้า
1.3 ระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง
1.4 อุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง
1.5 การบริการขนส่งสัมภาระที่เกิดการตกค้างระหว่างเดินทาง
1.6 การให้บริการด้านผู้โดยสาร (Passenger Handling Services)
1.7 การให้บริการรักษาความปลอดภัย
1.8 การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์แบบอิเล็กทรอนิกส์แสดงข้อมูลและบอกทิศทางแก่ผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการท่าอากาศยาน
1.9 การให้บริการล้างเครื่องบินด้วยระบบเคลื่อนที่
1.10 การปรับปรุงความปลอดภัยหรือการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน
1.11 การก่อสร้างหรือการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดผลกระทบทางเสียงที่เกิดขึ้นจากการใช้สนามบิน
1.12 การรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษที่เกิดจากการใช้สนามบิน
2. ให้กิจการบริการซ่องบำรุงอากาศยาน เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของการขนส่งทางอากาศตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562
เศรษฐกิจ - สังคม
10. เรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจและกรรมการอื่นในคณะกรรมการชุดย่อย คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการชุดย่อย คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่น (ร่างอัตราและหลักเกณฑ์) เพื่อให้ กค. ดำเนินการแจ้งเวียน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อถือปฏิบัติต่อไป โดยให้รัฐวิสาหกิจปฏิบัติตามร่างอัตราและหลักเกณฑ์ฯ
2. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 เรื่อง ผลการประชุมของคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ในส่วนของอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ปัจจุบันกรรมการรัฐวิสาหกิจได้รับค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 โดยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนใน 3 ส่วนด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย
(1) ค่าตอบแทนรายเดือนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ (2) เบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการเข้าร่วมและการปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจและ (3) โบนัสในฐานะกรรมการซึ่งเป็นการตอบแทนการทำหน้าที่เป็นกรรมการ (หลักเกณฑ์การจัดสรรโบนัสให้กับกรรมการ ให้รัฐวิสาหกิจไปถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง) อย่างไรก็ดี การใช้อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวปรากฏข้อจำกัดบางประการจนเป็นเหตุให้มีข้อหารือจากรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรีกับบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ประกอบกับปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มบทบาทในการจัดทำบริการสาธารณะตามภารกิจหน้าที่ และตามนโยบายของรัฐบาล หรือดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมที่สภาพการแข่งขันมีความเปลี่ยนแปลงและความเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ จึงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถของกรรมการรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลกิจการเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด ซึ่งอัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันยังไม่สามารถดึงดูดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากภาคเอกชนได้ ดังนั้น กค. (สคร.) จึงได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจและกรรมการอื่นในคณะกรรมการชุดย่อย คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่น ให้ชัดเจนและสอดคล้องเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดย คนร. ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบร่างอัตราและหลักเกณฑ์ฯ ตามที่ กค. (สคร.) เสนอ
2. ร่างอัตราและหลักเกณฑ์ดังกล่าว (ตามข้อ 1) ใช้บังคับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง (รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ กค. และกระทรวงเจ้าสังกัดโดยตรง ทั้งที่ได้เคยรับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีตหรือที่จัดตั้งขึ้นก่อนหรือหลังอัตราและหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่มีผลใช้บังคับ) และให้มีผลใช้บังคับในเดือนถัดไปหลังจากวันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ รวมทั้งให้ กค. กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ตามสิทธิของผู้ถือหุ้น
2.1 รายชื่อรัฐวิสาหกิจที่แบ่งกลุ่มสำหรับการจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการ
|
กลุ่ม 1 |
กลุ่ม 2 |
กลุ่ม 3 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ |
กลุ่ม 4 รัฐวิสาหกิจ |
กลุ่ม 5 |
1 |
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) |
ธนาคารออมสิน |
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค |
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล |
บริษัท |
2 |
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร |
การไฟฟ้านครหลวง |
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย |
องค์การสวนสัตว์ |
3 |
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)** |
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ |
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
บริษัท ขนส่ง จำกัด |
องค์การจัดการน้ำเสีย |
4 |
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) |
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย |
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)** |
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ** |
องค์การสะพานปลา |
5 |
บริษัท อสมท จำกัด มหาชน |
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า |
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)** |
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย |
องค์การตลาด |
6 |
|
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม |
การประปาส่วนภูมิภาค |
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร |
สถาบันการบิน |
7 |
|
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย |
การประปานครหลวง |
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย |
โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
8 |
|
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย* |
การรถไฟแห่งประเทศไทย** |
การกีฬาแห่งประเทศไทย |
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ |
9 |
|
|
องค์การเภสัชกรรม |
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ |
โรงงานไพ่ |
10 |
|
|
การเคหะแห่งชาติ |
สำนักงาน |
บริษัท สหโรงแรมไทยและ |
11 |
|
|
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน |
องค์การสุรา กรมสรรพสามิต |
บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลาม จำกัด* |
12 |
|
|
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย |
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ |
|
13 |
|
|
การท่าเรือแห่งประเทศไทย |
องค์การคลังสินค้า |
|
14 |
|
|
การยาสูบแห่งประเทศไทย |
บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด* |
|
15 |
|
|
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด |
|
|
16 |
|
|
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด |
|
|
17 |
|
|
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย |
|
|
18 |
|
|
การยาง |
|
|
*รัฐวิสาหกิจที่ไม่ปรากฏชื่อในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ได้แก่ บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด การยางแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
**บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องฟื้นฟูกิจการหรืออยู่ในแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ (27 กุมภาพันธ์ 2562)
2.2 การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนกรรมการฯ
2.2.1 อัตราค่าตอบแทนรายเดือน |
|
กลุ่มรัฐวิสาหกิจ |
ค่าตอบแทนรายเดือนฯ ไม่เกิน (บาท/เดือน) |
1. รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ |
เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น |
2. รัฐวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงิน |
10,000 |
3. รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ |
10,000 |
4. รัฐวิสาหกิจขนาดกลาง |
8,000 |
5. รัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก |
6,000 |
2.2.2 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนให้กับผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามสัดส่วนระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเพื่อเป็นการตอบแทนการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยจ่ายให้ประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจในอัตรา 2 เท่าของค่าตอบแทนรายเดือนกรรมการรัฐวิสาหกิจ |
2.3 การจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการฯ
2.3.1 อัตราค่าเบี้ยประชุม |
|
กลุ่มรัฐวิสาหกิจ |
เบี้ยประชุมกรรมการฯ ไม่เกิน (บาท/เดือน) |
1. รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ |
เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น |
2. รัฐวิสาหกิจประเภทสถาบันการเงิน |
20,000 |
3. รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ |
20,000 |
4. รัฐวิสาหกิจขนาดกลาง |
16,000 |
5. รัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก |
12,000 |
2.3.2 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุมให้ประธานในที่ประชุมในอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ของเบี้ยประชุมกรรมการ |
|
2.3.3 กรณีการประชุมคณะกรรมการชุดย่อย คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่น ที่แต่งตั้งโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐสาหกิจจ่ายเฉพาะเบี้ยประชุมให้กับกรรมการรัฐวิสาหกิจและกรรมการอื่นที่เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่ากัน ในอัตรา 0.5 เท่าของเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด |
|
2.3.4 กรณีการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจในคณะกรรมการแต่ละคณะเป็นรายครั้ง เดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ในกรณีมีเหตุสมควร อาจพิจารณาจ่ายเบี้ยประชุมได้เกินกว่า 1 ครั้งต่อเดือน แต่ต้องไม่เกิน 15 ครั้งต่อปี |
|
2.3.5 กรณีการประชุมคณะกรรมการชุดย่อย คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นฯ ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุมให้กับกรรมการรัฐวิสาหกิจและกรรมการอื่นที่ไม่ใช่บุคลากรของรัฐวิสาหกิจที่เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่ากัน รวมแล้วไม่เกิน 2 คณะ คณะละไม่เกิน 1 ครั้งต่อเดือน เว้นแต่กฎหมาย ระเบียบหรือมติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดอัตราหรือหลักเกณฑ์ในการจ่ายประโยชน์ตอบแทนเป็นอย่างอื่น |
|
2.3.6 หากกรรมการอื่นนั้นเป็นบุคลากรของรัฐวิสาหกิจ และการประชุมนั้นในทางปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของบุคลากรนั้น บุคลากรนั้นไม่ได้รับเบี้ยประชุมเนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ |
2.4 กรณีที่รัฐวิสาหกิจประสบปัญหาและต้องอยู่ในแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ตามมติ คนร. หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามข้อ 2.2 และ 2.3 ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจเดือนละไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน และในการประชุมคณะกรรมการชุดย่อย คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่น ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการ รวมแล้วไม่เกิน 2 คณะ คณะละไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน เมื่อ คนร. หรือคณะรัฐมนตรี หรือ คนร. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี มีมติให้รัฐวิสาหกิจพ้นจากแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจแล้วให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมกรรมการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2.2 และ 2.3 ในเดือนถัดไปนับจากวันที่ได้มีมติ
2.5 กรณีบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาอัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมนี้
2.6 กรณีรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะโดยกฎหมายหรือจัดตั้งเป็นบริษัทซึ่ง กค. ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ให้ กค. กำหนดกลุ่มให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามอัตราและหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้
2.7 หากรัฐวิสาหกิจแห่งใดจะไม่ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้หรือจะเปลี่ยนกลุ่มรัฐวิสาหกิจจากที่กำหนดไว้ จะต้องขอความเห็นชอบจาก กค. หรือต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การเปลี่ยนกลุ่มรัฐวิสาหกิจตามที่ กค. กำหนด แล้วแต่กรณี ก่อนดำเนินการตามกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.8 อัตราข้างต้นเป็นอัตราขั้นสูงสุดในการพิจารณากำหนดและปรับปรุงค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจฯ ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะต้องพิจารณาถึงฐานะการเงินและความสามารถในการจ่ายขององค์กรเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณ ขอให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของภาระของงบประมาณประกอบด้วย เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อฐานะการเงินขององค์กร ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดและปรับปรุงค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมตามอัตราและหลักเกณฑ์นี้จะไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะได้ดำเนินการที่จำเป็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
2.9 กรณีมีปัญหาการตีความการใช้บังคับอัตราและหลักเกณฑ์นี้ให้รัฐวิสาหกิจเสนอเรื่องมายัง กค. เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
11. เรื่อง มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสตูล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสตูลไปถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยอนุโลมตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) มีมติในการประชุม กวพ. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 สิงหาคม 2560) นั้น ต่อมา สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอให้พิจารณาความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้เพิ่มเติม โดยเฉพาะจังหวัดสตูล ที่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้วยเหตุอุทกภัยและได้รับผลกระทบทางอ้อมอันเป็นเหตุทำให้งานตามสัญญาในช่วงเวลาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง และเป็นเหตุทำให้ผู้ประกอบการส่งมอบงานล่าช้ากว่าแผน ดังนั้น จังหวัดสูตลจึงเข้าเงื่อนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ไม่ได้ถูกระบุให้เป็นจังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือทางอ้อมจากมาตรการดังกล่าว
2. ในการประชุม กวพ. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 กวพ. ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้างอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ข้างต้นแล้ว มีมติเห็นควรให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ |
เป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสร้างเท่านั้น ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างต้องเป็นผู้รับจ้างที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยบังคับใช้กับ (1) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามกับทางราชการก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2559 หรือ (2) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวด สุดท้ายหรือ (3) สัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายในช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย (ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 12 ภุมภาพันธ์ 2560) |
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ |
ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาของสัญญาจ้างก่อสร้างที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือออกไปอีก จำนวน 70 วัน |
แนวปฏิบัติ |
กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างได้ดำเนินการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตามสัญญาและได้ถูกปรับไว้ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าปรับในช่วงก่อนหน้าที่จะได้รับการช่วยเหลือฯ แต่จะได้รับการลดหรืองดค่าปรับเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้เท่านั้น กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาตามสัญญา ให้ขยายระยะเวลาโดย นับถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเดิม ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ กรณีคู่สัญญาใดเห็นว่า การได้รับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วยังไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ หากหน่วยงานพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุผลสมควรที่จะได้รับการขยายระยะเวลา ก็ให้เสนอต่อ กวพ. เพื่อพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่รับความช่วยเหลือฯ มีการจ้างเอกชนควบคุมงานค่าจ้างควบคุมงาน และหรือค่าจ้างที่ปรึกษา ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับภาระค่าจ้างควบคุมงานและหรือค่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป เนื่องจากผู้รับจ้างได้รับประโยชน์จากการได้รับการขยายระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กรณีที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว หากการขยายระยะเวลาออกไปมีผลทำให้ผู้รับจ้างไม่ถูกปรับ ก็ให้งด ลดค่าปรับ หรือคืนเงินค่าปรับ ตามความเป็นจริงแล้วแต่กรณี ให้ กวพ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีอำนาจหน้าที่ในการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าว เพื่อความเป็นธรรมในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน มอบหมายให้ มท. นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับกับ อปท. โดยอนุโลม |
12. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีภาระหนี้และไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562) จำนวนทั้งสิ้น 1,232,595,640 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีภาระหนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพการเกษตรแก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ประกอบอาชีพการเกษตรมีโอกาสนำเงินส่วนที่ได้รับการช่วยเหลือไปฟื้นฟูประกอบอาชีพ ตลอดจนมีเงินทุนไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน โดยชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562) จำนวนทั้งสิ้น 1,232,595,640 บาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในส่วนที่ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของมูลหนี้ร่วมกับระยะเวลาสัญญาเงินกู้ วัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเพื่อการเกษตร และความซ้ำซ้อนกับโครงการของภาครัฐที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันแล้วและมีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน สำหรับส่วนที่เหลือขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้อง
2. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีภาระหนี้และไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมจากโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยเฉพาะที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้แก่เกษตรกรรายย่อย (คณะรัฐมนตรีมีมติ 31 กรกฎาคม 2561) |
โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/ กลุ่มเกษตรกร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เสนอในครั้งนี้ |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
กระทรวงการคลัง (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) |
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
กลุ่มเป้าหมาย |
เกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ยเงินกู้เฉพาะต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท |
สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่มีหนี้เงินกู้ในวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรต้นเงินกู้ขอรับการชดเชยไม่เกิน 300,000บาทแรก จำนวน 428,647 ราย |
อัตราชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ |
รวมร้อยละ 3 แบ่งเป็น - รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.5 ต่อปี |
รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี |
งบประมาณ |
16,305 ล้านบาท |
1,232.60 ล้านบาท กรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการปรับแผนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการในส่วนที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว สำหรับส่วนที่เหลือจะขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปีต่อไป
|
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ และขยายระยะเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 525 ล้านบาท ออกไปจากเดิม สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2562 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า คณะมนตรีมีมติ (20 พฤศจิกายน 2561 และ 4 ธันวาคม 2561) อนุมัติการใช้งบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 525 ล้านบาท สำหรับการดำเนินมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศโดยการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 - พฤษภาคม 2562 แต่เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะรับมอบน้ำมันปาล์มดิบจากผู้ทำสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบและชำระเงินค่าน้ำมันปาล์มดิบแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2562 และมีขั้นตอนการขอรับเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน เป็นเชื้อเพลิงกับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้ากับสำนักงบประมาณในวงเงิน 525 ล้านบาท ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงเสนอขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 56 ให้งบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ประเภทงบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ยังมิได้ก่อหนี้ผูกพัน แต่ได้มีการกันเงินและขอขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังไว้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 ได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
14. เรื่อง ขอผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 เพื่อก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สำหรับโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร – ระนอง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 เพื่อก่อสร้างถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สำหรับโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร – ระนอง ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) (กรมทางหลวง) เสนอ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการแล้วด้วยแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร – ระนอง เป็นการขยายถนนจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับและส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่บริเวณพื้นที่จังหวัดชุมพร – ระนอง ซึ่งเป็นโครงการส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 มกราคม 2562) รับทราบผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินโครงการในพื้นที่ ดังกล่าว ซึ่งในส่วนของการขยายถนนเส้นดังกล่าวมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 102.52 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 ตอน โดยดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว 3 ตอน ระยะทาง 52.32 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 ตอน ระยะทาง 50.20 กิโลเมตร โดยมีถนนช่วงหนึ่งตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 2.47 กิโลเมตร ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรี (13 พฤศจิกายน 2550) เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดห้ามมิให้ขยายช่องจราจรของถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2. ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ของโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร – ระนอง ทั้งสาย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ซึ่งรวมถึงโครงการฯ ช่วงที่ตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีจังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 2.47 กิโลเมตร ในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้แล้ว โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการ โดยขอให้กรมทางหลวงปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA ของโครงการ และดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ได้หารือกันเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เช่น การปรับปรุงแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านน้ำตกปุญญบาล ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เห็นควรให้กรมทางหลวงปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA และตามมาตรการข้อเสนอแนะของการประชุมหารือเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้กรมทางหลวงปฏิบัติตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้ในรายงาน EIA รวมทั้งรับข้อสังเกตเพิ่มเติมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 (การสำรวจและศึกษาสัตว์ป่าในบริเวณใกล้กับแนวการก่อสร้างถนนดังกล่าว เพื่อการจัดทำเส้นทางเชื่อมสัตว์ป่าและกำแพงบังคับสัตว์ป่าที่เหมาะสม) ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป
15. เรื่อง ความก้าวหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 - 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 และรับทราบการเตรียมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่อื่นที่เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงอุตสาหกรรม ขอรายงานความก้าวหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ผลการดำเนินการภายใต้มาตรการฯ ประกอบด้วย
1.1 มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มีการดำเนินการ ดังนี้
1) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อให้สามารถต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเดิม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ได้พิจารณาร่างดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะนำร่างประกาศฯ ที่พิจารณาแล้วเสร็จเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
3) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับมาตรการฯ โดยคำนึงถึงศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ด้านผังเมืองเป็นสำคัญ
1.2 มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ในเขตพื้นที่นำร่อง 3 เขต ดังนี้
1) เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2560-2564 เกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,740 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) โครงการผลิตน้ำยาล้างไต มูลค่าการลงทุน 2,240 ล้านบาท เปิดดำเนินการผลิตแล้ว โดยบริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง
(2) โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ มูลค่าการลงทุน 3,500 ล้านบาท เปิดดำเนินการผลิต Poly Lactic Acid (PLA) แล้ว ขนาดกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท โททาล จำกัด และ บริษัท คอร์เบียน พูแลค (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมเอเซีย จังหวัดระยอง
(3) โครงการ Palm Biocomplex มูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านบาท เริ่มต้น Phase 1 โดยสร้างโรงหีบน้ำมันและทำการผลิตเมทิลเอสเทอร์จากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองเดินเครื่องจักร และมีแผนจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการสกัดสารตั้งต้นใน Phase 1 ต่อยอดไปสู่ Phase 2 เช่น Specialties, Surfactants, วิตามิน E ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และกลุ่มบริษัท ไทยอีสเทิร์น ตั้งอยู่ที่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี
2) เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร) ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2560-2569 เกิดมูลค่าการลงทุนในโครงการ Biorefinery Complex จำนวน 41,000 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2561-2564) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยแบ่งการลงทุนเป็น Phase 1 จะทำการผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้า และปรับพื้นที่โครงการเพื่อรองรับการลงทุนใน Phase 2 ประกอบด้วย โครงการผลิต Poly Lactic Acid, Bio-succinic Acid (BSA) Bio -1,4-Butanediol, Furfural และ Lactic Acid สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานต่อไป
3) เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (จังหวัดขอนแก่น) ขณะนี้นักลงทุนได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินแล้วร้อยละ 90 ซึ่งคาดว่าภาพในปี พ.ศ. 2564 จะมีมูลค่าการลงทุน 29,735 ล้านบาท
1.3 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ เป็นกลไกสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยในระยะแรกจะเป็นการกระตุ้นตลาดภายใน สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ และสร้างทักษะให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดภายในประเทศ และยังตอบสนองกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากล ซึ่งมีผลการดำเนินการสำคัญ ดังนี้
1) กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับกรมสรรพากร อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก จาน/ชาม/ถาดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก และหลอดกาแฟ ซึ่งจะกำหนดให้ผู้ใช้ที่เป็นนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้ ภายในระยะเวลา 3 รอบบัญชี
2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติก รณรงค์/ให้ความรู้และสร้างกระแสให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยจัดกิจกรรม ดังนี้
(1) กิจกรรม Bio-Corner ในหัวข้อสัมมนาเรื่อง “การประยุกต์ใช้นวัตกรรมฐานชีวภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี : Application of Innovative Biomaterials for Better Life” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 และจัดแสดงผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2561 ภายในงาน Thailand Industry Expo 2018
(2) กิจกรรม Bio-Tourism ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ Bioplastic ในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ ตลาดน้ำตกกวางโจว อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี พร้อมมอบจาน/ช้อน/ส้อม ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ จำนวน 5,000 ชุด ให้นายอำเภอเพื่อใช้ในงานต่อไป
3) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จำนวน 2 เรื่อง คือ ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสลายตัวได้ เล่ม 1 : โพลิแลคติกแอซิด (PLA) และเชื้อเพลิงชีวมวลแข็ง นอกจากนี้มีการจัดประชุมสัมมนาระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อทบทวนมาตรฐานเดิม 1 รายการคือ มอก. 17088-2555 ข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ และพิจารณาการจัดทำร่างมาตรฐานใหม่ 5 รายการ ได้แก่ ถุงหูหิ้วสลายตัวได้ ถุงกล้าเพาะชำสลายตัวได้ ฟิล์มคลุมดินสลายตัวได้สำหรับงานเกษตรกรรม อีพ๊อกซี่เรซิ่นชีวฐาน และวัสดุทดแทนไม้พลาสติกผสมชีวมวล
1.4 มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) โดยให้สถาบันพลาสติก เป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง เตรียมความพร้อม และบริหารงานวิจัย/เทคโนโลยี/นวัตกรรมด้านชีวภาพเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพ โดยได้ดำเนินการภายใต้ภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ
1) R & D สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม CoBE ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) การประชุมหารือร่วม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านงานวิจัยชีวภาพ ซึ่ง TCELS รับเป็นหน่วยงานดำเนินการด้านงานวิจัย Bio Pharmaceuticals เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายกับ CoBE
(2) การประชุมหารือร่วม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านงานวิจัยชีวภาพ และร่วมกันพิจารณาหัวข้องานวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับสู่เชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้น สถาบันพลาสติกได้จัดทำ Facebook CoBE เพื่อนำเสนอกิจกรรมด้านงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ และจะต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผล ยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรม
(3) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติกลงพื้นที่จังหวัด
สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาเพื่อยกระดับ Palm City ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบปาล์มน้ำมันตามโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะประสานกับสถาบันพลาสติก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ Industry Transformation Center (ITC) เพื่อร่วมดำเนินการและสนับสนุนด้าน R&D ตามแนวทางพัฒนา Palm City ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นหน่วยงานเครือข่ายของ CoBE ในส่วนภูมิภาคต่อไป
2) Prototype/Scale up เชื่อมโยงงานวิจัย ให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพสู่ Factory 4.0 ผ่าน Industry Transformation Center (ITC) ได้ดำเนินการ ดังนี้
(1) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติก พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ Bioplastic จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ถุงซักผ้าแบบใช้แล้วทิ้ง แก้ว/ ถาดอาหาร/ ช้อนและส้อม/ ถุงขยะ แบบย่อยสลายได้
(2) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติก เพิ่มผลิตภาพสถานประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกสู่พลาสติกชีวภาพและพลาสติกวิศวกรรม โดยการให้คำปรึกษาแก่ SMEs จำนวน 52 กิจการ พัฒนากระบวนการผลิตพลาสติกจากเม็ดพลาสติกชีวภาพให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น
3) Human Resource Development สร้างผู้ประกอบการด้าน Bio Industry สถาบันพลาสติก ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมพลาสติกสู่พลาสติกชีวภาพและพลาสติกวิศวกรรม โดยฝึกอบรมบุคลากร จำนวน 163 ราย (18 ชั่วโมง) ในหลักสูตรความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ ข้อจำกัด และการนำไปใช้ รวมถึงเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูป การปรับตั้งเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
4) Bio Intelligence Unit พัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันพลาสติก ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดทำโครงการศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญในลักษณะ Bio Innovation Linkage สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีการผลิต ผลงานวิจัย/หน่วยงานวิจัย ห้องปฏิบัติการทดสอบ และกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและวางระบบบริหารจัดการข้อมูลด้านชีวภาพของประเทศไทย โดยจะขอสนับสนุนงบประมาณในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 15 ล้านบาท
2. ผลการดำเนินงานขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขยายผล Bioeconomy ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ดังนี้
2.1 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเชิงบูรณาการ ดังนี้
1) กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 และจัดทำโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเกษตรเป็นสินค้าอุตสาหกรรม
2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 เพื่อประชุมหารือหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน/การศึกษา ในการติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดให้เป็นคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร เพื่อยกระดับเป็น Bio Hub ตามนโยบายรัฐบาล และได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด (กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 นอกจากนี้ได้จัดประชุมหารือหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นระยะ เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อาทิ ต้นแบบระบบควบคุมเกษตรอัจฉริยะหรือ Real Time Monitoring และแขนกล ร่วมกับ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) การจัดทำโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ของภาคเอกชนร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับความต้องการของนักลงทุนและตอบสนองความต้องการของตลาดอินทรีย์ในระยะต่อไป
3) ผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการแก้ไขปรับสีผังเมืองของพื้นที่โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ และตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว ทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น อาหารทางการแพทย์ Organic Maltodextrin, Organic Sugar Syrup and Sweetener, Organic Modified Starch for Pharmaceuticals, Organic Amino Acid for animal feeds, Organic Soluble Fiber สารสกัดจากพืช ผัก และสมุนไพรอินทรีย์ ทั้งนี้ ในส่วนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2,313 ไร่ 215 ตารางวา มูลค่าการลงทุน 2,990 ล้านบาท ในตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม กำลังดำเนินการปรับผังเมืองจากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโยธาธิการและผังเมือง
4) ภาคเอกชน ได้แก่ กลุ่มบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด ได้นำร่องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ตามหลัก ตลาดนำการผลิต โดยมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเคมีอินทรีย์ (Organic Biochemicals) ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ตามความต้องการของตลาด การร่วมมือกับภาครัฐในการถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร การตรวจรับรองโดยผู้ตรวจสอบตามมาตรฐานระดับสากล และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลกที่รักสุขภาพและต้องการอาหารปลอดภัย
2.2 ผลักดันโครงการลงทุนจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศเพิ่มเติม ได้แก่
1) จังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์มาตรการฯ และประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อร่วมผลักดันโครงการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ของภาคเอกชน จำนวน 2 โครงการ เพื่อประกาศเขตส่งเสริมฯ โครงการลงทุนในพื้นที่และปรับสีของผังเมืองให้เหมาะสม ขณะนี้ภาคเอกชนได้ยื่นรายงานการศึกษาต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแล้ว อยู่ระหว่างรอนำเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่ออนุมัติต่อไป ประกอบด้วย
(1) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ขนาด 998 ไร่ มูลค่าการลงทุน 12,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง โดย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ นอร์มอลพาราฟิน (Normal Paraffin) สารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM) ไฮโดรเจน (H2 Generation) ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปาล์มดิบ (CPO Preparation) ไบโอดีเซลและกลีเซอรีน (B100+Glycerin) สารโพรเพนไดออล (Propanediol Product) และไตรอะซิติน (Triacetin Product)
(2) โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ขนาด 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม โดย บริษัท อิมเพรส เทคโนโลยี จำกัด มีแผนการลงทุนผลิต Bio Energy, Bio Refinery, Pharmaceutical & Cosmetics, Food & Feed for future, Social Enterprise and Tourism, R&D Innovation Center รวมถึงการพัฒนาระบบ BioMatlink ในการรวบรวมมันสำปะหลังจากเกษตรกร ผ่านศูนย์รวบรวมรับซื้อ ตรวจสอบคุณภาพ แปรรูป เก็บสต๊อก และกระจายสินค้า
2) จังหวัดลพบุรี ภาคเอกชนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรเสนอแผนการลงทุนโครงการลพบุรี ไบโอคอมเพล็กซ์ ขนาด 2,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองเมือง ตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ โดย บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ได้แก่ เอทานอลจากน้ำอ้อย เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ เช่น กรดแลกติก ยีสต์และเอนไซม์ต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดการเกษตรขั้นสูง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรโดยสนับสนุนหลักการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm)
3. การดำเนินงานในระยะต่อไป
1) กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 จะเร่งดำเนินการในแต่ละมาตรการฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
2) ประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการผลักดันโครงการลงทุนของภาคเอกชนในการจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) กลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคต (New S-Curve) ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป
3) ผลักดันการขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ ในโครงการลงทุน Bio Hub ตามความพร้อมของภาคเอกชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี เพิ่มเติม จากพื้นที่นำร่องเดิมในเขต EEC เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) และเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคดำเนินการตามระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เพื่อให้เกิดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ต่อไป
ต่างประเทศ
16. เรื่อง การต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพระหว่างไทยกับสหประชาชาติในรูปแบบของหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ (United Nations Regional in International Law) ประจำปี 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ปี 2560 สำหรับการจัดฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ (United Nations Regional Course in International Law) ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) ด้วย โดยอนุมัติให้เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของฝ่ายไทยสำหรับการฝึกอบรมฯ ประจำปี 2562 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานกฎหมายสหประชาชาติได้ร่วมกันพิจารณายกร่างหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ ประจำปี 2562 โดยมีสาระสำคัญเป็นการตอบรับฝ่ายสหประชาชาติ เพื่อต่ออายุความตกลงระหว่างไทยกับสหประชาชาติในรูปแบบของหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 เพื่อให้สามารถจัดการฝึกอบรมฯ ที่ประเทศไทยได้ในระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2562
ภายหลังจากที่ได้ต่ออายุความตกลงฯ สหประชาชาติจะเริ่มประชาสัมพันธ์หลักสูตรการฝึกอบรม เปิดรับสมัคร และดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมและนัดหมายผู้บรรยาย ในส่วนของประเทศไทยกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเตรียมการด้านงบประมาณ สถานที่ และด้านโลจิสติกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้สามารถเตรียมการจัดการฝึกอบรมฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยกับสหประชาชาติจะแบ่งส่วนความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการฝึกอบรมข้างต้นด้วย
ทั้งนี้ การคงความร่วมมือกับสหประชาชาติในการจัดการฝึกอบรมฯ นอกจากเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ในสายงานด้านกฎหมายระหว่างประเทศของไทยที่จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายกับนักกฎหมายระหว่างประเทศจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก
17. เรื่อง รายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ องค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนผ่านช่องทางการทูต
คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบรายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ และรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับต่างประเทศผ่านช่องทางการทูต ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
อนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการค้าการลงทุนของนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนในต่างประเทศส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการหลีกเลี่ยนการเสียภาษีระหว่างประเทศทั้งสอง ตลอดจนมีการจัดสรรรายได้ภาษีระหว่างประเทศด้วยการกำหนดสิทธิการเก็บภาษีสำหรับเงินได้ประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจาจัดทำอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับต่างประเทศ และขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จำนวน 16 ฉบับ
โดยรายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ รวม 8 ประเทศ โดยจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) ประเทศที่ขอเปิดการเจรจาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยเปิดการเจรจามาก่อน ได้แก่ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐแทนซาเนีย และมัลดีฟส์ (2) กลุ่มประเทศที่อนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ต้องการเจรจาแก้ไขเพื่อปรับปรุงอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนทั้งฉบับหรือบางส่วนให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ได้แก่ สาธารณรัฐเซเชลส์ สหพันธรัฐรัสเซีย และโรมาเนีย และ (3) กลุ่มประเทศที่มีการเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ร่างอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงร่างอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ที่ได้ลงนามย่อกำกับไว้แล้ว ได้แก่ สาธารณรัฐลิทัวเนียและมองโกเลีย
ในส่วนของประเทศที่ขอเปิดการเจรจาใหม่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กแต่ก็ล้วนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้เจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไปแล้วทั้งที่มีผลใช้บังคับแล้วและยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่ต้องการเจรจาเพื่อแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ใหม่นั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากที่ทั้งสองฝ่ายต้องการปรับปรุงอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติใหม่ที่เป็นมาตรฐานสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ซึ่งมีผลผูกพันกับประเทศสมาชิก
สำหรับองค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและการแต่งตั้งคณะผู้แทนฯ สำหรับการเจรจาจัดทำอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ (เนื่องจากการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานจากนักเป็นกอง ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2560 ) มีองค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบ |
ตำแหน่ง / จำนวน |
|
การเจรจาภายในประเทศ |
การเจรจาภายนอกต่างประเทศ |
|
อธิบดีหรือรองอธิบดีกรมสรรพากร หรือที่ปรึกษาฯ กรมสรรพากร |
หัวหน้าคณะ |
หัวหน้าคณะ |
ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร หรือผู้แทน |
จำนวน 1 คน |
จำนวน 1 คน |
ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร หรือผู้แทน |
จำนวน 1 คน |
จำนวน 1 คน |
เจ้าหน้าที่กองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร |
จำนวนไม่เกิน 4 คน |
จำนวนไม่เกิน 2 คน |
ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กค. |
จำนวน 1 คน |
จำนวน 1 คน |
ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) |
จำนวน 1 คน |
- |
ผู้แทนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กต. |
จำนวน 1 คน |
- |
18. เรื่อง การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 9
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 9 และเห็นชอบต่อท่าทีของไทยสำหรับใช้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์ม สมัยที่ 9 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีของไทยดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่จนสิ้นสุดการประชุม ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์ม สมัยที่ 9 รวมทั้งสิ้น 21 คน ประกอบด้วย 1) อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย 2) ประธานในคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซลฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 3) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ 4) ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 5) ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6) ผู้แทนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 7) ผู้แทนศูนย์ นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 8) ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ท่าทีของไทยสำหรับใช้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 14 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 9 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์ม สมัยที่ 9 จะสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของทั้ง 3 อนุสัญญาฯ ในการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ และความต้องการจำเพาะของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในระดับประเทศด้านการจัดการของเสียอันตรายและสารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจร โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นภาคีและข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศ
19. เรื่อง ขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีต่อถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามรับรองถ้อยแถลงดังกล่าว หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยแถลงข้างต้น ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และเห็นชอบยกระดับถ้อยแถลงของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงานฯ เพื่อเสนอต่อผู้นำเพื่อรับทราบ ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
สาระสำคัญ
ถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม มีสาระสำคัญ คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อรองรับประเด็นท้าทายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางโครงสร้างประชากรและทางเทคโนโลยี โดยทำให้มั่นใจว่าแรงงานและภาคธุรกิจจะมีขีดความสามารถในการปรับตัวตลอดจนมีการคุ้มครองเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของไตรภาคีและหุ้นส่วนทางสังคม และเป็นไปโดยสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของรายงานของคณะกรรมการโลกว่าด้วยอนาคตของงานและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
ทั้งนี้ รัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ALMM) จะต้องลงนามรับรองถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม ในที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนสมัยพิเศษ (Special Session of ALMM) ว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
20. เรื่อง ร่างปฏิญญาโดฮาของการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 16
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาโดฮา หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาโดฮาในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาโดฮาเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “หุ้นส่วนที่กำลังก้าวหน้า” (Partner in Progress)ของความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยการพัฒนาสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาโดฮา ยังได้กำหนดทิศทางความร่วมมือ โดยยึดมั่นต่อหลักการเดิมของ ACD ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การมีอุดมการณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิก พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือทั้ง 6 เสา และวิสัยทัศน์ของ ACD ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงโครงการและความคิดริเริ่มต่างๆ อาทิ การอำนวยความสะดวกในการขนส่งด้านการค้าในภูมิภาค เพิ่มการลงทุน และส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ ร่างปฏิญญาโดฮายังให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนโครงการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมการค้าเสรี การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเอเชีย การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาสำหรับประเทศสมาชิก ACD การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการในการบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเอเชียภายในปี ค.ศ. 2030 การส่งเสริมความปลอดภัยด้านน้ำและอาหาร และการสนับสนุน การวิจัยด้านพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีการเกษตร
21. เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่ารัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ ทั้งนี้ หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความร่วมมือดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ
สาระสำคัญของร่างบันทึกความร่วมมือฯ ทั้งสามฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำ ดังนี้
1. การเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน – ลาว จะเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค
2. ทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (standard gauge) ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน โดยจะมีการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) และจะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร
3. พิธีการศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณชายแดนจะตั้งอยู่ทั้งในบริเวณชายแดนของฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยจะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรบริเวณชายแดน
4. กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีนและโครงการรถไฟจีน – ลาว ไม่ตรงกัน จึงมีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ
4.1 ระยะที่ 1 จะพิจารณาให้มีการจัดตั้งสถานีท่าและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน – ลาว มายังโครงข่ายรถไฟขนาดทาง 1 เมตรที่มีอยู่ของประเทศไทย
4.2 ระยะที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย จะเชื่อต่อกับสถานีดังกล่าวตาม 4.1 เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน – ลาว และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน
5. ไทยและลาวจะดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อขอความเห็นชอบในการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ ของแต่ละฝ่ายโดยเร็ว และจะพยายามให้การก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ แล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย โดยฝ่ายจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินโครงการเชื่อมต่อฯ ในงานที่เกี่ยวข้องตามที่ไทยและลาวเห็นชอบและเป็นไปตามขั้นตอนภายในของประเทศตน
6. อาจพิจารณาจัดให้มีการประชุมประสานงานสามฝ่ายเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการเชื่อต่อฯ
7 โครงการเชื่อมต่อฯ จะไม่กระทบสิทธิของประเทศไทยและ สปป.ลาว เกี่ยวกับเขตแดนของทั้งสองประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 -27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และในระหว่างการประชุมดังกล่าวจะมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์ โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสามฝ่ายจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
แต่งตั้ง
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางรมณีย์ ขัดเงางาม ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตกรรม) สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตกรรม) สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นางต้องฤดี มากบุญ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
24. เรื่อง การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเสนอชื่อ นายชาติชาย สุทธิกลม เป็นบุคคลที่คณะรัฐมนตรีสรรหา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) แทนผู้ที่ลาออก จำนวน 2 คน ดังนี้ 1. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา 2. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562 เป็นต้นไป และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนในครั้งต่อไปให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 3 คน ดังนี้
1. นายนิวัฒน์ มนตรีวสุวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านชีววิทยาศาสตร์
2. นางศันสนีย์ ไชยโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านชีววิทยาศาสตร์
3. นายสุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562 เป็นต้นไป และให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว และให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ในครั้งต่อไปให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี