6 มิ.ย.62 ที่สำนักงานทีโอที แจ้งวัฒนะ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียสละทุกอย่างและลงตัวทุกอย่าง ไม่ต้องพูดว่าปริ่มน้ำ เพราะขณะนี้มีเสียงข้างมาก และ ส.ว.หนุนเต็มที่ ซึ่งเสียงของ ส.ว.ยืนยันได้ว่าไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เลือกฝ่ายใดเพียงฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวหาเป็นความรู้สึกของสมาชิก
ส่วนกรณีที่สังคมภายนอกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลำบากต่อการบริหารประเทศหลังไปจากนี้เพราะมีความขัดแย้งนั้น ตนเชื่อมั่นในความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ สถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่านี้มีความขัดแย้งรุนแรง ในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ฝ่าฟันมาได้ อีกทั้งประสบการณ์ 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงแผนงานปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติดำเนินได้ด้วยดี อย่าลืมว่าความเจริญก้าวหน้าประเทศอยู่ กับปฏิรูปประเทศแผนยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ให้ ส.ว.มีส่วนร่วม กับสภาผู้แทนฯ นี่คือจุดสำคัญ อย่ามองแต่งตั้งอย่างเดียว ทั้งนี้ ส.ว.เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ส่วนกฎหมายต้องผ่านตามปกติ
เมื่อถามถึง ฝ่ายการเมืองจองกฐินตรวจสอบคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ หลังได้รับการโหวต นายพรเพชร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านมาหมดแล้วทุกอย่าง ที่พูดกันนั้นเป็นความข้องใจคำพูดของบางคนที่ยังเอามาพูดอยู่ แต่ในกระบวนการทางกฎหมายนั้น ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องชะลอออกไป
"ตามกฎหมายแล้วเมื่อสมาชิกรัฐสภาลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แล้ว กระบวนการต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง เพราะการใช้สิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติถือเป็นหนึ่งในอำนาจสูงสุดของ 3 อธิปไตยเช่นกัน ดังนั้น หากไม่คำนึงต่อประเด็นดังกล่าวประเทศจะลำบาก เพราะไม่รู้ว่าแบบไหนกันแน่ที่มีอำนาจ อย่างไรก็ดี การอภิปรายที่เกิดขึ้นเรื่องคุณสมบัติ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยต่อสิ่งที่สมาชิกอภิปราย" นายพรเพชร กล่าว
เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองเตรียมจองกฐิน ร้องศาลต่อการลงมติของ ส.ว.ที่หนุนให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ เหตุผลประโยชน์ขัดกัน นายพรเพชร กล่าวยืนยันว่า ไม่มีผลประโยชน์ที่ขัดกัน เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ปกติที่ต้องใช้ และให้อำนาจ ส.ว.ทำได้ ส่วนที่ระบุว่าบทกำหนดในมาตรฐานจริยธรรมเขียนไว้เรื่องการใช้อำนาจที่ไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน เพราะลงมติให้กับคนที่แต่งตั้งมานั้น ในสากลทั่วโลก เช่น สหร้ฐอเมริกา ช่วง ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่แต่งผู้พิพากษาสูงสุด แต่เมื่อมีคดีวอร์เตอร์เกต การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาสูงสุดยังทำหน้าที่ได้โดยอิสระ ซึ่งยืนยันว่าการลงมติของ ส.ว.นั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประเด็นที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมตรงไหน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี