ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อให้เวลา 15 วันชี้แจง แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วน“วุฒินันท์ บุญชู” รอดคนเดียวศาลไม่รับคำร้อง
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 33 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 51 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้องขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้องรวมจำนวน 33 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง จำนวน 33 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3)
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า“เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” มิใช่เพียงมีเจตนาหรือความประสงค์จะทำกิจการดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมีวัตถุที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจพอที่จะใช้เป็นเหตุให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลได้ แต่ก่อนที่ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไป ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 33 คนเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นอยู่ว่าเป็นวัตถุที่ประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องนี้แล้ว
ปรากฏว่ากรณีของนายวุฒินันท์ บุญชู ผู้ถูกร้องที่ 29 ที่ถูกกล่าวอ้างว่าถือหุ้นในบริษัท รุ่งเรืองสยาม ซูมิคอน จำกัดและบริษัทดังกล่าวมีวัตถุที่ประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยตามคำร้องระบุไว้ในข้อ 11 ว่า “ประกอบกิจการจัดเก็บ รวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และเผยแพร่ สถิติ ข้อมูล ในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาด รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ”
และข้อ 17 ระบุว่า“ประกอบกิจการจัดสร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์และโรงมหรสพอื่น สถานพักตากอากาศ สนามกีฬา สระว่ายน้ำ โบว์ลิ่ง”แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารประกอบคำร้องคือ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว ปรากฏว่ามีข้อความไม่ตรงกันกับคำกล่าวอ้างของผู้ร้องดังกล่าว กล่าวคือข้อ 11 ระบุวัตถุที่ประสงค์ไว้ว่า “ประกอบกิจการค้า เครื่องเคหะภัณฑ์ เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแก้ว เครื่องครัว ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ พัดลม เครื่องดูดอากาศ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เตารีดไฟฟ้า เครื่องทำความร้อน เครื่องทำความเย็น เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าว”
ส่วนข้อ 17 ระบุวัตถุที่ประสงค์ไว้ว่า“ประกอบกิจการค้า กระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ หนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์การถ่ายภาพและภาพยนตร์ เครื่องคำนวณ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์และอะไหล่ของสินค้าดังกล่าว” กรณีนี้ จึงไม่ปรากฏวัตถุที่ประสงค์ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างและเมื่อพิจารณารายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ตามข้อ 11 และข้อ 17 ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เป็นวัตถุที่ประสงค์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งเป็นไปตามแนวการพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นลักษณะเข้าข่ายอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายวุฒินันท์ บุญชู ผู้ถูกร้องที่ 29 ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)แต่อย่างใด จึงเห็นควรมีคำสั่งไม่รับคำร้องในรายของผู้ถูกร้องที่ 29 ไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือ จำนวน 32 คน เห็นว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(5)แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งรับคำร้องเฉพาะของผู้ถูกร้อง จำนวน 32 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
สำหรับคำขอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง “ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง”แต่ในคดีนี้ไม่มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจึงไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานอื่นใดให้ใช้เป็นฐานแห่งการพิจารณา คงมีเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุวัตถุที่ประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารประกอบคำร้องเท่านั้น ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ(แบบ สสช.๑) และแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด กรณีจึงยังไม่มีมูลให้เห็นว่าผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อน เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง จำนวน 32 คนมีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสามสิบสองคนหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี