นานาชาติจะยึดผลการประเมินของ PISA ที่ดำเนินการโดย OECD หรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เป็น “ตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา” เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ เช่น IMD WEF World Bank ฯลฯ ที่รายงานเรื่องความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) จะอ้างคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ จากผลการประเมินของ OECD ที่สุ่มประเมินทุกๆ 3 ปี เป็นการประเมินความรู้เรื่อง (Literacy) ของนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) โดยใช้อายุ 15 ปี เป็นเกณฑ์ ใน 3 ด้าน คือ
ความรู้การใช้คณิตศาสตร์ในปัญหาของชีวิตจริง (Mathematical literacy)
ความรู้การใช้วิทยาศาสตร์ในปัญหาของชีวิตจริง (Scientific literacy)
และการอ่านรู้เรื่องข่าวสารในชีวิตจริง (Reading literacy)
OECD เรียกการสุ่มประเมินนี้ว่า PISA หรือ Programme for International Student Assessment. ดังนั้น เมื่อนานาชาติกล่าวว่าคุณภาพการศึกษาของไทยด้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย
ประเทศไทย ไม่ได้เป็นสมาชิกของ OECD ได้สมัครเข้าร่วมการประเมิน PISA ด้วย ตั้งแต่การเริ่มครั้งแรก ในปี 2000 ที่เรียกว่า PISA 2000 โดย สสวท. หรือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดำเนินการกับ PISA ของ OECD แปลข้อสอบเป็นภาษาไทย จัดการสุ่มโรงเรียนและสุ่มนักเรียนร่วมกับ PISA
PISA ทำการประเมินในเดือนสิงหาคม ของทุกๆ 3 ปี เช่น เดือนสิงหาคม 2018 สำหรับ PSA 2018 และได้ประกาศผลพร้อมกันในทุกประเทศ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 สำหรับครั้งต่อไปจะเป็น PISA 2021 ที่จะประเมินในเดือนสิงหาคม 2564ไทยจึงต้องมีแผนระดับชาติด้วยความเข้าใจปัญหาของไทยในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในการเตรียมตัวนักเรียน ถ้าหากจะหวังผลให้คะแนนเฉลี่ย PISA 2021 สูงขึ้นกว่าเดิม
โรงเรียนของไทยที่ถูกสุ่ม ประกอบด้วย นักเรียนอายุ 15 ปีในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในชั้นเรียนต่อไปนี้
โรงเรียนสังกัด สพฐ. ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ม.4 ของโรงเรียนมัธยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา และอีกส่วนหนึ่งเป็นนักเรียน ม.3 ของโรงเรียนประถมศึกษา ที่มีห้องเรียนขยายโอกาส ม.3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนสังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน และสำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เป็นนักเรียน ปวช. ปี 1
แต่ สสวท. ไม่สามารถดำเนินการฝึกฝนนักเรียนเหล่านี้ให้คุ้นเคยกับข้อสอบ PISA ได้ ด้วยโรงเรียนและนักเรียนไม่ได้สังกัด สสวท. และ สสวท. ไม่มีส่วนให้ความดีความชอบกับโรงเรียนPISA เป็นผู้สุ่มโรงเรียนและนักเรียน แล้วให้ สสวท. เป็นผู้แจ้งโรงเรียนที่ถูกสุ่มให้ทราบโดยตรง โดยไม่ได้แจ้งให้ต้นสังกัดของโรงเรียนทราบ เช่น สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ฯลฯ โรงเรียนจึงไม่มีสิ่งจูงใจในการฝึกฝนนักเรียน และการเตรียมตัวนักเรียนที่ถูกสุ่ม ให้สอบ PISA ให้ได้คะแนนดี
ผลการประเมิน PISA ของประเทศไทย จึงได้คะแนนต่ำมาก ตลอดมาทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2543 จนถึงครั้งสุดท้ายคือ PISA 2000, PISA 2003, PISA 2006, PISA 2009, PISA 2012, และ PISA 2015 ที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก เช่น เวียดนาม ส่วน PISA 2018 ที่ได้ประกาศผลเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2019 คะแนน PISA 2018 ของประเทศไทยยิ่งต่ำไปกว่าเดิมอีก และยังคงอ้างสาเหตุว่ามาจากวิธีการสอนและคุณภาพของครูไม่ดี เช่นเดิม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสาเหตุมาจากการบริหารจัดการในระดับชาติในเรื่องนี้ ที่ไม่สอดคล้องกับการประเมินของ PISA
ประเทศไทยใช้การทดสอบ O-Net ของไทยเอง ที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของไทย ที่ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษากับนานาชาติได้ เพราะการสอบ O-Net ใช้แต่กับโรงเรียนของไทยเท่านั้น ไม่มีชาติอื่นเข้าร่วม แต่กระทรวงศึกษาธิการ ยังคงให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสอบ O-Net ว่าเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการโรงเรียน
ส่วนการประเมินของ PISA มีชาติต่างๆ เข้าร่วม ผลการประเมินของ PISA จึงได้ใช้เป็นตัวชี้วัดเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษากันระหว่างประเทศต่างๆ ดังที่องค์กรนานาชาติต่างๆ นำไปใช้อ้างถึง เมื่อคะแนนเฉลี่ย PISA ของประเทศไทยต่ำ จึงถูกเข้าใจโดยนานาชาติว่า การศึกษาของไทยมีคุณภาพต่ำ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว คะแนนเฉลี่ย PISA ต่ำ มาจากสาเหตุที่นักเรียนไทยไม่คุ้นเคยกับข้อสอบ PISA ที่มีการใช้ความรู้ในปัญหาของชีวิตจริง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว นักเรียนไทยมีความสามารถไม่ด้อยกว่าชาติใด
ประสบการณ์ของนักเรียนไทย ในการสอบข้อสอบ O-Net ไม่ช่วยให้การสอบ PISA ได้คะแนนสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน นักเรียนที่สอบ PISA ได้คะแนนดี จะสามารถสอบ O-Net ได้คะแนนดีด้วย ด้วยข้อเท็จจริง ดังนี้
ข้อสอบ O-Net ของไทย เป็นคำถามความรู้ตามหนังสือเรียนของหลักสูตร และส่วนใหญ่เป็นคำถามที่มีคำตอบให้เลือก หรือสอบแบบปรนัย ส่วนข้อสอบ PISA ของ OECD เป็นคำถามของปัญหาในชีวิตจริง ด้วยการใช้ความรู้ที่เรียนมาไปให้เหตุผลของคำตอบของปัญหานั้นๆ หรือสอบแบบอัตนัย แต่ครูไทยและนักเรียนไทยไม่มีประสบการณ์ในข้อสอบแบบอัตนัย
การสอบ O-Net ของไทย เป็นการให้นักเรียนทุกคนสอบ ไม่ได้ใช้วิธีการสุ่มนักเรียนมาสอบ
จึงเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับการสอบของโรงเรียน เช่น ถ้ามีนักเรียน ม.3 จำนวน 5 แสนคนทั้งประเทศ ก็ให้สอบ O-Net ทั้ง 5 แสนคน ส่วน PISA เป็นวิธีประเมินคุณภาพของการศึกษา ด้วยการใช้วิธีสุ่มนักเรียน ประมาณร้อยละ 1 เช่นเดียวกับวิธีการสุ่มตัวอย่างในการควบคุมคุณภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (Quality control in industry) เช่น ถ้ามีนักเรียน ม.3 จำนวน 5 แสนคนทั้งประเทศ จะสุ่มนักเรียนมาเพียงประมาณ 5,000 คนเท่านั้น เพื่อการทดสอบ และในเชิงสถิติ ก็จะสามารถบอกค่าเฉลี่ยของคุณภาพการศึกษาได้
ด้วย PISA ของ OECD เป็นการประเมินคุณภาพการศึกษาของนักเรียนอายุ 15 ปี ของทุกๆ 3 ปี ในประเทศต่างๆ พร้อมๆ กันทุกประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน ดังนั้น ในการวางแผนเพื่อให้คะแนนเฉลี่ย PISA ของไทยสูงขึ้น น่าจะต้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
(1) ระยะสั้นทันที สำหรับการประเมินครั้งต่อไป ในปี 2564 หรือ PISA 2021 ของนักเรียนอายุ 15 ปี ควรเร่งดำเนินเป็นการเฉพาะหน้าชั่วคราวล่วงหน้า เฉพาะนักเรียนรุ่นที่จะถูกสุ่มเมื่อมีอายุ 15 ปี ในปี 2564 เพื่อให้ได้คะแนนเฉลี่ย PISA 2021 สูงขึ้นด้วยในขณะนี้เป็นช่วงเวลาอยู่ในปลายปีการศึกษา 2562 นักเรียนรุ่นนี้กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ 2 จะมีเวลาฝึกฝนครูและนักเรียนในปีการศึกษา 2562 ให้คุ้นเคยกับข้อสอบ PISA และในปีการศึกษา 2563 นักเรียนรุ่นนี้จะขึ้นเรียนชั้น ม.3 ก็ให้มีการฝึกฝนต่อไปก่อนที่จะสอบในเดือนสิงหาคม 2564 ที่เมื่อนักเรียนรุ่นนี้มีอายุ15 ปี และส่วนใหญ่จะเรียนอยู่ในชั้น ม.4 ส่วนนักเรียนอายุ15 ปี ในโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส ยังเรียนอยู่ในชั้น ม.3ดังนั้น ก่อนถึงเดือนสิงหาคม 2564 นักเรียนรุ่นนี้ทั้งหมดทั้งประเทศที่จะมีอายุ 15 ปี เมื่อมีถึงเวลาสุ่มประเมิน ก็จะมีความคุ้นเคยกับข้อสอบแบบ PISA ล่วงมาแล้ว อย่างน้อย 2 ปี ก็จะทำให้คะแนนเฉลี่ยของการประเมิน PISA 2021 ของไทยสูงขึ้น และเพื่อเป็นการจูงใจให้โรงเรียนต่างๆ ดำเนินการอย่างจริงจัง สสวท. ควรร่วมมือกับ PISA ของ OECD ในการคำนวณคะแนนเฉลี่ยเป็นรายจังหวัด และให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดรางวัลความดีความชอบให้กับจังหวัดที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูง เป็นการจูงใจ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังสามารถใช้คะแนนเฉลี่ย PISA รายจังหวัด เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการการศึกษาเป็นรายจังหวัดได้อีกด้วย
(2) ระยะยาว ถ้าจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทย ให้ได้คะแนนเฉลี่ย PISA สูงขึ้นอย่างยั่งยืนสามารถเริ่มดำเนินการควบคู่กันไปกับมาตรการระยะสั้นได้ ด้วยการปรับปรุงรูปแบบข้อสอบของ O-Net โดยยังใช้ชื่อ O-Net อยู่เหมือนเดิมต่อไปก็ได้ เพื่อยังสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการโรงเรียน ตามความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ให้ปรับปรุงข้อสอบสำหรับมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.3 เป็นข้อสอบแบบPISA ใน 3 วิชา คือ การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ และการอ่านรู้เรื่อง ก็จะทำให้นักเรียน ม.ต้น ในทุกโรงเรียนของไทย มีประสบการณ์กับข้อสอบ PISA อย่างจริงจังล่วงหน้า
สำหรับการประเมิน PISA ในครั้งต่อๆ ไป ตั้งแต่ PISA 2024 ในเดือนสิงหาคม 2567 ของปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป นักเรียนไทยจะมีความคุ้นเคยกับข้อสอบ PISA ของ OECD มากขึ้น ส่วนวิชาอื่นๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ สุขศึกษา ฯลฯ เป็นวิชาตามค่านิยมของแต่ละประเทศ ที่แตกต่างกันตามประเทศ ก็ให้เป็นข้อสอบตามวิธีการเดิมของไทยต่อไป เพราะ PISA ไม่มีการประเมินวิชาเหล่านั้น ด้วยประเทศที่พัฒนาแล้วหรือ OECD มุ่งเน้นแต่การประเมินของวิชาที่ทุกประเทศมีเหมือนกัน (Common subjects) และเป็นวิชาเปรียบเทียบศักยภาพของนักเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก
การสอบ O-Net ด้วยวิชาแบบใหม่ตามที่เสนอมานี้ สามารถใช้วิธีการสุ่มโรงเรียนในแต่ละจังหวัด และสุ่มนักเรียนในแต่ละโรงเรียน โดยประมาณ 1 ใน 100 เช่นเดียวกับวิธีการ PISA ของ OECD ก็จะสามารถใช้เปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารจัดการการศึกษาระหว่างจังหวัดๆ ได้ สร้างให้เกิดความกระตือรือร้นในแต่ละจังหวัด นำไปสู่การกระจายคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ระหว่างโรงเรียนขนาดต่างๆ ในท้องที่ต่างๆของจังหวัด จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ ในแต่ละจังหวัดด้วย เพราะว่าจะเป็นการสุ่มโรงเรียนมาประเมิน อีกทั้งจะทำให้นักเรียนไทยคุ้นเคยกับการสอบแบบอัตนัย เพื่อให้สามารถสอบ PISA ที่จัดโดย OECD ได้คะแนนสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นของศักยภาพของคนไทยกับนักลงทุน โดยไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมากมายดังเช่นในปัจจุบัน
โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี