สภาฯ เห็นชอบรายงาน กมธ. กฎหมาย แนะชะลอใช้กม.ภาษีทีดิน สิ่งปลูกสร้าง ชี้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ - เจ้าของที่ใจกลางเมืองหัวใสเอามะนาวไปปลูกหวังลดหย่อนภาษี
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ตามที่สภาฯ มอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ฯ ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกมธ. พิจารณา
ทั้งนี้ในสาระสำคัญ นายปิยบุตร แถลงผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า จากการรับฟังความเห็นและคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่ากฎหมายดังกล่าวจะทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้ลดลง แม้จะงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนเตรียมไว้ แต่กรณีที่อปท.ขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมมีผลกระทบทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลง ทั้งนี้ จากผลการศึกษาขอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตราพระราชกำหนดชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อปรับปรุงเนื้อหา ให้มีความพร้อมให้มากกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้กทมธ.ฯ ไม่มีจุดยืนจะไม่สนับสนุนการเก็บภาษี แต่การเก็บภาษีต้องมีหลักการที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์โดยไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ
ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานอนุ กมธ. การศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ในกมธ.ฯ ยุติธรรมฯ แถลงด้วยว่าจากการศึกษารายะเอียดพบว่าเมื่อบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลง เช่น พื้นที่กทม.รายได้ลดลง ปีละ 1,200 ล้านบาท หรือพื้นที่แหลมฉบัง รายได้ลดลงปีละ 200 ล้านบาท ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่น แต่พบว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณ จากกรรมการกระจายอำนาจ ทำให้ต้องรอ 1 ปี ซึ่งจะกระทบต่อแผนพัฒนาท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 พบว่า มีการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 โดยมีรายละเอียดสำคัญ คือ ลดภาษีอัตราร้อยละ 50 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ประเภท ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้เป็นเขื่อน หรือพื้นที่เกี่ยวกับเขื่อน และลดภาษีอัตรา ร้อยละ 90 สำหรับที่ดินสิ่งปลูกสร้างรอการขายของสถาบันการเงิน อาคารชุด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
“กมธ.ฯ มีข้อสังเกตว่า การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่บังคับใช้ เพราะได้ขยายเวลา ทำให้ให้ถึงเห็นความไม่พร้อม และสมบูรณ์ของกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้นปัญหาประเทศด้านเศรษฐกิจ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมมาไม่ถูกที่ ถูกเวลา และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์” นายชวลิต แถลงรายละเอียด
ทั้งนี้ ในการพิจารณารายละเอียด มีส.ส.อภิปรายสนับสนุนรายงานของกมธ.ฯ โดยเฉพาะการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีมิติหลากหลาย และประเมินให้รอบด้าน โดยเฉพาะรายได้ของประชาชน เศรษฐกิจในพื้นที่ร่วมด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะราคาประเมินของที่ดินเท่านั้น
โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมจาก ส.ส.ให้ยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวและยกร่างใหม่ อาทิ ความเห็นของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับและงดเว้นการบังคับใช้ เนื่องจากเป็นความล้มเหลวของการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายขัดหลักการของการจัดเก็บภาษีและสร้างความเหลื่อมล้ำ อาทิ บ้านหลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี เช่น คนรวย มีบ้าน 1 หลังราคาประเมิน 49.9 ล้านบาท ไม่เสียภาษี ขณะที่ตนฐานะชนชั้นกลาง บ้านชานเมือง 1.5 ล้านบาท เดินทางเข้าตัวเมืองทุกวันตัดสินใจต้องซื้อคอนโดเพื่ออาศัยเป็นหลังที่สอง ทำให้ต้องเสียภาษีบ้านหลังที่สอง เป็นต้น ทั้งนี้ควรให้สภาฯ เป็นผู้พิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว
เช่นเดียวกับนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายภาษีที่ดินขาดความรอบคอบ และคล้ายกับตรากฎหมายโดยเจ้าของโรงงาน ดังนั้นต้องยกเลิกและจัดทำเนื้อหาใหม่เพื่อให้ อปท. สามารถจัดเก็บรายได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ตัดตอน รวมถึงต้องคำนึงต่อประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ และความยุติธรรมในสังคมด้วย
ส่วนนายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า เนื้อหาทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียบเปรียบในบางพื้นที่ และสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ต่อการประเมินอัตราการเก็บภาษี เช่น กรณีของธุรกิจทำฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ ที่ถูกตีความว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เสียภาษีในอัตราต่ำ เป็นต้น
ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนเห็นว่า 4 ปีที่ทาง สนช. ได้พิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดิน ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 นั้น ไม่ได้มีการพิจารณาผลกระทบ ละเลยการพิจารณาถึงมาตรการเยียวยาและแก้ปัญหาถึงผลกระทบในเรื่องนี้ อีกทั้ง ในพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีข่าวปรากฏว่ามีการปลูกมะนาวเพื่อลดหย่อนอัตราภาษีนั้น ตนมีข้อเสนอว่า ควรจะมีการเปิดโอกาสให้เป็นสวนสาธารณะหรือพื้นที่ที่สาธารณะสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ว่า ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้สะท้อนปัญหาพื้นฐานของระบบกฎหมายของประเทศ เพราะ กฎหมายที่ออกมานี้ยังคิดถึงวิธีการปฏิบัติน้อย จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักการพื้นฐาน 3 ประการคือ
1. เป้าหมายของ พ.ร.บ. และเจตนารมณ์ยังไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ของผู้เสียภาษี และเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงเรื่องที่สำคัญคือเรื่องความเป็นธรรมของสังคม
2. มาตราข้อบัญญัติต่างๆ ไม่ชัดเจน เพราะเมื่อไปสู่การปฏิบัติแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตีความข้อบัญญัติเหล่านั้น เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติ และ กมธ. ต้องคิดต่อไปด้วยว่า การปฏิบัติเหล่านั้นต้องตอบเจตนารมณ์ของ พรบ. ด้วย ขณะที่การตีความของผู้ปฏิบัติแต่ละคนในหน่วยงานเดียวกันตรงกันหรือไม่ บ่อยครั้งจะพบว่าขัดแย้งกันไม่สอดคล้องกัน
3. เมื่อนำกฎหมายไปบังคับใช้ในบริบทพื้นที่ ในเวลา และเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน จะบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร โดย พรบ.ฉบับนี้เป็นตัวอย่างที่บอกว่าไม่มีหลักเกณฑ์และไม่มีกรอบในเรื่องเหล่านี้ และผิดหลักทฤษฎีกฎหมายเบื้องต้น
"ผมขอเสนอให้ กมธ. นำร่าง พรบ. ไปให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทดลองปฏิบัติจริงในวงจำกัดก่อน เพื่อให้รู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกฎหมายฉบับดังกล่าว และเมื่อทราบถึงปัญหาแล้วก็จะนำมาแก้ร่างกฎหมายเพื่อให้ตอบโจทย์ในทางปฏิบัติได้จริง " นายกนกกล่าว
นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ระบุว่า ความไม่พร้อมของท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีและปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและอยู่ในเขตพื้นที่เกษตรกรรมหรือชนบท และกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ เพราะฉะนั้น ตนจึงเห็นด้วยที่จะให้ทางรัฐบาลมีการชะลอกฎหมายฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่สภาฯ ได้อภิปรายเสนอความเห็นนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง กล่าวว่าจากการรับฟังการอภิปรายไม่มีส.ส. ไม่เห็นด้วยกับกมธ.ฯ ทั้งนี้เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอื่นถือว่า สภาฯ ให้ความเห็นชอบกับรายงานของกมธ. และสภาฯ จะแนบข้อเสนอแนะของส.ส.ให้กับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และองค์กรที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี