วันนี้ (6 ตุลาคม 2563) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบ
เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 และให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ดังนี้
1. ร่างพระราชกฤษฎีกา
ปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ดังนี้
1.1 กำหนดนิยามคำว่า “จังหวัด” “กลุ่มจังหวัด” “ภาค” “แผนพัฒนาจังหวัด” “แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด” “แผนพัฒนาภาค” “ภาคประชาสังคม” ฯลฯ
1.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เรียกโดยย่อว่า “ก.บ.บ.” ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (2) รองนายกรัฐมนตรีทุกคน รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ.ร. และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (3) นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (4) ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสภาเกษตรแห่งชาติ (5) ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ก.พ.ร. ซึ่งประธาน ก.พ.ร. กำหนดหนึ่งคน (6) ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสองคน (7) ผู้แทนภาคประชาสังคมที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสองคน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการ สศช. เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการ สศช. ที่เลขาธิการ สศช. กำหนด ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.3 กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ก.บ.บ. เช่น เพิ่มเติมอำนาจในการกำหนดกรอบนโยบายและวางระบบในการบริหารงานภาคแบบบูรณาการ, กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจัดทำแผนพัฒนาภาค, บูรณาการแผนของส่วนราชการและแผนพัฒนาระดับพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนในพื้นที่ของกระทรวง กรม สอดคล้องกับศักยภาพหรือประเด็นปัญหาในพื้นที่และเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
1.4 กำหนดหน้าที่งานธุรการของ ก.บ.บ. จากสำนักงาน ก.พ.ร. เป็น สศช. และให้แก้ไขระยะเวลาของแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด จาก 4 ปี เป็น 5 ปี
1.5 กำหนดให้ผู้ให้ความเห็นชอบแผน เดิมเป็นคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนเป็นให้ ก.บ.บ. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบแทน และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และกำหนดให้แก้ไขปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดหรือแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดนำเสนอ ก.บ.จ. หรือ ก.บ.ก. พิจารณาแล้วแต่กรณี แล้วส่ง ก.บ.บ. ให้ความเห็นชอบ และกำหนดให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาภาค และระยะเวลาของแผนพัฒนาภาค ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงในปัจจุบัน
1.6 กำหนดให้ประกาศ หลักเกณฑ์ แนวทาง มติ หรือคำสั่ง ซึ่งได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณการ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป จนกว่าจะมีการออกประกาศ หลักเกณฑ์ แนวทาง มติ หรือคำสั่ง ตามพระราชกฤษฎีกานี้
2. ร่างระเบียบ
กำหนดให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ ก.พ.ร. เสนอว่า
1) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดหลักการการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นกรรมการและเลขานุการ และกำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ ก.น.จ. และหน้าที่อื่นตามที่ ก.น.จ. กำหนด และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาค โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บภ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
2) สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า โดยที่ในปัจจุบันการจัดทำและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด การจัดทำและบริหารงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จะต้องปฏิบัติตามนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ตามข้อ 1) ได้แก่ ก.น.จ. และ ก.บ.ภ. แต่โดยที่องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกัน จึงเห็นควรยุบรวมคณะกรรมการทั้ง 2 คณะดังกล่าว แล้วจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.บ.บ.) และกำหนดให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รับผิดชอบงานเลขานุการของ ก.บ.บ. เพียงหน่วยงานเดียว
3) ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการโอนภารกิจของ ก.น.จ. จากสำนักงาน ก.พ.ร. ไปยัง สศช. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนออนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการตีความและวินิจฉัยปัญหากฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน (อ.ก.พ.ร.) พิจารณา ก่อนเสนอ ก.พ.ร. ให้ความเห็นชอบและให้ดำเนินการต่อไปได้
4) สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 และกำหนดให้จัดตั้ง ก.บ.บ. ขึ้น โดยยุบรวม ก.น.จ. แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 กับ ก.บ.ภ. แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ให้เหลือเพียงคณะกรรมการเดียว และกำหนดให้ สศช. รับผิดชอบงานเลขานุการของ ก.บ.บ. ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการโอนงานภารกิจของ ก.น.จ. จากสำนักงาน ก.พ.ร. ไปยัง สศช. ตามข้อ 3) ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะทำให้การดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด การจัดทำและบริหารงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีการบูรณาการการทำงาน ลดความซ้ำซ้อนและดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
5) อ.ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามที่ ก.พ.ร. มีมติมอบหมายตามข้อ 3) โดยได้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... โดยมีผู้แทนจาก สศช. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ เข้าร่วมประชุมด้วย และเห็นด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 2 ฉบับดังกล่าว และให้นำเสนอ ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาต่อไป
6) ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. ... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ตามข้อ 5) และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีข้อสังเกต เรื่อง องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ว่า ก.บ.จ. มีความจำเป็นต้องมีผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ เช่น เมืองพัทยา เข้าร่วมเป็นองค์ประกอบของ ก.บ.จ. เหมือนดังเช่นคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) หรือไม่ ทั้งนี้ ควรให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกันในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ต่อไป
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 2 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการตรวจพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเกี่ยวกับการใช้เงินกู้และให้สินเชื่อ การรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดชั้นสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง ของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน อันเป็นการสร้างเสถียรภาพแก่สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 89/2 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 (เรื่อง แนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) รวมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งสั่งการว่า ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวมถึงกองทุนออมทรัพย์อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาทางการเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินงานและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....
1.1 กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภท ตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไข ดังนี้
1.1.1 เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน เป็นการให้เงินกู้ในกรณีสมาชิกมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนจะกำหนดงวดชำระนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด
1.1.2 เงินกู้สามัญ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายหรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่าง ๆ จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด
1.1.3 เงินกู้พิเศษ เป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ หรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด
1.2 กำหนดให้ผู้ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย ดังนี้
1.2.1 มีความมั่นคงทางการเงิน และมีความสามารถในการชำระหนี้
1.2.2 มีความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี และได้ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ และระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัดสม่ำเสมอ
2. ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....
2.1 กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์กำหนดดอกเบี้ยเงินรับฝากทุกประเภทเป็นไปตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด
2.2 กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้กู้เงินสามารถกู้เงินได้เฉพาะจากสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภท ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นในนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ว่าด้วยการให้กู้ยืมเงิน กองทุนพัฒนาสหกรณ์หรือกองทุนอื่นตามที่นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนด
2.3 กำหนดให้การก่อหนี้และภาระผูกพันของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะต้องอยู่ภายในหลักเกณฑ์ ดังนี้
2.3.1 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 1.5 เท่า ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์
2.3.2 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 5 เท่า ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์
2.3.3 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกิน 3 ปี
3. ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....
3.1 กำหนดให้สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร เงินฝากชุมนุมสหกรณ์หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ และหลักทรัพย์หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท
3.2 กำหนดให้ชุมนุมสหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย ธปท. หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท
4. ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....
4.1 กำหนดให้สหกรณ์จัดชั้นลูกหนี้เงินกู้ ได้แก่ ลูกหนี้จัดชั้นปกติ ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ และลูกหนี้จัดชั้นสูญ
4.2 กำหนดให้สหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินคงเหลือสำหรับลูกหนี้จัดชั้น ดังนี้
4.2.1 ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ร้อยละ 2
4.2.2 ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 20
4.2.3 ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย ร้อยละ 50
4.2.4 ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ ร้อยละ 100
4.2.5 ลูกหนี้จัดชั้นสูญ ร้อยละ 100
5. ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. ....
5.1 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้เงินแก่สหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงินหรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก
5.2 สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับสหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ยกเว้นกรณีสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เพื่อสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. เนื่องจากปัจจุบันการจราจรในพื้นที่บนเส้นทางของถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนนครอินทร์ ถนนราชพฤกษ์ ถนนกาญจนาภิเษก และจุดตัดทางแยกต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง มีสภาพติดขัดค่อนข้างมาก ซึ่งมีสาเหตุจากปริมาณรถส่วนหนึ่งต้องเดินทางผ่านถนนสายหลักเดิม เพื่อมุ่งสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากถนนสายหลักเดิมมีปริมาณการจราจรเกินความจุของถนนที่จะสามารถรองรับได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดสภาพการจราจรติดขัดต่อเนื่องและสะสมเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) เสร็จแล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดปริมาณจราจรเข้ามาใช้เส้นทางโดยรอบมากขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพการจราจรติดขัด และอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมถึงเพิ่มอัตราความเร็วเฉลี่ยในการเดินทาง บนโครงข่ายถนนโดยรอบพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนดังกล่าว รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคมระดับพื้นที่และภูมิภาค รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเจริญเติบโตของเมือง จึงจำเป็นต้องสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก
2. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎา บดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก และทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 1,152.23 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) มีค่า 16.60% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) มีค่า 1.45 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ
3. การคาดการณ์ปริมาณการจราจรในอนาคต กรณีที่มีโครงการฯ กับกรณีที่ไม่มีโครงการฯ บนถนนโครงข่าย ผลการคาดการณ์พบว่า กรณีมีโครงการจะทำให้จำนวนของยานพาหนะ (Passenger Car Unit: PCU) ลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในตัวเมือง ทำให้การเดินทางมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ดังนี้
เส้นทาง |
ปริมาณการจราจร (pcu/วัน) |
||||
2567 |
2572 |
2577 |
2582 |
2592 |
|
ถนนรัตนาธิเบศร์ - กรณีไม่มีโครงการฯ - กรณีมีโครงการฯ |
129,475 124,363 |
137,575 130,875 |
144,238 138,788 |
153,050 145,038 |
172,725 163,163 |
ถนนนครอินทร์ - กรณีไม่มีโครงการฯ - กรณีมีโครงการฯ |
134,288 126,725 |
148,200 142,025 |
155,675 150,213 |
162,200 157,425 |
187,650 180,175 |
ถนนราชพฤกษ์ - กรณีไม่มีโครงการฯ - กรณีมีโครงการฯ |
115,588 113,275 |
124,988 120,088 |
133,950 131,625 |
152,713 143,288 |
189,000 175,138 |
ถนนกาญจนาภิเษก - กรณีไม่มีโครงการฯ - กรณีมีโครงการฯ |
200,513 192,213 |
215,513 204,963 |
227,938 211,150 |
238,888 224,925 |
275,325 260,550 |
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ - กรณีไม่มีโครงการฯ - กรณีมีโครงการฯ |
32,188 78,575 |
35,125 89,675 |
37,475 97,088 |
43,950 109,175 |
51,500 125,488 |
ถนนโครงการฯ - กรณีมีโครงการฯ |
46,413 |
57,713 |
66,500 |
84,788 |
99,475 |
4. ลักษณะของโครงการสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) กับถนนกาญจนาภิเษก เป็นถนนกำหนดให้ก่อสร้างใหม่ ขนาด 6 – 8 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร ชนิดผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ทางเท้ากว้าง 3.75 เมตร เกาะกลางแบบยกกว้าง 3.00 เมตร เขตทางกว้าง 30.00 – 50.00 เมตร มีระยะทางประมาณ 3.827 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ 160 ไร่ จำนวน 340 แปลง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 220 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 4,032.00 ล้านบาท (ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 15.00 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 2,396.00 ล้านบาท ค่าก่อสร้างประมาณ 1,621.00 ล้านบาท)
5. สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นควรที่กรมทางหลวงชนบทจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ซึ่ง สงป. จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมทางหลวงชนบทตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว
6. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมต่อโครงการมีผู้เห็นด้วย ร้อยละ 55.50
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเลน และตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
4. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ. 2559 โดยแก้ไขมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เนื้อหาไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในแผนที่ท้ายประกาศฯ เพื่อให้มีความชัดเจนในการบังคับใช้ รวมทั้งปรับปรุงมาตรการที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนหรือขัดต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นหรือนโยบายภาครัฐต่าง ๆ
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดให้เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะระ เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งทุ เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนโครงการอำเภอคุระบุรี แปลงที่หนึ่ง และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลน โครงการกิ่งอำเภอคุระบุรี แปลงที่สาม เป็นบริเวณที่ 2 เขตสงวนและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ และยกเลิกการกำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ – เกาะพระทอง เป็นเขตสงวนและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ในบริเวณที่ 2 ดังกล่าว
2. กำหนดให้พื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลของเกาะระ เกาะพระทอง เกาะคอเขา เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย และเกาะหมากน้อย และพื้นที่เกาะต่าง ๆ ยกเว้นบริเวณที่ 1 บริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 4 เป็นบริเวณที่ 5 เขตจัดการชายฝั่งทะเลและเกาะ
3. กำหนดห้ามกระทำการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในบริเวณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ. 2559 โดยยกเว้นให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อการทำประมงพื้นบ้าน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการศึกษาวิจัย ยกเว้นให้สามารถดำเนินโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐในเขตการจัดการชายฝั่งทะเลและเกาะ และยกเว้นให้สามารถสร้างสุสานแห่งใหม่ในพื้นที่เกาะยาว ในระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 400 เมตร ได้
4. กำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดมีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อโครงการ กิจกรรม หรือกิจการ รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ได้
5. กำหนดให้ยกเลิกแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ. 2559 และให้ใช้แผนที่ท้ายประกาศฉบับนี้แทน
5. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมการค้าภายใน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมการค้าภายใน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
พณ. เสนอว่า
1. เนื่องจากกรมการค้าภายในมีภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดหลายประการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ได้แก่ การติดตาม การตรวจสอบสินค้าและบริการ เครื่องชั่งตวงวัด การตรวจค้น การยึด หรือการอายัดสินค้าและเครื่องชั่ง และทำการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการตามภารกิจของกรมการค้าภายในดังกล่าวจำเป็นต้องปฏิบัติงานตรวจสอบผู้ประกอบการและผู้บริโภค และต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายนอกที่ตั้งที่ทำการของกรมการค้าภายใน
2. ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของข้าราชการกรมการค้าภายในมีความคล่องตัวและเหมาะสมกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ข้าราชการกรมการค้าภายในมีเครื่องแบบพิเศษเพิ่มขึ้นจากเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน และมีเครื่องแบบที่เหมาะสมกับภารกิจของกรมการค้าภายใน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 และในสถานการณ์จากภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งจะมีผลทำให้สินค้าขาดแคลนและมีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร
3. กรมการค้าภายในจึงได้เสนอร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมการค้าภายใน พ.ศ. .... ต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของส่วนราชการแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563
จึงได้เสนอร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมการค้าภายใน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี
กำหนดลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมการค้าภายใน รวมทั้งวิธีการแต่งเครื่องแบบดังกล่าว ดังนี้
1. เครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมการค้าภายในชายมี 2 ชนิด
(1) เครื่องแบบปฏิบัติงานปกติ ประกอบด้วย หมวกแก๊ปทรงอ่อน มีกะบังสีกรมท่า เสื้อคอพับสีกรมท่าแขนยาวหรือแขนสั้น กางเกงขายาวสีกรมท่า เข็มขัดด้ายถักสีกรมท่า และรองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อหนังหรือวัตถุเทียมหนังสีดำ
(2) เครื่องแบบปฏิบัติงานสนาม ประกอบด้วย หมวกแก๊ปทรงอ่อน มีกะบังสีกรมท่า เสื้อคอแบะหรือเสื้อคอแบะปล่อยเอวสีกรมท่าแขนยาวหรือแขนสั้น กางเกงขายาวสีกรมท่า เข็มขัดสนามสีดำ และรองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อหนังหรือวัตถุเทียมหนังสีดำ
2. เครื่องแบบพิเศษข้าราชการกรมการค้าภายในหญิงมี 2 ชนิด
(1) เครื่องแบบปฏิบัติงานปกติ ประกอบด้วย หมวกพับปีกสีกรมท่าหรือหมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสีกรมท่า เสื้อคอพับหรือเสื้อคอแบะปล่อยเอวสีกรมท่าแขนยาวหรือแขนสั้น กระโปรงหรือกางเกงขายาวสีกรมท่า เข็มขัดด้ายถักสีกรมท่า และรองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อหนังหรือวัตถุเทียมหนังสีดำ
(2) เครื่องแบบปฏิบัติงานสนาม ประกอบด้วย หมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสีกรมท่า เสื้อคอแบะหรือเสื้อคอแบะปล่อยเอวสีกรมท่าแขนยาวหรือแขนสั้น กางเกงขายาวสีกรมท่า เข็มขัดสนามสีดำ และรองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อหนังหรือวัตถุเทียมหนังสีดำ
3. ส่วนประกอบของเครื่องแบบพิเศษของข้าราชการหญิงและข้าราชการหญิงมุสลิม ได้แก่ หมวกแก๊ปทรงอ่อนมีกะบังสีกรมท่า ทำด้วยผ้าเสิร์จ ตอนหน้ามีกะบังสีเดียวกับหมวกทำด้วยผ้าเสิร์จบุรองในเสริมให้แข็งแรงมนรอบจากแนวขอบหมวกส่วนกว้างที่สุดวัดจากกึ่งกลางหน้าหมวก 8 เซนติเมตร เย็บติดด้วยด้ายสีเดียวกันเป็นวงตามแนวโค้ง 3 วง ห่างกันพองาม ตราหน้าหมวกเป็นเครื่องหมายราชการ พณ. ปักด้วยไหมหรือด้ายสีเหลืองอ่อนเหลือบเงาเข้ม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร อยู่ตรงกึ่งกลางหมวกและกำหนดให้ข้าราชการหญิงมุสลิม ใช้ผ้าคลุมศีรษะสีกรมท่าโดยให้คลุมศีรษะทั้งหมดยกเว้นใบหน้า ชายผ้าคลุมศีรษะสอดไว้ในปกคอเสื้อด้านหน้าและด้านหลัง ในกรณีมีการสวมหมวกให้สวมทับผ้าคลุมศีรษะ
4. เครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนู ได้แก่ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ และตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง มีแถบดิ้นทองจำนวน 2 แถบ กว้างแถบละ 0.5 เซนติเมตร ตรึงตามแนวยาวด้านข้างบนอินทรธนู ห่างจากขอบด้านข้างอินทรธนูข้างละ 0.2 เซนติเมตร บนแผ่นอินทรธนูประดับด้วยช่อชัยพฤกษ์ผูกมัดรวมกัน 1 ช่อ ทำด้วยโลหะสีทองห่างจากต้นอินทรธนูขึ้นมา 0.5 เซนติเมตร เหนือขึ้นมาประดับรูปหมวกงอบ ทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยโลหะสีทองจำนวน 4 ใบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 เซนติเมตร ประดับเรียงเป็นแนวสี่เหลี่ยม เป็นต้น
5. วิธีการแต่งเครื่องแบบ กำหนดให้เครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมการค้าภายในจะต้องแต่งในโอกาสใดให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมการค้าภายในกำหนดและข้าราชการกรมการค้าภายในซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ หรือเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศให้ประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่อกเสื้อเหนือกระเป๋าบนซ้าย ในกรณีที่มีแถบแพรหลายแถบให้ติดเรียงกันเป็นแถวยาว แถวละไม่เกิน 5 แถบ เป็นต้น
6. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลมีชัย ตำบลหนองกอมเกาะ และตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลมีชัย ตำบลหนองกอมเกาะ และตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลมีชัย ตำบลหนองกอมเกาะ และตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เพื่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 233 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 243 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัดและจะเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยในหลักการ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการเวนคืนตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้แล้ว ซึ่งมีผู้เห็นด้วยกับโครงการประมาณร้อยละ 91.40
7. เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. ตามที่ได้มีพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดวงเงินกู้เพื่อนำไปใช้สำหรับแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และต้องดำเนินการกู้เงินภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดไปแล้ว 18 โครงการ วงเงินรวม 386,786 ล้านบาท และหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการและเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน 295,196 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2563)
2. โดยที่มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561กำหนดให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ ต้องมีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และข้อ 22 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 กำหนดให้การติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
3. ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนด และเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จึงได้ยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ขึ้น และได้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 พฤษภคม 2563 เพื่อทราบแล้ว และได้ปรับปรุงร่างระเบียบดังกล่าวตามประเด็นและข้อสังเกตของที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว
จึงได้เสนอร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการติดตาม ประเมินผล และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการฯ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดให้มีการกำกับติดตามความก้าวหน้าของโครงการ โดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเป็นรายเดือนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือตามแบบที่ สบน. กำหนด และให้ สบน. จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเป็นรายเดือน ส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานความก้าวหน้าของโครงการต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งให้ สบน. นำส่งรายงานดังกล่าวให้คณะกรรมการประเมินผลแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019เพื่อทราบ
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ สบน. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการประเมินผลฯ มีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนด เช่น ทำหน้าที่ประเมินผลทั้งในส่วนของการประเมินผลโครงการและการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพี่อทราบและกำหนดแนวทางและวิธีการประเมินผลโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินกู้ในแต่ละแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด
3. กำหนดให้เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำรายงานผลสำเร็จของโครงการ ส่งให้คณะกรรมการประเมินผลฯ ภายใน 60 วัน และให้คณะกรรมการประเมินผลฯ ดำเนินการประเมินผลโครงการ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการประเมินความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน โดยให้จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างน้อยทุก 6 เดือน พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลโครงการส่งให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อทราบ
4. กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลฯ จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างน้อยทุก 6 เดือน
5. กำหนดให้เมื่อดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนดแล้วเสร็จทุกโครงการ ให้คณะกรรมการประเมินผลฯ จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
6. กำหนดให้ สบน. จัดทำสรุปการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดในภาพรวม เสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบ พร้อมกับรายงานการกู้เงินของ กค. ตามมาตรา 10 ของพระราชกำหนด ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ รวมทั้งกำหนดให้มีการเผยแพร่ผลการประเมินดังกล่าวในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย
เศรษฐกิจ - สังคม
8. เรื่อง การเลื่อนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 จากเดิม ในปี พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) เป็น ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กก. รายงานว่า
1. กก. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) (คณะกรรมการอำนวยการฯ) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน และในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) และคณะกรรมการระดับฝ่าย 7 ฝ่าย ประกอบด้วย (1) ฝ่ายอำนวยการ (2) ฝ่ายจัดการแข่งขันและสนับสนุนการดำเนินการ (3) ฝ่ายกำกับดูแลและติดตาม (4) ฝ่ายงบประมาณและการเงิน (5) ฝ่ายเลขานุการและประชาสัมพันธ์ (6) ฝ่ายวัฒนธรรม การศึกษา และมรดกโอลิมปิก และ (7) ฝ่ายเมืองเจ้าภาพ
2. คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ) ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 แจ้งการเลื่อนจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่ 4 ณ สาธารณรัฐเซเนกัล จากเดิมกำหนดจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) เป็นปี พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) ตามข้อเสนอของประธานาธิบดีสาธารณรัฐเซเนกัล จึงทำให้ประเทศไทยต้องเลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ จากเดิมปี พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) ออกไปเป็นปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
3. คณะกรรมการดำเนินการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 โดยมีพลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฯ ครั้งที่ 5 เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบให้ประเทศไทยเลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฯ จากเดิม ในปี พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) เลื่อนไปเป็นปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)
4. คณะกรรมการบริหารคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มีมติในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ดังนี้
4.1 เห็นชอบให้มีการเสนอตัวรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 2030 ต่อไป
4.2 ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยมีหนังสือนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ในปี พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) ต่อไป
9. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ และเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ของนายลำพูน กองศาสนะ ที่จังหวัดสตูล
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 และเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ตามคำขอที่ 1/2559 ของนายลำพูน กองศาสนะ ที่จังหวัดสตูล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 และขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และ 4 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
1. อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมป่าไม้และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (กรมอนามัย) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยมีอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นประธานการประชุม ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ การดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการที่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการ มีส่วนร่วม การดูแลด้านสุขอนามัยของชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ มีการจัดตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ และไม่มีการร้องเรียนคัดค้านจากราษฎรในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุมไม่มีเหตุขัดข้อง โดยที่ประชุมมีมติให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นำเสนอคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งต่อไป ซึ่ง อก. ได้แจ้ง ทส. กษ. และ สธ. เพื่อทราบผลการประชุมหารือดังกล่าวแล้ว
2. นายลำพูน กองศาสนะ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 2/2559 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งแปลง ซึ่งครบกำหนดสิ้นอายุเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 และได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมเนื้อที่ 265 ไร่ 2 ตารางวา ที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และขออนุญาตเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เนื้อที่ 102 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ของลุ่มน้ำภาคใต้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 มีรายละเอียด ดังนี้
รายการ |
รายละเอียด |
||||||||||
เนื้อที่ |
คำขอประทานบัตร มีเนื้อที่รวม 265 ไร่ 2 ตารางวา ดังนี้
คำขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เนื้อที่ 102 ไร่ โดยขออนุญาตทับพื้นที่ใบอนุญาตฯ เดิม ดังนี้
|
||||||||||
ลักษณะพื้นที่ |
1) พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ป่า โดยได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ไว้แล้ว
2) อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564 3) ไม่อยู่ในแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ 4) มีสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม |
||||||||||
ความคุ้มค่า |
โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยพบว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 282.67 ล้านบาท มีมูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 242.91 ล้านบาท |
||||||||||
การเห็นชอบ/อนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน |
1) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกรทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับคำขอประทานบัตรแล้ว 2) ทส. เห็นชอบตามที่ อก. เสนอ 3) องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนุ้ยได้เห็นชอบในการขอประทานบัตรแล้ว 4) การทำเหมืองที่ผ่านมาและการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน 5) ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร และการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่แต่อย่างใด |
3. การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี
10. เรื่อง นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ปี 2564 - 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี โดยกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้า (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ปี 2564 - 2566 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ตามที่คณะกรรมการนโยบายอาหารเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายอาหารรายงานว่า
1. คณะกรรมการนโยบายอาหารพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี เพื่อบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม และสามารถเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสม รวมถึงให้เกิดความต่อเนื่องของมาตรการ โดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
2. คณะกรรมการนโยบายอาหาร ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 79) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 มีมติเห็นชอบนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี โดยกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าปี 2564 - 2566 ให้คงนโยบายและมาตรการนำเข้า เช่นเดียวกับปี 2561 - 2563 ทุกกรอบการค้า และจากประเทศนอกความตกลง ยกเว้นกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันในกรอบระยะเวลาปี 2564 - 2566 ให้กำหนดนโยบายและมาตรการตามข้อผูกพันของกรอบ ปี 2564 - 2566 มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
2.1 กากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.90 รหัสสถิติ 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ในภาคการเลี้ยงสัตว์ในประเทศและอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อสัตว์ (การนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าในโควตาภายใต้ WTO) ดังนี้
2.1.1 การนำเข้าภายใต้ WTO
ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 2 ผู้มีสิทธินำเข้าทั้งสิ้น 11 ราย (สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ชุมชุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด สมาคมพ่อค้าพืชผลไทย และสมาคมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป) หากมีผู้ยื่นขอมีสิทธินำเข้ารายใหม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการนโยบายอาหารพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธินำเข้าให้การสนับสนุนรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด (ให้กรมการค้าภายในพิจารณาให้สอดคล้องกับราคารับซื้อขั้นต่ำเมล็ดถั่วเหลืองเกรดสกัดน้ำมันที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนด โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการนโยบายอาหาร) โดยทำสัญญาปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวกับ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และต้องรายงานปริมาณการนำเข้า การจำหน่าย และการใช้กากถั่วเหลืองนำเข้า ตามแบบรายงานที่กรมการค้าภายในกำหนดเป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในประเทศ
นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 119
2.1.2 การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น ๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0 ]
2.1.3 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท
2.2 ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.10 ต้องขออนุญาตนำเข้า และปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.20 ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า [ปลาป่นไม่อยู่ภายใต้พันธกรณีการเปิดตลาดของไทยตามความตกลง WTO โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และมีการนำเข้าบางส่วนจากประเทศนอกความตกลง] ดังนี้
2.2.1 การนำเข้าภายใต้ทุกกรอบการค้า เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0]
2.2.2 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ปลาป่นโปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 อัตราภาษีร้อยละ 6 ปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 15
2.3 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พิกัดอัตราศุลกากร 1005.90.90.002 [การนำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)] ดังนี้
2.3.1 การนำเข้าภายใต้ WTO
ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณ 54,700 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า
นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 73 และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 บาท ไม่จำกัดปริมาณ
2.3.2 การนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษี ร้อยละ 0
(1) ให้องค์การคลังสินค้านำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า
(2) ผู้นำเข้าทั่วไป กำหนดช่วงเวลานำเข้าระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 สิงหาคม ของแต่ละปี (ช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดน้อยให้นำเข้าเพื่อให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์มีวัตถุดิบที่เพียงพอในการผลิตอาหารสัตว์) และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
2.3.3 การนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA)
ในโควตา ภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ โดยต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนตามความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย สำหรับภาษีในโควตา เพื่อประกอบการนำเข้า ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลการนำเข้ามีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกโควตา ภาษีร้อยละ 65.70 ไม่จำกัดปริมาณ
2.3.4 การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น ๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อัตราภาษีร้อยละ 0]
2.3.5 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีกิโลกรัมละ 2.75 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ มอบกระทรวงการคลัง (กค.) โดยกรมศุลกากร นำประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.90 รหัส 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2564 - 2566 และ พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหารเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน (ขณะนี้ กค. และ พณ. อยู่ระหว่างการร่างประกาศดังกล่าวจึงยังไม่ได้นำเสนอประกาศที่เกี่ยวข้องมาในคราวนี้)
11. เรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศในระยะยาว (5 - 10 ปี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศ ในระยะยาว (5 – 10 ปี) (ยุทธศาสตร์ฯ) ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในระดับกระทรวง [สธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม (กห.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ] และระดับหน่วยงาน (คณะแพทยศาสตร์ของ 19 มหาวิทยาลัยกับ 12 เขตสุขภาพ) จัดทำยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน จัดทำแผนกำลังคนตามการจัดระบบบริการโดยเขตสุขภาพ ของ สธ. (Service delivery & HR blueprint) สนับสนุนการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ขาดแคลน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ฯ ที่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ฯ ซึ่งประกอบด้วย 6 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (ศูนย์ฯ) ตามเขตพื้นที่การปกครองของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งแต่ละศูนย์ฯ ประกอบด้วยเครือข่ายหลักและเครือข่ายร่วม อาทิ พื้นที่ภาคเหนือมีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเครือข่ายหลัก และมีเครือข่ายร่วม เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยุทธสาสตร์ฯ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ (3) การลดความเหลื่อมล้ำของการได้รับบริการและสถานพยาบาล ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์
2. พันธกิจ
พัฒนาและส่งเสริม
· ขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันด้านสุขภาพกับต่างประเทศ
· ให้มีสถานบริการสุขภาพระดับ Excellence Center ครอบคลุมทุกภาค
· สถาบันการศึกษามีความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาทางการแพทย์
ในระดับนานาชาติ
· การสร้างนวัตกรรม และการวิจัยทางด้านสุขภาพ
3. จุดมุ่งหมาย
· ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้อย่าง
สะดวก ทั่วถึง เพียงพอ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
· การบริการทางการแพทย์สามารถแข่งขันกับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทย
มีความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา และการวิจัย
ทางการแพทย์
· เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสุขภาพ
และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ให้เกิดความคุ้มค่า เต็มศักยภาพ
เกิดการพัฒนาในระดับความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพ
ชีวิตของประชาชนในประเทศและการพัฒนาศักยภาพรองรับการให้บริการ
ด้านสุขภาพในระดับสากล
4. เป้าประสงค์
ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Excellence Center)
ศูนย์กลางการศึกษาด้านการแพทย์ (Academic Excellence Center)
ศูนย์กลางการวิจัยทางการแพทย์ (Research Excellence Center)
5. ตัวชี้วัด
1. อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ มะเร็ง การบาดเจ็บ และการแพทย์ฉุกเฉิน ทารกแรกเกิดลดลงตามเป้าที่กำหนด (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข)
2. การส่งต่อออกนอกเขตสุขภาพลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
3. อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 80 ปี
6. กรอบยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (Competitive Advantage)
· เน้นการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาการศึกษาเฉพาะทาง
· การพัฒนางานวิจัยในระดับสากล หรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพ (Health Service System Strengthening)
· เน้นการพัฒนาระบบการส่งต่อนอกเขตเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน ยุ่งยาก การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ การผลิตแพทย์เฉพาะทาง
· การพัฒนางานวิจัยในระดับประเทศหรือระดับสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของการได้รับบริการและสถานพยาบาล (Disparity of Services Rendering) เน้นการพัฒนาด้านพื้นฐานในเขตสุขภาพ 5 สาขาหลัก ได้แก่
· หัวใจและหลอดเลือด
· มะเร็ง
· การบาดเจ็บและการแพทย์ฉุกเฉิน
· ทารกแรกเกิด
· การปลูกถ่ายอวัยวะ
โดยยุทธศาสตร์ฯ ได้กำหนดผลที่คาดว่าจะได้รับ งบประมาณ รวมทั้งการติดตามและประเมินผล ดังนี้
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
งบประมาณดำเนินการ |
การติดตามและประเมินผล |
|
· ยกระดับคุณภาพบริการในระบบสุขภาพของประเทศเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนโดยรวมของประเทศ · พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์สถาบันการศึกษาในระดับภูมิภาค · มีเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่เทียบเคียงได้ในทุกภูมิภาค |
ปีงบประมาณ |
จำนวนเงิน (ล้านบาท) |
· รายกรอบยุทธศาสตร์ย่อย ติดตาม และประเมินผล โดยคณะกรรมการที่ได้ดำเนินการแต่งตั้ง · ภาพรวมของยุทธศาสตร์รายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นรายปี |
2563 |
19,007 |
||
2564 |
16,398 |
||
2565 |
13,083 |
||
2566 – 2570 |
14,135 |
||
รวมทั้งสิ้น |
62,623 |
2. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบในหลักการและให้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ โดยมุ่งเน้นใน 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่ง สธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดดังกล่าวแล้ว ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา
12. เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด (ตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด เพื่อป้องกันการทำลายหลักฐานที่สำคัญ อนุรักษ์เมืองเก่าไว้เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลัง และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป โดยพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่เมืองเก่ากลุ่มที่ 22 มีลักษณะเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง – คูเมือง และได้รับการกำหนดเป็นโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร รวมทั้งมีสถาปัตยกรรมและโบราณสถานที่ผ่านการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าความสำคัญในด้าน ต่าง ๆ แล้ว เช่น ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ด้านอายุและความเก่าแก่ ด้านสภาพอาคารและสถานที่ เป็นต้น
2. ในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
2.1 ให้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดตามขอบเขตพื้นที่ตามที่ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นกับจังหวัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546
2.2 กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ดเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป
3. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดมีเนื้อที่ทั้งหมด 3.01 ตารางกิโลเมตร โดยมีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่ (Zoning) ดังนี้
พื้นที่ที่ 1 บริเวณใจกลางเมืองร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองเก่าร้อยเอ็ด ประกอบด้วย วัดบึงพระลานชัย สระชัยมงคล บึงพลาญชัย ศาลหลักเมือง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด และอนุสาวรีย์ พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
พื้นที่ที่ 2 บริเวณวัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดราษฎร์ศิริ และย่านการค้า ถนนผดุงพานิชด้านตะวันออก ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง – คูเมือง ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดราษฎร์ศิริ ย่านชุมชนโดยรอบวัด และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านทิศตะวันออก
พื้นที่ที่ 3 บริเวณวัดสระทอง วัดเหนือ วัดคุ้มวนาราม และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านตะวันตก ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง – คูเมืองทางค้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือวัดสระทอง วัดเหนือ วัดคุ้มวนาราม ย่านชุมชนโดยรอบวัด และย่านการค้าถนนผดุงพานิชด้านทิศตะวันตก
พื้นที่ที่ 4 บริเวณวัดสระแก้ว และย่านชุมชนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง - คูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดสระแก้วและชุมชนโดยรอบวัด และย่านชุมชนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
พื้นที่ที่ 5 บริเวณย่านสถานที่ราชการ ประกอบด้วย แนวกำแพงเมือง - คูเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อาคารสถานที่ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และย่านชุมชนโดยรอบ
4. คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ดจะเป็นผู้กำหนด นโยบาย แผนงาน มาตรการ และแนวทางเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยอาศัยกรอบแนวทางที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าได้จัดทำขึ้น ซึ่งรวมถึงประเด็นการบริหารจัดการ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์โบราณสถาน และสถานที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญ การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน การควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร การควบคุมกิจกรรมบางประเภทที่ไม่เหมาะสม และมาตรการด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการจูงใจทางด้านภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าร้อยเอ็ด ประกอบด้วยแนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับเขตพื้นที่สรุปได้ ดังนี้
4.1 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทั่วไป
แนวทาง |
การดำเนินงาน |
1. การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ |
(1) การประชาสัมพันธ์โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การพบปะพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ (2) การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและจัดกิจกรรมเมืองเก่าอย่างต่อเนื่อง |
2. การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน |
(1) จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดกรอบการสร้างจิตสำนึกทางสังคม (2) ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างกลไกการเรียนรู้ต่าง ๆ และจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และกิจกรรมวันครอบครัวผ่านสื่อต่าง ๆ |
3. การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น |
จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ ฟื้นฟูงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม |
4. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต |
จัดให้มีบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และธุรกรรมบริการที่ครบสมบูรณ์สำหรับผู้อยู่อาศัยในย่านเมืองเก่าและนักท่องเที่ยวทุกเพศวัย |
5. การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ |
(1) คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบหรือระงับยับยั้งกิจกรรมการพัฒนาก่อสร้างที่จะเป็นผลกระทบต่อโบราณสถานและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (2) จัดให้มีการศึกษาปัญหาความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ วางแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันรักษาแหล่งศิลปวัฒนธรรมและจัดวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ |
6. การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม |
(1) ส่งเสริมพัฒนาทางเดินเท้า การใช้จักรยาน และพาหนะทางเลือก (2) นำระบบกระบวนการธรรมชาติและสภาพภูมิประเทศมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านกายภาพของชุมชนเมืองเก่า |
7. การดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ |
ขยายบทบาทองค์กรปกครองท้องถิ่นในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองในการดูแลมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อลักษณะทางกายภาพที่สำคัญของสิ่งก่อสร้างในย่านเมืองเก่า และส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาสภาพภายนอกของอาคารอย่างต่อเนื่อง |
4.2 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสำหรับเขตพื้นที่
แนวทาง |
การดำเนินการ |
1. ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน |
(1) ลดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนที่ไม่จำเป็นในเขตพื้นที่ศาสนสถาน (2) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหัตถกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การอยู่อาศัย ศาสนสถาน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ นันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น (3) ที่ดินบนแนวกำแพงเมืองและคูเมืองจะต้องฟื้นฟูพื้นที่ขอบให้เห็นชัดเจน |
2. ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม |
รักษาสภาพแวดล้อมโดยกำหนดความสูง สัดส่วนพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) ขนาด ลักษณะ แบบ รูปทรงของอาคารให้สอดคล้องและกลมกลืน หรือไม่ทำลายโบราณสถานในพื้นที่ |
3. ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง |
(1) ส่งเสริมให้มีทางเดินเท้าและการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเบาเพื่อลดมลภาวะ เช่น รถจักรยาน รถลากจูง เป็นต้น (2) ลดปริมาณการจราจร ห้ามรถบรรทุกหนักและรถขนาดใหญ่เข้าสู่พื้นที่ (3) จำกัดการก่อสร้างลานจอดรถขนาดใหญ่ |
4. ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์ |
(1) สร้างเส้นทางต่อเนื่องระหว่างตำแหน่งองค์ประกอบเมือง โบราณสถานและพื้นที่เปิดโล่งในเมือง โดยจัดให้มีทางคนเดิน ทางจักรยาน หรือพาหนะขนาดเบา (2) จัดทางคนเดินที่ปลอดภัย พร้อมอุปกรณ์สาธารณูปโภคอำนวยความสะดวก |
5. ด้านการบริหารและการจัดการ |
(1) ให้จังหวัดจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า (2) ให้จังหวัดออกประกาศ เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณเมืองเก่า (3) จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า และคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน (4) วางนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเมืองเก่า (5) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชน |
5. โดยที่เรื่องดังกล่าวได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ดแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วยกับขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด
_______________________________________________
2 คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 มีมติเห็นชอบการจัดลำดับความสำคัญเมืองเก่ากลุ่มที่ 2 รวม 27 เมือง ซึ่งรวมถึงเมืองเก่าร้อยเอ็ดด้วย
13. เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของการประปานครหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การประปานครหลวง (กปน.) ปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดจาก 113,520 บาท เป็น 142,830 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของการประปานครหลวง (กปน.) จาก 113,520 บาท เป็น 142,830 บาท ซึ่งเป็นบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนที่ กปน. ใช้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538 โดยเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อตามดัชนีราคาผู้บริโภคและภารกิจตามโครงการต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อให้ กปน. สามารถแข่งขันในเรื่องของการจ้างงานทั้งรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนได้ ซึ่งการปรับขยายเพดานอัตราเงินเดือนในครั้งนี้ กปน. ได้มีการวิเคราะห์ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กปน. คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสำนักงาน ก.พ. แล้ว
14. เรื่อง รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ (เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ และเสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป โดยรายงานดังกล่าวประกอบด้วย ความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค และการดำเนินการในระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้
1. ความคืบหน้ากิจกรรมสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 สศช. รายงานว่าในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 พฤษภาคม 2563) เห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 ให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการปฏิรูปประเทศเพิ่มเติมทุกด้าน ซึ่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ แล้ว จำนวน 13 ด้าน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 กรกฎาคม 2563) ให้ปรับปรุงรูปแบบของรายงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและให้แสดงการดำเนินงานที่มีลักษณะ พัฒนาการจากงานเดิมและเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิรูป มิใช่งานปกติ และเมื่อครบรอบระยะเวลาที่ต้องรายงานความคืบหน้าให้ สศช. เร่งรัดเสนอรายงานฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้เสนอต่อรัฐสภาให้ทันกำหนดเวลาแต่ละวงรอบต่อไป ดังนั้น การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ ในรอบเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 จึงรายงานตามรูปแบบที่ได้รับการสั่งจากคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความคืบหน้าในแต่ละกิจกรรมฯ ในรูปแบบตารางตามตัวอย่างในกรณีแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ดังนี้
เรื่องและประเด็นปฏิรูป |
กิจกรรมที่มีความคืบหน้าในรอบเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 |
ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ |
ความเชื่อมโยง |
||
ยุทธศาสตร์ชาติ |
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ |
เป้าหมายแผนแม่บทย่อย |
|||
4 ระบบ บริการ ปฐมภูมิ |
- สำนักสนับสนุนบริการปฐมภูมิได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เช่น ให้อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านสุขภาพปฐมภูมิเป็นผู้สนับสนุน การปฏิบัติหน้าที่ ของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 |
ประชาชน มีการเข้าถึงระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม |
3 ด้านการ พัฒนาและ เสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ |
13 การเสริมสร้าง ให้คนไทย มีสุขภาวะที่ดี |
130401 การกระจาย บริการสาธารณสุข อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ |
1.1 ความคืบหน้ากิจกรรมสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศที่มีลักษณะพัฒนาการจากงานเดิมเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิรูป มิใช่งานปกติและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน 12 ด้าน ดังนี้
1.1.1 ด้านการเมือง ได้แก่ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อการปฏิรูปประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พัฒนาแอพพลิเคชันฉลาดเลือก (Smart Vote) โดยเพิ่มเติมข้อมูลความรู้และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เช่น กฎหมาย ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชนได้รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ระบบฐานข้อมูลในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แก่ประชาชน ตลอดจนการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง
1.1.2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ การพัฒนาระบบดิจิทัล งานพื้นฐานของรัฐแบบรวมศูนย์รองรับการเชื่อมโยงข้อมูล และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเสนอผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มิถุนายน 2563) รับทราบและเห็นชอบ ดังนี้ (1) ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางของกรมการปกครอง หรือ สพร. โดยเร็ว (2) ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะไปปฏิบัติ เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) โดยในปีงบประมาณ 2563 ให้เน้นเปิดเผยชุดข้อมูลที่ยกระดับอันดับการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย (Open Data Ranking) และ (3) ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับ สพร. ให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานภาครัฐในการนำประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะไปปฏิบัติและดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐตามประกาศฯ ต่อไป ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ความสะดวกและรวดเร็วในการติดต่อหน่วยงานภาครัฐที่มีระบบดิจิทัลสำหรับใช้งานพื้นฐานในลักษณะแบบรวมศูนย์รองรับการเชื่อมโยงข้อมูล และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และลดการลงทุนซ้ำช้อนของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดทรัพยากร สนับสนุนให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
1.1.3 ด้านกฎหมาย ได้แก่ มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (26 พฤษภาคม 2563) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาพิจารณา โดยถือเป็นร่างกฎหมายตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การมีกลไกรองรับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนให้สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1.1.4 ด้านกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการพัฒนาและติดตั้งระบบการอนุญาโตตุลาการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E - Arbitration) เปิดใช้งานระบบตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 โดยในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 มีบุคคลเข้ามาลงทะเบียนใช้งานในระบบประมาณ 120 ราย และมีข้อพิพาทที่รับใหม่และข้อพิพาทที่แล้วเสร็จจำนวน 24 ข้อพิพาท โดยสามารถติดตามสถิติผู้ใช้งานระบบ E - Arbitration ผ่านเว็บไซต์ https:/tai.coj.go.th ทั้งนี้ ประโชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การอำนวยความสะดวกให้คู่พิพาทสามารถเสนอข้อเรียกร้องและคำคัดค้านสู้คดี รวมทั้งนำเสนอพยานหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว ผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้สถาบันอนุญาโตตุลาการจะมีการบริหารจัดการข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ สามารถเก็บรวบรวมสถิติและข้อมูลคดีที่ถูกต้อง และเป็นเวลาปัจจุบัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดทำและจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารภายในองค์กรและนอกองค์กรได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
1.1.5 ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การเพิ่มระดับการแข่งขันทางธุรกิจ – วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สศช. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในนามคณะทำงานสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อบูรณาการความร่วมมือหาแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ด้วยการมุ่งสร้างโอกาสในตลาดที่สำคัญ ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวได้ข้อสรุปในการเร่งรัดจัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้แก่ SME โดยเห็นชอบให้มีการยกร่างหลักเกณฑ์ฯ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน นอกจากนี้คณะทำงานได้มอบหมายให้ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงเพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ แนวทางหลักในการสนับสนุน SME ประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ด้าน ดังนี้ (1) การกำหนดสัดส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME อย่างน้อยร้อยละ 30 ของงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อกระจายโอกาสให้ SME ในท้องถิ่น (2) การกำหนดแต้มต่อพิเศษสำหรับ SME ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกรณี E-Bidding ร้อยละ 10 ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ ผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ รวมทั้งสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและปฏิบัติตามขั้นต้นและกระบวนการจัดจ้างของภาครัฐได้อย่างถูกต้อง
1.1.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเสริมสร้างระบบบริหารจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิดให้มีประสิทธิภาพ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste ระดับจังหวัด มีการขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางโดยประชาชน ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมจำนวน 676 แห่ง และได้ดำเนินกิจกรรมลดและคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จำนวน 94,011.93 ตัน ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563 รวมทั้ง จัดทำร่างเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประเภทเหล็กเสริมคอนกรีต และประเภทฉนวนกันความร้อนเสนอคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบและให้นำรายการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้ภาคราชการจัดซื้อตามประกาศกรมบัญชีกลางเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การมีส่วนร่วมในการจัดการขยะระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง และปริมาณขยะในแต่ละท้องที่มีแนวโน้มลดลงจากการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ และการส่งเสริมให้ภาครัฐอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดตลาดในการรับซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดรายได้และเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สามารถแข่งขันได้
1.1.7 ด้านสาธารณสุข ได้แก่ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ กรมอนามัย (กลุ่มส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ) กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสร้างการตระหนักรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ (1) ให้ความรู้และกระตุ้นพฤติกรรมพึงประสงค์ในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่าน facebook โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมและส่งต่อให้ความเห็น จำนวน 76,000 ครั้ง (2) วางแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 ภายใต้คณะทำงานภารกิจความรอบรู้ด้านสุขภาพและการรักษาระยะห่างทางสังคม และ (3) จัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อเฝ้าระวังและตอบโต้ความเสี่ยงด้านสุขภาพผ่านระบบของศูนย์ตอบโต้ความเสี่ยงเพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยมีนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 39 คน ร่วมเฝ้าระวังและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารปลอมด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สามารถดูแลสุขภาพมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และสามารถป้องกันและลดโรคที่สามารถป้องกันได้อย่างเหมาะสม
1.1.8 ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์/กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทเพื่อนำเทคโนโลยี บรอดแบนด์ไร้สายมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมเพื่อภารกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยมีการรวบรวมข้อมูลและเตรียมการเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์เบื้องต้น พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความเห็นในรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 2 - 17 เมษายน 2563 และจัดการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus group) ในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อพิจารณาหลักการเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการจัดทำร่างประกาศฯ ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนได้รับคือ ความสามารถในการบริหารจัดการสิทธิในชุดเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Package) และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน
1.1.9 ด้านสังคม ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กอช. มีจำนวนสมาชิกสะสม 2,370,872 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมีนาคม จำนวน 12,879 คน โดยสัดส่วนสมาชิกประกอบด้วย เกษตรกร ร้อยละ 48.07 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 6.35 ค้าขาย ร้อยละ 6.36 นักเรียน นิสิต นักศึกษา ร้อยละ 6.20 ผู้ประกอบวิชาชีพ ร้อยละ 0.53 ลูกจ้างชั่วคราว ร้อยละ 1.78 และผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ร้อยละ 30.71 ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ประชาชนที่เข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้รับการสนับสนุนให้เกิดการออมทรัพย์เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้เมื่อยามชราภาพ และเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐในอนาคตในด้านการดูแลผู้สูงอายุ
1.1.10 ด้านพลังงาน ได้แก่ แนวทางการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 และกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการยกร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2018) และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ การปรับโครงสร้างราคา รวมทั้งชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนมาตรการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทาง
1.1.11 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้แก่ ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะภายใน 2 ปี ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องร้องขอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแล้วอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้
1.1.12 ด้านการศึกษา ได้แก่ การพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการวัดประเมินผล เพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งการพัฒนาความรู้ และสมรรถนะด้านเนื้อหาสาระที่สอน ด้านศาสตร์การสอน ด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยีในการเรียนรู้และการสอนด้านการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และด้านบทบาทของครูในยุคใหม่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการ “การขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Computing science)” ได้แก่ (1) จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9 หลักสูตร (2) อบรม ศึกษานิเทศก์หลักสูตรการให้คำปรึกษาและการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับศึกษานิเทศก์ (Coding Mentor) 5 ภูมิภาค โดยมีศึกษานิเทศก์เข้ารับการอบรมและผ่านเกณฑ์ จำนวน 450 คน (3) พัฒนาหลักสูตรวิทยาการคำนวณสำหรับครู จำนวน 5 หลักสูตรเป็นระบบออนไลน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และร่างหลักสูตรพัฒนาครูระบบออนไลน์ จำนวน 5 หลักสูตร ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือ นักเรียนและนักศึกษาในพื้นที่ได้รับการเรียนการสอนจากบุคลากรครูที่ได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและสมรรถนะด้านเนื้อหาแห่งศตวรรษที่ 21
1.2 สถานะกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ไม่มีกฎหมายแล้วเสร็จเพิ่มเติม โดยจากกฎหมายภายใต้แผนฯ จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายแล้วเสร็จ จำนวน 48 ฉบับ
ด้าน |
พระราชบัญญัติ และกฎหมายว่าด้วย ... |
พระราชกฤษฎีกา/กฎกระทรวง/ระเบียบ |
รวม |
||||
จำนวน |
เสร็จ |
จำนวน |
เสร็จ |
จำนวน |
เสร็จ |
||
1 |
การเมือง |
1 |
- |
- |
- |
1 |
- |
2 |
บริหารราชการแผ่นดิน |
4 |
3 |
1 |
- |
5 |
3 |
3 |
กฎหมาย |
14 |
4 |
- |
- |
14 |
4 |
4 |
กระบวนการยุติธรรม |
40 |
5 |
- |
- |
40 |
5 |
5 |
เศรษฐกิจ |
32 |
8 |
1 |
- |
33 |
8 |
6 |
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
35 |
13 |
- |
- |
35 |
13 |
7 |
สาธารณสุข |
14 |
1 |
- |
- |
14 |
1 |
8 |
สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ |
7 |
2 |
- |
- |
7 |
2 |
9 |
สังคม |
16 |
3 |
3 |
2 |
19 |
5 |
10 |
พลังงาน |
5 |
- |
11 |
- |
16 |
- |
11 |
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ |
22 |
2 |
1 |
1 |
23 |
3 |
12 |
การศึกษา |
6 |
4 |
1 |
- |
7 |
4 |
13 |
กระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) |
2 |
- |
- |
- |
2 |
- |
รวม |
198 |
45 |
18 |
3 |
216 |
48 |
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำกฎหมาย (1) อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ด้านกระบวนการยุติธรรม) และ (2) ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... (ด้านกฎหมาย) (ปัจจุบันได้เสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563) และ 2) การปรับปรุงพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2549 แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล (ด้านกฎหมาย) ซึ่ง สศช. เห็นสมควรเร่งรัดหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดทำกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อจัดทำและเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
2. ปัญหาอุปสรรค
การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา สศช. ได้รวบรวมข้อเสนอแนะในการรายงานผลและประเด็นคำถามจากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จากการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศรายไตรมาส พบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้ข้อเสนอแนะว่ากิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เป็นการปฏิรูป และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งอุปสรรคในการติดตามตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมบางประการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามแผนอาจขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับปรุงรูปแบบการรายงานในรอบการรายงานครั้งนี้แล้ว ประกอบกับที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ได้เห็นชอบเค้าโครงการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศให้มีความกระชับและชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (3 ธันวาคม 2562) เพื่อให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศใช้ประกอบการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศต่อไป
3. การดำเนินการในระยะต่อไป
3.1 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 และ 5 พฤษภาคม 2563 โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาตลอดจนบริบทต่าง ๆ และผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3.2 สศช. ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ระหว่างเตรียมการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ nscr.nesdc.go.th/Line @nscr และจดหมายราชการถึงทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชุมรับฟังความเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 2 – 3 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย สศช. ได้แจ้งหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนทุกหน่วยงานร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแผนการปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น เสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ
15. เรื่อง เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้ง กกต. ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงมหาดไทย เสนอว่า
ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560
กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการประชุมหารือและแถลงข่าวการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2563 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สรุปสาระสำคัญดังนี้
(1) ความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย
1) ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้งสำนักทะเบียนกลางกรมการปกครอง ได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 มกราคม 2563
2) การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 45 กรณีหมู่บ้านใดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองดำเนินการสำรวจและประกาศรวมหมู่บ้านที่มีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 41 จังหวัด 109 อำเภอ 128ตำบล 203 หมู่บ้าน รวม 150 เขตเลือกตั้ง ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
3) การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้เป็นการล่วงหน้าโดยเฉพาะการจัดเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไว้พร้อมแล้ว
4) การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้หารือร่วมกันและมีความพร้อมแล้ว และกระทรวงมหาดไทยจะได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5) กรณีแนวเขตพื้นที่ทับซ้อนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยหาข้อยุติ กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกันดำเนินการโดยยึดหลักข้อเท็จจริง กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 และกระทรวงมหาดไทยได้ยุติการดำเนินการจัดตั้งหรือยกฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว
(2) ความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
1) ออกระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว
2) การดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว สรุปได้ดังนี้
2.1) ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดครบทุกแห่ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำหรับเทศบาลได้แบ่งเขตเลือกตั้งครบทุกจังหวัดแล้วและอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในส่วนของการแบ่งเขตเลือกตั้งกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยกฐานะ 5 แห่ง ใกล้แล้วเสร็จ
2.2) ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถประกาศแต่งตั้งได้ทันทีที่มีการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น
2.3) ดำเนินการอบรมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จำนวน 10,749 คน ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในเดือนกันยายน 2563 สำหรับการอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะดำเนินการเมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น
(3) ความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จึงได้ตกลงร่วมกันในการเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรกำหนดให้มีการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด หรือรูปแบบใด ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563
16. เรื่อง มอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 368/2562 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั้น
เนื่องจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 238/2563 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 239/2563 ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 240/2563 ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลทำให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไว้
ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลการบริหารงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 14 แผนงาน สามารถดำเนินการต่อไปได้ และเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ. 2562 กำหนดให้ “ผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ” หมายความว่า ผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ หรือมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแผนงานบูรณาการไว้เป็นการเฉพาะ จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 368/2562 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการ ให้สอดคล้องกับการมอบหมาย และมอบอำนาจรองนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะที่ 1 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้
(1) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
(2) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
(3) รัฐบาลดิจิทัล
2. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะที่ 2 นายวิษณุ เครืองาม เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้
(1) ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
(2) ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
3. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะที่ 3 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้
(1) เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
(2) พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
4. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะที่ 4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย 2 แผนงาน ดังนี้
(1) สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
(2) พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
5. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะที่ 5 นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย 1 แผนงาน ดังนี้
(1) พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
6. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะที่ 6 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการ ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้
(1) พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
(2) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(3) พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล
สำหรับการดำเนินการแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค เห็นสมควรให้อยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.)
17. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 23/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 23/2563 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงาน/โครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) ตามขั้นตอนของพระราชกำหนดฯ ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
1. อนุมัติโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยปรับลดกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก 13,365.000 ล้านบาท เป็น 10,629.600 ล้านบาท (ปรับลดประมาณ 2,735.400 ล้านบาท) และใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ และเห็นควรกำหนดหลักการไม่ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำกรอบวงเงินของโครงการฯ ไปดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาและให้ดำเนินการจ่ายค่าจ้างผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และเชื่อมโยงข้อมูลการจ้างงานกับแพลตฟอร์มแรงงาน (Labor Platform) ของกระทรวงแรงงาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและยืนยันตัวตนของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละโครงการไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกับโครงการ/มาตรการต่างๆ ของภาครัฐทั้งหมดต่อไป พร้อมทั้งรับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการฯ ตามขั้นตอนต่อไปอย่างเคร่งครัด
2. มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ และดำเนินการดังนี้
2.1 จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
2.2 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค โดยจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
2.3 ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๖ แห่งพระราชกำหนดฯ
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนการดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นมของกรมปศุสัตว์ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งนำข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
4. รับทราบผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 และวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี และกรมปศุสัตว์ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และเห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 กรอบวงเงิน 757,744,244 บาท และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 กรอบวงเงิน 43,840,610 บาท รวมกรอบวงเงิน 801,584,854 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ต่อไป
ต่างประเทศ
18. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Virtual Ministers Responsible for Trade Meeting on Covid-19: VMRT )
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Virtual Ministers Responsible for Trade Meeting on Covid-19: VMRT ) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กรกฎาคม 2563) เห็นชอบร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและร่างปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค] โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล รัฐมนตรีการค้าเอเปคและผู้แทนระดับสูงของแต่ละเขตเศรษฐกิจได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนี้
1.1 แลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19
1.2 จัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค
1.3 ทบทวนการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคลที่มีความจำเป็น โดยเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เห็นว่า เอเปคควรมุ่งฟื้นฟูความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการผลิตให้มีเสถียรภาพ และควรใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์ของแต่ละเศรษฐกิจ
1.4 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและเสริมสร้างการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล โดยจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อโยงข้อมูลมาตรการในการรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19 ของเขตเศรษฐกิจ โดยประเทศญี่ปุ่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เครือรัฐออสเตรเลีย และประเทศไทย ได้สนับสนุนให้เอเปคมีการใช้นโยบายหรือมาตรการทางการค้าเป็นการชั่วคราวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าและสร้างโอกาสจ้างงานให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย สตรี และกลุ่มเปราะบาง
2. การกล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงโดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญ ดังนี้
2.1 สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและเสริมสร้างความโปร่งใสในการแจ้งมาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อองค์การการค้าโลก (WTO)
2.2 ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะและใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อโดยเฉพาะการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว
2.3 รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิตและส่งเสริมการมีห่วงโซ่อุปทานที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
2.4 มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย การส่งออก การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
2.5 ลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ ลดต้นทุนทางการค้า และยกระดับ การผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม
2.6 ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชน โดยเฉพาะภาคแรงงาน
3. การร่วมรับรองแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค มีสาระสำคัญ ดังนี้
3.1 แถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งมีสาระสำคัญตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ได้แก่ (1) เน้นย้ำบทบาทของเอเปคในการสนับสนุนการทำงานของ WTO โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าโดยไม่จำเป็น (2) อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น (3) ส่งเสริมการไหลเวียนการค้า สินค้าที่มีความจำเป็นและการหยุดชะงักของการค้าสินค้ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหาร และเกษตร (4) ผลักดันการสร้างกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการ (5) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย เข้าถึงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มีประเด็นเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ได้แก่ (1) การใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 จะใช้โดยเฉพาะเจาะจงเป็นการชั่วคราว (2) การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคคลที่จำเป็น (3) การเสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน (4) การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนและการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (5) การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการหรือนโยบายของเอเปค
3.2 ปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค ซึ่งไม่ได้มีประเด็นเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ได้แก่ (1) ยืนยันการใช้มาตรการจำกัดและห้ามการส่งออกให้สอดคล้องกับ WTO (2) สนับสนุนให้เอเปคทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีกับการค้าสินค้าที่มีความจำเป็น (3) ส่งเสริมการไหลเวียนและการผ่านแดนของสินค้าที่มีความจำเป็น โดยให้สอดคล้องกับข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (TFA) ภายใต้ WTO (4) รับทราบข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนสำหรับการใช้มาตรการเปิดเสรีด้านภาษี และ (5) จัดตั้งกลไกการทราบเพื่อปรับปรุงข้อมูลและรายงานความคืบหน้าการดำเนินการข้างต้น
แต่งตั้ง
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1. นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
23. เรื่อง การรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอรับโอน นายชยันต์ เมืองสง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) สังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ (นักบริหาร ระดับสูง) ราชการบริหารส่วนกลาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
25. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวน 2 คน แทนกรรมการเดิมที่ลาออก ดังนี้
1. พลตำรวจตรี วิวัฒน์ ชัยสังฆะ
2. นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายเหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
27. เรื่อง การรับโอนข้าราชการมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายธีรวุธ กลั่นเลี้ยง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์และการวางแผน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการให้โอนเรียบร้อยแล้ว
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นางนันทวรรณ ชื่นศิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์ (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ว่างเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการ
2. นางสาวดวงสุดา ศรียงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นักบริหาร ระดับต้น) ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ว่างเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเดิมเกษียณอายุราชการ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป
29. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นางสาวฐิติมา เฮ้งเจริญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี