1.เดิมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 100 บัญญัติความโดยสรุปว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือว่า กระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือเป็นการกล่าวหาโดยผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น แม้ภายหลังผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้วโดยมิใช่เพราะเหตุตายผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาและดำเนินการทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เหมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องดำเนินการสอบสวนตามมาตรา 93 วรรคหนึ่งภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ เราจะเห็นว่ามีการกำหนดเวลาเริ่มดำเนินการไว้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ
2.ต่อมา มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นมาตรา 100 โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 โดยมาตรา 100 วรรคหนึ่ง ความโดยสรุปว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการว่า ขณะรับราชการได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการใดอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือเป็นการกล่าวหาของผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นก่อนออกจากราชการผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้ เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปี นับแต่วันออกจากราชการ เราจะเห็นว่ากรณีนี้มีการกำหนดเวลาดำเนินการไว้ว่า จะต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ
3.ประเด็นที่มาสู่การพิจารณาของ ก.พ.ครั้งนี้มีข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า ทางราชการได้สั่งลงโทษไล่ข้าราชการรายหนึ่ง (นายช.) ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2558 ซึ่งเป็นวันสั่งพักราชการ ตามระเบียบก.พ.ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนกรณีกล่าวหาว่า นายช.กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอีกกรณีหนึ่งได้รายงานผลการสอบสวนว่า นายช.กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2562 เช่นนี้ กรมเจ้าสังกัดจะพิจารณาสั่งลงโทษผู้นี้โดยนำเสนออ.ก.พ.กรมได้หรือไม่เพราะเหตุใด และจะต้องดำเนินการประการใดต่อไป
4.ประเด็นนี้ ก.พ.ได้ตอบข้อหารือของส่วนราชการโดยสรุปว่า มาตรา 100 วรรคหนึ่งใหม่กำหนดเงื่อนไขการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนซึ่งออกจากราชการไปแล้วไว้ 2 ประการคือ จะต้องมีการกล่าวหาเป็นหนังสือว่า ขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยจะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
5.เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส่วนราชการได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้นี้ออกจากราชการตั้งแต่วันที่27 พ.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันพักราชการ จึงถือได้ว่าผู้นี้ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2558 ไปแล้วตามข้อ 9 ของระเบียบก.พ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2554ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงอีกคณะหนึ่งได้รายงานผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 9ก.ย.2562 ว่าผู้นี้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงสมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงเป็นกรณีที่ส่วนราชการได้ดำเนินการเพื่อจะสั่งลงโทษแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้วเกินกว่าสามปีจึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 100 วรรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นส่วนราชการจึงไม่สามารถดำเนินการลงโทษกรณีนี้อีกได้ ส่วนราชการจะต้องสั่งยุติเรื่องและไม่ต้องส่งเรื่องให้อ.ก.พ.กรมพิจารณาตามมาตรา 7 วรรคสอง แต่ต้องรายงานให้อ.ก.พ.กรมทราบ โดยไม่ต้องรายงานอ.ก.พ.กระทรวงตามมาตรา 103 เพราะเป็นกรณีต้องยุติเรื่องการดำเนินการทางวินัย (หนังสือสำนักงานก.พ.ที่ นร1011/ล 2359 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2563)
6.ค่อยๆ ตามไปดูนะครับ มาตรา 100 และมาตรา 100/1 ที่แก้ไขตามพ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน ฉบับที่ 3 ยังมีปัญหาที่น่าติดตามอีกหลายประเด็นครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี