ตามที่หนังสือที่อ้างถึง สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยได้เสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจพร้อมกับเสนอให้พิจารณายกเลิก มาตรา 145/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องอำนาจการทำความเห็นแย้งของตำรวจกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ และทำความเห็นแย้งในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาฯ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 เดิมกำหนดไว้ ความละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึง นั้น
สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่าสมาคมนักปกครองฯ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายปกครองทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งผู้
ที่เคยดำรงตำแหน่งในระดับสูงตั้งแต่ปลัดกระทรวงผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ จนถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการทั่วประเทศ ได้ติดตามผลดีผลเสียของการปฏิบัติตามประกาศ คสช.ที่ 115/2557 เรื่องอำนาจการพิจารณาเห็นชอบกับความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาของพนักงานอัยการและการทำความเห็นแย้งของอัยการ กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ดังกล่าวมาโดยตลอด และเห็นว่า การปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มีผลเสียมากกว่าควรมีการแก้ไขให้ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 115/2557และให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของจังหวัดรับผิดชอบเป็นผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนในจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและทำความเห็นแย้งในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ฯลฯ ตามมาตรา 145 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามเดิมก่อนหน้าที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 115/2557 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้ ตามเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 ฯ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 เป็นการออกกฎหมายที่ไม่ผ่าน
การพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติและไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน
1.1 การยกเลิกกฎหมายไม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ ทำให้กระบวนการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาในชั้นสอบสวนให้กับประชาชนไม่มีคนกลางทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจและดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและอัยการ เปิดช่องว่างให้กับเจ้าหน้าที่บางคนที่ขาดความยุติธรรมใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เพื่อตนเองและพวกพ้องเป็นหนทางให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการได้โดยง่าย ดังที่ปรากฏเหตุการณ์สั่งไม่ฟ้องและการไม่ทำความเห็นแย้งพนักงานอัยการในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงแก่ความตาย ดังที่ทราบโดยทั่วไป
1.2 การมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนโดยตรง ทำหน้าที่กลั่นกรองการสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ เป็นการมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ที่ต้องดูแลรักษาความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้เสียหาย ว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานอัยการหรือไม่ มีความลำเอียงเข้าข้างผู้ต้องหาหรือไม่ และขณะเดียวกันเป็นการสร้างความมั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวนว่า ผู้ต้องหาที่บริสุทธิ์จะไม่ถูกพนักงานตำรวจกลั่นแกล้งในชั้นสอบสวนได้โดยง่าย เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดมีเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบทั่วทุกพื้นที่ โดยนายอำเภอ ส่วนราชการ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านหรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงและร้องขอความเป็นธรรมจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดได้โดยผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศไทย โดยง่าย
1.3 การที่มาตรา 145/1 มอบให้ผู้บัญชาการตำรวจภาคต่างๆ หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบความเห็นสั่งไม่ฟ้องและทำความเห็นแย้งกรณีสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ส่งผลให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ทำสำนวนการสอบสวนและความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการ มีหน้าที่ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการหรือเรียกได้ว่า “ตำรวจสอบสวน อัยการสั่งไม่ฟ้อง เสนอให้ตำรวจพิจารณา” เป็นการขัดกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุล นอกจากนั้นยังเกิดความล่าช้าในการพิจารณาทำความเห็นแย้ง เกิดความสิ้นเปลืองและความล่าช้าในการเดินทางที่ไม่สะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน เพราะสำนักงานตำรวจภูธรภาคมีเพียง 9 ภาค และบางพื้นที่อยู่ห่างไกลจากสำนักงานอัยการจังหวัดมาก
เปรียบเทียบกับศาลากลางจังหวัดต่างๆ ที่มีทั้ง 76 จังหวัด การเดินทางและการส่งสำนวนเป็นไปโดยสะดวก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาทำความเห็นทางคดีได้อย่างรวดเร็ว และประการสำคัญในปัจจุบันนี้ สามารถมั่นใจว่าการบริหารราชการในจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดยังถูกกำกับตรวจสอบและเฝ้ามองการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใสโดยกระทรวงมหาดไทยและประชาชนในพื้นที่โดยใกล้ชิดตลอดเวลา
2.การยกเลิกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 จะเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับมาตรา 68 และมาตรา 258 ง. (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติและให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร และการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมต้องมีการปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน
3.สมาคมนักปกครองฯ ได้เข้าร่วมสัมมนาเข้าร่วมประชุมการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2563 ซึ่งจัดโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้แทนองค์กรในกระบวนการยุติธรรม เช่นสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจสอบ
ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และพนักงานฝ่ายปกครองผู้ปฏิบัติงานจริงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้มีความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่ว่า การยกเลิกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 และกลับไปใช้มาตรา 145 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไขโดยประกาศ คสช.ที่ 115/2557 จักเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ดียิ่งกว่า
4.นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทราบว่ายังมีหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145/1 เช่น คณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรยกเลิกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน
5.สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ได้รับทราบข้อมูลว่า ขณะนี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ยกเลิกมาตรา 145/1 และจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย จึงขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอได้โปรดกรุณาให้การสนับสนุนและผลักดันให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 เพื่อเป็นการสร้างความถูกต้องเป็นธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชนและประเทศชาติในที่สุด
ประยูร พรหมพันธุ์
อุปนายกสมาคม
ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี