วันนี้ (27 เมษายน 2564) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง มาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน (ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ ตามที่ กค. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. ให้ กค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. สถาบันการเงินประชาชน เป็นองค์กรการเงินของชุมชนซึ่งได้จดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนตามพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระดับตำบล
2. ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรการเงินชุมชนยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่องค์กรการเงินชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชน เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอที่จะเริ่มดำเนินการตามภารกิจของสถาบันการเงินประชาชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่สมาชิกสถาบันการเงินประชาชน กค. พิจารณาแล้วจึงได้เสนอมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน โดยตราเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ
2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร และ
2.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เพื่อลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
3. ปัจจุบันมีองค์กรการเงินชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินประชาชนภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
ลำดับ |
ชื่อโรงงาน |
สถานที่ตั้ง |
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง |
1. |
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์บ้านสระแก้ว ใช้ชื่อว่า สถาบันการเงินประชาชนตำบลบ้านเป้า |
ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ |
25 สิงหาคม 2563 |
2. |
สถาบันการเงินชุมชนบ้านคูตีน ใช้ชื่อว่า สถาบันการเงินประชาชนตำบลน้ำขาว |
ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา |
12 พฤศจิกายน 2563 |
3. |
สถาบันการเงินชุมชนบ้านทานพอ ใช้ชื่อว่า สถาบันการเงินประชาชนบ้านทานพอ |
ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช |
16 ธันวาคม 2563 |
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีที่คาดว่าจะได้รับหากไม่มีการดำเนินการตามมาตรการนี้ประมาณปีละ 18 ล้านบาท และสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณปีละ 2.6 ล้านบาท
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานะขององค์กรการเงินชุมชนไปเป็นสถาบันการเงินประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน
1.2 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากสถาบันการเงินประชาชนทุกบัญชีรวมกันของสมาชิกแต่ละราย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี
1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สมาชิกของสถาบันการเงินประชาชน สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่ได้รับจากการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน
1.4 ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่สถาบันการเงินประชาชนออกให้กับสมาชิกใน การทำธุรกรรม
2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ อัตราร้อยละ 0.01 สำหรับการเปลี่ยนสถานะขององค์กรการเงินชุมชนเป็นสถาบันการเงินประชาชน ในกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคล บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นที่มิใช่องค์กรการเงินชุมชนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โอนให้แก่สถาบันการเงินประชาชน ในส่วนที่ผู้โอนและผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่ชำระ
2.2 เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ อัตราร้อยละ 0.01 สำหรับกรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกของสถาบันการเงินประชาชนกับสถาบันการเงินประชาชน
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ พน. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้การออกแบบ การสร้าง การทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวต้องเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการควบคุมต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันหรือเป็นตัวแทนค้าต่างจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวของผู้ค้าน้ำมัน และมีหน้าที่ควบคุมดูแลถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มให้เป็นไปตามที่กำหนด
3. กำหนดวิธีการในกรณีที่มีการยกเลิกการเป็นตัวแทนค้าต่างจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ระหว่างกัน
4. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการควบคุมมีหน้าที่ควบคุมดูแลรถยนต์ที่ใช้บรรทุกถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มที่เข้ามาภายในบริเวณโรงบรรจุ และกำหนดวิธีการวัดระยะห่างของกังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว และอาคารที่ใช้บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
5. กำหนดลักษณะของแผนผังโดยสังเขป แผนผังบริเวณ และแบบก่อสร้างอาคาร แบบก่อสร้างกำแพงกันไฟ แบบก่อสร้างถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว แบบก่อสร้างท่อหรือรางระบายน้ำ และรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร
6. กำหนดที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัยของสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ โดยต้องตั้งอยู่ห่างจากเขตพระราชฐานไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว ไม่น้อยกว่า 50 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากเขตสถานทูต สถานกงสุล สถานศึกษา สถานพยาบาล โรงมหรสพ ศาสนสถาน โบราณสถาน หรือสนามกีฬา ไม่น้อยกว่า 200 เมตร รวมทั้งกำหนดลักษณะและระยะปลอดภัยของอาคารที่ใช้บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวและอาคารเก็บภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
7. กำหนดลักษณะและระยะปลอดภัยการตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวในโรงบรรจุการวางระบบท่อก๊าซปิโตรเลียมเหลว และการติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว รวมถึงกำหนดลักษณะของหัวจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวและสายหัวจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวในโรงบรรจุ ตลอดจนวิธีการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้ม
8. กำหนดวิธีการป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยต้องมีระบบท่อน้ำดับเพลิง ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (water sprinklers) และเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้กับร่างกฎกระทรวงฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) และสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการบังคับคดีทางปกครองแทนได้ อันจะทำให้การบังคับทางปกครองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ อก. เสนอ เป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอ้างอิงการพัฒนาเทคโนโลยี การทำและการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่ง อก. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.348 – 2559 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5987 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ อก. เสนอ เป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้า ทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอ้างอิง การพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งการทำและการใช้ภายในประเทศ ซึ่ง อก. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1499 – 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5720 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา และแผ่นบาง สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
6. เรื่อง การออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษี และการกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. และร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ พณ. เสนอว่า
1. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 รัฐสภาได้เห็นชอบร่างความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย ตามมาตรา 28 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) 1994 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อผูกพันสำหรับสินค้าที่มีโควตาภาษีในตารางข้อผูกพันของสหภาพยุโรป อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ไทยได้ลงนามความตกลงกับสหราชอาณาจักรในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Letter) เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักรกรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลกของสหราชอาณาจักร
2. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้แจ้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ว่า เนื่องจากการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564) ทำให้ในปี 2564 ไทยได้รับจัดสรรโควตาสินค้าข้าวขาวปริมาณ 17,728 ตัน และข้าวหักปริมาณ 48,729 ตัน ต่อมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แจ้งกรมการค้าต่างประเทศว่าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักรได้ออกระเบียบเลขที่ 1432 เรื่อง Exiting The European Union Customs: The Custom (Tariff Quotas) (EU Exit) Regulation 2020 No. 1432 (ระเบียบเลขที่ 2020/1432) ระบุมาตรการบริหารและจัดการปริมาณโควตาสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร โดยไทยได้รับจัดสรรโควตาสินค้าข้าวขาวปริมาณ 3,727 ตัน และข้าวหักปริมาณ 3,271 ตัน
3. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 76) พ.ศ. 2539 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกสินค้าข้าวไปสหภาพยุโรป พ.ศ. 2539 กำหนดให้เฉพาะกรณีการส่งออกข้าวภายใต้โควตาข้าวสหภาพยุโรปเป็นสินค้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออก โดยมิได้ครอบคลุมกรณีที่สหราชอาณาจักรได้ออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป และการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกไปสหราชอาณาจักร ประกอบกับสหราชอาณาจักรได้กำหนดให้การยกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษี สำหรับการนำเข้าข้าวบางประเภทจากไทยต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก (Export Certificate) จากกรมการค้าต่างประเทศไปประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษี ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับเงื่อนไขดังกล่าว พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ จึงเห็นควรปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว โดยได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อกำหนดให้ข้าวขาวและข้าวหักที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง การส่งออก (Export Certificate) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ไปประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดให้การส่งออกข้าวขาวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
4. ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณา การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกข้าวขาวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร และเห็นชอบแนวทางการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ โดยพิจารณาจากการแบ่งผลประโยชน์ที่ผู้ส่งออกจะได้รับจากการขายข้าวภายใต้โควตาภาษี ดังนี้
ประเทศ |
อัตราภาษีนำเข้าข้าวขาว |
การคำนวณ |
อัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ (บาท/ตัน) |
สหภาพยุโรป |
175 ยูโร/ตัน |
1) ผลประโยชน์ฝ่ายละครึ่ง - ผู้ส่งออก 87.5 ยูโร - ผู้นำเข้า 87.5 ยูโร 2) แบ่งครึ่งหนึ่งของผู้ส่งออกเข้ากองทุนฯ = 43.75 ยูโร x อัตราแลกเปลี่ยน (36.5 บาท : 1 ยูโร) = 1,596.88 บาท หมายเหตุ : 1) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมกราคม 2564 2) ปัดเศษเหลือ 1,500 บาท/ตัน |
1,500 |
สหราชอาณาจักร |
121 ปอนด์สเตอร์ลิง/ตัน |
1) ผลประโยชน์ฝ่ายละครึ่ง - ผู้ส่งออก 60.5 ปอนด์สเตอร์ลิง - ผู้นำเข้า 60.5 ปอนด์สเตอร์ลิง 2) แบ่งครึ่งหนึ่งของผู้ส่งออกเข้ากองทุนฯ = 30.25 ปอนด์ x อัตราแลกเปลี่ยน (41 บาท : 1 ปอนด์) = 1,240 บาท หมายเหตุ : 1) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมกราคม 2564 2) ปัดเศษเหลือ 1,200 บาท/ตัน |
1,200 |
5. พณ. พิจารณาแล้วจึงได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร และให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมดังกล่าวตามข้อ 4. โดยการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในอัตราใหม่จะทำให้กรมการค้าต่างประเทศเก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ปีละประมาณ 31 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่เคยเก็บได้ปีละประมาณ 53 ล้านบาท (เดิมเคยเรียกเก็บในอัตรา 2,500 บาท/ตัน) แต่จะช่วยให้การส่งออกข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 76) พ.ศ. 2539
1.2 กำหนดให้ข้าวขาวตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ 1006.30 และข้าวหักตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ 1006.40 ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก (Export Certificate) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศไปประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และกำหนดให้การส่งออกข้าวขาวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
2. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกสินค้าข้าวไปสหภาพยุโรป (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2548
2.2 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับข้าวขาว ข้าวขาวหอม และข้าวนึ่งชนิด 100% ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 1006.30 ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปในอัตราตันละ 1,500 บาท
2.3 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับข้าวขาว ข้าวขาวหอม และข้าวนึ่งชนิด 100% ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 1006.30 ที่ส่งออกไปสหราชอาณาจักรในอัตราตันละ 1,200 บาท
7. เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) เสนอ
สาระสำคัญ
ศปก.ศบค. ได้จัดประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศได้กระจายเป็นวงกว้างในหลายเขตพื้นที่ทั่วประเทศ โดยผู้ติดเชื้อรายวันทวีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในอัตราสูงและเกิดกลุ่มก้อนการแพร่ระบาดไปในกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งกรณีส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัวและสถานที่ทำงาน รวมทั้ง พบการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคโควิด – 19 ที่มีอัตราการแพร่กระจายสูงและมีความอันตรายมากกว่าสายพันธุ์ในระลอกแรก อันกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถในการบริหารจัดการสถานการณ์ด้านสาธารณสุข และชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 มีข้อสั่งการให้ ศปก.ศบค. ประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ภายใต้กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเร็วที่สุด
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ศปก.ศบค. พิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ สำนักงานฯ เห็นควรเสนอร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) เพื่อให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ
ประกาศ
เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
(ฉบับที่ 3)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตาม
กฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
3. พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456
5. พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497
6. พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560
7. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
8. พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562
9. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
10. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
11. พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
12. พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495
13. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
14. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551
15. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
16. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
17. พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
18. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
19. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
20. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
21. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
22. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
23. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
24. พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
25. พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
26. พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
27. พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
28. พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559
29. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
30. พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509
31. พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย
ให้ส่วนราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายข้างต้นยังคงใช้อำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีประกาศหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
เศรษฐกิจ สังคม
8. เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้ดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา (ซึ่งจัดเป็นเมืองเก่ากลุ่มที่ 2) โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นที่ปรึกษาดำเนินการภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า : เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยศึกษาบริบทของพื้นที่และกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าทั้งสามเมืองดังกล่าว ภายใต้การให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านวิชาการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนในเขตพื้นที่เมืองเก่า
2. คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า : เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ นำมติดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ต่อไป
3. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา
3.1 ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เนื้อที่ประมาณ 1.69 ตารางกิโลเมตร (1,058.87 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเนื้อที่ประมาณ 7.21 ตารางกิโลเมตร (4,504.43 ไร่)
- ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองเก่า มีองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองส่วนใหญ่ตั้งกระจุกตัวหนาแน่นอยู่บริเวณใจกลางเมือง และตามแนวถนนศรีอุทัย
- องค์ประกอบเมืองที่สำคัญ อาทิ (1) แม่น้ำสะแกกรัง (2) เขาสะแกกรัง (3) วัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์) (4) วัดขวิด (ร้าง) (5) วัดสังกัสรัตนคีรี (6) วัดธรรมโฆษก (7) วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) (8) วัดพิชัยปุรณานาม (9) พื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนท่าช้าง (10) ย่านชุมชนชาวจีนตรอกโรงยา และ (11) ชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง
- กลุ่มอาคารไม้เก่ามีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ส่วนใหญ่เป็นเรือนแถวไม้สูง 2 ชั้น หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาหรือสังกะสี ด้านหน้าอาคารชั้นบนเป็นไม้ฝาตีตามแนวนอน มีหน้าต่างบานเปิดคู่ ชั้นล่างเป็นประตูบานเฟี้ยม
3.2 ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตรัง เนื้อที่ประมาณ 1.91 ตารางกิโลเมตร (1,192.95 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเนื้อที่ประมาณ 4.05 ตารางกิโลเมตร (2,528.92 ไร่)
- ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองเก่าตรังมีองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองส่วนใหญ่ตั้งกระจุกตัวหนาแน่นอยู่บริเวณใจกลางเมือง ย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมเก่าแก่ของเมือง หรือเกาะเมืองเก่าทับเที่ยงเป็นหลัก
- องค์ประกอบเมืองที่สำคัญ อาทิ (1) หอนาฬิกาจังหวัดตรัง (2) สถานีรถไฟตรัง (3) วิหารคริสตจักรตรัง (4) จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (5) อาคารสโมสรข้าราชการ (6-9) พื้นที่ย่านศูนย์กลางการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนพระราม 6 ถนนวิเศษกุล ถนนกันตัง และถนนราชดำเนิน ซึ่งมีอาคารเรือนแถว และบ้านร้านค้าแบบจีนและแบบผสมผสาน อาคารพาณิชย์ที่มีคุณค่า เช่น (10) บ้านไทรงาม (11) ร้านค้าสิริบรรณ และ (12) โรงแรมจริงจริง และมีองค์ประกอบเมืองที่อยู่นอกขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า อาทิ วัดกะพังสุรินทร์ (พระอารามหลวง) วัดนิคมประทีป พระอุโบสถวัดกะพังสุรินทร์ และย่านเก่าชุมชนเก่าแก่ชานเมืองที่ทรงคุณค่า (เช่น ชุมชนท่าจีน ย่านรอบกะพังสุรินทร์ และชุมชนบ้านโพธิ์)
3.3 ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 3.96 ตารางกิโลเมตร (2,475.69 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องเนื้อที่ประมาณ 2.73 ตารางกิโลเมตร (1,704.89 ไร่)
- ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองเก่าฉะเชิงเทราส่วนใหญ่ตั้งเกาะกลุ่มและเรียงตัวตามแนวถนนศุภกิจ และถนนมรุพงษ์ ซึ่งทอดตัวตามแนวริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงในแกนทิศเหนือ - ใต้
- ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทรา ครอบคลุมอาณาบริเวณ (1) ป้อมและกำแพงเมือง ตามแนวตะวันออก - ตะวันตกขนานกับแม่น้ำบางปะกง (2) วัดโสธรวรารามวรวิหาร (3) วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (4) อาคารไปรษณีย์หลังเก่า (5) ศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา (6) ตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ (7) อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (8) และอาคารไม้สัก 100 ปี (9) ย่านการค้าตลาดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา (10) ปากคลองท่าไข่ และ (11) ตลาดเกื้อกูล
- พื้นที่ต่อเนื่องกำหนดให้มีระยะห่างจากแนวเขตพื้นที่เมืองเก่าฉะเชิงเทราออกไปทุกด้านเป็นระยะทาง 200 เมตร
4. แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วย แนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับพื้นที่หลัก สรุปได้ดังนี้
4.1 แนวทางทั่วไป ได้แก่ การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม และการดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ
4.2 แนวทางสำหรับพื้นที่หลัก ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์และด้านการบริหารและการจัดการ
5. นอกจากมติในส่วนที่คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 เห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่เสนอในครั้งนี้ (ตามข้อ 2) คณะกรรมการฯ ยังได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา เพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้เป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า (ตามข้อ 4) ต่อไป
6. (ร่าง) ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคราชการ (จัดประชุม 1 ครั้ง ในจังหวัดที่ตั้งเมืองเก่าทุกแห่ง) และภาคประชาชน (จัดประชุม 2 ครั้ง ในจังหวัดที่ตั้งเมืองเก่าทุกแห่ง) แล้ว โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับ (ร่าง) ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
___________________________
* การแบ่งกลุ่มเมืองเพื่อประกาศเป็นเมืองเก่า ได้กำหนดเป็น 3 กลุ่ม เพื่อประกาศเป็นเมืองเก่าตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีขนาดใหญ่ในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักรในยุคใดยุคหนึ่ง มีหลักฐานของงานศิลปกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรนั้น ๆ และในปัจจุบันมีการอยู่อาศัยของชุมชนใหม่ทับซ้อนชุมชนเดิม กลุ่มที่ 2 เป็นเมืองที่มีความสำคัญรองลงมาจากกลุ่มที่ 1 โดยมีขนาดเมืองที่เล็กกว่า ความสำคัญของเมืองตั้งแต่อดีตและหลักฐานทางศิลปกรรมน้อยกว่าเมืองใน กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 เป็นเมืองโบราณขนาดเล็กที่มีหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมค่อนข้างน้อย และปัจจุบันอาจมีชุมชนหรือไม่มีการอยู่อาศัยจึงอยู่ในสภาพเมืองร้าง ถ้ามีการอยู่อาศัยจะเป็นเพียงชุมชนในระดับตำบลหรืออำเภอเท่านั้น จึงยังไม่อยู่ในข่ายจำเป็นเร่งด่วนในการประกาศเป็นเมืองเก่า
ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา มีรายละเอียดดังนี้
1. ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าอุทัยธานี
เมืองเก่าอุทัยธานีในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ พื้นที่ริมแม่น้ำสะแกกรังบริเวณ “บ้านท่า” หรือ “บ้านสะแกกรัง” ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีหลักฐานสำคัญ คือ “วิหารวัดพิชัยปุรณาราม” ซึ่งเดิมเป็นวิหารของ “วัดกร่าง” ที่ถูกทิ้งร้างลง มีรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมที่อยู่ในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลายและอยุธยาตอนต้น ส่วนการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองอุทัยธานีในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระยาเมืองอุทัยธานี (เสือ พยัฆวิเชียร) ขอพระราชทานย้ายที่ตั้งเมืองจากท้องที่เมืองอุไทยธานี (หรือ “เมืองอุไทยเก่า” ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอหนองฉาง) เนื่องจากเมืองอุไทยเก่าอยู่ท่ามกลางป่าดง ตลอดจนการศึกสงครามกับพม่าร้างลง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เมืองอุไทยธานีเป็นที่มั่นเพื่อรับศึกในฐานะเมืองหน้าด่านอีกต่อไป
เมืองอุทัยธานี ณ บ้านท่าสะแกกรัง มีความสะดวกในการคมนาคมทางน้ำเพื่อเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีนที่มาเป็นคนกลางในการค้าข้าวที่ใช้แม่น้ำสะแกกรังในการขนส่ง ต่อมาเมืองได้ขยายตัวแผ่ออกไปตามถนนสายสำคัญต่าง ๆ เกิดเป็นชุมชนและย่านการค้าต่าง ๆ ที่มีสถาปัตยกรรมในลักษณะของ “บ้านค้าขาย” (Shop house) ที่ได้รับอิทธิพลจากการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบชายฝั่งทะเลในจีนภาคใต้ ส่วนในลำน้ำมีที่อยู่อาศัยบนเรือนแพที่จอดอยู่ริมน้ำตามชายฝั่งตลอดลำน้ำสะแกกรัง เรือนแพหลังเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์)
2. ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าตรัง
พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำตรังมีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และมีความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นของโลกมายาวนานในฐานะที่เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกทางตะวันออก คือ จีน และโลกทางตะวันตก คือ อินเดีย ลังกา และอาหรับ ส่วนเมืองเก่าตรังในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ “ชุมชนทับเที่ยง” ซึ่ง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ขอพระบรมราชานุญาตย้ายที่ตั้งเมืองตรังจากกันตัง ในปี พ.ศ. 2458 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า ท้องที่ตำบลทับเที่ยงมีความเจริญมีพื้นที่ราบมากและยังเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางเมืองมากกว่าที่กันตังที่กำลังเกิดโรคอหิวาตกโรค รวมทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ไม่นาน การตั้งเมืองที่กันตังจึงไม่ปลอดภัยจากศัตรู
กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในตำบลทับเที่ยงในเวลาดังกล่าว กลุ่มที่โดดเด่นมากที่สุด คือ ประชากรชาวจีนพลัดถิ่น ที่เคลื่อนย้ายมาแสวงหาชีวิตใหม่ มีการรวมตัวเหนียวแน่นเป็นสมาคม เช่น สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมฮากกา กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลดังกล่าวเป็นกลุ่มที่บทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเก่าตรัง (ทับเที่ยง) อย่างต่อเนื่อง โดยมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นผู้วางรากฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ส่วนรูปแบบการพัฒนาเมืองมีการก่อสร้างตึกแถวเพื่อรองรับการอยู่อาศัยและเป็นพื้นที่ค้าขายในอาคารหลังเดียวกัน ในรูปแบบเดียวกับในอาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements)*
* อาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements) คือ อาณานิคมของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินดิง (ส่วนหนึ่งของรัฐเปรัก) รัฐมะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน
3. ความเป็นมาและความสำคัญของเมืองเก่าฉะเชิงเทรา
เมืองฉะเชิงเทราหรือเมืองแปดริ้วเป็นเมืองที่มีพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องมาไม่ยาวนานนัก มีหลักฐานปรากฏชัดเจนในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองหน้าด่านและเมืองท่า มีการก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองฉะเชิงเทราเพื่อป้องกันข้าศึกที่รุกรานมาจากทางทิศตะวันออกผ่านแม่น้ำบางปะกง ต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมทางน้ำที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพ จึงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยใหม่เพิ่มมากขึ้นในบริเวณริมแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกิจกรรมการค้าขายริมน้ำของพ่อค้าชาวจีน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนที่ยังคงยึดถือปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
9. เรื่อง การรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เสนอรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้กองทุนฯ จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนฯ ด้วยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ประจำปี 2563
เรื่อง |
ผลการดำเนินงาน |
1) โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปี 2563 |
มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปี 2563 จำนวน 3 ประเภท คือ (1) โครงการเปิดรับทั่วไป (Open Grant) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจจาก ทั่วประเทศยื่นขอรับการสนับสนุนทุนในประเด็นที่กองทุนฯ กำหนด เช่น โครงการหรือกิจกรรมประเภทการสื่อสารเพื่อสร้างวินัยและจิตสำนึกสาธารณะ (2) โครงการให้ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) เป็นโครงการที่ดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนและยุทธศาสตร์ระดับชาติหรือตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ และ (3) โครงการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant)เป็นโครงการที่สำนักงานกองทุนฯ ขับเคลื่อนร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ตามแนวทางที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด รวมทั้งสิ้น 95 โครงการ วงเงินงบประมาณที่สนับสนุน 284.94 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินโครงการที่ได้รับ การสนับสนุนจากกองทุนฯ ทำให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงได้จากทุกช่องทางการสื่อสาร รวมถึงช่องทางออนไลน์เป็น การสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ |
2) การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ |
การดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ (1) ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (2) ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ (3) ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกลไกและกระบวนการคัดกรอง ฝ้าระวัง และ การรู้เท่าทันสื่อ และ (4) ส่งเสริมและพัฒนาช่องทาง เพื่อสื่อสารกับสังคมให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคี นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการดำเนินงานในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น การรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง และจัดแคมเปญรณรงค์สนับสนุนการกลับมาระบาดใหม่ของโควิด – 19 |
3) การใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2563 |
ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 กองทุนฯ มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 539.63 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.63 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายสำหรับดำเนินการ จำนวน 530 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 119.80 ล้านบาท และผูกพันข้ามปีงบประมาณ 331.74 ล้านบาท รวมผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 451.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85.2 ของงบประมาณรายจ่ายสำหรับดำเนินการทั้งหมด |
2. รายงานของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ พบว่า ผ่านการประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นตามกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี 2563 ของกรมบัญชีกลาง โดยมีคะแนน 4.7775 (คะแนนเต็ม 5) และคณะกรรมการประเมินผลฯ ได้มีข้อเสนอแนะ เช่น (1) ควรทบทวนโครงสร้างการบริหารให้มีความเหมาะสมกระชับดังเช่นองค์การมหาชนทั่วไป (2) ควรประเมินว่าการตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานในแต่ละชุดนั้น เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินการของกองทุนฯ มากน้อยเพียงใด (3) ควรตัดภารกิจด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกจากภารกิจงานของกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อน (4) ควรปรับกลไกและกระบวนการสนับสนุนทุนให้กระชับคล่องตัว ชัดเจน โดยในขั้นตอนการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ รวมถึงการอนุมัติโครงการขนาดเล็กควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกองทุนฯ และ (5) ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้รับผลประโยชน์ช่องทางสื่อ หรือกลุ่มผู้รับทุนให้ชัดเจน
3. รายงานผลการตรวจสอบงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 ของกองทุนฯ โดยบริษัท สอบบัญชี ดี ไอ เอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เห็นว่า ผลการดำเนินงานทางการเงินและกระแสเงินสดสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกัน โดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติรับทราบแล้ว
10. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินงาน รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินงาน รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานสรุปผลการดำเนินงาน รอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาของหน่วยงานดังกล่าว 6 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการดำเนินนโยบายของกระทรวง 2. ด้านกฎหมาย 3. ด้านการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนการลงทุน 4. ด้านการบูรณาการด้านการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงาน 5. ด้านธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา และ 6. ด้านผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ อว. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงาน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
อว. โดยสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 พิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
1. ด้านการดำเนินนโยบายของกระทรวง อว. ควรประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับนโยบายด้านการอุดมศึกษาที่ชัดเจน โดยส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งจะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการจัดการศึกษา และบัณฑิตที่จบก็จะมีงานทำอีกด้วย |
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้จัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) กำลังคนมีคุณภาพและปริมาณรองรับการพัฒนาประเทศและ การเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก (2) งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (3) สถาบันอุดมศึกษามีสมรรถนะตรงตามอัตลักษณ์/จุดแข็ง เพื่อให้ เกิดคุณภาพในระบบอุดมศึกษา |
2. ด้านกฎหมาย ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารงานและการดำเนินการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตลอดจนกฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยนอกพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตรองรับ EEC และกฎระเบียบที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา(international higher education hub) เป็นต้น |
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้ดำเนินการปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษามีมติยกเลิกการกำหนดระยะเวลาจบการศึกษาของนักศึกษาในทุกระดับปริญญาเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กฎหมายของ อว. ผ่านช่องทางต่าง ๆ พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ใช้หลักการ Demand Driven เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรม เรียกว่า EEC Model |
3. ด้านการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนการลงทุน รัฐควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและนวัตกรรมให้มากพอและเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย ควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชนให้มากขึ้นโดยการสร้างแรงจูงใจ และ อว. ควรมีหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือและจัดทำฐานข้อมูลกลางใน การพิจารณางบประมาณการวิจัย |
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะแพลตฟอร์มหรือแผนงาน ทั้งด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและการวิจัยกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results: OKRs) เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และแปลงลงสู่ระดับต่าง ๆ โดยจะมีการวัดผลและติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ และมีการผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ในการทำวิจัยร่วมกัน และจัดให้มีการประชุมชี้แจงระบบ แผน แนวทางการจัดทำคำขอและการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้หน่วยงานยื่นคำของบประมาณให้สอดประสานกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ |
4. ด้านการบูรณาการด้านการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงาน ปัญหาแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวนไม่เพียงพอและไม่มีความสามารถรองรับอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ การจัดการศึกษาในระบบควรยกระดับมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพแรงงานทั้งระบบ โดย อว. ควรพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น และการฝึกอบรมทักษะเฉพาะทาง โดยการพัฒนาหลักสูตรเป็นแบบ MOOCs (massive open online coursewares) ผ่านช่องทางออนไลน์ กระทรวงแรงงานควรกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพและคุณภาพของบุคลากรให้ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพและความต้องการของผู้ประกอบการในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ |
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้ดำเนินโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ(Reskill/Upskill/ Newskill) เพื่อผลักดันกำลังแรงงานที่ประสบปัญหาการว่างงาน แรงงานคืนถิ่น และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องยกระดับทักษะเพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของ COVID-19 และการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น www.lifelong.cmu.ac.th และ MOOC ทั้งหลักสูตร Degree และ Non-Degree และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน |
5. ด้านธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องจัดให้มีประมวลจริยธรรมของนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหาร และบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา และผู้เรียน โดยมีกลไกการส่งเสริม ตรวจสอบและบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และอยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน |
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้เร่งรัดให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำและปรับปรุง ประมวลจริยธรรมของสถาบันให้ครอบคลุมกับบุคลากรทุกระดับตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยจนถึงผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้การจัดการอุดมศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาได้ตอบรับนโยบายดังกล่าว |
6. ด้านผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐบาลควรพิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ในส่วนของงบรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ เพื่อนำมาป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดำเนินการบูรณาการความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบร่วมกับจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ ดำรงชีพ |
เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดย อว. ได้มีการจัดสรรงบประมาณตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดำเนินการโครงการ อว. สร้างงานระยะที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีมาตรการช่วยเหลือกรณีนักศึกษาว่างงานโดยดำเนินโครงการ Thai MOOC ให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ http://www.thaimooc.org.th เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีงานวิจัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น นวัตกรรมห้องคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น ช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ในการลดค่าเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการรายย่อย ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากนักศึกษา และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อให้บริการห้องพัก (Green Nimman) ฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ |
11. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบิน และภาคธุรกิจบริการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร รวมถึงกิจกรรมสันทนาการและบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการล็อคดาวน์ในแต่ละประเทศ จึงมีข้อเสนอแนะว่าประเทศไทยควรมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางประเทศใหม่ โดยเฉพาะประเด็นด้านการผลิตและการค้าซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำศักยภาพในด้านต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาพิจารณา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์และเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสื่อสารสนเทศ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ และควรปรับโครงสร้างการค้าของไทย โดยลดการพึ่งพาตลาดเดิม รวมทั้งควรผลักดันให้มีภาคบริการใหม่ ๆ เช่น ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ (Health Care) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) การส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ อก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
1. อก. เสนอว่าได้พิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว โดยเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ |
1. การปรับโครงสร้างการผลิต โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความจำเป็นต่อประเทศ (Critical Industry Supply Chain : CISC) และมีห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศที่เข้มแข็ง การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด |
1. ควรส่งเสริมการขยายห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดการพึ่งพิงการผลิตหรือการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งและนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต 2. ควรพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ การตัดสินใจของมนุษย์ซึ่งระบบอัตโนมัติหรือเครื่องจักรกล ไม่สามารถทดแทนได้ และยกระดับจากผู้รับจ้างผลิตให้เป็นผู้ผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม 3. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจาก SMEs ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ โควิด 19 ซึ่งมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินและการตลาดค่อนข้างต่ำ 4. ควรกำหนดเป้าหมายร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ตามแนวคิด BCG Economy (Bio – Circular - Green Economy) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ |
2. การปรับโครงสร้างการค้าของไทย โดยเน้นการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยลดการพึ่งพาตลาดเดิม ได้แก่ควรเร่งผลักดันการเร่งเจรจาความตกลงทางการค้า FTA ในแต่ละฉบับที่ค้างอยู่ เร่งพิจารณาศึกษาการเข้าร่วมการเจรจาตามกรอบความตกลง การเจรจาเป็นพันธมิตรทางการค้าในกรอบความตกลงในระดับ ภูมิภาคที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าไทยและควรผลักดันให้มีภาคบริการใหม่ ๆ เช่น ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E - Commerce) การส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ (Health Care) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Mecical Tourism) การส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) |
1. ขณะนี้อยู่ ระหว่างการศึกษาและเจรจาความตกลงทางการค้า สร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคอาเซียนหรือการรวมกลุ่มในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาค CLMVT เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทานการผลิตของไทย ส่งเสริมความเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนผ่านระบบดิจิทัลและสร้างมาตรฐานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่ค้านอกภูมิภาค รวมทั้งควรขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินนโยบาย “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” เพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก 2. การส่งเสริมการค้าภาคบริการ เห็นควรผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าระดับชาติเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และรายย่อยเพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงการค้าดิจิทัลในภูมิภาค และอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งควรกำหนดมาตรการที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ใน การประกอบธุรกิจและเห็นควรปรับปรุงและทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน เช่น การปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมถึง การกำหนดมาตรการรองรับหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากความตกลง ทางการค้า |
|
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม |
|
1. ด้านพาณิชย์ ควรเน้นนโยบายการค้าของไทยโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ด้านระบบโลจิสติกส์เกษตรในระดับภูมิภาค และด้านธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขาย LNG ประจำภูมิภาคและศูนย์กลางแลกเปลี่ยนไฟฟ้าในอาเซียน รวมถึงควรส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและกระจายไปสู่เมืองรองมากขึ้น 2. ด้านอุตสาหกรรม ควรยกระดับศักยภาพของสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เสริมภูมิต้านทาน เช่น ฟ้าทะลายโจร กัญชา เพื่อเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ และควรพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศได้ เช่น อุตสาหกรรมใหม่ด้านพลังงานในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น รวมทั้งการผลักดันนโยบายปฏิรูปด้านแรงงานภาคการผลิตการจัดการความปลอดภัยและชีวอนามัยสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ |
12. เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเห็นชอบตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการรายงานว่า
1. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมผลการดำเนินงานของ 3 องค์กรสำคัญ ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจงานของคณะกรรมการดังกล่าว ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และ (3) สขร.สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็น |
ผลการดำเนินงาน |
|||||||||||||||||||||
1) คณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ |
||||||||||||||||||||||
1.1) การปรับปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร |
คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายและอนุบัญญัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายกลางเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อใช้บังคับหน่วยงานของรัฐทุกประเภทและบุคคลทั้งหมด ทั้งนี้ สขร. ได้ดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนแล้ว |
|||||||||||||||||||||
1.2) การรับเรื่อง อุทธรณ์และพิจารณาเรื่องร้องเรียน ของประชาชน |
คณะอนุกรรมการส่งคำอุทธรณ์และพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้รับเรื่องอุทธรณ์ 523 เรื่อง และได้รับเรื่องร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ของหน่วยงานของรัฐ 625 เรื่อง โดยพิจารณาแล้วเสร็จทุกเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลการตรวจสอบการใช้อำนาจการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน 327 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 52.32 ของจำนวนทั้งหมด) |
|||||||||||||||||||||
1.3) การตรวจสอบ ข้อมูลข่าวสาร ตามกฎหมาย ข้อมูลข่าวสาร ของราชการ |
คณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้ยื่นขอข้อมูลข่าวสาร แต่หน่วยงานปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผู้ขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบความมีอยู่ของข้อมูลข่าวสารในหน่วยงานครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว 89 เรื่อง |
|||||||||||||||||||||
1.4) การตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูล ข่าวสารของราชการ |
คณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้รับเรื่องขอหารือเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯจากส่วนราชการ 37 เรื่อง โดยพิจารณาแล้วเสร็จครบถ้วนทุกเรื่องแล้ว |
|||||||||||||||||||||
1.5) การกำหนด ยุทธศาสตร์ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาองค์กร |
คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาองค์กร ได้พิจารณาหลักเกณฑ์การมอบโล่รางวัลแก่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ประจำปี 2564 และยุทธศาสตร์/แผนงานของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 |
|||||||||||||||||||||
2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ |
||||||||||||||||||||||
หน่วย : เรื่อง
|
||||||||||||||||||||||
3) สขร. |
||||||||||||||||||||||
3.1) โครงการจัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ของราชการ ในส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 |
- จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของราชการให้กับหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ รวม 12 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 1,000 แห่ง/ปี มีหน่วยงานที่เข้าร่วม 825 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 82.50) ซึ่งหน่วยงานของรัฐในส่วนท้องถิ่นประเมินตนเองตามแบบเกณฑ์การประเมินศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการอิเล็กทรอนิกส์ เกินร้อยละ 50 จำนวน 786 หน่วยงาน (คิดเป็นร้อยละ 95.27) ของหน่วยงานทั้งหมด - แจ้งเวียนหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประกวดศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ปี 2563 ซึ่งมีหน่วยงานที่เข้าร่วมสมัครทั้งสิ้น 149 หน่วยงาน แบ่งเป็นส่วนกลาง (สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงและกรม) 28 หน่วยงาน ส่วนภูมิภาค 57 หน่วยงาน ส่วนท้องถิ่น 48 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจ 12 หน่วยงาน และหน่วยงานอื่น 4 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น จำนวน 19 หน่วยงาน |
|||||||||||||||||||||
3.2) โครงการทดสอบความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ประจำปี 2563 ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ |
- จัดทดสอบในส่วนกลาง จำนวน 2 ครั้ง และส่วนภูมิภาค จำนวน 13 ครั้ง โดยมี ผู้เข้ารับการทดสอบ จำนวน 1,678 คน ผ่านเกณฑ์การทดสอบร้อยละ 50 จำนวน 757 คน (คิดเป็นร้อยละ 45.11) |
|||||||||||||||||||||
3.3) การเสริมสร้าง ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ และการเผยแพร่ ผ่านช่องทาง การประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ |
- ดำเนินโครงการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่ง สผผ. ได้บูรณาการความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงในการเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาเครือข่ายผู้นำชุมชนในส่วนภูมิภาคให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามกฎหมาย จำนวน 2 ครั้ง 274 คน - ดำเนินโครงการคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ โดยมีกระทรวงแรงงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) กระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) กระทรวงคมนาคม (การท่าเรือแห่งประเทศไทย) กระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) และสำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) ได้ร่วมบูรณาการจัดตั้งคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ |
|||||||||||||||||||||
3.4) การเผยแพร่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการผ่านช่องทางต่าง ๆ |
- จัดทำข่าว/บทความ สรุปย่อคำวินิจฉัย เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ จำนวน 60 เรื่อง/ปี โดยส่งให้กับหน่วยงานและสื่อมวลชนเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน - เผยแพร่ผลการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการร้องเรียนและอุทธรณ์ (อินโฟกราฟิก) ทางเว็บไชต์และเฟซบุ๊กของ สขร. |
|||||||||||||||||||||
3.5) การพัฒนาระบบ สารสนเทศข้อมูลข่าวสาร |
- จัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ (E - training) จำนวน 8 ตอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้อย่างเข้าใจง่ายและทั่วถึงผ่านทางเว็บไซต์ของ สขร. - เพิ่มช่องทางให้ผู้ร้องเรียนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ สามารถตรวจสอบสถานะของเรื่องร้องเรียนผ่านทางเว็บไชต์ www.oic.go.th ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว - เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์ www.oic.go.th มีสถิติผู้ใช้บริการ 218,489 ครั้ง และใช้บริการเว็บไซต์ฐานข้อมูลหน่วยงานของรัฐ 602,046 ครั้ง - ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ผ่านระบบข้อซักถามทางอิเล็กทรอนิกส์ (Webboard) จำนวน 554 เรื่อง |
|||||||||||||||||||||
3.6) การติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 |
ให้หน่วยงานของรัฐส่งแบบรายงานผลการติดตามประเมินผลของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ จำนวน 2 เรื่อง เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ต่อไป |
2. แผนงาน/โครงการในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เช่น (1) โครงการคลินิกข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานในเชิงรุกเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดในการใช้กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ (2) โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง สปน. กับองค์กรอิสระ และเครือข่ายภาคประชาชนของหน่วยงานในสังกัดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานราชการ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และ (3) โครงการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ด้วยระบบดิจิทัล (e - Complaint and Appeal) เพื่อส่งเสริมให้ สขร. มีระบบสารสนเทศในลักษณะ web service
3. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ดังนี้
ข้อเท็จจริง |
ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ |
1) มีการทดสอบความรู้ ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐและกำหนดเป็นตัวชี้วัดของเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาหนึ่ง รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ ความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยให้หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ดังนั้น แม้จะมีสื่อและช่องทางมากเพียงใด หากไม่มีผลบังคับแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐมักไม่ให้ความใส่ใจ |
ควรให้สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้พิจารณา ให้การผ่านเกณฑ์การทดสอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ เป็นคุณสมบัติหนึ่งของการเลื่อนระดับสูงขึ้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยพิจารณาด้วยว่าเป็นระดับใดบ้าง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารได้ถูกต้องนำไปสู่ Open Government ได้อย่างเป็นรูปธรรม |
2) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้มีประกาศลงวันที่ 16 มกราคม 2558 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเป็นรายเดือนทุกเดือน ตามแบบ สขร. 1 ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ให้หน่วยงานของรัฐต้องรับรู้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) โดยกรมบัญชีกลางได้ปรับระบบ e - GP ให้สอดคล้องกับแบบ สขร. 1 แต่หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานยังละเลยต่อการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว |
ควรให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยสรุปผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนตรวจดูได้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสตรวจสอบได้และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม |
3) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้มีประกาศลงวันที่ 27 มกราคม 2559 กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารตามเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใสและตัวชี้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานของรัฐเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ |
ให้ สขร. ติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ จะทำให้การบริหารงานภาครัฐโปร่งใส รวมทั้งป้องกันและลดการทุจริตได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ
|
13. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญ
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ไว้บางประการ และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 การกำหนดลักษณะเฉพาะของบุคคลที่จะสรรหาเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ในแต่ละครั้ง คณะกรรมการสรรหาควรคำนึงถึงความจำเป็นเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และด้านโทรคมนาคม รวมทั้งสภาพการณ์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น ๆ เป็นสำคัญ
1.2 สำนักงาน กสทช. ควรดำเนินการให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
2. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) เสนอว่า ในคราวประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 21 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้บางประการ และที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตนั้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 การกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ควรคำนึงถึงผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านบริหารธุรกิจ ด้านความมั่นคง ด้านการสื่อสารสาธารณะ ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรมหรือการพัฒนาสังคม และด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย
2.2 การกำหนดลักษณะเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านนั้นตามร่างมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 14/1 ควรคำนึงถึงความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ด้วย
3. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. รับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวไปพิจารณาว่าสมควรจะดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในเรื่องใดได้หรือไม่ประการใดก่อน แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. สำนักงาน กสทช. เสนอว่า ได้พิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีในข้อ 3. แล้ว สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญญฯ |
รายงานผลการดำเนินการตามข้อสังเกตฯ |
1. สำนักงาน กสทช. ควรดำเนินการให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม |
- เห็นชอบตามข้อสังเกตดังกล่าว โดยจะรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป |
2. การกำหนดลักษณะเฉพาะของบุคคลที่จะสรรหาเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. และการกำหนดองค์ประกอบ กสทช. ควรคำนึงถึงผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านนั้น ๆ รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ด้วย |
- ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ได้กำหนดให้ สว. เป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ กสทช. ดังนั้น จึงเป็นการดำเนินงานของ สว. โดยตรง |
14. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564
การค้าระหว่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะฟื้นตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี นอกจากนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าการส่งออกของไทยมีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 2.59 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 2.87 สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.16
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะยางพารา ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก
ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงตลาดอาเซียน (5) ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้า ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป (15) เอเชียใต้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในรายตลาดยังคงสดใส
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.59 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.99 ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ 1.16 การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.77 ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2564 การส่งออก มีมูลค่า 601,507.35 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.87 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 610,035.50 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.39 ดุลการค้าขาดดุล 8,528.15 ล้านบาท ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,188,881.30 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 2.04 การนำเข้า มีมูลค่า 1,211,933.26 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 5.85 ขาดดุล 23,051.96 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.0 (YoY) ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 46.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 42.9 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 22.9 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฯลฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 20.7 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และออสเตรเลีย) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 3.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย กัมพูชา และลาว) สินค้าที่ หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 35.5 หดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง (หดตัวในตลาด อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ขยายตัวดีในกัมพูชา มาเลเซีย ลาว และญี่ปุ่น) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวดีในจีน ออสเตรเลีย อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 7.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวดีในเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฮ่องกง) ข้าว หดตัวร้อยละ 4.9 (หดตัวในตลาดฮ่องกง และแคนาดา แต่ขยายตัวดีในสหรัฐฯ แอฟริกาใต้ จีน และญี่ปุ่น) 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.0 (YoY) กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 20.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย เวียดนาม บราซิล และอินโดนีเซีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 14.8 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.7 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น) เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 12.3 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 9.5 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสหรัฐฯ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว ร้อยละ 3.6 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 24.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 93.0 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวได้ดีในลาว ญี่ปุ่น และไต้หวัน) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หดตัวร้อยละ 7.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และจีน แต่ขยายตัวได้ดีในฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และเยอรมนี) สิ่งทอ หดตัว ร้อยละ 12.5 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ จีน และอินเดีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 6.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวได้ดีในเวียดนาม ฮ่องกง และจีน) 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.7
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 10.1 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นร้อยละ 19.7 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ และการกลับมาขยายตัวของการส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) ร้อยละ 0.2 2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 5.2 โดยการส่งออกไปจีน และเอเชียใต้ขยายตัวร้อยละ 15.7 และร้อยละ 13.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปอาเซียน (5) และ CLMV หดตัวร้อยละ 17.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ และ 3) ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวร้อยละ 7.3 โดยการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) และทวีปแอฟริกาขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 18.3 และร้อยละ 16.3 ตามลำดับ ลาตินอเมริกากลับมาขยายตัวร้อยละ 14.0 อย่างไรก็ตาม ตะวันออกกลาง (15) กลับมาหดตัวร้อยละ 9.9 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ยังคงหดตัวร้อยละ 11.8
2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564
การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค (2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 4 (2) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ร้อยละ 6.64) สินค้านิวนอร์มอล (ร้อยละ 6.81) อุตสาหกรรมหนัก (ร้อยละ 3.76) แฟชั่น (ร้อยละ 2.36) เป็นต้น (3) จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
15. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส กรอบวงเงินจำนวน 321,604,000 บาท
2. อนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 321,604,000 บาท สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส
สาระสำคัญ
1. สธ. โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน COVID-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีน โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1) รายละเอียดกิจกรรมและค่าใช้จ่าย
1.1) ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน จำนวน 5 แสนโดส วงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 290.24 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีนโควิด 19 จำนวน 271.25 ล้านบาท และเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 18.99 ล้านบาท
1.2) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 31.36 ล้านบาท
รวมงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 321,604,000 บาท
2) ระยะเวลาการดำเนินงาน เดือนพฤษภาคม 2564
3) เป้าหมาย จำนวนวัคซีนที่จัดซื้อเพิ่มเติมกับบริษัท Sinovac Biotech จำกัด จำนวน 5 แสนโดส
4) ประโยชน์ที่ได้รับ เพื่อลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต ลดจำนวนผู้สัมผัสเชื้อ ลดอัตรา การแพร่กระจายเชื้อ และรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของประเทศ
5) ผลผลิต จำนวนวัคซีน 5 แสนโดส สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมาย
6) ผลลัพธ์ ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
7) ผลกระทบ ลดอัตราป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด 19 รวมทั้งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
8) หน่วยงานรับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค
2. สธ. โดยกรมควบคุมโรค ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยจัดหาวัคซีนโควิด 19 สำหรับให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ผู้สัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไป และแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมไปถึงพื้นที่การระบาดของโรค
3. สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 321,604,000 บาท
ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สธ. ได้จัดทำแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีน COVID-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาความมั่นคงระบบสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม บนหลักการการให้วัคซีน COVID-19 โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรม ความเท่าเทียม หลักฐานทางวิชาการ ปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้ และความสามารถในการบริหารจัดการภายใต้บริบทของประเทศ โดยใช้กลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วจำนวน 1,124,153 โดส และมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จำนวน 949,124 ราย สำหรับกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีน ได้แก่ (1) บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และ อสม. (2) เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย (3) ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป (4) ผู้ที่มีโรคประจำตัว (5) ประชาชนพื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกของโรคโควิด 19 ระลอกเมษายน 2564 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการพิจารณาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวน 5 แสนโดส
16. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 3)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 3) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สธ. เสนอว่า เนื่องจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) ไม่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนของบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลและเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม นิยาม “ค่าใช้จ่าย” นิยาม “ผู้ป่วย” ในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) และเพิ่มเติมบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) รวมถึงค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะที่ใช้ในการส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมาตรา 36 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสถานพยาบาลในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน
สาระสำคัญ
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 3) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ยกเลิกนิยาม ““ค่าใช้จ่าย” ในข้อ 1 แห่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้ใช้ข้อความ “ค่าใช้จ่าย” หมายความว่า ค่าใช้จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาลหรือการส่งต่อผู้ป่วย และให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้” แทน
2. ยกเลิกนิยาม “ผู้ป่วย” ในข้อ 1 แห่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้ใช้ ข้อความ ““ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้หมายความรวมถึงบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนด และเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน” แทน
3. กำหนดให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
4. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อให้การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2) ก่อนวันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้มีผลใช้บังคับ ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้และให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
5. เพิ่มค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยในอัตราค่าใช้จ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้เป็นบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2)
6. ยกเลิกหมายเหตุท้ายบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้ใช้หมายเหตุท้ายบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้แทน
ต่างประเทศ
17. เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) อีกวาระหนึ่ง (ปี 2566 – 2569) หรือ ค.ศ. 2023 – 2026) โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการขอเสียง/แลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ ITU ในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของประเทศไทย และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร [มีกำหนดจะเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารดังกล่าวในที่ประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มปี 2565 (ค.ศ. 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 14 ตุลาคม 2565 ณ เมืองบูคาเรตส์ ประเทศโรมาเนีย] ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหารของ ITU ครั้งแรกเมื่อปี 2516 และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหารติดต่อกันมา 10 สมัย (ปี 2516 – 2564) โดยครั้งล่าสุด (สมัยที่ 10) ได้มีการเลือกตั้งในระหว่างการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี 2561 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2565 (ค.ศ. 2019 – 2022)
2. ในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารครั้งที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานอำนวยการในนามประเทศไทยของ ITU ในขณะนั้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) [บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น] ในการขอเสียงและหาเสียงสนับสนุน ซึ่งรวมถึงการขอเสียง/แลกเสียงผ่านช่องทางการทูต ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศ และการขอเสียง/แลกเสียงในระดับกระทรวง โดยในทางปฏิบัติที่ผ่านมากระบวนการเตรียมหาเสียงจะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ดังกล่าวไม่มีการจัดทำสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่มีการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรการ 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
3. ในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานอำนวยการในนามประเทศไทยของ ITU ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จะสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร เป็นสมัยที่ 11 และจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหาเสียง/แลกเสียง/ ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี รวมทั้งหาเสียง/แลกเสียง/ขอเสียงในระดับกระทรวง และระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหารนอกจากการปฏิบัติงานในบทบาทของสมาชิกสภาบริหารมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย
18. เรื่อง การเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ระหว่างวันที่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม 2568 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบการเข้าร่วมงานดังกล่าว รวมถึงเป็นผู้นำเสนอรายละเอียดแผนงานและแผนเงินให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
งาน Expo 2025 Osaka Kansai ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การนิทรรศการนานาชาติให้เป็นงาน World Expo เรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเชิญประเทศไทยเข้าร่วมงาน โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568 ณ โอซากา ประเทศญี่ปุ่น (พื้นที่จัดงานประมาณ 968.75 ไร่) โดยมีหัวข้อหลัก คือ Designing Future Society for Our Lives ภายใต้แนวคิดการส่งเริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่
1. Saving Lives การปกป้องชีวิตคนจากโรคต่าง ๆ และการยืดอายุขัย
2. Empowering Lives การพัฒนาศักยภาพคน ทั้งด้านการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และหุ่นยนต์
3. Connecting Lives ส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรม โดยการมีส่วนร่วมของคนในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ในครอบครัว ที่ทำงาน สังคมท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ และสังคมโลก
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมงานนิทรรศการนานาชาติประเภทจดทะเบียนร่วมกับองค์การนิทรรศการนานาชาติแล้ว จำนวน 4 ครั้ง (ปี 2543 ณ เมืองฮันโนเวอร์ สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 2548 ณ เมืองไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2553 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และปี 2558 ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี) และจะเข้าร่วมงาน Expo 2020 Dubai ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้เลื่อนการจัดงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2564 โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก
19. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24 ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24 ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 24 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ
ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีเนื้อหาเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 โดยมีประเด็นครอบคลุมการพัฒนาและแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาค การรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และแสดงถึงความคืบหน้าของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินภายใต้กรอบอาเซียน+3 ตลอดจนการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต ดังนี้ 1) การพัฒนาและแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค 2) การสร้างเสริมความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค ได้แก่ (1) มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) (2) สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหาภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) (3) มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) และ (4) ทิศทางเชิงกลยุทธ์ของความร่วมมือทางการเงินภายใต้กรอบอาเซียน+3
20. เรื่อง รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers’ Meeting : ALMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers’ Meeting : ALMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ระหว่างวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2563 ณ กระทรวงแรงงาน (รง.) และเห็นชอบต่อร่างเอกสาร จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 – 2025 [ASEAN Labor Ministers’ (ALM) Work Programme 2021 - 2025] และร่างแผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 26 [Joint Communique The Twenty Sixth ASEAN Labour Ministers Meeting (26th ALMM)] และ 3) ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 11 [Joint Statement of The Eleventh ASEAN Plus Three Labour Ministers Meeting (11th ALMM+3)] และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสาร จำนวน 3 ฉบับ ดังกล่าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารทั้ง 3 ฉบับ
1. ร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 – 2025 และร่างแผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอาเซียนผ่านกำลังแรงงานที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีส่วนร่วมในงานที่ปลอดภัยและมีคุณค่า อันเป็นผลที่เกิดจากการจ้างงานอย่างมีผลิตภาพ ประกอบด้วยร่างแผนงานย่อย 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างแผนงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียบวกสาม ค.ศ. 2021 – 2025 มีการกำหนดประเด็นย่อยที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น 2) ร่างแผนงานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน ค.ศ. 2021 -2025 มีการกำหนดประเด็นย่อยในแผนงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เช่น การส่งเสริมการจ้างงานอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมถึงการจ้างงานในชนบท เยาวชนที่ว่างงาน คนพิการและแรงงานกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เป็นต้น 3) ร่างแผนงานเครือข่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอาเซียน ค.ศ. 2021 – 2025 มีการกำหนดประเด็นย่อยในแผนงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งศักยภาพความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นต้น และ 4) ร่างแผนปฏิบัติการคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (พ.ศ. 2561 – 2568) เพื่อขับเคลื่อนฉันทามติอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ เช่น การรณรงค์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ปลอดภัยการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสาธารณสุขเรื่องการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าว รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 26 กล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนในการขับเคลื่อนถ้อยแถลงร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน โดยรับประกันว่าแรงงานจะสามารถสร้างงานที่มีผลิตภาพ มีสถานประกอบการที่ปลอดภัย และมีการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ รวมทั้งเห็นชอบร่างแผนงานรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ฉบับใหม่ ค.ศ. 2021 – 2025 และร่างแผนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 11 กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัวของแรงงานในอนาคตของงานผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย (ปลัดกระทรวงแรงงาน) กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับมาตรการที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้กำลังแรงงานมีความพร้อม และสามารถปรับตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 เช่น มาตรการการจ้างงาน โดยหน่วยงานภาครัฐ การจ้างงานเยาวชนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวแล้ว กระทรวงแรงงานจะแจ้งการรับรองอย่างเป็นทางการให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบต่อไป
21. เรื่อง การสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ICS-ICH) วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ราชอาณาจักรไทยสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage: ICS - ICH) (คณะกรรมการฯ) วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569 พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการขอเสียงและแลกเสียงสนับสนุนกับรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (อนุสัญญาฯ) และการไขว้เสียงกับอนุสัญญาอื่น ๆ โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการฯ วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569 ให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาฯ และ กต. เพื่อใช้ในกิจกรรมการรณรงค์สมัครเข้ารับการคัดเลือกและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
(กำหนดการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการฯ วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569 จะจัดขึ้นในการประชุมสมัชชาของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส)
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ราชอาณาจักรไทยสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ICS - ICH) วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569 เนื่องจากจะมีการคัดเลือกและลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการฯ จำนวน 12 ที่นั่ง เพื่อทดแทนคณะกรรมการฯ ที่หมดวาระลง ในการประชุมสมัชชาของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม 2565 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยในกลุ่มเขตเลือกตั้งที่ 4 (ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก) ซึ่งราชอาณาจักรไทยอยู่ในกลุ่มนี้มีตำแหน่งว่างถึง 4 ที่นั่ง ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศประเมินว่า ความรวดเร็วในการเปิดตัวลงสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราชอาณาจักรไทยประสบความสำเร็จและได้รับการเลือกตั้ง ดังนั้น ภายหลังจากราชอาณาจักรไทยประกาศลงสมัครอย่างเป็นทางการกระทรวงการต่างประเทศจะต้องดำเนินการขอเสียง และแลกเสียงสนับสนุนกับรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ และการไขว้เสียงกับอนุสัญญาอื่น ๆ โดนให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ICS - ICH) วาระปี พ.ศ. 2565 – 2569 ให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาฯ และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อใช้ในกิจกรรมการรณรงค์สมัครเข้ารับการคัดเลือกและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ดำเนินการสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการฯ แล้ว
22. เรื่อง การเสนอขอรับเป็นเจ้าภาพสำนักงาน Decade Coordination Office (DCO)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการเสนอขอรับเป็นเจ้าภาพสำนักงาน Decade Coordination Office (DCO) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้หารือกับสำนักงานเลขาธิการ IOC WESTPAC และเห็นควรที่จะเสนอชื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพสำนักงาน DCO โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะมีข้อเสนอบนพื้นฐานแนวคิดในการขยายกรอบการดำเนินงานของ สำนักเลขาธิการ IOC WESTPAC ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการดำเนินงานสำนักเลขาธิการ IOC WESTPAC ที่มีอยู่ให้เข้มแข็งขึ้น โดยโครงสร้างบุคลากร และงบประมาณของสำนักงาน DCO จะใช้สถานที่ ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่มีอยู่ของสำนักงานเลขาธิการ IOC WESTPAC ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ ข้อเสนอของประเทศไทยบนพื้นฐานแนวคิดในการขยายกรอบการดำเนินงานที่มีอยู่ หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ IOC WESTPAC ซึ่งได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันจากรัฐบาลไทย ภายใต้ขอบเขตของพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 จะทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงาน DCO อีกหน้าที่หนึ่ง จึงไม่มีการขอเอกสิทธิ์และความคุ้มกันจากรัฐบาลไทยเพิ่มเติม
2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า หากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกในการเสนอขอรับเป็นเจ้าภาพสำนักงาน DCO จะเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางขององค์การ/สำนักงานระดับระหว่างประเทศหรือระดับภูมิภาคในการดำเนินการภายใต้กรอบ UN Decade รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุทรศาสตร์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม หรือข้อริเริ่มใหม่ ๆ ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาหรือขยายกรอบความร่วมมือด้านสมุทรศาสตร์ในกรอบอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบการเสนอขอรับเป็นเจ้าภาพสำนักงาน Decade Coordination Office (DCO) และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาต่อไป
23. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 27
1.1 การดำเนินการเพื่อฟื้นฟูจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือและฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 และเร่งรัดการดำเนินงานตามกรอบฟื้นฟูของอาเซียนและแผนการดำเนินการในการส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานระหว่างองค์กรรายสาขารวมทั้งได้เห็นชอบการขยายรายการสินค้าจำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินมาตรการที่มิใช่ภาษีและสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปหารือเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมสินค้าอาหารและเกษตรโดยเฉพาะอาหารหลักอย่างน้อย 200 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน
1.2 ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้ร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2564 (Priority Economic Deliverables: PEDs) ที่ประชุมฯ เห็นชอบ PEDs ของอาเซียนภายใต้แนวคิด "We care, we prepare, we prosper " ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน 10 ประเด็น และรับทราบประเด็นที่เสนอเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การลงนามของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ฉบับที่ 9 (2) การจัดประชุมให้ความรู้ด้านการเงินของอาเซียน และ (3) ข้อริเริ่มการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน และให้องค์กรรายสาขาดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้
1.3 ความตกลงด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความตกลงที่มีการลงนามแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ซึ่งอาจล้าสมัยไปแล้ว โดยมีจำนวน 12 ฉบับ เช่น กรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจและคณะกรรมการสาขาที่เกี่ยวข้องไปทบทวนความจำเป็นของความตกลงดังกล่าว นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้เสนอ 3 ทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อมีการลงนาม 2) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่กำหนด และ 3) กำหนดจำนวนขั้นต่ำของประเทศที่ให้สัตยาบัน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจศึกษาและหาแนวทางที่เหมาะสมและนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป
1.4 การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement: AITIGA) และปัญหาจากประกาศศุลกากรของสาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (CAROTAR 2020) ที่ประชุมฯ ได้รับทราบสถานะล่าสุดของการดำเนินการเพื่อริเริ่มทบทวนความตกลง AITIGA โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดส่งร่างขอบเขตการทบทวนฯ ของอาเซียนให้ฝ่ายอินเดียพิจารณา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แสดงความกังวลต่อประกาศ CAROTAR 2020 ว่ามีผลต่อการค้ากับอาเซียนและอาจเป็นการละเมิดAITIGA และขอให้รัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียในฐานะประเทศผู้ประสานงานส่งจดหมายถึงอินเดียเพื่อแจ้งข้อกังวลดังกล่าว
1.5 การจัดทำร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างกรอบขอบเขตความตกลงฯ รวมถึงประเด็นที่อาเซียนและสหภาพยุโรปยังคงมีความเห็นที่แตกต่าง โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจเร่งหารือการจัดทำความเห็นของอาเซียนต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตฯ ภายในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อใช้ประกอบการหารือกับฝ่ายสหภาพยุโรปต่อไป (จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจฝ่ายอาเซียนแล้วเมื่อวันที่ 30มีนาคม 2564)
1.6 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าในการให้สัตยาบันความตกลง RCEP ของแต่ละประเทศ และได้ย้ำว่าการให้สัตยาบันจะต้องเป็นไปตามมเงื่อนไขที่มีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศภาคีอื่น 3 ประเทศ ภายในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อให้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2564
2. การหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) ที่ประชุมฯ รับทราบประเด็นที่ภาคธุรกิจของอาเซียนให้ความสำคัญและจะดำเนินการในปี 2564 เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมและเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การให้โอกาสนักธุรกิจเดินทางในช่วงนี้ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี จนก่อให้เกิดการบิดเบือนเจตจำนงที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีและขอให้ภาคเอกชนทางการค้าด้วย ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจกล่าวสนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชน พร้อมแสดงเจตจำนงที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษีและขอให้ภาคเอกชนเร่งรับมือกับยุคดิจิทัลตลอดจนประสานความร่วมมือกับคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้อง
3. การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐสิงคโปร์ สิงคโปร์แจ้งว่าสนใจที่จะหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติมและได้สอบถามภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย โดยไทยแจ้งว่าการส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งได้ให้ข้อมูลเรื่องการลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานที่สิงคโปร์ได้เคยแสดงความสนใจว่าปัจจุบันไทยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและถือหุ้นในธุรกิจดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 100 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
แต่งตั้ง
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. นายธีระชาติ ปางวิรุฬรักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี