เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เวลา 10.00 น. เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 มีเนื้อหาสรุปว่า จากการระบาดที่รุนแรงโดยเฉพาะพื้นที่กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับเชื้อโรคได้กลายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้ง่าย รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ โดยมุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายสำหรับพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรค อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงออกข้อกำหนดปรับปรุงพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ โดยให้ ศบค. ปรับปรุงเขตพื้นที่ตามสถานการณ์เสียใหม่ โดยห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วันนับจากข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
โดยบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาดังกล่าวได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ รวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ พนักงานขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน เช่น ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะ ผู้ขนส่งและผู้เดินทางไปยังท่าอากาศยาน ผู้ขนส่งประชาชนไปยังศูนย์พักคอยรอการส่งตัว รวมถึงการให้บริการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ได้แก่ ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น และผู้ประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามกรอบเวลา กะ หรือทำงานตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม
ขณะที่กรณีจำเป็นอื่นๆที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้าบริการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าสถานที่ตำรวจ หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออนุญาต กรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต
ให้มีมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งโดยให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กทม.และปริมณฑล ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถเพื่อลดการเดินทาง ในส่วนของภาคเอกชนให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ สนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานี้
ข้อกำหนดดังกล่าวยังระบุถึงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สำหรับสถานที่ กิจการ ให้เปิดดำเนินการได้ภายในเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบต่อไปนี้ การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือสถานที่ประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดดำเนินการถึงเวลา 20.00 น. และให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยา เวชภัณฑ์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้าง ธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร รวมถึงการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ
ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ให้เปิดดำเนินการจนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงกลางคืน ให้ปิดบริการระหว่างเวลา 20.00 -04.00 น. สำหรับสวนสาธารณะ ลานกีฬา ที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้งให้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. ส่วนสถานประกอบการนวดแผนไทย สปา สถานเสริมความงาม ให้ปิดดำเนินการ ,ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม ยังคงเปิดดำเนินการได้เท่าที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนที่มากกว่า 5 คน สำหรับกิจกรรมการรวมกลุ่มบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมไว้ก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในระยะเวลานี้ขอให้ขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่โรงเรียน สถานศึกษา ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และให้เจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน
ข้อกำหนดดังกล่าวยังกำหนดเกี่ยวกับการขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบให้จัดระบบและระเบียบ จำนวนและห้วงเวลาเดินรถตามมาตรการที่ ศปก.ศบค.กำหนด ทั้งนี้การลดหรือจำกัดรอบให้บริการ อาจทำให้ผู้เดินทางไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรตามปกติ ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.
สำหรับการเดินทางข้ามจังหวัดให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ในช่วงระยะเวลานี้ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดการคัดกรองการเดินทางเส้นทางคมนาคมเข้าออกกทม.และปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกจังหวัดอื่นๆ เพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางประชาชนทั่วไป ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะสำหรับการขนส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัดที่มีพื้นที่ต้นทางจากกทม. ปริมณฑลหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มความเข้มงวด รวมทั้งตรวจสอบคัดกรองการเดินทางให้เป็นไปแนวทางที่ศปก.ศบค.กำหนด สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบ แนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
สำหรับมาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้กทม. จังหวัดปริมณฑล ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดรักษาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มโอกาสการเข้าตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เร่งรัดการจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล เร่งรัดการดำเนินการวางระบบหรือจัดการสถานที่เพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งตัว รวมทั้งเพิ่มจำนวนจุดบริการคัดกรอง และเร่งให้มีบริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้เกิดการเผยแพร่ ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ซึ่งมีความอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความเรียบร้อย ถือเป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 25 ก.ค. เว้นแต่จะมีการประเมินความเหมาะสมสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไป
วันเดียวกันนี้ยังมีการประกาศคำสั่ง ศบค. เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่เฝ้าระวัง โดยกำหนดให้พื้นที่ควบคุมสูงสูดและเข้มงวดมีทั้งสิ้น 10 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา
พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด คือ กระบี่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี
พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี, พื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์
อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0001.PDF
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี