วันนี้ (20 กรกฎาคม 2564) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับมาตรฐานการอุดมศึกษา จำนวน 5 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ 1. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... 2. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... 3. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... 4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาอื่น พ.ศ. .... 5. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... รวมจำนวน 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ อว. รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ อว. เสนอว่า
1. โดยที่มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า “มาตรฐานการอุดมศึกษา” หมายความว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ และเกณฑ์อื่นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อกำหนดขั้นต่ำของหลักสูตรการศึกษา และข้อกำหนดขั้นต่ำของเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และมาตรฐานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริม การกำกับดูแล การตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 บัญญัติให้มีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา และมาตรา 17 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาด้วย ซึ่งต้องดำเนินการโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา มาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา มาตรฐานการอุดมศึกษาอื่น และมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาให้กำหนดโดยกฎกระทรวง
2. ประกอบกับปัจจุบันมีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและคุณภาพการอุดมศึกษาที่กำหนดหลักการสำคัญและรายละเอียดปลีกย่อยหลายฉบับ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 จึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของ “มาตรฐานการอุดมศึกษา” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 อว. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... 2) ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... 3) ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... 4) ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาอื่น พ.ศ. .... 5) ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริม การกำกับ ดูแล การตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษา
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ ตามข้อ 2. โดยได้ปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายบางประการ และให้นำร่างกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับไปดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้ อว. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและนอกสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารนิสิต/นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน สภาคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน สภาวิชาชีพ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแล้ว และในคราวประชุมคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบการดำเนินการดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดมาตรฐานศักยภาพและความพร้อมด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงิน และด้านการบริหารจัดการ มาตรฐานการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษาด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ด้านการบริการทางวิชาการแก่สังคม และด้านการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และมาตรฐานการดำเนินการเพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ
2. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดระดับมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาโครงสร้างที่เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำของหลักสูตร โครงสร้างหลักสูตร หน่วยกิตและการจัดการเรียนรู้ ความพร้อมและศักยภาพในการบริหารจัดการหลักสูตร การประเมินผล การเรียนรู้และเกณฑ์การสำเร็จการศึกษา การประกันคุณภาพหลักสูตร และระบบกลไกในการพัฒนาหลักสูตรและศักยภาพการบริหารจัดการ
3. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการประจำสถาบันอุดมศึกษา การแต่งตั้งคณาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งคณาจารย์ให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาอื่น พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาเป็นมาตรฐานอื่นในมาตรฐานอุดมศึกษา
5. ร่างกฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. .... เป็นการกำหนดระดับมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ผลลัพธ์การเรียนนรู้ของบัณฑิตทุกระดับคุณวุฒิ การเผยแพร่หลักสูตรที่ดำเนินการได้มาตรฐานต่อสาธารณะและการกำดับดูแล ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 70 ปี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 70 ปี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ กค. จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 70 ปี สศช. ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึกและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และให้ข้าราชการของ สศช. เก็บไว้เป็นที่ระลึก และใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ประวัติของหน่วยงาน สำหรับมอบให้แก่บุคคลสำคัญภายในประเทศและนานาประเทศ ซึ่ง กค. ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตามแบบที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว
จึงเห็นควรจัดทำเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท ออกใช้เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 70 ปี ของ สศช. ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ลวดลาย และลักษณะอื่น ๆ ของเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 70 ปี สศช.
3. เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ อก. รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ อก. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร โดยให้มีการจัดเก็บเงินส่วนต่างจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรของโรงงานส่งให้แก่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และนำเงินดังกล่าวมาบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างโรงงาน โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” “น้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร” “เงินส่วนต่าง” และ “พรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทย”
2. ก่อนเริ่มต้นฤดูการผลิต ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) นำประมาณการของปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นของแต่ละโรงงานของฤดูการผลิตนั้น มาจัดทำบัญชีประมาณการการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเฉลี่ยเป็นรายเดือนให้แต่ละโรงงาน และแจ้งให้ทุกโรงงานทราบ
3. โรงงานใดจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเกินกว่าบัญชีประมาณการการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรในแต่ละเดือน ให้ สอน. มีหนังสือแจ้งโรงงานนั้นทราบ เพื่อส่งเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นให้แก่กองทุนภายในวันที่ 15 ของเดือนนั้น
4. กรณีโรงงานที่จำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรไม่ครบตามบัญชีประมาณการการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรในเดือนใด ให้โรงงานนั้นนำปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ที่จำหน่ายไม่ครบไปรวมกับปริมาณน้ำตาลทรายในเดือนถัดไป
5. โรงงานใดประสงค์จะจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเกินกว่าบัญชีประมาณการการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรในเดือนใด ให้สามารถนำปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรของโรงงานอื่นมาจำหน่ายทดแทนกันได้ โดยต้องมีหนังสือยินยอมจากโรงงานนั้น และแจ้งให้ สอน. ทราบ และโรงงานที่จำหน่ายเกินไม่ต้องส่งเงินส่วนต่างสำหรับปริมาณน้ำตาลทรายจำนวนนั้นให้แก่กองทุนฯ
6. ให้ สอน. ปรับปรุงบัญชีประมาณการการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรตามบัญชีจัดสรรน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายของแต่ละโรงงานภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายให้กับโรงงาน โดยจัดสรรให้แต่ละโรงงานตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของแต่ละโรงงานและแจ้งให้ทุกโรงงานทราบ และให้ใช้บังคับในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป ในกรณีโรงงานใดจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเกินกว่าบัญชีประมาณการ ให้ สอน. มีหนังสือแจ้งโรงงานนั้นเพื่อส่งเงินส่วนต่างให้แก่กองทุนภายในวันที่ 15 ของเดือนนั้น
7. หลังจากสิ้นสุดฤดูการผลิตให้ สอน. ทำบัญชีการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ที่จำหน่ายได้จริงของแต่ละโรงงานเป็นรายเดือน จากปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่ได้มีการอนุญาตให้มีการขนย้ายทั้งหมดในฤดูการผลิต โดยจัดสรรให้แต่ละโรงงานตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของแต่ละโรงงาน และ มีหนังสือแจ้งให้ทุกโรงงานทราบภายในวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี และในกรณีราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรมีการเปลี่ยนแปลง ให้ สอน. จัดทำบัญชีการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายได้จริงของแต่ละโรงงานเป็นรายเดือนตามแต่ละช่วงของราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร และมีหนังสือแจ้งให้ทุกโรงงานทราบภายในวันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปี
8. ให้ สอน. คำนวณปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่แต่ละโรงงานจำหน่ายเกินหรือจำหน่ายไม่ครบในแต่ละเดือน จากปริมาณตามบัญชีการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายได้จริง หากมีโรงงานใดจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเกินกว่าบัญชีการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายได้จริงในเดือนใด และยังไม่ได้ส่งเงินให้แก่กองทุน ให้ สอน. มีหนังสือแจ้งโรงงานส่งเงินส่วนต่างที่มีการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามปริมาณและราคาในแต่ละช่วงเวลา ในส่วนที่ขาดให้แก่กองทุนฯ ภายในวันที่ 30 ตุลาคมของทุกปี
9. ให้ สอน. นำเงินที่โรงงานส่งให้แก่กองทุนฯ มาคำนวณเฉลี่ยถ่วงหน้ำหนักตามปริมาณและราคาในแต่ละช่วงเวลา เพื่อจ่ายคืนให้กับทุกโรงงานจากปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายเกินหรือจำหน่ายไม่ครบในแต่ละเดือน ตามบัญชีการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายได้จริง และมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายคืนเงินดังกล่าวให้กับโรงงานภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนของทุกปี
10. โรงงานใดไม่ส่งเงินส่วนต่าง หรือเงินส่วนต่างเฉลี่ยทั้งฤดูการผลิตให้แก่กองทุนฯ ให้ สอน. ระงับการออกหนังสืออนุญาตขนย้ายน้ำตาลทรายของโรงงานนั้นจนกว่าจะมีการส่งเงินให้แก่กองทุนฯ ครบถ้วน
11. ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ให้ สอน. นำประมาณการของปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นของแต่ละโรงงาน มาจัดทำบัญชีประมาณการการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเฉลี่ยเป็นรายเดือนให้แต่ละโรงงาน โดยหากโรงงานใดได้จำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรก่อนวันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกินกว่าบัญชีประมาณการ ให้โรงงานนั้นส่งเงินส่วนต่างของเดือนนั้นให้แก่กองทุนฯ ภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับแจ้งจาก สอน. หากโรงงานใดไม่ส่งเงินให้แก่กองทุนฯ ให้ สอน. นำปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่โรงงานนั้นได้จำหน่ายไปก่อนวันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาคำนวณหักลบกับปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่โรงงานนั้นมีสิทธิ์จำหน่ายรวมตลอดทั้งฤดูการผลิต และนำมาจัดสรรใหม่ให้โรงงานนั้นตามเดือนที่เหลืออยู่
4. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยมอบหมายให้ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพิ่มเติมวันใช้บังคับของร่างระเบียบดังกล่าวให้สมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างระเบียบที่ สศช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียด การเสนอโครงการ วิธีการดำเนินโครงการ ตลอดจนการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อให้การดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เป็นไปอย่างรัดกุม และมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
กำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียด การเสนอโครงการ วิธีการดำเนินโครงการ ตลอดจนการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ โดยแบ่งออกเป็น 6 หมวด ดังนี้
1. หมวดที่ 1 บททั่วไป เป็นการกำหนดให้ดำเนินโครงการไม่ว่าจะเป็นการเสนอโครงการ การจัดสรรเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ และการรายงานผลการดำเนินโครงการ ให้ดำเนินการรับส่งข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและให้มีการจัดส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินกู้ตามวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
2. หมวดที่ 2 การเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ เป็นการกำหนดขั้นตอนการเสนอ การพิจารณา รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุมัติโครงการ โดยได้กำหนดลักษณะโครงการที่หน่วยงานจะจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการ เช่น เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับแผนงานหรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนด เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้จ่าย หรือก่อหนี้ผูกพันโดยเร็วแต่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ หรือได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ หรือเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการดำเนินงานและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมตามวัตถุประสงค์ไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนด เป็นต้น
3. หมวดที่ 3 การดำเนินโครงการ เป็นการกำหนดวิธีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินกู้ ดำเนินการกู้เงิน การจัดส่งประมาณการการเบิกจ่าย การพัสดุ และการพิจารณาการโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ การยุติหรือยกเลิกกิจกรรม หรือโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานเมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ
4. หมวดที่ 4 การเก็บรักษาเงินกู้และการเบิกจ่ายเงินกู้ เป็นการกำหนดให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังชื่อบัญชี “เงินกู้ตาม พ.ร.ก. COVID-19 2564” และกำหนดแนวทางการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ และหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด
5. หมวดที่ 5 การติดตามประเมินผล และการรายงานผลการใช้เงินกู้กำหนดให้ติดตามประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการประเมินผลการใช้เงินกู้ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
6. หมวดที่ 6 การใช้วงเงินกู้สำหรับรายการเงินสำรองจ่าย กำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในรายการเงินสำรองจ่ายตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้กำหนดวงเงินไว้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคำขอใช้เงินกู้พร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็น ก่อนเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
5. เรื่อง ร่างพระราชบัญติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานศาลยุติธรรม ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
3. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การเสนอโครงการขนส่งทางรางและการดำเนินโครงการขนส่งทางราง เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง การกำกับดูแลการประกอบกิจการการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ หลักเกณฑ์ของผู้ตรวจการขนส่งทางรางและผู้ประจำหน้าที่ การจดทะเบียนการขนส่งทางราง การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล เพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
1.1 ให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาการขนส่งทางรางและโครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางรางซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
1.2 เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีต่อคณะรัฐมนตรี การเชื่อมต่อการขนส่งทางราง กับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ สถานีขนส่งทางบก ศูนย์กระจายสินค้า ที่พักสินค้า ท่าเรือบก นิคมอุตสาหกรรม และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
1.3 กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่น รวมถึงกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร
1.4 ให้ความเห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวงตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
1.5 เสนอแนะ รายงานปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการที่เกี่ยวกับกิจการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี
2. กำหนดให้กรมการขนส่งทางรางจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โดยให้กรมการขนส่งทางรางมีอำนาจหน้าที่สำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อประโยชน์ในการทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวเส้นทางการขนส่งทางรางให้เป็นไปโดยเหมาะสมแก่การบริการสาธารณะและมีความปลอดภัยแก่ประชาชน และให้เสนอขอความเห็นชอบแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. กำหนดให้ในการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางให้เจ้าของโครงการดำเนินการดังนี้
3.1 กรณีรถไฟและรถไฟฟ้า ให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
3.2 กรณีรถราง ให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
4. กำหนดให้การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง รัฐอาจให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองหรืออาจให้มีการดำเนินการโดยการให้เอกชนร่วมลงทุน
4.1 ในกรณีที่รัฐให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีรายการดังนี้
4.1.1 กรณีรถไฟและรถไฟฟ้า ได้แก่ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ขอบเขตของโครงการ ระยะเวลาของโครงการ ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ แหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินการ ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดให้มีสถานีเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางและการใช้สถานีร่วมกับเส้นทางอื่น การจัดให้มีสถานีสับเปลี่ยนรถขนส่งทางรางที่เหมาะสม การให้ใช้เส้นทางร่วมกันกับโครงการเส้นทางอื่น ระบบตั๋วร่วมกับเส้นทางอื่นกับระบบบริการขนส่งสาธารณะอื่น อัตราค่าโดยสาร ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารที่จัดให้เป็นระบบเครือข่ายร่วมกันกับโครงการเส้นทางอื่น ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ แก่ผู้ใช้บริการ แผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี การเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง และประโยชน์อย่างอื่นเพื่อสาธารณะ
4.1.2 กรณีรถราง ได้แก่ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ขอบเขตของโครงการ ระยะเวลาของโครงการ สัดส่วนการลงทุนของรัฐและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ถ้ามี) ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ตลอดระยะเวลาโครงการแหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินการ และผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง
4.2 ในกรณีที่รัฐให้มีการดำเนินกิจการโดยการให้เอกชนร่วมลงทุนให้เจ้าของโครงการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางที่มีเอกชนร่วมลงทุนต่อคณะรัฐมนตรี โดยนอกจากรายการตามข้อ 4.1 แล้ว ให้มีรายการเพิ่มเติมดังนี้ ระยะเวลาการให้สัมปทาน ความคุ้มค่าในการลงทุน การให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ส่วนแบ่งรายได้ในกรณีที่รายได้ของเอกชนได้เกินกว่าการประมาณการในการให้สัมปทาน (ถ้ามี) เอกชนต้องมีคุณสมบัติ ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง สิทธิของบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ทำงาน การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่จะต้องเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ถ้ามี) สิทธิในการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟหรือรถไฟฟ้า หรือรถราง และเงื่อนไขอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการให้สัมปทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
5. กำหนดให้การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่การดำเนินการโครงการใดตามแผนพัฒนาการขนส่งทางรางจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการดังนี้
5.1 ในกรณีที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะให้ดำเนินกิจการขนส่งทางราง ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายเฉพาะนั้น
5.2 ในกรณีที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
5.3 ในกรณีอื่นนอกจาก 5.1 และ 5.2 ให้กรมการขนส่งทางรางดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
6. กำหนดให้เจ้าของโครงการกำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาและความปลอดภัยของการขนส่งทางราง ตลอดจนความปลอดภัยของบุคคลที่อยู่ในระบบการขนส่งทางราง ทั้งนี้ การกำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
7. กำหนดให้ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการขนส่งทางราง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี
8. กำหนดให้การเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่น แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกาศให้สาธารณชนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันที่จะบังคับใช้อัตรานั้น
9. กำหนดให้เจ้าของโครงการหรือเอกชนเจ้าของรางหรือทางเฉพาะมีหน้าที่ต้องยินยอมให้มีการเชื่อมต่อรางหรือทางเฉพาะเพื่อการขนส่งร่วมกันเมื่อมีการร้องขอ โดยปฏิบัติต่อผู้ขอเชื่อมต่อทุกรายอย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ
10. กำหนดให้มี “คณะกรรมการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง” ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 7 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยให้มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางรางเพื่อขอสนับสนุนข้อมูลและความร่วมมือด้านต่าง ๆ พิจารณาความเหมาะสมของการใช้การประโยชน์ราง และกำหนดให้ผู้จัดการโครงสร้างพื้นฐานดำเนินการเพิ่มจำนวนเที่ยวในการให้บริการเดินรถขนส่งทางราง
11. กำหนดให้มี “คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของการขนส่งทางราง” ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 7 คน จากผู้ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางราง ด้านวิศวกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวกับการขนส่งทางรางอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์ ดำเนินการสอบสวน วิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยด้านการขนส่งทางราง จัดทำรายงานการสอบสวน เสนอแนะมาตรการเชิงป้องกัน จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อความปลอดภัยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและติดตามการดำเนินการ จัดทำรายงานผลการดำเนินการประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรีและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณรัฐมนตรีมอบหมาย
12. กำหนดให้ “ผู้ตรวจการขนส่งทางราง” มีอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยมีหน้าที่และอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางหรือสถานที่ทำการของผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการขนส่งทางราง ยึดหรืออายัดไว้ซึ่งสิ่งของหรือเอกสารที่เป็นความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิด เข้าไปในขบวนรถ เดินทางไปกับขบวนรถ ระงับการออกเดินทาง หรือกักขบวนรถ สั่งเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับใบอนุญาต พนักงาน และลูกจ้างของผู้ได้รับใบอนุญาต ปฏิบัติการใด ๆ หรืองดเว้นการปฏิบัติการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง
13. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประจำหน้าที่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ซึ่งออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย
14. กำหนดให้ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถขนส่งทางรางที่ไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง
15. กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้โดยสารดังนี้
15.1 ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่นเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดมิได้
15.2 ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเมื่อการเดินรถขนส่งทางรางมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก
15.3 ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของ ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ
15.4 ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการของการประกอบกิจการขนส่งทางราง
16. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้มีสิทธิร้องเรียนต่ออธิบดี และให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและให้มีคำสั่งโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และให้สั่งผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ร้องเรียนภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด
17. กำหนดให้ในกรณีที่การกระทำความผิดใดมีบทกำหนดโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ หากเป็นการกระทำความผิดของผู้ประจำหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตกรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ได้รับใบอนุญาต ให้การกระทำความผิดนั้นอาจถูกดำเนินมาตรการลงโทษปรับทางปกครองได้
18. กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มีผลกระทบต่อการขนส่งทางรางหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้การกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่การขนส่งทางราง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
19. กำหนดให้บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
เศรษฐกิจ-สังคม
6. เรื่อง การโอนเงินหรือทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และ FIDF 3
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้โอนเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (บัญชีสะสมฯ) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพิ่มเติม จำนวน 2,875 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยกระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก.) รวมจำนวน 2,875 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม 2564 คณะกรรมการจัดการกองทุนในการประชุมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 จึงได้มีมติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้โอนเงินของกองทุนฯ จำนวนดังกล่าวเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และ FIDF 3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพิ่มเติมทั้งจำนวน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะมีเงินของกองทุนฯ ที่นำส่งเข้าบัญชีสะสมฯ เพื่อชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และ FIDF 3 รวมจำนวนทั้งสิ้น 5,275 ล้านบาท [2,400 ล้านบาท (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563) + 2,875 ล้านบาท (จำนวนเงินที่ กค. ขออนุมัติโอนต่อคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้)] โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ยอดหนี้ต้นเงินกู้ FIDF 1 และ FIDF 3 สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
รายงาน |
จำนวนเงิน |
ยอดรวมต้นเงินกู้ที่รับมาดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 |
1,138,305.89 |
ยอดชำระหนี้สะสมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 - เดือนพฤษภาคม 2564 (เงินต้น จำนวน 412,463.22 ล้านบาท ดอกเบี้ย จำนวน 317,461.58 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 11.16 ล้านบาท) |
729,935.96 |
ยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 |
711,542.67 |
ที่มา : รายงานการบริหารหนี้ตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เริ่มดำเนินการถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
7. เรื่อง แผนระดับที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนระดับที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ (แผนจัดการฯ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ทั้งนี้ (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ (แผนจัดการฯ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพหรืออาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการเพื่อเสนอแผนจัดการฯ รายพื้นที่อย่างน้อย 12 แห่ง ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. (ร่าง) แผนจัดการฯ (ฉบับที่ 1) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 เป้าหมาย |
1.2 ตัวชี้วัด |
1.3 กลไกขับเคลื่อน |
1.4 แนวทาง การดำเนินงาน |
(1) อนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในเขตพื้นที่อนุรักษ์ และมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
|
· สมุนไพรได้รับการคุ้มครองและอนุรักษ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ของพื้นที่เขตอนุรักษ์ · พื้นที่เขตอนุรักษ์ที่เป็นถิ่นกำเนิดสมุนไพรได้รับการประกาศแผนจัดการฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่
|
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และนายทะเบียนจังหวัดเป็นหลักในการจัดทำแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟูสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร โดยการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคเอกขน ภาคประชาสังคม และประชาชน รวมถึงสร้างความเข้าใจหลักในการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์จากสมุนไพร และทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน |
· จัดทำแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่ กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปในเขตอนุรักษ์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ หรือคุณค่าของสมุนไพร หรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ · วางระบบการบริหารจัดการระดับพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพบทบาท และการมีส่วนร่วมของกลุ่มภาคีเครือข่ายในการคุ้มครองสมุนไพร · ดำเนินการตามรายละเอียดของตัวชี้วัดตามเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ โดยยึดจากแผนจัดการภาพรวมของประเทศ หากพื้นที่ใดเข้าเกณฑ์ในการจัดทำแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่ ก็ให้ สธ. ประกาศได้ |
(2) เสริมสร้างศักยภาพ บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการคุ้มครองสมุนไพร เพื่อประโยน์ในการร่วมมือ และประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ |
· มีแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่อย่างเหมาะสมเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ข้อมูลทางวิชาการ และเกิดการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ ภายในปี 2565 · หน่วยงานระดับพื้นที่และประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสมุนไพรเพิ่มขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ สผ. สถ. นายทะเบียนจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ตลอดจนเร่งสร้างจิตสำนึก เสริมสร้างศักยภาพและบทบาทของทุกภาคส่วนในการคุ้มครองสมุนไพร และบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร |
|
(3) สำรวจ ศึกษาวิจัยสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสมุนไพรฯ |
· มีข้อมูลจำนวนชนิดพันธุ์ของสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ครบถ้วน · สมุนไพรได้รับการจัดทำทะเบียน ร้อยละ 100 · มีการศึกษาหรือวิจัยสมุนไพรและนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ต่อปี · จำนวนพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ของพื้นที่เขตอนุรักษ์ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ สผ. สถ. นายทะเบียนจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง ชาติ สถาบันการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ผู้รู้ และ นักวิชาการร่วมสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพร บริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร และการใช้ประโยชน์สมุนไพร โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสำรวจการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงการต่อยอดวิจัยสมุนไพรจากภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดความหวงแหนและจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรสมุนไพรในพื้นที่ |
|
(4) เสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชน และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น |
· อัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ต่อปี · ชุมชนและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกสมุนไพรเป็นอาชีพ และใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นายทะเบียนจังหวัด และเครือข่ายภาคประชาชนส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การผลิตและขยายผลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างมีคุณภาพเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โภชนาเภสัช เวชสำอางและกลุ่มเครื่องสำอาง สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค และสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับแนวทางการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน |
|
1.5 การจัดทำแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรระดับพื้นที่ ภายใต้แผนจัดการฯ (ฉบับที่ 1) มีเป้าหมายที่จะประกาศแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่อย่างน้อย 12 แห่ง* ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกและพิจารณาพื้นที่เพื่อประกาศเป็นแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรระดับพื้นที่ ดังนี้
ลำดับ |
หลักเกณฑ์ฯ |
1 |
เป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากการกระทำของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือการลดลงของพันธุกรรม |
2 |
เป็นพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจถูกทำลาย |
3 |
ต้องสำรวจพบสมุนไพรสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ (1) สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาวิจัย (2) สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และ (3) สมุนไพรที่อาจจะสูญพันธุ์ โดยได้รับอนุญาตและมีส่วนร่วมจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ |
4 |
ไม่เป็นที่ดินที่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง |
5 |
เป็นพื้นที่ที่ชุมชนและประชาชนมีความต้องการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างเหมาะสม |
6 |
ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งเงินทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการอนุรักษ์ คุ้มครองสมุนไพรและพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพร โดยไม่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือธุรกิจภายนอกที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างไม่เหมาะสม |
7 |
ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการเป็นแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพร |
8 |
ต้องผ่านความเห็นชอบจากมติคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการคุ้มครองฯ |
1.6 การติดตามและประเมินผล โดยการประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและประเมินสถานการณ์สมุนไพร ลงพื้นที่ศึกษา ประเมินผลติดตามจำนวนสมุนไพรแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่เขตอนุรักษ์โดยนายทะเบียนจังหวัดทุก ๆ 6 เดือน และจัดทำรายงานประเมินผลการใช้แผนจัดการฯ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสมุนไพร และบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร
2. ในส่วนของงบประมาณ จะใช้จ่ายจากเงินกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยฯ โดยประมาณการวงเงินแผนระยะสั้น 2 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1.735 ล้านบาท
_____________________
1พื้นที่เขตอนุรักษ์ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 1,687 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 80 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง สวนรุกขชาติ 56 แห่ง สวนพฤกษศาสตร์ 18 แห่ง วนอุทยาน 97 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 1,221 แห่ง
8. เรื่อง การปรับปรุงหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การออกสลากการกุศล
2. การปรับปรุงหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล (คณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ) ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
ปัจจุบันสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ดำเนินการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และจ่ายเงินสนับสนุนโครงการสลากการกุศลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 และวันที่ 9 เมษายน 2562 รวม 16 โครงการ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 7,988 ล้านบาท เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาการออกสลากการกุศลครั้งต่อไปเป็นไปอย่างเหมาะสม มีความรอบคอบ ชัดเจนและเกิดประโยชน์รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน กค. จึงเห็นสมควรปรับปรุงหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล ดังนี้
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการฯ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการและผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการพิจารณารายละเอียดของหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศลภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติพิจารณากลั่นกรองโครงการสลากการกุศลของหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนเสนอ กค. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. หลักเกณฑ์และแนวทางฯ ประกอบด้วย
หลักเกณฑ์และแนวทางฯ |
รายละเอียด |
ประเภทหน่วยงาน ที่ขอรับการสนับสนุน |
- หน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 [หน่วยงานของรัฐที่ขอรับหรือได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และให้หมายความรวมถึงสภากาชาดไทยด้วย] - มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร |
ลักษณะของโครงการ ที่ขอรับการสนับสนุน |
- มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการสาธารณสุข การป้องกันและบรรเทาโรคติดต่ออันตราย หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมอย่างทั่วถึงในวงกว้าง - ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ หรือได้รับการจัดสรรแต่ไม่เพียงพอ และไม่มีการดำเนินงานซ้ำซ้อนกับโครงการที่เสนอขอรับเงินงบประมาณจากภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งไม่มีลักษณะเป็นเงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการหรือดำเนินกิจกรรมส่งเสริมทั่วไป - ไม่เคยได้รับการสนับสนุนการออกสลากการกุศลมาก่อน |
การพิมพ์สลากการกุศล |
- ไม่เกินจำนวนงวดละ 11 ล้านฉบับ |
วงเงินสนับสนุนโครงการ |
- ไม่เกินโครงการ 1,000 ล้านบาท และการพิจารณาสนับสนุนโครงการที่ขอออกสลากการกุศลในแต่ละครั้งจะต้องมีวงเงินรวมไม่เกิน ครั้งละ 10,000 ล้านบาท |
การพิจารณาออกสลาก การกุศลในครั้งถัดไป |
- จะดำเนินการภายหลังจากสำนักงานสลากฯ ออกสลากการกุศลครบวงเงินจำนวนตามโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติครั้งก่อน |
รายละเอียดของโครงการ ที่ขอรับการสนับสนุน |
- ความเป็นมาของโครงการ - เหตุผลความจำเป็นของโครงการ - วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และกิจกรรม รวมถึงผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ ของโครงการที่สะท้อนถึงประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม - แผนการดำเนินงาน ระยะเวลาการดำเนินงาน รายละเอียดค่าใช้จ่ายและแผนการใช้จ่ายเงินรายเดือน รวมถึงแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ - ผลประกอบการและการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่า มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนโดยการออกสลากการกุศล รวมถึงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น งบการเงิน (3 ปีย้อนหลัง) เป็นต้น - แหล่งเงินทุนอื่นของโครงการในการดำเนินโครงการ (ถ้ามี) - ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินโครงการที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่ด้านการเงิน - ความเห็นของหน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่ขอรับการสนับสนุน - แนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุน |
การติดตามและรายงาน ผลการดำเนินโครงการ |
- หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนต้องรายงานผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนการออกสลากการกุศล เปรียบเทียบกับเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานให้ กค. ทราบเป็นรายไตรมาสภายใน 45 วันนับจากวันสิ้นไตรมาส - หากเกิดกรณีการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือแผนการดำเนินโครงการที่กำหนดไว้ ให้หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนชี้แจงสาเหตุของความล่าช้า แนวทางการแก้ไข และจัดทำแผนการปรับปรุงเสนอคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ พิจารณา (กรณีหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนไม่ดำเนินการชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว จะไม่สามารถเบิกเงินในงวดถัดไปได้) และหากคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกโครงการดังกล่าว |
หมายเหตุ : หากประเภทของหน่วยงานหรือลักษณะโครงการที่ขอรับการสนับสนุนแตกต่างจากหลักเกณฑ์และแนวทางในการพิจารณาดังกล่าวข้างต้น ให้คณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นเสนอ กค. เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี
3. ช่องทางการยื่นขอรับการสนับสนุนและการเปิดเผยโครงการที่ได้รับการสนับสนุน
3.1 จะมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กำหนดระยะเวลาการยื่นขอรับการสนับสนุนและหลักเกณฑ์และแนวทางฯ บนเว็บไชต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และของสำนักงานสลากฯ
3.2 หน่วยงานที่ประสงค์จะขอรับการสนับสนุนสามารถยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนสลากการกุศลได้ที่ สคร.
3.3 จะมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่รายชื่อหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนรายละเอียดโครงการ วงเงินที่ได้รับการสนับสนุน ตามรูปแบบที่คณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ กำหนดบนเว็บไซต์ของ สคร. และสำนักงานสลากฯ
4. สัดส่วนการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศล
4.1 ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล
4.2 ไม่เกินกว่าร้อยละ 225 เป็นเงินรายได้ที่ให้กับหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุน
4.3 ร้อยละ 0.5 เป็นค่าภาษีการพนัน
4.4 ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย
กรณีมีเงินคงเหลือภายหลังจากการจัดสรรการสนับสนุนโครงการสลากการกุศล ให้สำนักงานสลากฯ นำส่งเงินดังกล่าวคืนเป็นรายได้แผ่นดิน
9. เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เรื่อง ขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการขอทบทวนเงื่อนไขวรรคท้ายของข้อ 5.2.2 ของโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง จากเดิม “ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับเป็นรายได้ของธนาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติภายใต้ระบบบัญชี PSA (Public Service Account)” เป็น “ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับเป็นรายได้ของธนาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติภายใต้ระบบบัญชี PSA (Public Service Account) และธนาคารออมสินสามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ ภายใต้ระบบบัญชี PSA (Pubic Service Account)” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. ผลการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 พบว่า มีผู้ประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 5,438 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 6,359 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จำนวน 1,248 ราย วงเงินสินเชื่อ 772.12 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564) ทั้งนี้ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร
2. ธนาคารออมสินแจ้งว่า ข้อความวรรคท้ายของข้อ 5.2.2 ของโครงการฯ (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤษภาคม 2563) ทำให้ธนาคารออมสินไม่สามารถบันทึกบัญชีรายได้ในงบการเงินของธนาคารได้และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของธนาคาร จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการแก้ไขข้อความเป็น “ธนาคารออมสินสามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้...”
10. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) รวมทั้งสิ้น 2,411 อัตรา ตามมติ คปร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ดังนี้
1. สำนักงานปลัดกระทรวง สธ. จำนวน 2,136 อัตรา
2. กรมราชทัณฑ์ ยธ. จำนวน 275 อัตรา
สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของส่วนราชการดังกล่าวให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณ (สงป.) กำหนด
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. รายงานว่า
1. คปร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวง สธ. และกรมราชทัณฑ์ ยธ. โดยมีเงื่อนไขไม่ให้สำนักงานปลัดกระทรวง สธ. และกรมราชทัณฑ์ ยธ. นำตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรมายุบเลิกเพื่อปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งอื่นเป็นระดับที่สูงขึ้น ดังนี้
จำนวนคำขอ |
มติ คปร. เห็นชอบ |
สาระสำคัญ |
1.1 สำนักงานปลัดกระทรวง สธ. |
||
2,136 อัตรา (ปฏิบัติภารกิจการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาค รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย) |
2,136 อัตรา (นายแพทย์ 1,741 อัตรา และทันตแพทย์ 395 อัตรา ระดับปฏิบัติการ หรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ) |
1) ให้ อ.ก.พ. สธ. กำหนดตำแหน่งโดยให้มีผลย้อนหลังไปไม่ก่อนวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่นักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ และปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลตามที่ สธ. กำหนด 2) ให้ อ.ก.พ. สธ. นำตำแหน่งที่ต้องทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) มากำหนดเป็นข้าราชการตำแหน่งนายแพทย์หรือทันตแพทย์ได้ในอัตรา 1 : 1 ตามความจำเป็นของภารกิจ และให้ สธ. บริหารอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ และตำแหน่งว่างระหว่างปีเพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาคู่สัญญาตำแหน่งนายแพทย์และทันตแพทย์ควบคู่กันไป และจะต้องไม่เกินจำนวนเป้าหมายที่กำหนดตามแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของ สธ. 3) ให้ สธ. จัดทำข้อเสนอเพื่อทบทวนสัดส่วนในการรับนักศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาเพื่อปฏิบัติงานชดใช้ทุนกับ สธ. และภาคส่วนอื่นให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและปริมาณงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป 4) หาก สธ. ได้บริหารอัตราว่างตามข้อ 2) แล้ว แต่ยังมีจำนวนตำแหน่งไม่ครบตามจำนวนนักศึกษาคู่สัญญาที่จะบรรจุเข้ารับราชการทั้งสองสายงานดังกล่าว ให้ สธ. เสนอ ก.พ. พิจารณาเป็นรายกรณี โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงจากการนำตำแหน่งอื่นมาใช้ภาระงบประมาณ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบรรลุเป้าหมายของภารกิจอื่นด้วย |
1.2 กรมราชทัณฑ์ ยธ. |
||
1,988 อัตรา (ปฏิบัติภารกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง 451 อัตรา และภารกิจด้านการควบคุมและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง 1,537 อัตรา*) |
275 อัตรา (ปฏิบัติภารกิจด้านการพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพผู้ต้องขังในสภานพยาบาล เรือนจำ/ทัณฑสถาน ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับปฏิบัติการ หรือชำนาญการ |
- ให้จัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ 200 อัตราใน 2 ภารกิจดังกล่าว โดยให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) พิจารณาต่อไป [ปฏิบัติภารกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง 176 อัตรา (ตำแหน่งนักจิตวิทยาคลินิก 126 อัตรา นักสังคมสงเคราะห์ 47 อัตรา และนักโภชนาการ 3 อัตรา) และภารกิจด้านการควบคุมและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง (เพื่อรองรับภารกิจศาลแห่งใหม่ที่เปิดทำการ ตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานราชทัณฑ์) 24 อัตรา] - การขอรับการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการเพิ่มใหม่ 1,265 อัตรา (ตำแหน่งนักทัณฑวิทยา 316 อัตรา และเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 949 อัตรา) เพื่อปฏิบัติภารกิจควบคุมและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้พิจารณาทบทวนภารกิจควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดความตรากตรำจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยให้สำนักงาน ก.พ. หารือร่วมกับ ยธ. และหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.พ.ร. สงป. เป็นต้น ทั้งนี้ ให้พิจารณาภาระงานที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายในเรือนจำด้วย ก่อนนำเสนอ คปร. พิจารณาต่อไป |
หมายเหตุ * แบ่งเป็น 1) ภารกิจการควบคุมผู้ต้องขังเพื่อลดความตรากตรำจากการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งนักทัณฑวิทยา 316 อัตรา เจ้าหนักงานราชทัณฑ์ 949 อัตรา และ 2) ภารกิจการควบคุมผู้ต้องขังเพื่อรองรับภารกิจศาลแห่งใหม่ที่เปิดทำการ 272 อัตรา
2. คปร. ได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2461 โดยได้จัดทำรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว ทั้งนี้ การอนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัด สธ. และ ยธ. รวมทั้งสิ้น 2,411 อัตรา จะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 760,663,560 บาทต่อปี โดยจะผูกพันค่าใช้จ่ายในระยะยาวของแต่ละส่วนราชการสรุปได้ ดังนี้
ตำแหน่งข้าราชการที่ คปร. เห็นชอบ |
ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่เพิ่มขึ้น |
||
หน่วยงาน/ตำแหน่งข้าราชการ |
จำนวน (อัตรา) |
ต่อเดือน (บาท) |
ต่อปี (บาท) |
2.1 สำนักงานปลัดกระทรวง สธ. |
|||
นายแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ |
1,651 |
42,645,330 |
511,743,960 |
ทันตแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ |
370 |
9,557,100 |
114,685,200 |
นายแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ (บรรจุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) |
90 |
2,549,700 |
30,596,400 |
ทันตแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ (บรรจุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) |
25 |
708,250 |
8,499,000 |
รวม |
2,136 |
55,460,380 |
665,524,560 |
2.2 กรมราชทัณฑ์ ยธ. |
|||
พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการหรือชำนาญการ |
275 |
7,928,250 |
95,139,000 |
รวม |
275 |
7,928,250 |
95,139,000 |
11. เรื่อง การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอดังนี้
1. แนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
2. กรอบและแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบใน 2 ประเด็นที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการและจังหวัด ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการและจังหวัดในภาวะวิกฤตมีการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบ ก.พ.ร. จึงกำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของส่วนราชการและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 [ซึ่งเป็นการปรับแนวทางไปจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมตีให้ความเห็นชอบไว้ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 กันยายน 2563)] โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 ให้ส่วนราชการและจังหวัดรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดต่อสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อใช้ในการติดตาม (Monitoring) แต่จะไม่นำผลไปจัดประเภทตามเกณฑ์การประเมินในระดับคุณภาพ ระดับมาตรฐาน และระดับต้องปรับปรุง
1.2 ให้ส่วนราชการและจังหวัดถอดบทเรียนการบริหารจัดการผลกระทบและการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องส่งสำนักงาน ก.พ.ร.
1.3 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. สรุปบทเรียนการบริหารจัดการผลกระทบในภาพรวมของส่วนราชการและจังหวัด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานและการให้บริการประชาชนได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพหากเกิดภาวะวิกฤตในอนาคต
2. กรอบและแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
||||||||||||||||||||
หลักการและแนวทาง |
มุ่งเน้นให้กระทรวงมีบทบาทหลักในการพิจารณากำหนดตัวชี้วัดและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของกระทรวงและส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ซึ่งพิจารณาจากประเด็นสำคัญในการบูรณาการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนระดับชาติอื่น ๆ มากำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกระทรวงและถ่ายทอดลงสู่ระดับกรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมส่วนราชการในสังกัดฝ่ายบริหาร จำนวน 153 ส่วนราชการ และ 76 จังหวัด ทั้งนี้ ได้เชื่อมโยงการประเมินส่วนราชการกับการประเมินผลการปฏิบัติงานรายบุคคลที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ. ด้วย โดยนำผลการประเมินตามมาตรการดังกล่าวไปเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการปฏิบัติงานรายบุคคลในระดับหัวหน้าส่วนราชการ (ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าอธิบดีหรือเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด) ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำแนวทางการเชื่อมโยงการประเมินดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 |
||||||||||||||||||||
องค์ประกอบ และประเด็นการประเมิน |
ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ดังนี้
|
||||||||||||||||||||
กลไกการประเมิน |
1. ส่วนราชการ แบ่งกลไกการประเมินเป็น 2 ระดับ สรุปได้ ดังนี้ ระดับ 1 คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (คณะทำงานฯ) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นต่อความเหมาะสมของตัวชี้วัดระดับกระทรวงและจังหวัด ระดับ 2 คณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ (คณะกรรมการฯ) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ (1) ส่วนราชการระดับกระทรวง 18 กระทรวง (ยกเว้น กห. และสำนักนายกรัฐมนตรี) ให้มีคณะกรรมการฯ ในกระทรวงที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีหน้าที่กำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย รวมถึงกำกับ ติดตามและให้การสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติราชการของกระทรวงและส่วนราชการในสังกัดเป็นไปตามแนวทางและเป้าหมายที่กำหนด (2) ส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง (ยกเว้น กอ.รมน. และ ตช.) จำนวน 21 หน่วยงาน ให้มีคณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งโดยรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่กำกับส่วนราชการมีหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการฯ ในระดับกระทรวง 2. จังหวัดใช้กลไกการประเมินผ่านคณะทำงานฯ ของจังหวัด เช่นเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 |
||||||||||||||||||||
เกณฑ์การประเมิน |
พิจารณาจากคะแนนในภาพรวม แบ่งเกณฑ์การประเมินเป็น 3 ระดับ ดังนี้
|
||||||||||||||||||||
รอบระยะเวลา การประเมิน |
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายนของทุกปี (ปีละ 1 ครั้ง) โดยรายงาน ผลการดำเนินงานผ่านระบบการรายงานผลการประเมินส่วนราชการ (Electronic Self Assessment Report : e-SAR) และหากส่วนราชการมีผลการดำเนินงานรอบ 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน สามารถรายงานผ่านระบบดังกล่าว |
||||||||||||||||||||
กลุ่มเป้าหมาย ในการประเมิน |
ประกอบด้วย ส่วนราชการและจังหวัด สำหรับส่วนราชการสังกัด กห. กอ.รมน.และ ตช. ให้นำแนวทางการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสังกัดฝ่ายบริหารไปประยุกต์ใช้ และส่งผลการประเมินให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีพร้อมกับส่วนราชการ |
||||||||||||||||||||
ผู้ประเมิน |
1) นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2) รัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ 3) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ประเมินเบื้องต้น) |
หมายเหตุ : ขั้นตอนการพิจารณากรอบและแนวทางการประเมินเริ่มต้นจากคณะกรรมการฯ พิจารณาในเรื่องต่าง ๆ (เช่น ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายกำกับ ติดตาม และประเมินผล) เสนอต่อคณะทำงานฯ อ.ก.พ.ร. และ ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาตามลำดับ โดยในส่วนของการจัดทำรายงานผลการประเมินส่วนราชการเบื้องต้นดำเนินการโดยสำนักงาน ก.พ.ร เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี/รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับต่อไป
12. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการโครงการจิตอาสาพระราชทาน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอรายงานผลการดำเนินการโครงการจิตอาสาพระราชทานประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (23 มกราคม 2561) ที่ให้ สปน. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน] โดยมีส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการที่สำคัญของคณะกรรมการผู้ประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ส่วนราชการ |
ผลการดำเนินการ |
||||||||||
1. กระทรวงกลาโหม |
- จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา จิตอาสาเฉพาะกิจ จิตอาสาภัยพิบัติ และกิจกรรมของวิทยากรจิตอาสา 904 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 139 ครั้ง และเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 126 ครั้ง |
||||||||||
2. กระทรวงการคลัง (กค.) |
- จัดกิจกรรมจิตอาสา กค. ร่วมใจบริจาคโลหิต ครั้งที่ 1-3 และกิจกรรมมอบอาหารปรุงสุกและน้ำดื่ม 400 ชุด ให้กับสำนักงานเขตจตุจักร เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ |
||||||||||
3. กระทรวงพาณิชย์ |
- จัดกิจกรรมจัดทำถุงใส่ของจากห่อกระดาษ A4 เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลครู (สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) กิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติในพื้นที่ประสบอุทกภัย จังหวัดยะลา กิจกรรมบริจาคโลหิตร่วมกับสภากาชาดไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 กิจกรรมมอบถุงยังชีพเพื่อชาวสมุทรสาคร กิจกรรมสมุดทำมือ “พาณิชย์...จิตอาสา ทำด้วยมือให้ด้วยใจ” โครงการจิตอาสาสามัคคีปลูกผักสร้างแหล่งอาหารชุมชน และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด |
||||||||||
4. กระทรวงมหาดไทย |
- จัดฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติฯ ครบเรียบร้อยแล้ว และมีการบันทึกรายชื่อผู้สมัครในระบบรายงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Report) ของกรมการปกครอง 466,545 คน และฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติฯ ใน 30 จังหวัด มีผู้ผ่านการอบรม 236,290 คน - จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย เช่น การพัฒนาภูมิทัศน์สถานศึกษา และการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม -จัดกำลังพลจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิตให้แก่โรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 114,199 คน ปริมาณโลหิต 45,459,259 ซีซี - จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการสนับสนุนการฝึกอบรมและปฐมพยาบาลช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจังหวัด ภายใต้กลไกศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยได้ดำเนินการในจังหวัดนำร่อง 11 จังหวัด (มีจังหวัดที่ได้รับมอบอุปกรณ์การสอนช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแล้ว 2 จังหวัด) - ข้อมูลจำนวนจิตอาสาและการจัดกิจกรรมจิตอาสา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 หน่วย : คน
โดยได้จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา 55,629 ครั้ง กิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ 729 ครั้ง และการบรรยายขยายผลให้ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย 1,067 ครั้ง |
||||||||||
5. กระทรวงแรงงาน |
- จัดทำแผนโครงการและกิจกรรมจิตอาสา เช่น (1) โครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานในเรื่องของกิจกรรมการสร้างเครือข่ายแนะนำอาชีพ และ (2) โครงการพัฒนาทักษะอาชีพขับเคลื่อนจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2564 |
||||||||||
6. กระทรวงอุตสาหกรรม |
- จัดทำแผนโครงการและกิจกรรมจิตอาสา เช่น (1) โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (2) โครงการจิตอาสาคลองสวยน้ำใสชุมชนร่วมใจใช้ถังดักไขมัน และ (3) โครงการพลังอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์ ปี 3 |
||||||||||
7. สปน. |
- จัดกิจกรรมโครงการสนับสนุนจิตอาสาพระราชทานกิจกรรมการฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) โดยครูและวิทยากรจิตอาสา 904 มีข้าราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม 220 คน - ติดตามความก้าวหน้าโครงการจิตอาสาพระราชทานที่สำคัญ เช่น (1) การดำเนินการเกี่ยวกับพระราชทรัพย์พระราชทานบริจาคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ (การสร้างศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก 12 แห่ง การจัดซื้อรถครัวพระราชทาน 12 คัน และการติดตั้งโซลาเซลล์ 366 แห่ง ณ ที่ทำการกำนันและผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดภาคใต้) (2) โครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (กรมราชทัณฑ์) มีผู้ผ่านการอบรมครั้งที่ 1 จำนวน 59,823 คน (3) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยอนุมัติโครงการและงบประมาณแล้ว 28 ชุมชน 3,381 ครัวเรือน และ (4) โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ โดยก่อสร้างและปรับปรุงถนนรวม 77 เส้นทาง |
13. เรื่อง รายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (กองทุนฯ) เสนอรายงานประจำปี 2563 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 36 ที่บัญญัติให้กองทุนฯ ทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี (ครบกำหนดวันที่ 29 มีนาคม 2564) รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของ กองทุนฯ ในปีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งงบการเงิน และรายงานของผู้สอบบัญชี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อสุขภาพและผลงานเด่นในปี 2563 ประกอบด้วย (1) สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพวิถีใหม่ ฉบับ New Normal สสส. (2) พัฒนากลไกลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาวะในหลายมิติ (3) สร้างต้นทุนชีวิตเสริมพลังสุขภาวะประชากรกลุ่มเปราะบาง (4) สานพลังชุมชนเข้มแข็งขับเคลื่อนสังคม “ชุมชน” คือ รากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ และ (5) พลังคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค...สู่เส้นทางการสร้างเสริมสุขภาวะ
2. ผลการดำเนินงานสำคัญตามเป้าประสงค์ 6 ประการ ดังนี้
เป้าประสงค์ที่ 1 ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 5 แผน ได้แก่ |
1) แผนควบคุมยาสูบ เช่น สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการการลดนักสูบหน้าใหม่ สนับสนุนการพัฒนาข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน/ผลักดันนโยบายด้านยาสูบ 2) แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด เช่น สนับสนุนการพัฒนาโปรแกรมเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พัฒนาข้อมูลทางวิชาการเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการบำบัดผู้ติดสุรา 3) แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เช่น ขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย สนับสนุนองค์กรเอกชนและสถานศึกษาดำเนินการสวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ 4) แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น สนับสนุนให้เกิดมาตรการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในสถานการณ์โควิด-19 พัฒนาต้นแบบการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม และ 5) แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เช่น สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบเกษตรกรรมในเมือง 15 แห่ง ที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ปลูกผักและผลไม้อินทรีย์เพื่อการบริโภค สนับสนุนการขับเคลื่อนลดการบริโภคอาหารรสหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพ |
เป้าประสงค์ที่ 2 พัฒนากระบวนการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่น ๆ ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 3 แผน ได้แก่ |
1) แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น สนับสนุนให้เกิดแนวทางการบริการที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม พัฒนากระบวนการฟื้นฟูจิตใจผ่าน “คลินิกจิตสังคมในระบบศาล” เพื่อช่วยลดการกระทำผิดซ้ำและกลับคืนสู่สังคมได้ 2) แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น การพัฒนาแนวปฏิบัติป้องกันโควิด-19 ตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 315 แห่ง พัฒนาแนวทางจัดการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับเด็กเล็กในช่วงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปิดทำการ และ 3) แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น สนับสนุนการพัฒนาชุดเครื่องมือสื่อสารให้ความรู้ในการปฏิบัติและป้องกันตนเองและครอบครัวจากการติดโควิด-19 ในประชากรกลุ่มเฉพาะโดยมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ 11 ภาษา ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ |
เป้าประสงค์ที่ 3 พัฒนาต้นแบบสุขภาวะ ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 2 แผน ได้แก่ |
1) แผนสุขภาวะชุมชน เช่น พัฒนาสื่อที่ช่วยให้ชุมชนเข้าใจมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ง่าย และพัฒนาเครื่องมือประเมินความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำผลประเมินไปกำหนดเป็นแผน/ยุทธศาสตร์การพัฒนาของชุมชน และ 2) แผนการเสริมสร้างสุขภาวะในองค์กร เช่น ขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร โดยสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาการสร้างสุขภาวะองค์กรไปลดหย่อนภาษีได้ ทำให้เกิดองค์กรสุขภาวะที่บุคลากรในองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพดีขึ้น 559 องค์กร |
เป้าประสงค์ที่ 4 สร้างความตื่นตัวและค่านิยมใหม่ในสังคม ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 2 แผน ได้แก่ |
1) แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา เช่น พัฒนาศักยภาพและทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพของเยาวชน ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะและผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา 3,880 คน พัฒนาโครงการคลองเตยปันกันอิ่ม ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน และ 2) แผนเสริมสร้างความเข้าใจสุขภาวะ เช่น พัฒนาชุดข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยปี 2563 (Thaihealth Watch) พัฒนาโครงการรณรงค์เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจสุขภาวะ 11 โครงการ โดยประชาชนรับรู้โครงการฯ ร้อยละ 86.26 |
เป้าประสงค์ที่ 5 ขยายโอกาสในการสร้างนวัตกรรม ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 1 แผน |
แผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ เช่น สนับสนุนการกระจายโครงการสร้างเสริมสุขภาวะระดับชุมชนไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาส 2,165 โครงการ รวมถึงเกิดโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่สร้างสรรค์ 420 โครงการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเด็กเยาวชน คนพิการ และชาติพันธุ์ สร้างความเข้มแข็งชุมชนให้มีกลไกการจัดการและรับมือโรคโควิด-19 โดยนำนโยบายด้านสาธารณสุขมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน |
เป้าประสงค์ที่ 6 ส่งเสริมสมรรถนะของระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน 2 แผน ได้แก่ |
1) แผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ เช่น สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ในการดำเนินงานเกี่ยวกับโควิด-19 พัฒนาระบบการค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 เชิงรุกนำร่องในหมู่บ้านจัดสรร/อาคารชุด 30 หมู่บ้าน ช่วยให้มีกลไกการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เขตเมืองอย่างเป็นระบบ รวมถึงสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายวิชาชีพพยาบาล และ 2) แผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ โดยสามารถพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ 628 คน และการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มประเทศอาเซียน |
3. การตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานในปี 2563
3.1 รายงานของคณะกรรมการประเมินผล ผลการประเมินการดำเนินงานในภาพรวมของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามหลัก balanced scorecard (เป็นกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2553) ได้คะแนน 4.92 คะแนน (คะแนนเต็ม 5 คะแนน) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ. 2560 – 2563) ที่ได้ 4.63 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงที่สุดตลอดระยะเวลาที่องค์กรได้ประเมินผลการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน และผลการประเมินการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลได้คะแนนเฉลี่ย 9.39 คะแนน (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ได้รับผลการประเมินระดับ “A” โดยได้คะแนนในภาพรวมสูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในทุกตัวชี้วัด
3.2 รายงานการตรวจสอบภายในของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน กองทุนฯ ได้ให้ความสำคัญต่อข้อสังเกตของฝ่ายตรวจสอบภายในและมีการติดตามผลการปฏิบัติงานและปรับปรุงแก้ไขประเด็นที่เป็นข้อสังเกต/จุดอ่อนการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการบริหารงานและดำเนินงานได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลภายใต้ระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งเป็นผลดีต่อการยกระดับการบริหารองค์กรเชิงคุณภาพยิ่งขึ้น
3.3 รายงานผลการตรวจสอบงบการเงินของกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนฯ และรับรองรายงานการเงินดังกล่าวแล้วเห็นว่า รายงานการเงินฯ ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด
14. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และแนวทางการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ และการประสานขอความร่วมมือส่วนราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนและให้ สปน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการ และสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน และการประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ สรุปได้ ดังนี้
1.1 สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
1.1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 43,455 ครั้ง 27,284 เรื่อง ทั้งนี้ สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 24,334 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89.19 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,950 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10.81
1.1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม ตามลำดับ
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามลำดับ
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ
1.2 การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สรุปได้ ดังนี้
1.2.1 สถิติการใช้บริการจำแนกตามช่องทางการร้องทุกข์โดยเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงไตรมาสเดียวกัน พบว่า ประชาชนยื่นเรื่องร้องทุกข์เพิ่มขึ้นในหลายช่องทาง คิดเป็นร้อยละ 60.01 เนื่องจากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และการลงทะเบียนโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยช่องทางที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ สายด่วนของรัฐบาล 1111 ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.40 เมื่อเปรียบเทียบกับช่องทางอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเลือกใช้ช่องทางที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ตามวิถีชีวิตแบบ New Normal ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน เช่น การให้บริการโทรศัพท์ของหน่วยงานที่ไม่มีผู้รับสายและมีระยะเวลารอคอยสายนาน จึงจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร และด้านบุคลากรผู้ให้บริการ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ให้สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้อย่างทันท่วงที
1.2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ (1) การเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ (2) การรักษาพยาบาล (3) ค่าครองชีพ (4) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน (5) บ่อนการพนัน (6) น้ำประปา (7) โทรศัพท์ (8) ไฟฟ้า (9) ยาเสพติด และ (10) ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ
1.2.3 การวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ผ่านสายด่วน 1111 ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 150,039 เรื่อง และสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 149,765 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99.82 จำแนกได้ ดังนี้
(1) สอบถามข้อมูลและแสดงความคิดเห็น 147,748 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.47 โดยสอบถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และการลงทะเบียนในโครงการเราชนะมากที่สุด
(2) ร้องขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ 2,291 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 1.53 โดยร้องเรียนร้องทุกข์เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการการดูแล การเยียวยา และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด
1.2.4 การแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายและการร้องเรียนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านช่องทาง 1111 (ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม-31 มีนาคม 2564) จำนวน 655 เรื่อง ดังนี้
ลำดับที่ |
ประเด็นเรื่อง |
จำนวนเรื่อง |
ดำเนินการจนได้ข้อยุติ |
รอผลการพิจารณา |
1 |
แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย |
45 |
36 |
9 |
2 |
แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีบ่อนการพนัน |
370 |
286 |
84 |
3 |
แจ้งเบาะแสกรณีการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9* แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 |
240 |
141 |
99 |
รวม |
655 |
463 |
192 |
___________________________
* มาตรา 9 บัญญัติให้ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้
1.3 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อจากคนในครอบครัว สถานประกอบการ ตลาด และชุมชนแออัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ภาคธุรกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว และโรงแรม/ที่พัก นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนได้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน เช่น การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก และซ้ำซ้อน การกระจายวัคซีนที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ และข้อจำกัดของการนำเข้าวัคซีนทางเลือก รวมทั้งการบริหารจัดการเตียงและการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา เนื่องจากประชาชนไม่สามารถประสานงานหรือติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเข้าสู่โรงพยาบาลหรือสถานที่กักตัวได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชาชนร้องเรียน/ร้องทุกข์เกี่ยวกับโครงการ/มาตรการช่วยเหลือเยียวยา และมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบปรับเปลี่ยนแผนการปฏิบัติงานไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที และขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
2. แนวทางการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ และการประสานขอความร่วมมือส่วนราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้
2.1 ส่วนราชการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีผลเป็นที่ยุติด้วยความเป็นธรรมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
2.2 ส่วนราชการปรับปรุงโทรศัพท์สายด่วนต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก โดยควรแบ่งเป็นด้าน เช่น ด้านการเงิน ด้านสุขภาพ และด้านการร้องทุกข์/แจ้งเหตุ รวมทั้งควรพัฒนาคุณภาพการให้บริการของโทรศัพท์สายด่วนควบคู่ไปด้วย
2.3 เห็นควรเร่งรัดผลักดันการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านอื่น ๆ คู่ขนานไปกับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้กลไกการดำเนินการที่เหมาะสม เช่น จัดการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบทางไกล (Video Conference) เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
15. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของกระทรวงมหาดไทยและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไฟพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กพศ. ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สงขลา สระแก้ว ตราด หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส ประกอบด้วย
1.1 แนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อกระจายความเจริญสู่ภมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ |
เป้าหมายการพัฒนา |
เพื่อให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมและการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการพัฒนาเมืองในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น |
แนวทางการดำเนินงาน |
ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ การจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและการบริหารจัดการแรงงานและผู้ประกอบการ |
กลไกการบริหารจัดการ |
- จัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินการในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุน - กำหนดกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ โดยให้หน่วยงานในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และให้มีแนวทางการประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับหน่วยงานส่วนกลาง |
1.2 ข้อเสนอภารกิจ แผนงาน โครงการและมาตรการ ซึ่งได้นำโครงการและมาตรการเพิ่มเติมจากพื้นที่ คณะอนุกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาบรรจุเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน เช่น
หัวข้อ |
การดำเนินงาน |
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และด่านศุลกากร |
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและมุกดาหาร - ขอขยายขอบเขตพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ตราด สระแก้ว และหนองคาย |
การพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ |
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีการดำเนินการ เช่น - เน้นการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ต่อเนื่องในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี สระแก้ว และตราด เชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก - เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) |
การจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง |
ทบทวนสิทธิประโยชน์และกิจการเป้าหมายใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและปรับปรุงอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ |
การบริหารจัดการแรงงานและผู้ประกอบการ |
กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) พิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการแรงงาน |
1.3 ข้อเสนอในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ ซึ่งใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและตาก โดยกรมธนารักษ์ได้เสนอ กพศ. พิจารณา ดังนี้
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ |
ประเด็นพิจารณา |
สงขลา |
เดิมการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ได้รับจัดสรรที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา จำนวน 2 แปลง โดยแปลงที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 629 ไร่ และแปลงที่ 2 มีเนื้อที่ประมาณ 345 ไร่ ต่อมาเทศบาลตำบลสำนักขามมีความประสงค์ขอใช้ที่ราชพัสดุที่ได้จัดสรรให้ กนอ. เช่า (แปลงที่ 2) บางส่วน เนื่อที่ประมาณ 19 ไร่ เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 ซึ่ง กนอ. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอ กพศ. พิจารณาอนุญาตให้เทศบาลตำบลสำนักขามเช่าพื้นที่ดังกล่าวและเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เช่าของ กนอ. ให้สอดคล้องกับเนื้อที่ที่มีการปรับลดต่อไป |
ตาก |
บริษัทเอกชนผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากไม่มาดำเนินการรับเงื่อนไขการเช่าของทางราชการ จึงถือว่าสละสิทธิการเช่า ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอ กพศ. พิจารณามอบหมายให้กรมธนารักษ์เปิดประมูลสรรหาเอกชนลงทุนรายใหม่ |
1.4 กพศ. มีมติ ดังนี้
1.4.1 เห็นชอบวัตถุประสงค์ เป้าหมายการพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน และกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่อไป
1.4.2 เห็นชอบในหลักการข้อเสนอภารกิจ แผนงานโครงการและมาตรการ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินงาน ระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน โดยรับข้อเสนอโครงการและมาตรการเพิ่มเติมไปพิจารณาด้วย
1.4.3 เห็นชอบให้เทศบาลตำบลสำนักขามใช้พื้นที่ประมาณ 19 ไร่ ในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาของแปลงที่จะจัดให้ กนอ. เช่า (แปลงที่ 2) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2
1.4.4 เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เช่าของ กนอ. (แปลงที่ 2) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาให้สอดคล้องกับเนื้อที่ที่มีการปรับลดลงสำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ของ กนอ. และมอบหมายให้คณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดินราชพัสดุที่กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ และพิจารณาจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามกฎหมายที่ราชพัสดุต่อไป
1.4.5 เห็นชอบให้เปิดประมูลสรรหาผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และมอบหมายกรมธนารักษ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและกรอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ ที่ประชุมได้พิจารณา ดังนี้
2.1 หลักการการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและกรอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา เช่น ต้องเชื่อมโยงการพัฒนาตั้งแต่ 3 จังหวัดขึ้นไป พื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา และเครือข่ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเชื่อมโยงในลักษณะของห่วงโซ่มูลค่า
2.2 การศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะกำหนดให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาส วัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนา และข้อเสนอประเภทกิจกรรมที่ควรสนับสนุน ได้แก่
พื้นที่ |
เป้าหมาย |
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง |
เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน |
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย |
เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ |
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี |
เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ภาคตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต |
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช |
เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน |
2.3 ข้อเสนอแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ
2.4 กพศ. มีมติ ดังนี้
2.4.1 เห็นชอบในหลักการการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ และนำเสนอ กพศ. ต่อไป
2.4.2 มอบหมายให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง รวมทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
3. กลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนในพื้นที่ต่อไป
16. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) “One Country One Platform” ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) “One Country One Platform” ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) “One Country One Platform” ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวม 5 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม 2) ด้านกฎหมาย 3) ด้านงบประมาณ 4) ด้านการบริหาร และ 5) ด้านบุคลากร
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ดศ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
1. ด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มควรเร่งพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID/KYC) และระบบลงชื่อเข้าใช้งานครั้งเดียว (Single Sign-on) และเร่งพัฒนาระบบเกตเวย์บริการดิจิทัล (Digital Service Gateway) เพื่อการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน |
- สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบ Digital ID เพื่อให้บริการของภาครัฐนำไปใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบดังกล่าวกับแอปพลิเคชัน D.DOPA ที่จัดทำขึ้นโดยกรมการปกครอง และบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลที่จัดทำขึ้น โดยบริษัท National Digital ID (NDID) ให้คำแนะนำ และให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ในการนำ Digital ID ไปใช้ในการให้บริการประชาชน และได้จัดทำเป็นมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อให้แนวทางการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมีความสอดคล้องกับบริบทการใช้งานความต้องการทางธุรกิจ และคุณลักษณะของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในประเทศไทย รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Digital ID สำหรับบริการภาครัฐ สำหรับนิติบุคคล และจัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-signature) สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ - สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้มีการให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยง หน่วยงานภาครัฐ รองรับการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กรอบแนวคิดของเกตเวย์บริการดิจิทัล (Digital Service Gateway) อีกทั้งรองรับการมีส่วนร่วมระหว่างส่วนราชการในการพัฒนาหรือนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน (Common Services) ของหน่วยงานให้บริการผ่านเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ |
2. ด้านกฎหมาย ควรปรับปรุงกระบวนการยกร่างกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ได้แก่ การร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยง และเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การจัดทำกฎหมายรองรับการเป็นนายทะเบียนของสำนักงานสถิติแห่งชาติสำหรับจัดทำดาต้าแคตตาล็อก (Data Catalog) ในภาครัฐ |
3. ด้านงบประมาณ ควรปรับปรุงกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการให้รวดเร็วและลดการทุจริต และดำเนินการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐที่ซ้ำซ้อนทั้งด้านการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ |
- กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและการจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการรับบริการภาครัฐของประชาชน ทั้งนี้ เห็นควรให้มีการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไปยังไปยังบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อนในเชิงงบประมาณ รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้รองรับการจัดจ้างการพัฒนาระบบ ตามมาตรฐานเรื่องสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และรูปแบบการเชื่อมต่อระบบข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนด - ดศ. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) โดยมีการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรทางคอมพิวเตอร์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย พื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล โดยที่ GDCC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของภาครัฐที่จะต่อยอดสู่ Government as a Platform อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงดำเนินงานด้าน Big Data และ Open Data ที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในอนาคต |
4. ด้านการบริหาร ควรเสนอให้ ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นธรรม |
- ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นธรรม และเห็นควรให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) นำกรอบแนวความคิดของรายงานการศึกษาดังกล่าวใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) เพื่อให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกมิติในการยกระดับการบริการภาครัฐให้เป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อและทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลาตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ |
5. ด้านบุคลากร รัฐบาลควรเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรภาครัฐในเรื่องของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการการพัฒนาบุคลากรภาครัฐในเรื่องของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในทักษะด้านดิจิทัลปริมาณที่มากพอต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่จะนำไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยการจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการระบบคลาวด์ รวมถึงสามารถบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และสามารถนำเอาข้อมูลขนาดใหญ่มาทำการประมวลผลอย่างเป็นระบบเพื่อการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่อไป การสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Training) เช่น บุคลากรที่ต้องการพัฒนาทักษะของตนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิศวกรข้อมูล ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชน |
17. เรื่อง สรุปผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการได้มีข้อสังเกต รวม 8 ประเด็น ได้แก่ 1) การทบทวนระบบตัวชี้วัด 2) การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ 3) การสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็น “ยามเฝ้าระวัง” 4) การแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษจากไอเสียรถยนต์ดีเซล 5) การใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดการเผาในที่โล่งจากเกษตรกรรม 6) การใช้เทคโนโลยีเครื่องวัดค่าฝุ่นเพื่อลดการเผา รวมถึงการควบคุมการนำเข้าและส่งออก 7) การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน 8) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ทส. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ และได้จัดทำสรุปผลการพิจารณาแนวทางความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ |
การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
1. การแก้ไขปัญหามลพิษจากการเผาในที่โล่งและการใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดการเผาในที่โล่งจากเกษตรกรรม |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย กษ. เห็นว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณนอกจากจะช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลที่ช่วยในการเก็บเกี่ยวแล้วควรสนับสนุนเครื่องจักรกลในการเตรียมดินปลูกพืชที่มีราคาถูกและคุ้มค่าต่อการลงทุน |
2. การแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษจากยานพาหนะและไอเสียรถยนต์ดีเซล |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย คค. มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดมลพิษที่ออกจากท่อไอเสียด้วยการกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ดีเซลเป็นยูโร 5 เพื่อให้รถยนต์ดีเซลต่ำกว่ามาตรฐานต้องติดตั้งระบบบำบัดไอเสียนั้น ต้องพิจารณาการบังคับใช้มาตรฐานรถยนต์ยูโร 5 ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5 เพื่อให้การควบคุมการระบายมลพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด |
3. การแก้ไขปัญหามลพิษอุตสาหกรรม |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยในปัจจุบัน อก. มีกฎหมายเพื่อใช้กำกับและดูแลโรงงานด้านมลพิษอากาศ ได้แก่ กฎหมายควบคุมการระบายอากาศเสียจากโรงงาน โดยกำหนดค่ามาตรฐานอากาศเสียออกจากปล่อง กฎหมายเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลสิ่งแวดล้อมโรงงาน โดยกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อสิ่งแวดล้อม ต้องรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน |
4. การแก้ไขปัญหาจากแหล่งกำเนิดจากไฟป่า |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ หน่วยงานรัฐควรต้องทำแบบจำลองประเมินมลพิษจากการชิงเผาชีวมวลในป่า (ทำแนวกันไฟ) เพื่อวางแผนลดผลกระทบโดยใช้แบบจำลองควบคู่อุตุนิยมวิทยา-เคมี หรือแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าการชิงเผา ทั้งเพื่อทำแนวกันไฟจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเกินค่าที่ยอมรับได้ |
5. การแก้ไขฝุ่นควันและมลพิษข้ามแดน |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ กต. เห็นว่า นอกจากความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้กลไกในกรอบอาเซียนต่าง ๆ อาทิ ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ฝ่ายไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย เช่น การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา และการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนและเจ้าแขวงไทย-ลาว ซึ่งมี มท. เป็นเจ้าภาพ |
6. การแก้ไขปัญหาจากภาคประชาสังคม |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ “ยามเฝ้าระวัง” (Citizen Watchdog) ซึ่ง มท. โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้แจ้งกำชับจังหวัด แจ้งกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายให้ความร่วมมือสนับสนุนการใช้ระบบบัญชาการดับไฟป่า (Line chatbot) รวมทั้งบูรณาการร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 |
7. การทบทวนระบบตัวชี้วัด |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยกำหนดให้เพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์มาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็นตัวชี้วัดหลักที่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างดำเนินการและได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงผ่านระบบ VDO conference ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 |
8. การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย สธ. สนับสนุนการใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในการดำเนินงานเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองการควบคุมเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง และประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงทุกแห่ง รวมทั้ง สร้างต้นแบบแกนนำชุมชน แกนนำกลุ่มวัยในส่วนที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นแกนหลักในการเฝ้าระวังสถานการณ์ สื่อสารความรู้ แจ้งเตือนดูแลสุขภาพในระดับพื้นที่ (Watchdog) และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากกิจกรรมการเผาที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ |
18. เรื่อง การจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมของกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้
1. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมของกลุ่ม กฟผ. (บริษัทนวัตกรรมฯ)
2. เงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของ กฟผ. (ร้อยละ 40) ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2564 - ปี 2568) จำนวน 1,184 ล้านบาท ตามที่ กฟผ. เสนอ ดังนี้
(ล้านบาท)
เงินลงทุนรวม |
ปีที่ 0 |
ปีที่ 1 |
ปีที่ 2 |
ปีที่ 3 |
ปีที่ 4 |
ปี 2564 |
ปี 2565 |
ปี 2566 |
ปี 2567 |
ปี 2568 |
|
1,184.00 |
320.40 |
225.90 |
213.90 |
211.90 |
211.90 |
และให้ถือว่า กฟผ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่ายสำหรับบริษัทนวัตกรรมฯ ประจำปี 2564 จำนวน 320.40 ล้านบาท โดย กฟผ. จะเบิกจ่ายชำระเงินค่าหุ้นครั้งที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 60 ล้านบาท และการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนในครั้งต่อไปจะเป็นไปตามการเรียกชำระเงินค่าหุ้นของบริษัท
3. ให้ กฟผ. ลงนามสัญญาร่วมทุนเมื่อผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงาน
1. กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. ได้เห็นโอกาสในการนำผลงานวิจัยทั้งที่เกิดขึ้นภายในเครือ กฟผ. และที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรมาต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ผ่านหน่วยงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงการวิจัยและการพัฒนา (R&D Spin-Off) โดยการจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมฯ1 ซึ่งประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ได้แก่
1.1 หน่วยงานสนับสนุนแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ (Collaborator)
1.2 หน่วยงานเพื่อการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator)
1.3 หน่วยงานเพื่อเร่งการเติบโตธุรกิจ (Accelerator)
1.4 หน่วยงาน Corporate Venture Capital (CVC)2
เพื่อช่วยให้ กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. สามารถรับมือและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคไฟฟ้าสืบเนื่องจากนโยบายด้านพลังงานและการตื่นตัวของประชาชนในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
2. มติคณะกรรมการ กฟผ. และการดำเนินการของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการ กฟผ. สรุปได้ ดังนี้
มติคณะกรรมการ กฟผ. |
การดำเนินการของ กฟผ. |
ครั้งที่ 12/2562 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 |
|
2.1 เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัท นวัตกรรมฯ และให้ กฟผ. นำเสนอ พน. และคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป |
กฟผ. ได้ดำเนินการเสนอ พน. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว |
2.2 ให้เสนอร่างสัญญาร่วมทุนตามขั้นตอน ก่อนเสนอ อส. พิจารณาให้ความเห็น |
กฟผ. ได้เสนอสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นต่อ อส. โดย อส. ได้ตรวจพิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ว ไม่มีข้อขัดข้องและมีข้อสังเกตเพิ่มเติมบางประการ ซึ่ง กฟผ. ได้หารือเพื่อปรับแก้ร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว |
ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 |
|
2.3 อนุมัติปรับแผนการระดมเงินทุน วงเงินเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน การกำหนดทุนจดทะเบียนเริ่มแรกและการชำระเงินค่าหุ้นครั้งที่ 1 ของบริษัทนวัตกรรมฯ |
3. กฟผ. ได้ประชุมหารือร่วมกับ พน. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) เพื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอและรายงานการจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมฯ ซึ่ง กฟผ. ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของรายงานดังกล่าว โดยเพิ่มเติมผลตอบแทนการลงทุนกรณีผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามความเห็นของที่ประชุมฯ ด้วยแล้ว
4. พน. ได้เสนอเรื่อง การจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อพิจารณา ซึ่ง คนร. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมฯ ตามที่ พน. เสนอ และเห็นควรให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของ คนร. ไปพิจารณาและดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
4.1 ให้ กฟผ. กำกับดูแลบริษัทนวัตกรรมฯ ให้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
4.2 บริษัทนวัตกรรมฯ ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการคัดเลือกโครงการที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งควรมีการประเมินผลตอบแทนของโครงการให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงด้วย
4.3 บริษัทนวัตกรรมฯ ควรสรรหากรรมการและผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในธุรกิจดังกล่าว โดยพิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้เหมาะสม ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการปรับปรุงแผนการดำเนินงาน ผลตอบแทนการลงทุน และรายงานการจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมฯ (ฉบับพฤษภาคม 2564) ตามข้อเสนอแนะของ คนร. ด้วยแล้ว
พน. พิจารณาแล้ว เห็นว่า กฟผ. สามารถจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมฯ ได้ตามมาตรา 9 (8) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติให้ กฟผ. มีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 ในการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของ กฟผ.
__________________________
1บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (Innopower Company Limited) (ชื่อจดทะเบียนภายหลังการอนุมัติของรัฐมนตรี)
2เป็นหน่วยงานที่องค์กรด้านพลังงานปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศจัดตั้งเพื่อลงทุนในบริษัทคลื่นลูกใหม่(Startup) ซึ่งมีความรู้ความสามารถในธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้รูปแบบใหม่แก่บริษัทแม่ และช่วยสร้างองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี
19. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 24/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 24/2564 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. .... เพื่อให้ คกง. ใช้ในการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดฯ ต่อไป [เพิ่มข้อความที่เกี่ยวข้องกับกรณีโครงการที่ต้องใช้เงินกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีหน้าที่และอำนาจจัดทำระบบเบิกจ่ายเงินกู้ในข้อ 7 และ ข้อ 20 ของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ฉบับเดิม]
โดยมอบหมายให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพิ่มเติมวันใช้บังคับของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้สมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. อนุมัติให้กรมการพัฒนาชุมชน เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) จำนวน 3 โครงการ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามผลการพิจารณาของ คกง. แล้ว เห็นควรให้กรมการพัฒนาชุมชนเร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR โดยเร็ว
3. อนุมัติให้จังหวัดพังงา จังหวัดลำพูน จังหวัดหนองคาย และจังหวัดปัตตานีปรับแผนการดำเนินโครงการ/ยกเลิกการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว
4. มอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาความเหมาะสมของการปรับรูปแบบหรือวิธีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้โครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพื่อลดข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ทั้งนี้ หัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบโครงการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ คกง. กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อหัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบโครงการได้พิจารณาตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ให้รายงาน คกง. ทราบตามขั้นตอนต่อไป โดยการปรับรูปแบบหรือวิธีการจัดกิจกรรมตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการที่กระทบต่อสาระสำคัญ
สาระสำคัญของเรื่อง
คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ในคราวประชุมครั้งที่ 24/2564 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีมติ ดังนี้
1. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....
1.1 ความเป็นมาและสาระสำคัญ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงการคลัง (กค.) ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ COVID-19 กับธนาคารพัฒนาเอเชีย วงเงินรวม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินกู้สำหรับแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยปัจจุบันมีวงเงินกู้คงเหลือ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถเบิกได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สบน. กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร สำนักงบประมาณ และกรมควบคุมโรค) ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 ด้วยเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่โดยที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) ยังไม่มีเนื้อหาครอบคลุมวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการที่ต้องใช้เงินกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (เช่น โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 35 ล้านโดส ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 6,378.225 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สบน. กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สศช.) จึงได้หารือร่วมกันเพื่อเสนอปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวต่อ คกง. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ที่เสนอปรับปรุง มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ฉบับปัจจุบัน ดังนี้
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ |
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ที่เสนอปรับปรุง |
ข้อ 7 ให้กรมบัญชีกลางรับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝาก กค. และจัดทำระบบบัญชีระบบการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง |
ข้อ 7 ให้กรมบัญชีกลางรับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝาก กค. และจัดทำระบบบัญชี ระบบการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่และอำนาจจัดทำระบบการเบิกจ่ายเงินกู้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง |
ข้อ 20 ให้ สบน. นำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝาก กค. ชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19” เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นครบทุกโครงการแล้ว หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินกู้ตามโครงการอีก ให้ สบน. นำเงินกู้ที่เหลือในบัญชีตามวรรคหนึ่ง ส่งคืนคลังและปิดบัญชีดังกล่าว |
ข้อ 20 ให้ สบน. นำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝาก กค. ชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19” ในกรณีที่กระทรวงการคลังกู้เงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศและหน่วยงานเจ้าของโครงการมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ฝากบัญชีสำหรับใช้ในโครงการดังกล่าวกับสถาบันการเงินตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยใช้ชื่อบัญชี “เงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศตาม พ.ร.ก. COVID-19 2563” เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นครบทุกโครงการแล้ว หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินกู้ตามโครงการอีก ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ที่เหลือในบัญชีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองส่งคืนคลังและปิดบัญชีดังกล่าว |
ทั้งนี้ สบน. ได้หารือกับกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำระบบบัญชี การกำหนดคู่บัญชีและแนวทางการบันทึกบัญชีเงินกู้ ตามข้อ 7 เรียบร้อยแล้ว
1.2 มติ คกง.
เห็นควรให้ความเห็นชอบการปรับปรุงร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....
2. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการภายใต้กรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
โครงการ |
มติ คกง. (ที่เสนอในครั้งนี้) |
2.1 โครงการยกระดับเศรษฐกิจน่านสู่นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ : พัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (วงเงิน 620,000 บาท)ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 |
- เห็นควรให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการ จาก ธันวาคม 2563 - เมษายน 2564 (5 เดือน) เป็น ธันวาคม 2563 - กันยายน 2564 (10 เดือน) - เห็นควรให้ความเห็นชอบการยกเลิกกิจกรรมที่ 3.1 จ้างจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยว วงเงิน 200,000 บาท เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มจึงไม่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของรัฐบาล (ส่งผลให้กรอบวงเงินของโครงการฯ ลดลง จาก 620,000 บาท เป็น 420,000 บาท) |
2.2 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชัณโรงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชัณโรงเพื่อสุขภาพ (วงเงิน 640,000 บาท)ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563
|
เห็นควรให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการ จาก มกราคม 2564 - เมษายน 2564 (4 เดือน) เป็น มกราคม 2564 - กันยายน 2564 (9 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
2.3 โครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19 (วงเงิน 95,000,000 บาท) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการ จาก มกราคม 2564 - มิถุนายน 2564 (6 เดือน) เป็น มกราคม 2564 - ธันวาคม 2564 (12 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
3. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัดพังงา (จำนวน 2 โครงการ) จังหวัดลำพูน (จำนวน 1 โครงการ) จังหวัดหนองคาย (จำนวน 2 โครงการ) และจังหวัดปัตตานี (จำนวน 3 โครงการ)
โครงการ |
มติ คกง. (ที่เสนอในครั้งนี้) |
จังหวัดพังงา จำนวน 2 โครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 |
|
3.1 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อใช้บริโภคภายในครัวเรือน (วงเงิน 2,745,000 บาท)
|
เห็นควรให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการ จาก ตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564 (6 เดือน) เป็น ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564 (12 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
3.2 โครงการแปรรูปกล้วยอบแห้งจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน (วงเงิน 1,000,000 บาท) |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการ จาก เมษายน 2564 - มิถุนายน 2564 (3 เดือน) เป็น เมษายน 2564 - กันยายน 2564 (6 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
จังหวัดลำพูน จำนวน 1 โครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 |
|
3.3 โครงการพัฒนาและยกระดับเกษตรกรยุคใหม่ และฟาร์มเกษตรยุคใหม่เพื่อการท่องเที่ยว (วงเงิน4,388,000 บาท) |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการยกเลิกกิจกรรมย่อยจำนวน 1 กิจกรรม ในส่วนของการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ Smart Farm ในฟาร์มเกษตรยุคใหม่ต้นแบบ 20 จุด ภายใต้โครงการฯ วงเงิน 2,068,000 บาท (ส่งผลให้กรอบวงเงินของโครงการฯ ลดลงเหลือ 2,320,000 บาท) |
จังหวัดหนองคาย จำนวน 2 โครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 |
|
3.4 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญ (วงเงิน 24,562,675 บาท) |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการยกเลิกกิจกรรมย่อยจำนวน 1 กิจกรรม ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลานิลในกระชังในแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย วงเงิน 1,978,175 บาท ส่งผลให้กรอบวงเงินของโครงการฯ ลดลงเหลือ 22,584,500 บาท |
3.5 โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา สาธารณสุขและสังคม (วงเงิน 1,070,000 บาท) |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการปรับแผนการดำเนินการ และแผนการเบิกจ่าย จาก สิงหาคม 2563 - กันยายน 2563 (2 เดือน) เป็น กรกฎาคม 2564 - สิงหาคม 2564 (2 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
จังหวัดปัตตานี จำนวน 3 โครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 |
|
3.6 โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการผลิตด้านการเกษตรจังหวัดปัตตานี (วงเงิน 56,264,000 บาท) |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการปรับแผนการดำเนินโครงการ จาก กรกฎาคม 2563 - สิงหาคม 2564 (14 เดือน) เป็น กรกฎาคม 2563 - กันยายน 2564 (15 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
3.7 โครงการฝึกอาชีพหลักสูตรระยะสั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 (วงเงิน5,163,850 บาท) |
|
3.8 โครงการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (วงเงิน 2,080,000 บาท) |
เห็นควรให้ความเห็นชอบการปรับแผนการดำเนินโครงการ จาก ธันวาคม 2563 - พฤษภาคม 2564 (6 เดือน) เป็น มีนาคม 2564 - กันยายน 2564 (7 เดือน) (ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงิน) |
4. การกำหนดแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ของ คกง.
4.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้มีหนังสือเพื่อขอหารือในประเด็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้โครงการที่มีหลักสูตรการฝึกอบรมซึ่งต้องมีการรวมตัวกันของเกษตรกรภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดย กษ. สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรม (ออฟไลน์หรือ/และออนไลน์) โดยให้เป็นไปตามการพิจารณาของแต่ละจังหวัด รวมทั้งสอบถามว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรมดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการหรือไม่
4.2 มติ คกง.
เห็นควรมอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาความเหมาะสมของการปรับรูปแบบหรือวิธีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับมาตรการการลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการปรับรูปแบบต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้
4.2.1 การปรับรูปแบบหรือวิธีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม กาศึกษาดูงานและการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ จะต้องยังคงทำให้โครงการบรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้
4.2.2 ต้องกำหนดให้มีการประเมินผลการปรับรูปแบบหรือวิธีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมและการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อประกอบการติดตามและกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.2.3 ต้องพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและรัดกุม สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และอัตราที่ระเบียบของทางราชการฯ โดยในกรณีที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการจัดกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมลดลง หน่วยงานจะไม่สามารถนำกรอบวงเงินกู้เหลือจ่ายของโครงการไปดำเนินการเกลี่ยวงเงินเพื่อดำเนินการในรายการอื่น ๆ และให้หน่วยงานส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายในวาระแรกหรือโอกาสแรกที่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ เมื่อหัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบโครงการได้พิจารณาตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วให้รายงาน คกง. ทราบตามขั้นตอนต่อไป โดยให้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของโครงการตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563
20. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับการปฏิบัติของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 123 วัน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ภายในวงเงิน 392.77 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ตช. ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 รวม 123 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยุติลง ตามที่ ตช. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า
1. ตช. ได้ปฏิบัติภารกิจการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ตามที่ได้รับการสั่งการจากหน่วยบังคับบัญชา และได้มีการประสานงานขอความร่วมมือจากส่วนราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในภารกิจดังกล่าว ตั้งแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดของภารกิจ วงเงิน และอัตรากำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 มกราคม 2564 (รวม 123 วัน) สรุปได้ ดังนี้
1.1 รายละเอียดภารกิจและวงเงินที่ใช้ในแต่ละภารกิจสรุปได้ ดังนี้
ภารกิจ |
สาระสำคัญ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
ภารกิจการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง |
ฝ่ายอำนวยการ: ทำหน้าที่ออกคำสั่งปฏิบัติ จัดทำแผนปฏิบัติการ ประสานข้อสั่งการ รวบรวมผลการปฏิบัติงาน จัดทำรายงานผล และสถิติข้อมูลการปฏิบัติ เป็นต้น |
311.15 |
ฝ่ายปฏิบัติการ ประกอบด้วย 1. การตั้งด่านตรวจ 1.1 จุดตรวจคัดกรองโรค เพื่อตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางผ่านเข้าออกระหว่างจังหวัด 1.2 จุดตรวจพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 1.3 จุดตรวจพื้นที่ตอนใน เพื่อสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่มในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ภายในประเทศ 1.4 จุดตรวจปมคมนาคม [บริเวณพื้นที่รอยต่อตามแนวชายแดน/รอยต่อระหว่างจังหวัด (เช่น ด่านจังโหลน อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นต้น) และจุดศูนย์รวมเส้นทางหลายสาย] เพื่อสกัดกั้น ควบคุมเส้นทางที่อาจมีการใช้เป็นเส้นทางลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวหรือบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ 2. การตั้งชุดปฏิบัติการ 2.1 ชุดเคลื่อนที่เร็วประจำสถานีตำรวจ จำนวน 1,484 สถานี โดยสนับสนุนการตั้งด่านตรวจตามข้อ 1.1 และทำหน้าที่ตรวจสถานประกอบการต่าง ๆ รวมถึงสายตรวจเพื่อป้องกันปราบปรามการรวมกลุ่มหรือการมั่วสุม 2.2 ชุดสอบสวนโรค/สืบสวนติดตามกลุ่มเสี่ยง ทำหน้าที่ร่วมสุ่มตรวจการกักกันแบบ Home/Local/State Quarantine 2.3 ชุดสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคคลในกลุ่มเสี่ยงปฏิบัติหน้าที่เคลื่อนย้ายบุคคลในกลุ่มเสี่ยงจากท่าอากาศยานไปยังสถานกักตัว และการเคลื่อนย้ายบุคคลไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก 2.4 ชุดตรวจร่วม ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ ชี้แจง กำกับดูแลการดำเนินกิจการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง |
||
ภารกิจในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 |
เป็นการจัดหาวัสดุและครุภัณฑ์สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการจัดหาลวดหีบเพลงแถบหนามพร้อมอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับใช้ทำรั้วในพื้นที่อำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และกองร้อยปฏิบัติการที่ได้กำหนดให้เป็นสถานที่สำหรับกักกันแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 14 แห่ง |
81.62 |
วงเงินรวม |
392.77 |
1.2 รายละเอียดการจัดกำลังพลสรุปได้ ดังนี้
ระยะเวลา |
ภารกิจ |
กำลังพล (นาย/วัน) |
|
ฝ่ายอำนวยการ |
ฝ่ายปฏิบัติการ |
||
ห้วงที่ 1 (1 ตุลาคม - 3 ธันวาคม 2563) |
เป็นการปฏิบัติต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 1 โดยได้มีการตั้งชุดปฏิบัติการชุดตรวจร่วม ชุดเคลื่อนที่เร็ว และชุดสกัดกั้นตามชายแดน และจัดรถนำขบวน State Quarantine |
181 |
1,926 |
ห้วงที่ 2 (4 - 17 ธันวาคม 2563) |
มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงรายและมีการสั่งการให้สกัดกั้นในพื้นที่ชายแดน ซึ่งได้เพิ่มจุดตรวจพื้นที่ชายแดนจุดตรวจพื้นที่ตอนใน และจุดตรวจคัดกรองโรค และชุดรักษาความปลอดภัยสถานที่กักตัว |
219 |
4,548 |
ห้วงที่ 3 (18 ธันวาคม 2563 - 3 มกราคม 2564) |
มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครและมีการสั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจึงได้เพิ่มชุดสืบสวนติดตามโรคโควิด 19 และชุดตรวจอนุญาตเข้าออก (คัดกรอง) |
285 |
7,639 |
ห้วงที่ 4 (4 - 31 มกราคม 2564) |
มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่และมีการกำหนดพื้นที่ควบคุมตามระดับผู้ติดเชื้อ รวมถึงรัฐบาลมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดสูงสุดในทุกพื้นที่ จึงเพิ่มจุดตรวจปมคมนาคม |
565 |
15,598 |
2. ตช. แจ้งว่า การปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง การบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เป็นภารกิจที่ ตช. ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งงบประมาณที่ ตช. ได้รับการจัดสรรตามปกติ ได้มีการวางแผนการใช้จ่ายไว้แล้ว จึงไม่สามารถปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้อีก
3. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ ตช. ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 392.77 ล้านบาท สำหรับการปฏิบัติงานของ ศปม.ตช. รวม 2 ภารกิจ ตามข้อ 1.1
21. เรื่อง โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอดังนี้
1. การดำเนินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ (โครงการฯ) โดยมีวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือธัชชา เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการระดับนโยบายและระดับบริหารสำหรับโครงการฯ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (คณะกรรมการอำนวยการธัชชา) และคณะกรรมการวิชาการในแต่ละด้าน
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. ระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (การวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ) และการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรมของประเทศ โดยจะนำมาสู่วิธีการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม การสร้างเทคนิค องค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการวิจัยและการพัฒนากำลังคนด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (ด้านสังคมศาสตร์ฯ) ของประเทศ ที่สอดคล้องกับการทำงานและการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติต่อไป สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบายฯ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบแนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ฯ ของ อว. เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ และให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติต่อไป
2. อว. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งธัชชา (ตามคำสั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ 12/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ สั่ง ณ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564) และจัดตั้งธัชชา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสังคมศาสตร์ฯ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจโดยสรุป เช่น สนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ฯ ให้เป็นคลังปัญญาระดับชาติ พัฒนา บริหารจัดการและเผยแพร่องค์ความรู้ที่สำคัญ รวมทั้งบูรณาการองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ฯ ควบคู่กับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากำลังคน นำผลการศึกษาการวิจัยและพัฒนาไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยให้มีสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำนักงานบริหารธัชชา) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการกิจการทั่วไป บริหารแผนงาน งบประมาณ และบุคลากรของธัชชา แบ่งส่วนงานภายในเป็น 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น (ตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง การจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564) และมอบหมายผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันภายในธัชชา (ตามคำสั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง มอบหมายผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันภายในวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) เพื่อให้การปฏิบัติราชการและขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวข้างต้นเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562
3. สาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียดโครงการ |
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ และการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ (2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและวิชาการ และบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ฯ ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นคลังปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมในปัจจุบัน (3) เพื่อสร้างความร่วมมือและระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ (4) เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (Social Innovation) ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้งานวิจัยเกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น |
ระยะเวลาดำเนินการ |
พ.ศ. 2564 - 2568 |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
งบประมาณ และแหล่งที่มา |
ในระยะแรกใช้งบประมาณจาก อว. และจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรประจำปี |
แผนการดำเนินงาน
|
อว. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2568 สรุปได้ ดังนี้ (1) กำหนดประเด็นการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลต่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วยสถาบันเฉพาะทาง 5 ด้านหลัก (5 สถาบัน) ได้แก่ สุวรรณภูมิศึกษา โลกคดีศึกษา เศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และช่างศิลป์ท้องถิ่น (2) กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการอำนวยการธัชชา และคณะกรรมการวิชาการของสถาบันต่าง ๆ (3) สถาบันภายในธัชชาทั้ง 5 สถาบัน จัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ใน 4 ด้านหลัก คือ องค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร การวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลกระทบสูงต่อประเทศ (4) สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในรูปแบบ Consortium ด้านสังคมศาสตร์ฯ อย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วทุกภูมิภาคตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น (5) อว. จะจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สำหรับสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันในแต่ละด้าน (6) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอทุกปี |
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
(1) พัฒนาองค์ความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านสังคมศาสตร์ฯ ที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม และสามารถต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) เกิดภาคีเครือข่ายด้านสังคมศาสตร์ฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากรของประเทศ และให้เกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจต่อประเทศไทยอย่างถูกต้อง (3) สร้างนักวิชาการ/นักวิจัยในภาคีเครือข่าย เพื่อโอกาสในการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางด้านสังคมศาสตร์ฯ (4) รวบรวมฐานข้อมูลองค์ความรู้ที่สำคัญและภูมิปัญญาด้านสังคมศาสตร์ฯ |
22. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 24/2564 (โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้) และครั้งที่ 25/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 24/2564 (โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้) และครั้งที่ 25/2564 ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) และการจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 6 วรรคสาม (ครั้งที่ 5) ดังนี้
1. อนุมัติให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นการขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุน e-Voucher และเพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ์ e-Voucher จากเดิมไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน เป็น ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อวัน รวมทั้งปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จากเดิม “ไม่เกิน 4 ล้านคน” เป็น “ไม่เกิน 1.4 ล้านคน ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ ลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังดำเนินการตามข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
2. อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) เพิ่มเติม (ครั้งที่ 5) จำนวน 8,275.1393 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ที่ได้ดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ให้เร่งปฏิบัติตามข้อ 19 และข้อ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ โดยเร็ว เพื่อให้การบริหารกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม ปรับปรุงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับมาตรการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ เพิ่มขึ้นจาก 2,519.3800 ล้านบาท เป็น 13,504.6960 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10,985.3160 ล้านบาท ทั้งนี้ เห็นควรให้นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือ เยียวยาจากการดำเนินโครงการฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้วให้สำนักงานประกันสังคม เร่งปรับปรุงข้อมูลในระบบ eMENSCR โดยเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการตามความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
23. สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 10/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 10/2564 (เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564) ตามที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 เสนอดังนี้
1. การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้วงปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต พร้อมข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรองรับ
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น189,685,786 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 58 จาก 218 ประเทศทั่วโลก
2) สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 16 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม จำนวน 353,044 ราย (ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ จำนวน 1,904 คน ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 312,056 คน และติดเชื้อในเรือนจำและที่ต้องขัง จำนวน 39,084 คน)
3) วิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต การประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนการติดเชื้อโควิดรายวัน โดยเปรียบระหว่างการฉีดวัคซีนให้ทุกกลุ่มอายุพร้อมกัน (No priority) กับการฉีดให้กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน (Elder Priority) ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุให้ได้ 500,000 โดสต่อวัน ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้เร็วที่สุดประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2564 และหากฉีดทุกกลุ่มช่วยชะลอจำนวนการติดเชื้อใหม่รายวันมากที่สุด แต่จำนวนการติดเชื้อจะลดลงต้นเดือนกันยายน 2564
4) ข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการรองรับ
4.1) ปรับ มาตรการ TTI (Test Trace Isolate) โดยปรับวิธีการค้นหาผู้ติดเชื้อมาเข้าสู่การรักษา แยกกัก และควบคุมโรคที่เน้นปกป้องผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยรุนแรง ได้แก่
(1) จัด Fast Track (ช่องทางบริการด่วน) สำหรับผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงและผู้ที่มีอาการสงสัย ให้ได้รับการตรวจ RT-PCR ไม่จำกัดโควตา และเชื่อมโยงกับการเข้าสู่ระบบการรักษาและแยกกักโรคในโรงพยาบาลทันที
(2) บุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ วัยหนุ่มสาวให้ไปใช้ setting อื่น ๆ และวิธีตรวจอื่น ๆ เช่น หน่วยนอกโรงพยาบาล รถพระราชทาน คลินิกชุมชน เป็นต้น
(3) การพิจารณาทางเลือกให้ประชาชน รู้ผลการติดเชื้อด้วยตนเอง เช่น Antigen test เป็นต้น
(4) ปรับการสอบสวนและควบคุมโรคที่เน้นสอบให้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ/กลุ่มก้อน และ จุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา และให้จุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนโรคเฉพาะราย
(5) ออกควบคุมเชิงรุกเฉพาะจุดเสี่ยงการระบาดรุนแรงวงกว้าง (super-spreading settings) และพิจารณาทำ Bubble and Seal อาทิ แหล่งแรงงานต่างด้าว เรือนจำ/ที่ต้องกัก/สถานพินิจ ตลาดขนาดใหญ่ แคมป์ก่อสร้าง ชุมชนแออัด
4.2) ปรับมาตรการทางการแพทย์ โดยการปรับระบบการรักษาและการเชื่อมต่อเมื่อพบผู้ติดเชื้อให้สอดคล้องกับความเร่งด่วนโดยเน้นลดการเสียชีวิต ได้แก่ (1) ขยายเตียงและเปิดโรงพยาบาลสนามเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรงทุกโซนของกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน (2) ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่ใช่ผู้สูงอายุ/กลุ่มเปราะบาง ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนพิจารณาการรักษาและแยกกักแบบ Home Isolation หรือจัด Community/organization quarantine and isolation (3) พิจารณาให้สารสกัดฟ้าทะลายโจรกับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและผู้ที่มีอาการน้อย โดยเฉพาะผู้ที่รักษาตัวเองที่บ้านหรือใน community isolation และสถานพยาบาลพิจารณาการให้ยา Favipiravir ที่บ้านในรายที่มีข้อบ่งชี้ แต่ยังรับการรักษาในสถานพยาบาลไม่ได้ (4) ขยายเพิ่มจำนวนและระดมทรัพยากร สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง และอาการปานกลาง ทั้งรูปแบบการปรับเตียงเขียวในโรงพยาบาลและอื่น ๆ ให้มีไม่น้อยกว่า 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์
4.3) ปรับมาตรการวัคซีน ระดมฉีดวัดซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรง ให้ได้ร้อยละ 70 มีเป้าหมาย คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,800,000 โดส ภายใน 2 สัปดาห์ จังหวัดปริมณฑล ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และจังหวัดอื่น ๆ จำนวน 17,850,000 โดส ภายในเดือนสิงหาคม 2564 รวมทั้ง ใช้วัคซีนช่วยควบคุมการระบาดโดยเฉพาะในจุดเสี่ยงการระบาดวงกว้าง และใช้วัคซีนเพื่อปกป้องบุคคลากรการแพทย์สาธารณสุขในพื้นที่ระบาดสูงและมีไวรัสกลายพันธุ์ โดยการ Booster dose
4.4) ยกระดับมาตรการสังคมและองค์กร ก่อนเข้าสู่ New normal ยกระดับมาตรการจำกัดการเดินทาง และปิด/จำกัดการใช้สถานที่สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเทียบเท่ากับมาตรการ เมษายน 2563 เป็นเวลา 14 วัน (จนกว่าจะฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุได้ร้อยละ 70) รวมทั้งบังคับมาตรการ Work from Home ในสถานที่ หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการป้องกันและควบคุมโรค และสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ขั้นสูงสุด/เต็มจำนวน และส่งเสริมการสื่อสารให้ประชาชนในการเพิ่มความเข้มข้นมาตรการบุคคลและประยุกต์หลักการ Bubble and Seal ตัวเองและครอบครัว สำหรับการเดินทางไปทำงานและลดการเดินทางออกนอกบ้าน
ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด - 19 ให้ชัดเจน เช่น มาตรการ Test Trace Isolate มาตรการทางการแพทย์ มาตรการวัคซีน และมาตรการสังคมและองค์กร ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานต้องสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในทิศทางเดียวกันโดยเป็นไปตามแนวทางและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
2. ควรกำหนดกรอบการดำเนินงาน เป้าหมาย และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด - 19 เช่น มาตรการ Test Trace Isolate มาตรการทางการแพทย์ มาตรการวัคซีน และมาตรการสังคมและองค์กร และใช้เป็นข้อมูลเชิงสถิติในการพิจารณาการปรับระดับมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต
3. ควรพิจารณาการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ควบคู่กับการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และมีความเสี่ยงสูง
2. การตรวจหาเชื้อโควิด - 19 แบบ Antigen Test Kit
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด -19 ยังไม่สามารถให้บริการตรวจคัดกรองประชาชนได้เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีแนวโน้มรุนแรง คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) จึงได้เสนอแนวทางการใช้ชุดตรวจโควิด – 19 ด้วยตนเอง หรือ Antigen Test Kit โดยให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือขอรับชุดตรวจจากคลินิกสุขภาพไปตรวจด้วยตนเอง โดย Antigen Test Kit นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจำแนกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ทั้งนี้ ชุดตรวจดังกล่าวได้มีการนำมาใช้แล้วในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้ใช้ Antigen Test Kit ในสถานพยาบาลเป็นจำนวนทั้งสิ้น 26 ยี่ห้อ และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อแนะนำการใช้งาน เพื่อให้สามารถนำไปวางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปหรือคลินิกสุขภาพได้ เนื่องจาก Antigen Test Kit เป็นเครื่องมือแพทย์ จึงไม่ควรให้มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีใช้ ตลอดจนแนวปฏิบัติเมื่อตรวจพบผลเป็นบวก
อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจ Antigen Test Kit สามารถนำไปใช้ในกลุ่มผู้เสี่ยงทั่วไปเท่านั้น สำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT–PCR เช่นเดิม ทั้งนี้ ศปก.สธ. ได้เสนอที่ประชุมทราบ ดังนี้
2.1 การตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit
2.2 ปัจจัยที่อาจทำให้ผลการทดสอบจากชุดตรวจ Antigen test kit ไม่ถูกต้อง การใช้ Antigen Test Kit ควรคำนึงถึงปัจจัยที่อาจทำให้ผลการทดสอบชุดตรวจ Antigen Test Kit ไม่ถูกต้อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1) ผลบวกปลอม ผู้ทดสอบไม่ได้ติดเชื้อแต่ให้ผลการทดสอบเป็นบวก อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
- การปนเปื้อนจากพื้นที่ที่ทำการตรวจทดสอบ
- การติดเชื้อไวรัส หรือจุลชีพอื่น ๆ
- ดำเนินการตามขั้นตอนวิธีการทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น อ่านผลเกินเวลาที่กำหนด
- สภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม
2) ผลลบปลอม ผู้ทดสอบเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นลบ อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
- ผู้รับการตรวจเพิ่งติดเชื้อในระยะแรกที่มีปริมาณไวรัสต่ำ
- การเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกต้อง
- ดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด หรือปริมาณตัวอย่างที่ทดสอบไม่เป็นไปตามที่กำหนด
2.3 แนวปฏิบัติการตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) และการตรวจหาเชื้อโควิด – 19
ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
1. ควรจัดทำข้อแนะนำและระบุกลุ่มเป้าหมายในการตรวจด้วยเครื่องมือ Antigen Test Kit และ RT - PCR ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุข้อแนะนำในการห้ามใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มผู้เปราะบาง และให้มีการกำหนดสถานที่และหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตรวจและให้การดูแลผู้ติดเชื้อรวมถึงควรกำหนดผู้รับผิดชอบในการให้การรักษาผู้ป่วยตามอาการระดับต่าง ๆ ให้ชัดเจน
2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่าได้จัดเตรียมงบประมาณไว้สำหรับจัดซื้อเครื่องมือ Antigen Test Kit จำนวน 10 ล้าน ชิ้น ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ไม่มีกำลังซื้อชุดตรวจ โดยบริษัทต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าสามารถนำเข้าชุดเครื่องมือตรวจได้วันละ 1 ล้านชิ้น ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการทั้งของรัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป
3. กระทรวงแรงงานควรพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงชุดตรวจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการควบคุมโรคและตรวจเชิงรุกในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน อาทิ ในโรงงานและสถานประกอบการต่าง ๆ และควรพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยภายในสถานพยาบาลของโรงงานเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลทั่วไป
4. กระทรวงแรงงานแจ้งว่าได้จัดเตรียมโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมเพื่อรองรับแรงงานที่มีสัญชาติไทยและป่วยไว้เรียบร้อยแล้ว กรณีพบว่ามีแรงงานที่เป็นคนไทยมีอาการหนัก กระทรวงแรงงานจะประสานให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ในส่วนของแรงงานต่างด้าวกำหนดให้ใช้แนวทางการกักตัวภายในโรงงาน (Factory quarantine) เพื่อให้การรักษา โดยโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงาน 50 คนขึ้นไปจะมีสถานพยาบาลอยู่ภายในโรงงานซึ่งสามารถให้การรักษาและแยกส่วนโรงงานให้เป็นสถานที่กักตัว (Factory quarantine) ได้ ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในโรงงาน จำเป็นต้องดำเนินมาตรการการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัยของแรงงาน และการควบคุมไม่ให้แรงงานออกไปนอกพื้นที่ (Bubble and Seal) ภายในโรงงานควบคู่ไปกับการปูพรมตรวจคัดกรองด้วย เครื่องมือ Antigen Test Kit โดยแยกกลุ่มผู้ป่วยในโรงงาน และเพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินกิจการไปได้ และขอให้กรุงเทพมหานคร ประสานการเคหะแห่งชาติเพื่อพิจารณาสถานที่รองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม
5. ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยใหม่ โดยได้ผลักดันมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
6. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยให้นำเครื่องมือ Antigen Test Kit มาใช้ควบคู่ไปกับมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation: CI) อย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้และเห็นควรเร่งสร้างการรับรู้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน
3. มาตรการการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการแยกกักตัวที่ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation)
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19) เสนอแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
3.1 มาตรการการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal)
1) แนวทางการดำเนินงานเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal)
(1) การจัดระบบบริการด้านการแพทย์สาธารณสุข
- ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้มีภาวะอ้วน ไม่ควรเข้ารับการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เว้นแต่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์
- มีการเฝ้าระวังโดยการคัดกรองอาการอย่างเคร่งครัด ตรวจ RT - PCR เฉพาะผู้มีอาการ
- มีทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ(Communicable Disease Control Unit: CDCU) รับผิดชอบและเตรียมระบบส่งต่อโรงพยาบาล
- มีแผนการตรวจและแผนการออกจากการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Exit Plan) และความพร้อมทางห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจ IgG Antibody
(2) มาตรการป้องกันควบคุมโรค
- ไม่รับคนงานใหม่ ในกรณีที่ต้องการรับเพิ่ม ต้องทำการคัดกรองและยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อ
- มีผู้จัดการและผู้ควบคุมกำกับการปฏิบัติ ทั้งในโรงงานและที่พัก (เน้น DMH) งดการรวมกลุ่ม
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทั้งสถานที่ทำงาน โรงงาน ที่พัก ห้องน้ำ โรงอาหาร
(3) การสนับสนุนอื่น ๆ
- สนับสนุนปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ เช่น จัดให้มีสวัสดิการร้านค้าภายในโรงงาน จำหน่ายอาหาร วัตถุดิบในการประกอบอาหารและของใช้ประจำวัน
- จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ จัดสถานที่พักในโรงงานหรือในชุมชน จัดระบบรับ - ส่งแรงงานจากที่พักถึงโรงงาน/สถานประกอบการ รวมถึงรักษาความปลอดภัย ทั้งเพื่อการควบคุมโรคและการรักษาความสงบเรียบร้อย
2) แนวทางการจัดทำมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามระดับความรุนแรงและพื้นที่การระบาด ดำเนินการประเมินความเสี่ยง ประเภทสถานที่ และลักษณะการระบาด จากการทำ Active Case Finding (ACF) (การค้นหาเชิงรุกที่ขยายวงให้ครอบคลุมชุมชนที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตหรืออาศัยอยู่ เช่น ตลาด ชุมชน หรือแคมป์คนงานก่อสร้างเดียวกันกับผู้ป่วย โดยไม่จำกัดเพียงผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อการสื่อสาร และการดำเนินงานเพื่อเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ) Sentinel Surveillance (SS) (การเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยจัดให้มีแผนเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบแนวโน้ม และตรวจจับการระบาดได้ทันท่วงที) หรือ Rapid Survey (RS) (การสำรวจแบบเร็ว เพื่อค้นหาการติดเชื้อหรือการป่วยในกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญหรือมีโอกาสพบผู้ป่วย โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยหลักทางสถิติ เพื่อให้ทราบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือเพื่อทราบระดับความชุกของการติดเชื้อ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเมื่อมีความจำเป็น โดยไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในพื้นที่นั้น ๆ
(1) ในกรณีพบผลเป็นบวก ร้อยละ 0 - 5 ดำเนินการ Test - Treat – Trace (TTT)
- ค้นหาผู้ติดเชื้อเฉพาะผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ (Acute Respiratory Illness: ARI) และติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พร้อมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วย ทำการแยกกักและรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม
- ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทำการกักกันในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด
- ใช้มาตรการส่วนบุคคลและการปรับปรุงสุขาภิบาลและสภาพแวดล้อมเสี่ยง
- ฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่มิใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และมิใช่ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งชุมชนโดยรอบ (Ring Vaccination)
(2) ในกรณีพบผลเป็นบวก ร้อยละ 6 – 10 ดำเนินการแบบผสมผสาน (Mixed)
- ใช้มาตรการ (Test - Treat – Trace (TTT)) ร่วมกับการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) โดยผสมผสานระหว่างการค้นหาผู้ติดเชื้อ การติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากักตัว ร่วมกับการตรวจค้นหาผู้มีอาการ ผู้สูงอายุ/โรคเรื้อรังที่เสี่ยงป่วยรุนแรง เพื่อค้นหาการติดเชื้อและแยกมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
- ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วย ทำการแยกกักและรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม หรือจัดทำการกักตัวในชุมชน (Community Isolation: ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน) โดยขึ้นอยู่กับประเภทผู้ติดเชื้อ/และสถานที่
- ทำการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด การกักกันในที่พำนัก (Home Quarantine) หรือการกักกันในชุมชน (Community Quarantine)
- ใช้มาตรการส่วนบุคคลและปรับปรุงสุขาภิบาล รวมทั้งจัดบริการวัคซีนตามแนวทางที่กำหนด
(3) ในกรณีพบผลเป็นบวกมากกว่าร้อยละ 10 ดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal)
- ค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุ/โรคเรื้อรังทุกคน โดยใช้วิธีการ RT- PCR
- แบ่งสมาชิกเป็นกลุ่ม (Bubble) ตามความเสี่ยง โดยคำนึงถึงสภาพการทำงาน
- ห้าม/จำกัดการมีกิจกรรมข้ามกลุ่ม (Bubble)
- แบ่งการใช้พื้นที่ส่วนรวมตามกลุ่ม (Bubble) เช่น การรับประทานอาหาร การใช้ห้องน้ำ
- ควบคุมกำกับ (Seal) สถานที่ เส้นทางเฉพาะกลุ่มเพื่อแยกการสัมผัสกับชุมชนหรือกลุ่มอื่น
- จัดบริการวัคซีนตามแนวทางที่กำหนด
3) แนวทางการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ในสถานประกอบการ
(1) กรณีที่พักอยู่ที่เดียวกับสถานที่ทำงาน ให้จัดหาที่พักให้แก่พนักงาน และจัดให้มีอาหารครบ 3 มื้อ จัดทำทะเบียนและแผนผังที่พักของพนักงานเพื่อใช้สำหรับการติดตามรวมทั้งกำหนดผู้ควบคุมแต่ละหอพักที่มีพนักงานของโรงงาน โดยมีแผนการลงทะเบียนเข้า – ออกหอพัก
(2) กรณีพักอยู่ในชุมชน ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับในกรณีที่ 1) และเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ตั้งแถวโดยมีผู้ควบคุมกลุ่มที่เดินเท้ากลับที่พัก (2) จัดหารถรับส่งพนักงานที่มีหอพัก (3) มีระบบติดตามการเดินทางระหว่างที่พักและโรงงาน โดยใช้ QR code รายงาน
3.2 มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ดำเนินการในสถานที่ที่เหมาะสม โดยผู้ติดเชื้อยินยอมโดยสมัครใจและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ พร้อมจัดให้มีช่องทางสื่อสารกับผู้ป่วย (Telemonitor) เพื่อติดตามอาการทุกวัน รวมถึงช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน และลงทะเบียนกับสถานพยาบาล ทำการเอ็กซเรย์ปอด (หากทำได้) พร้อมจัดอุปกรณ์วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และระบบรับผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
1) การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ใช้ในกรณีระหว่างรอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือแพทย์พิจารณาว่าสามารถรักษาที่บ้านได้ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล/สถานที่ที่รัฐจัดให้ไม่น้อยกว่า 10 วันและจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธีการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาผู้ป่วยที่จะเข้ารับการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases) อายุไม่เกิน 60 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน: BMI > 25 กก./ม.2 หรือ BW > 90 กก.) ไม่มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นต้น และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
สำหรับการดำเนินการในส่วนสถานพยาบาล ให้ประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์ แนะนำการปฏิบัติตัวให้กับผู้ติดเชื้อ ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้อ โดยให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจนในเลือด และให้แจ้งสถานพยาบาลทุกวัน พร้อมทั้งจัดให้มีระบบรับ - ส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น
2) การกักตัวในชุมชน (Community Isolation : ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยยืนยันโควิด -19 อยู่ในชุมชน ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา ทุกกลุ่มอายุ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและเจ้าของสถานที่/ชุมชน ดำเนินการประเมินสถานการณ์และความพร้อม จำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patients Under Investigation: PUI) จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม โดยคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ลักษณะเป็นหมู่บ้านหรือแคมป์คนงานซึ่งยินยอมรับผู้ติดเชื้อ สามารถจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อไม่เกิน 200 คน จัดตั้งศูนย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลได้ในกรณีหากมีอาการรุนแรงขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะหรือได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดออกไปยังภายนอกชุมชน และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐ และเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงจัดให้มีจิตอาสาประจำศูนย์พักคอย เพื่อทำหน้าที่ดูแลและเป็นผู้ประสานงานกับทีมแพทย์ที่ปรึกษา
ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในแต่ละพื้นที่ จะดำเนินการตามมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลสนามของแต่ละจังหวัด โดยโรงพยาบาลในต่างจังหวัดมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด - 19 จากกรุงเทพมหานครและมีความประสงค์จะกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา
2. ที่ประชุมเสนอให้จำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด - 19 โดยเสนอให้พิจารณามาตรการล็อกดาวน์เป็นรายชุมชน (Community Lockdown) และให้กระทรวงสาธารณสุขระบุชุมชนเป้าหมายที่มีการแพร่ระบาดสูง และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงในการปฏิบัติการโดยให้สร้างความเข้าใจ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งจัดให้มีการวางระบบดูแลด้านสาธารณสุขและด้านอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ
3. ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนร้อยละ 35 ขึ้นไป จะช่วยให้การแพร่ระบาดลดลง และการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) อย่างไรก็ดี มาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) การสวมหน้ากาก การล้างมือ ตลอดจนการลดการเคลื่อนย้าย และการปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work from Home) ยังเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม พบว่าการปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work from Home) ในต่างจังหวัด ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อในแต่ละจังหวัด เข้มงวดในมาตรการดังกล่าว
4. ที่ประชุมเสนอให้ปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารในประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในกระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
5. ที่ประชุมเสนอให้ ศปก.ศบค. พิจารณากรณีศึกษามาตรการล็อคดาวน์ในต่างประเทศที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ เช่น เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีมาตรการงดการเข้า - ออกของเมืองอย่างเด็ดขาด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และใช้มาตรการล็อคดาวน์แบบ Stay Home ส่วนประเทศเยอรมนี ใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ในระยะเวลาที่กำหนด และต้องมีการตรวจด้วยชุดทดสอบไวรัสโควิด - 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง
6. ที่ประชุมเสนอให้มีการพิจารณารายละเอียดการยกระดับมาตรการล็อคดาวน์ งดการเข้า – ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ทั้งนี้ ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงเปิดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน และเสนอให้มีการใช้ระบบคัดกรองประชาชนด้วยการตรวจด้วยชุดทดสอบไวรัสโควิด - 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ก่อนการเข้าใช้บริการในพื้นที่ดังกล่าว
7. ที่ประชุมเสนอให้กรุงเทพมหานคร หารือกับการเคหะแห่งชาติ เพื่อพิจารณาจัดหาสถานที่กักตัวเพิ่มเติมในกรณีที่มีสถานที่ประเภทอาคาร ห้องชุด ที่ยังว่างและไม่ได้ใช้งาน
4. ประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19
4.1 แนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 271 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 จำนวน 2 เข็ม ตามแนวทางมาตรฐาน ได้แก่ (1) กรณีรับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 และวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างกัน 3 - 4 สัปดาห์ (2) กรณีรับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 เข็ม ให้ฉีดห่างกัน 10 - 12 สัปดาห์ โดยทั่วไปผู้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอหลังจากฉีด ครบ 2 เข็ม แล้ว 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ กรณีการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุให้พิจารณารับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 เข็ม และการฉีดวัคซีน Sinovac จำนวน 2 เข็ม จะฉีดเฉพาะกรณี
4.2 แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม โดยสามารถได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer เป็นเข็มกระตุ้น 1 เข็ม หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ (สูตร Sv-Sv-Az หรือ Sv-Sv-Pf) ทั้งนี้ เมื่อมีวัคซีนเพียงพอและกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนแล้ว จะมีการพิจารณาการฉีดเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในระยะถัดไป
4.3 แนวทางการจัดหาวัคซีน ในปี 2565 การจัดหาวัคซีนในกรอบ 120,000,000 โดส ต้องเร่งรัดการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองที่สามารถจะครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 รวมทั้งการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบเพื่อรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส การกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่และพัฒนาในประเทศ และสนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 และความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 เพิ่มเติม
4.4 แนวทางการจัดสรรวัคซีน แผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2564 โดยการพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่ได้จองฉีดวัคซีนล่วงหน้า (ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย (1) กลุ่มจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และจังหวัดควบคุมสูงสุดบางจังหวัด) จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และชลบุรี) (2) จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด และแผนเปิดการท่องเทียวระยะถัดไป จำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาเต่า) ตรัง พังงา และกระบี่ และ (3) จังหวัดอื่น ๆ จำนวน 48 จังหวัด โดยเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2564 พิจารณา ดังนี้ (1) จำนวนประชากรที่นำมาคำนวณมาจากฐานข้อมูลประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝง (2) เป้าหมายฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรจากทะเบียนบ้านและประชากรแฝงทุกกลุ่มอายุในแต่ละจังหวัด ทั้งผู้มีสัญชาติไทยและ ไม่มีสัญชาติไทย (3) เป้าหมายให้บริการวัคซีน 13,000,000 โดส ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2564 (จำนวนวัคซีนที่จัดสรรจริงอาจปรับเปลี่ยนตามปริมาณวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาได้) (4) ประเภทการจัดสรรเป็นไปตามมติศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 แบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัดตามที่เสนอ โดยเกณฑ์การจัดสรรจะพิจารณาจากปัจจัย ได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้ลงทะเบียนจองวัคซีนล่วงหน้าในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2564 การให้วัคซีนเพื่อป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ระบาดใหม่ โควตาประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน (กทม. + 12 จังหวัด) และจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด และ (5) กรณีจัดหาวัคซีนได้ไม่ถึง 13,000,000 โดส จะลดลงตามสัดส่วนวัคซีนที่ได้ ทั้งนี้ มีเกณฑ์การจัดสรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2564 ดังนี้
ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
1. ควรลดระยะเวลาการฉีดวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2 โดส เป็น 8 สัปดาห์ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 สูง
2. ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เพิ่มเติม
5. ที่ประชุมได้หารือแนวทางในการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 10/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
5.1 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ดังนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นต่อเนื่องจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด จึงให้ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายในประเด็นสำคัญ ดังนี้ ได้แก่ 1) ความมุ่งหมายของมาตรการ 2) การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ 3) การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง 4) กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม 5) การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6) กำหนดระยะเวลาและแนวทางการให้บริการการขนส่งสาธารณะ 7) มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ (1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม (2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน (3) โรงแรม (4) ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด และ (5) โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ 8) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 9) ข้อปฏิบัติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ 10) การบูรณาการและประสานงาน และ 11) การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป
5.2 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 10/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่ควบคุมสูงสุดพื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น 13 พื้นที่/จังหวัด (ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปทุมธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ และ จังหวัดสมุทรสาคร) พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น 53 จังหวัด (ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเลย จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุบลราชธานี และ จังหวัดอำนาจเจริญ) พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด (ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร จังหวัดนครพนม จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดพังงา จังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง จำนวน 1 จังหวัด (จังหวัดภูเก็ต)
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 (ศปก.สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ทราบ ดังนี้
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ทั่วโลก สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยให้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ของแต่ละประเทศ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราผู้ติดเชื้อต่อประชากรทั้งประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิต เป็นต้น รวมทั้งเน้นย้ำให้ประชาชนดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด และแจ้งมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าก่อนมีผลบังคับใช้ในอนาคต
2) ประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เช่น การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 แผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2564 เป็นต้น
3) กำหนดมาตรการกำกับดูแลในการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้เป็นไปอย่างรัดกุม และกำหนดแนวทางการในการบริหารจัดการตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทุกกระบวนการ รวมทั้งพื้นที่และสถานที่ที่จำเป็นต้องใช้ชุดตรวจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจเชิงรุกและลดปัญหาความแออัดของประชาชน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
2. ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับหลักการควบคุมโรคระบาดในรูปแบบ การควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัยของแรงงาน และการควบคุมไม่ให้แรงงานออกไปนอกพื้นที่ (Bubble and Seal) ในสถานประกอบการและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางการกักตัวภายในโรงงาน (Factory Quarantine)
3. ให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร พิจารณาเพิ่มสถานที่แรกรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด - 19 อาทิ โรงพยาบาลสนาม การจัดระบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation: CI) ให้เพียงพอต่อปริมาณผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น จากการเพิ่มความสามารถในการตรวจ ก่อนส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 กรุงเทพมหานคร และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) หารือมาตรการควบคุมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเชิงพื้นที่และชุมชน โดยเน้นพื้นที่ชุมชนที่มีการแพร่ระบาดหนักและกำหนดแนวทางควบคุมให้ชัดเจน เพื่อจำกัดและลดการเคลื่อนย้ายให้ได้มากที่สุด (Mobility) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปสถานการณ์สาธารณภัย และการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่ 13 – 19 กรกฎาคม 2564 ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอดังนี้
การคาดหมายลักษณะอากาศ การสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม และการช่วยเหลือ
ในช่วงวันที่ 19 - 23 กรกฎาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศเมียนมาและลาว ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ในช่วงวันที่ 24 - 25 กรกฎาคม 2564 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร
อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำมีกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไป
2. การแจ้งเตือนและสั่งการเพื่อเตรียมความพร้อม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันเหตุการณ์
3. 5 พฤษภาคม 2564 สั่งการให้กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ดังนี้
2 การจัดทําแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ให้ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัด ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
3 การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ให้มอบหมายกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดําเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน
4 การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ ให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบจัดทีมวิศวกรเข้าสํารวจตรวจสอบ และปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้า / ผ่านในปริมาณมาก รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
5 การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ให้ดําเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุ และเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า รวมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจําหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล ข่าวสาร ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูล และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในกรณีจังหวัดที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกันให้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และแจ้งเตือนระหว่างจังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำอย่างใกล้ชิด
เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ ให้ยึดแนวทางการจัดการ2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดําเนินการตามแนวทาง ดังนี้
เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สําคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สําคัญต่าง ๆ และร่วมกันกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทั้งนี้ หากมีกรณีน้ำท่วมขัง สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนให้เร่งกําหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เพื่อเร่งระบายน้ำ และเปิดทางน้ำในพื้นที่ทั้งหน่วยทหาร ตํารวจ ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เพื่อเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชํารุด / ถูกตัดขาด เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว ตลอดจนสื่อแขนงต่าง ๆ และสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์และเสนอ ความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจสั่งการในเชิงนโยบายต่อไป
สรุปสถานการณ์น้ำไหลหลาก และดินสไลด์
ระหว่างวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2564
น้ำล้นสปิลเวย์
จังหวัดลําปาง วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 02.30 น. เกิดฝนตกหนักทําให้อ่างเก็บน้ำแม่แก่งมีน้ำล้นสปิลเวย์ในพื้นที่อำเภอเถิน ตำบลแม่ถอด (หมู่ที่ 7) ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
น้ำป่าไหลหลาก
1. จังหวัดน่าน วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและดินสไลด์ในพื้นที่อำเภอสองแคว ตำบลยอด (หมู่ที่ 5) ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน เสาไฟฟ้าล้ม 1 ต้น พื้นที่ทางการเกษตร 20 ไร่ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
2. จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.10 น. เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อย ตำบลแม่ลาน้อย (หมู่ที่ 10) ประชาชนได้รับผลกระทบ 2 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 21.30 น. เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ตำบลปางหมู (หมู่ที่ 11) ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
3. จังหวัดตาก วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00 น. เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด ตำบลสามหมื่น (หมู่ที่ 1 , 2 , 4) ประชาชนได้รับผลกระทบ 4 ครัวเรือน สะพาน 4 แห่ง รถยนต์ 3 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
4. จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.45 น. เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนน ในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด และอำเภอสีคิ้ว บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 2148 (ด่านขุนทด - หนองสรวง) และหมายเลข 201 (สีคิ้ว - ชัยภูมิ) ช่วงหลักกม. ที่ 29-30 หลัก กม. ที่ 33-34 และหลัก กม. ที่ 41-42
5. จังหวัดสระบุรี วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 17.00 น. เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอวังม่วง ตำบลแสลงพัน (หมู่ที่ 5) ประชาชนได้รับผลกระทบ 2 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
สรุปสถานการณ์วาตภัย
ระหว่างวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2564
1. จังหวัดพะเยา วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอภูซาง ตำบลป่าสัก (หมู่ที่ 7 , 9) ตำบลภูซาง (หมู่ที่ 1 , 5 , 9 , 13) ตำบลทุ่งกล้วย (หมู่ที่ 1 , 2 , 10) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 33 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
2. จังหวัดปัตตานี วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 17.30 น. เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง ตำบลปากู (หมู่ที่ 2) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
3. จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.45 น. เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด ตำบลด่านขุนทด (หมู่ที่ 11) ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 4 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
4. จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.00 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอบ้านเขว้า ตำบลลุ่มน้ำชี (หมู่ที่ 6 , 18) ทำให้ยุ้งข้าวได้รับความเสียหาย 2 หลัง โรงรถ 1 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
5. จังหวัดหนองบัวลําภู วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.30 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองหนองบัวลำภู ตำบลโพธิ์ชัย (หมู่ที่ 3) บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 2 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
6. จังหวัดปัตตานี วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.30 น. เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง ตำบลตันหยงดาลอ (หมู่ที่ 1) ต้นไม้ล้มทับบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1 หลัง รถจักรยานยนต์ 1 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
สรุปสถานการณ์ไฟป่า
ข้อมูล ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564
จังหวัดสงขลา วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.45 น. เกิดเหตุไฟไหม้ป่าพรุกระจูด ในพื้นที่อำเภอเทพา ตำบลเกาะสบ้า (หมู่ที่ 3 , 7) พื้นที่ป่าประมาณ 200 ไร่ อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
การให้ความช่วยเหลือ : สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หน่วยทหารในพื้นที่ อำเภอ อปท. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิเข้าทำการดับไฟ ปัจจุบันสามารถควบคุมไฟได้ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
สรุปสถานการณ์อุบัติภัย และเหตุการณ์สำคัญ
ระหว่างวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2564
1. จังหวัดสงขลา วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.15 น. เกิดอุบัติเหตุทางถนนรถเสียหลักตกคลองในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือ
2. จังหวัดปทุมธานี วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.50 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่พักคนงาน บริเวณตรงข้ามสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 11.05 น. เพลิงลุกไหม้ได้รับความเสียหาย 6 ห้อง และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
3. จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 22.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตปูนขาว และกําจัดของเสียของบริษัท เอกอุทัย จํากัด (มหาชน) สาขากลางดง ตั้งอยู่เลขที่ 499 หมู่ที่ 1 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าทำการดับเพลิงจนเพลิงสงบ เวลา 00.20 น. เพลิงลุกไหม้ถังเก็บเชื้อเพลิงผสม (ประเภท 9) ได้รับความเสียหาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
4. จังหวัดสงขลา วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.20 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท เซาท์เทิร์น กรีนเนอร์จี จํากัด ประกอบกิจการคัดแยกขยะ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
25. เรื่อง การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 12) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใกล้จะสิ้นสุดลง สมช. ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 รายละเอียด ดังนี้
1. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนี้
1.1 สถานการณ์ในระดับโลก ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 186,293,113 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา 2) อินเดีย และ 3) บราซิล ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 62 จาก 218 ประเทศทั่วโลก ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในเอเชียและประเทศรอบบ้านของประเทศไทยว่ายังคงมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1.2 สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ของไทย ในห้วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม จำนวน 288,643 ราย (ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ จำนวน 1,786 คน ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 249,110 คน และติดเชื้อในเรือนจำและที่ต้องขัง จำนวน 37,747 คน) ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากกว่าหลายพันรายต่อวันและมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด - 19 ชนิดสายพันธุ์ใหม่ (เดลต้า) สามารถแพร่ระบาดและติดต่อกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ของประเทศไทยได้พบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ชนิดสายพันธุ์ใหม่ (เบต้า) ที่มีความรุนแรงมาก อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ตลาดค้าส่ง อีกทั้งยังพบการระบาดต่อเนื่อง จากผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ที่พักแรงงานก่อสร้างชั่วคราว ครอบครัว ตลาด สถานที่ทำงาน และสถานที่ชุมชนต่าง ๆ
2. สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวน 10,000 รายต่อวัน หรือมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 100,000 ราย ภายในระยะเวลา 14 วัน อันจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตราเกิน 100 รายต่อวัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โดยเร็วเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข อันจะนำมาซึ่งการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์ เตียงรักษา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
3. ศปก.ศบค. พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและในระยะต่อไปยังคงเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ออกไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิตของประชาชน
5. มติของที่ประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไป เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการปฏิบัติงานและการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตและการบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข และการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 13 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
26. เรื่อง ขอขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและการปรับปรุงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการปรับปรุงถ้อยคำในมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. เห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานดำเนินการจัดทำรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญ
1. การปรับปรุงถ้อยคำในมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ได้ประสานขอปรับปรุงถ้อยคำในส่วนของมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) (ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27) รวม 10 จังหวัด ตามข้อเสนอเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ของ สศช. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
ข้อความตามข้อเสนอของ สศช. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 |
ข้อความที่เสนอขอปรับปรุงในครั้งนี้ |
2. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ (2) กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33 สัญชาติไทยตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1) จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามหลักการข้อ 1) จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท |
2. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ (2) กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33 สัญชาติไทยตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1) จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน |
(2) ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1) ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน |
(2) ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 สัญชาติไทย ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ ในพื้นที่ 10 จังหวัด จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน |
เห็นควรมอบหมายให้ สปส. รับไปพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม พื้นที่ และกิจการตามที่กำหนดเพิ่มเติม โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 |
เห็นควรมอบหมายให้ สปส. รับไปพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม พื้นที่ และกิจการตามที่กำหนดเพิ่มเติม โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ/หรือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 |
ทั้งนี้ ในขั้นการจัดทำโครงการเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาในกลุ่มต่าง ๆ ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการจัดทำรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. การขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
สืบเนื่องจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 28) ได้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด โดยเพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการออกนอกเคหสถาน การเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับสถานประกอบการต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยสรุปได้ดังนี้
2.1 พื้นที่ดำเนินการ : ขยายพื้นที่จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด โดยเพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.2 กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ : คงเดิม โดยครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
2.3 ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ : กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขา และในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม
2.4 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ : รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามข้อเสนอเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ของ สศช. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 และที่ขอปรับปรุงถ้อยคำตามข้อ 1
ต่างประเทศ
27. เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 11 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น ต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ตามที่ กระทรวงการต่างประเทศ ( กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคาที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ยินดีและทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา โดยมีแผนจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย
2. ชื่นชมบทบาทของสาธารณรัฐอินเดียในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคฯ ทั้งภายใต้โครงการที่ให้ผลเร็ว ( Quick Impact Projects) การให้สินเชื่อ และความช่วยเหลือของสาธารณรัฐอินเดียในด้านต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ ความเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การท่องเที่ยว และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
3. ย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะโครงการ เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย-เมียนมา-ไทย ( โครงการถนนสามฝ่าย) และโครงการพัฒนาระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในเขตแม่น้ำกาลาดัน (อินเดีย-เมียนมา) รวมทั้งให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา กับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และอาเซียน
4. ย้ำการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม สารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาขีดความสามารถและบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
28. เรื่อง การขยายระยะเวลาความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงินของโครงการ Integrated Programme in Enchancing the Capacity of AHA Centre and ASEAN Emergency Response Mechanisms (EU-SAHA)
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างเอกสารแนบท้ายความตกลง (Addendum No. 1) เพื่อขยายระยะเวลาความตกลงให้การสนับสนุนทางการเงิน (Financing Agreement) ในการดำเนินโครงการ EU-SAHA และเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารฯ ของฝ่ายอาเซียน เนื่องจากเป็นการดำเนินงานตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response: AADMER) ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรองไว้แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขโดยไม่กระทบสาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของอาเซียน ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สาระสำคัญ
เลขาธิการอาเซียนสามารถลงนามในนามของอาเซียนได้ โดยประเทศสมาชิกจะต้องให้ความยินยอมให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทนลงนามในร่างความตกลงฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกฎระเบียบว่าด้วยการทำความตกลงระหว่างประเทศโดยอาเซียน ค.ศ. 2011 (2011 Rules of Procedure for the Conclusion of International Agreement by ASEAN) ซึ่งคณะมนตรีประสานงานอาเซียนได้รับรองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554
อย่างไรก็ตาม โดยที่การขยายระยะเวลาความตกลงฯ ออกไปอีก 24 เดือน เป็นการแก้ไขที่มีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเสนอร่างความตกลงฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และขอความเห็นชอบให้เลขาธิการอาเซียนหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารฯ ในนามอาเซียน
29. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย (DS 507)
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย (DS 507)
2. หากมีการปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
3. อนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย (DS 507)
4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือผู้แทน สำหรับการลงนามดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย (DS 507) มีสาระสำคัญดังนี้
1. ตั้งแต่ปี 2559 ไทยได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามข้อกังวลของฝ่ายบราซิลในการหารือภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก โดยปรับแก้ไขมาตรการที่เกี่ยวข้องกับข้อกังวลของบราซิลประกอบด้วย 1) การยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล 2) การยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ 3) การยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และ 4) การยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น
2. ไทยยืนยันว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ได้ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ได้ยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล
3. การยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ และยกเลิกการจ่ายเงินให้กับโรงงาน ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น โดยให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นไปรวมคำนวณในปีถัดไป อยู่ภายใต้การปรับแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และถูกเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก่อนเผยแพร์ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
4. สองฝ่ายตกลงให้มีการหารือผ่านระบบทางไกลทุก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อติดตามความคืบหน้าการปรับแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับข้อกังวลของบราชิล ทั้งนี้ การหารือทุกไตรมาสดังกล่าวจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าสองฝ่ายจะเห็นชอบร่วมกันว่าได้มีการยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่าย น้ำตาลทรายภายในประเทศ และยกเลิกการจ่ายเงินให้กับโรงงานในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นภายใต้การปรับแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แล้ว
5. การหารือของคู่ภาคีที่เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการร้องขอหารือภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกจะเป็นความลับและไม่กระทบต่อสิทธิ์และท่าทีของภาคีภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก
6. ในระหว่างที่บันทึกความเข้าใจมีผลใช้บังคับ บราชิลจะไม่ยื่นขอจัดตั้งคณะผู้พิจารณาตามกระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก โดยบันทึกความเข้าใจจะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการลงนามทั้งนี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยกเลิกบันทึกความเข้าใจเมื่อใดก็ได้ โดยแจ้งผ่านช่องทางการทูตซึ่งจะมีผลภายใน
30 วันหลังจากอีกฝ่ายได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร
30. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคี อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ปี พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และ การประชุม รัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ปีพ.ศ. 2564 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียฯ มีสาระสำคัญ เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาหรือมีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
1. ยืนยันมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและสารเคมีอย่างผิดกฎหมายตามกรอบระหว่างประเทศภายใต้ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมพหุภาคีต่าง ๆ เช่น อนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และอนุสัญญามินามาตะฯ รวมทั้งในระดับสากลตามระบบที่ตกลงกัน เช่น ระบบจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่สอดคล้องกันทั่วโลก ( Globally Harmonised System of Classification and Lebelling of Chemicals: GHS)
2. สนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ในการปกป้องคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายร้ายแรงจากสารเคมีอันตรายและของเสียอันตราย
3. ร้องขอให้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และองค์กรที่เป็นพันธมิตรอื่นๆเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาบรรจุรายชื่อสารเคมีอันตรายจากอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เพื่อประกันให้การปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นภาคีและภาคีอื่น
4. สนับสนุนให้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกลไกการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เป็นไปเพื่อเน้นมาตรการอำนวยความสะดวกเพื่อให้มีความช่วยเหลือแก่ภาคี เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ
5. ดำเนินการด้านการจัดการสารเคมีอันตรายและของเสียอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต ลดการเกิดของเสียตามหลักการ 3Rs และการนำหลักการว่าด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามกรอบกฎหมาย ที่มีอยู่และนโยบายระดับชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน
6. ส่งเสริมการพัฒนาแนวทางปฏิบัติ ทางด้านเทคนิค เพื่อจัดทำข้อกำหนดที่ชัดเจนในการพิจารณาความแตกต่างระหว่างขยะพลาสติกอันตรายและไม่อันตรายที่ถูกบรรจุในภาคผนวกที่แก้ไขเพิ่มเติมในภาคผนวก II ภาคผนวก VII และภาคผนวก IX ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
7. ส่งเสริมการลดภัยคุกคามและผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตรายและของเสียอย่างผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการให้สัตยาบันเร่งด่วนสำหรับข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ ในการห้ามการส่งออก (Basel Ban Amendment) เพื่อการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายสารเคมีและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนเป็นการป้องกันการนำเข้าของเสียอันตราย
8. ใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาทางเลือกใช้สารเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน และนวัตกรรมการผลิต ตลอดจนการผลักดันการดำเนินงานผ่านการกำหนดนโยบายการเสริมสร้างเชิงสถาบัน กฎหมาย และกรอบการกำกับดูแลด้านการจัดการสารเคมีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในปีพ.ศ. 2573
9. เสริมสร้างความร่วมมือกับศูนย์ประสานงาน อนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ในภูมิภาคอาเซียน
10. ดำเนินการทำงานอย่างใกล้ชิดในระดับภูมิภาคร่วมกับภาคีอื่นที่ไม่ใช่ประเทศสมาชิกอาเซียนและองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อระดมการสร้างขีดความสามารถ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การแบ่งปันข้อมูลด้านประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี และความร่วมมือทางด้านเทคนิคเพื่อให้เกิดการจัดการของเสียอันตรายและสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสู้กับการลักลอบขนส่งอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่งตั้ง
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กลุ่มที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นางสาวทิพานัน ศิริชนะ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
33. เรื่อง การแต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. การแต่งตั้ง พันโท หนุน ศันสนาคม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
2. การกำหนดอัตราค่าตอบแทนคงที่ในอัตรา 280,000 บาทต่อเดือน โดยในระหว่างอายุสัญญา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าตอบแทนคงที่ในวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนคงที่ที่ผู้รับจ้างได้รับ ทั้งนี้ ให้ขึ้นกับผลการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยการปรับขึ้นค่าตอบแทนคงที่ตลอดอายุสัญญาจ้างจะต้องไม่มีผลให้อัตราค่าตอบแทนคงที่ที่ได้รับเกินกว่าอัตราขั้นสูงตามกรอบอัตราค่าตอบแทนคงที่ที่ กค. ได้ให้ความเห็นชอบไว้
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ระบุในสัญญาจ้างผู้อำนวยการฯ แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 และครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564
34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แทนตำแหน่งที่ว่าง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านสิทธิมนุษยชน) ในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
35. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4 คน ดังนี้
1. นายปรีชาพร สุวัฒโนดม เป็นกรรมการ
2. พันเอก ศรัณยู วิริยเวชกุล เป็นกรรมการ
3. รองศาสตราจารย์ธีร เจียศิริพงษ์กุล เป็นกรรมการ
4. รองศาสตราจารย์พรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี