1.โดยที่ป.อาญาได้บัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองไว้เป็น 2 ส่วนหลักคือ ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต (มาตรา 147 ถึงมาตรา 156) และความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (มาตรา 158ถึงมาตรา 166) โดยมีมาตรา 157 เป็นฐานความผิดร่วมทั้งการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งบรมครูทางกฎหมายอาญา ท่านศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย เคยอธิบายไว้โดยสรุปว่า มาตรา 157 นี้เป็นมาตรากวาดกอง หากการกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิดเฉพาะเรื่องตามมาตราต่างๆ แล้ว ก็มักจะเป็นความผิดตามมาตรานี้
2.ประเด็นครั้งนี้ เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีบริษัทเอกชนยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งหนึ่งต่อศาลจังหวัดโดยมีพนักงานอัยการเป็นทนายแก้ต่างโดยขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งแก้ไขโฉนดที่ดิน จำนวน 2 ฉบับ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยระบุว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยอีก ทนายของจำเลยไม่คัดค้านศาลจึงอนุญาตให้ถอนฟ้อง
หลังจากนั้น โจทก์เดิมร่วมกับผู้จัดการมรดกกับพวกได้ยื่นฟ้องจำเลยในคดีเดิมโดยประเด็นเรื่องเดียวกับคดีที่ถอนฟ้องไปแล้วอีก ปรากฏว่าผู้ว่าราชการจังหวัดได้ยื่นคำให้การคดีใหม่โดยมิได้คัดค้านว่าเป็นฟ้องซ้ำ เป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ต่อมา สารวัตรใหญ่ของสถานีตำรวจภูธร อำเภอ ก. ได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ว่าราชการจังหวัด และพนักงานอัยการ(ที่ทำหน้าที่ทนายแก้ต่างคดีนี้) ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลายประเด็น
3.กรมตำรวจ (กองปราบปราม) มีหนังสือแจ้งกรมการปกครองให้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองร่วมทำการสอบสวนคดีดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าคดีแพ่งยังไม่ถึงที่สุด จึงให้กรมตำรวจ ชะลอเรื่องเพื่อรอฟังผลคดีแพ่งก่อนแต่กรมตำรวจแจ้งว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กรณีสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอที่ร้องกล่าวโทษแล้ว และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีเหตุที่จะชะลอการสอบสวน
4.กระทรวงมหาดไทย ยังเห็นอีกว่ามาตรา 157 ป.อาญาอายุความฟ้องคดีอาญา 15 ปี ทำให้ยังมีเวลาการสอบสวนอีก 15 ปี จึงยืนยันความเห็นเดิม พร้อมกับหารือปัญหาข้อกฎหมายกับแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดจำนวน 3 ประเด็น
5.สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว มีความเห็นโดยสรุป ดังนี้
1) การกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานหรือข้าราชการว่ากระทำผิดในฐานะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามป.อาญา มาตรา 157 จะต้องพิจารณาตีความโดยคำนึงถึงความชัดเจนแน่นอนของกฎหมายมิฉะนั้นจะเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ และการกระทำที่จะเป็นความผิดทางอาญาฐานนี้จะต้องเป็นการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือโดยทุจริต หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดถึงมูลเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วกรณีก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
2) กรณีเจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลมิได้มีข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดถึงมูลเหตุจูงใจว่าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือโดยทุจริต จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามป.อาญา มาตรา 157 หากใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชา หรือให้รับผิดในทางแพ่งเท่านั้น (ความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดตอบข้อหารือกระทรวงมหาดไทย เรื่องเสร็จที่ 82/2537)
6.หลักการที่สำคัญในกฎหมายอาญาซึ่งเป็นหลักประกันแก่บุคคลมีสาระสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1) กฎหมายอาญาหรือความผิดในทางอาญาฯ ต้องบัญญัติให้ชัดเจนแน่นอน
2) กฎหมายอาญาหรือความผิดทางอาญาไม่ย้อนหลัง
3) กฎหมายอาญาหรือความผิดทางอาญาต้องเป็นกฎหมายส่วนบัญญัติ จะนำกฎหมายส่วนปฏิบัติหรือกฎหมายจารีตประเพณีมาใช้เพื่อลงโทษบุคคลไม่ได้
4) ในกฎหมายอาญา ห้ามใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาบังคับ
7.ใครสนใจ หารายละเอียดมาอ่านได้ครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี